ทำไมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและ Thai PBS ต้องพัฒนาฐานข้อมูลความรุนแรงในสังคมไทย ?

ทำไมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและ Thai PBS ต้องพัฒนาฐานข้อมูลความรุนแรงในสังคมไทย ?

“เป็นความพยายามหาทางป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งกลายร่างเป็นความรุนแรง วิธีหนึ่งที่จะทำได้ คือมีข้อมูลความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนพอจะเห็นได้ว่ามีอะไรบางอย่างเป็นสัญญาณเตือนว่าสังคมไทยกำลังเคลื่อนไปในจุดอันตราย สัญญาณเตือนอาจจะชี้ให้เห็นทั้งเหตุปัจจัยก่อนจะเกิดความรุนแรงบางอย่าง บางทีมันมีอะไรบ้างที่เห็นแล้วเราเลยคาดว่าจะเกิดความรุนแรงใหญ่ได้ หรือบางทีเป็นสัญญาณเตือนให้เห็นว่าความขัดแย้งแตกแยกมันอยู่ในส่วนใดของสังคม” ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

เมื่อเฝ้าระวังไปนานพอเราจะเริ่มเห็นแบบแผนของความรุนแรงได้ และเมื่อมันเกิดแบบแผนความรุนแรงขึ้น เราอาจจะมีโอกาสที่จะป้องกันได้บ้าง และสำหรับผู้ที่จะสืบทอดความรุนแรงทั้งหลาย เมื่อได้รู้ตัวว่ามีคนติดตามเฝ้าระวังอยู่ก็อาจจะมีความระมัดระวังขึ้นบ้างเป็นมาตรการป้องปรามไปด้วยอย่างหนึ่ง”  โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

ในเวทีสาธารณะนำเสนอผลงาน “โครงการติดตามความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทางสังคมวัฒนธรรมในสังคมไทย” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดขึ้น เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 โดยมี  ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร และ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาโครงการติดตามความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทางสังคมวัฒนธรรมในสังคมไทย ร่วมกล่าวแง่มุมที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมความรุนแรงในสังคมไทย และความสำคัญของการวิจัยจัดทำฐานข้อมูลครั้งนี้ ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร ทีม C-Site ไทยพีบีเอส และ UNDPสหประชาชาติ 

ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร กล่าวเปิดตัวโครงการฯ ครั้งนี้ ว่าความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทยในหลากหลายรูปแบบ ตนลงไปพื้นที่ที่พี่น้องชาวหลีเป๊ะ จ.สตูล อาศัย จะเห็นว่าความขัดแย้งที่สะสมอยู่มีมากและก็อาจจะกลายเป็นความรุนแรงได้ เพราะพื้นที่ที่เขาบุกเบิกเป็นที่อยู่อาศัยที่ทำมาหากินก็ถูกคุกคามและรุกรานโดยทั้งภาคทุนและภาครัฐ ซึ่งประกาศเป็นเขตคุ้มครอง เขตอุทยาน หรือเขตอนุรักษ์บ้าง สถานการณ์สะสมรุนแรงลงไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันชาวบ้านที่หลีเป๊ะแทบจะไม่มีหนทางที่จะลงไปทะเลตามวิถีของเขา ที่จอดเรือที่เคยจอดอาศัยในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อที่จะหลบคลื่นลม  ก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยิ่งมูลค่าที่ดินในหมู่เกาะแห่งนี้มีมากขึ้นก็กลายเป็นความรุนแรงมีการใช้กำลังคนเข้าไปทำร้ายร่างกายชาวบ้านในพื้นที่ หรือกรณีที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ข่าวสารที่เผยแพร่ออกไปก็กล่าวหาชาวบ้านพี่น้องชาติพันธุ์ว่าตัดไม้ทำลายป่า ด้วยวิธีการพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ เป็นการนำเสนอภาพที่บิดเบือน 

ไม่เพียงแค่ความขัดแย้งในทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ความรุนแรงต่อคนที่มีเพศแตกต่างไปจากสังคมโดยทั่วไปยึดถือเป็นเรื่องปกติ พี่น้องเพศทางเลือก หรือคนกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างหลากหลายอาจจะถูกพูดดูหมิ่นแคลน หรือหนักไปกว่านั้นคือการทำร้ายร่างกาย ระยะหลังมานี้เราก็ได้ยินเรื่องราวคนที่กลับมาสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผลมากขึ้น

ภาคอีสานมีการทำบุญให้กับผีบุญ ซึ่งในอดีตเคยเป็นปัญหาเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐส่วนกลางกับท้องถิ่น ปัญหาเหล่านี้จะไม่หมดไปจากสังคม เราจะต้องมีวิธีการที่จะอยู่กับความขัดแย้งทางความคิด ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง

“ความขัดแย้งก็เป็นเรื่องธรรมดาสิ่งที่เราจะระมัดระวังก็คือไม่ให้กลายเป็นความรุนแรงขึ้น อคติเหล่านี้มันก็สะสมตัวไปเรื่อยจากอคติก็กลายเป็นการเหมารวม ใครมีลักษณะอย่างที่ว่าก็คือดีไปหมด หรือว่าเลวไปหมด คนบางกลุ่มก็ถูกเหมารวมว่าดี ทำอะไรก็ดีไปหมดไม่มีความผิดอะไรจะไปแปะเปื้อนเขาได้ บางคนก็ถูกมองว่าเลว ทำอะไรก็ผิดไปหมดนี่ก็เป็นลักษณะของการเหมารวม ซึ่งเกิดขึ้นมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมที่การสื่อสารมันรวดเร็วอย่างทุกวันนี้”

ดร.นพ.โกมาตร กล่าวต่อว่า พอกลายเป็นการเหมารวมก็นำไปสู่การเลือกปฏิบัติได้ เราจะปฏิบัติต่อเขาอย่างไรจะเห็นเขาเป็นคนเป็นมนุษย์เหมือนกับเราหรือไม่ เมื่อไปถึงจุดที่ไม่ได้เห็นเขาเป็นมนุษย์เหมือนกับเราแล้ว เราก็สามารถกระทำความรุนแรงกับเขาอาจจะเป็นความรุนแรงส่วนบุคคล ในการดูถูกข่มขู่เหยียดหยาม ไล่เรื่อยไปจนถึงการอุ้มหาย อย่างเช่น พี่น้องชาติพันธุ์ไม่ว่าจะเป็น “ชัยภูมิ ป่าแส” หรือว่า “บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ” ทั้งในสองกรณีก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม  ซึ่งอคติและความรุนแรงที่เกิดเป็นผลพ่วงตามมาอาจจะนำไปถึงขั้นเกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนทำร้ายกันจากอัตลักษณ์ทางกลุ่มวัฒนธรรม หรือแม้แต่นำไปสู่การเกิดสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ยังได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราอาจจะว่ามันไกลตัวและสังคมไทยเป็นสังคมที่รักสงบ

“ผมคิดว่าถ้าเราไปสวมหัวใจของพี่น้องชาติพันธุ์ที่ถูกกระทำอยู่ตลอด เราจะไม่ค่อยเชื่อหรอกครับว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่รักสงบเพราะความรุนแรงเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทุกวัน”

แล้วทำไมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจะต้องมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  ?

ความรุนแรงอาจจะมีหลายมิติ บ่อยครั้งความรุนแรงก็ซ่อนตัวมาในคราบของวัฒนธรรม วัฒนธรรมกลายเป็นที่ซ่อนตัวของการเอารัดเอาเปรียบของการกระทำด้วยความรุนแรงต่อกลุ่มที่เห็นต่างโดยอาศัยความชอบธรรมซึ่งวัฒนธรรมบางชนิดได้เอื้อให้เกิดขึ้น ฉะนั้นในแง่หนึ่งเราไม่ควรมองวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ดีงามเป็นการเต้นรำ อาหารการกิน หรือว่าสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น เรายังต้องพึงระวังอีกด้วยว่า วัฒนธรรมอาจจะเป็นสถานที่หลบซ่อนของอคติเป็นที่แอบแฝงของการใช้ความรุนแรงเป็นการใช้ความชอบธรรมต่อการเอารัดเอาเปรียบของคนบางกลุ่ม

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์มานุษวิทยาสินธร จึงได้ร่วมมือกับหลายฝ่ายมีความฝันว่า ถ้าเราสร้างระบบเฝ้าระวังที่ดีขึ้น อย่างน้อย ๆ เราจะได้รู้สถานการณ์ เมื่อเฝ้าระวังไปนานพอเราจะเริ่มเห็นแบบแผนของความรุนแรงได้ และเมื่อมันเกิดแบบแผนความรุนแรงขึ้น เราอาจจะมีโอกาสที่จะป้องกันได้บ้าง และสำหรับผู้ที่จะสืบทอดความรุนแรงทั้งหลาย เมื่อได้รู้ตัวว่ามีคนติดตามเฝ้าระวังอยู่ก็อาจจะมีความระมัดระวังขึ้นบ้างเป็นมาตรการป้องปรามไปด้วย

เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงมีความสำคัญ ไม่ได้สำคัญแต่พี่น้องชาติพันธุ์หรือกลุ่มคนที่มีความอยู่ที่แตกต่างกันออกไปและเกิดอคติทางวัฒนธรรมขึ้นเท่านั้น ในยุคปัจจุบันความคิดต่างก็กลายเป็นที่มาของความรุนแรงได้ ฉะนั้นคนที่อาศัยอยู่ในเมือง หรือคนที่อาศัยอยู่ในสถานที่ที่เราจะจิตนาการไม่ได้ว่าจะมีความขัดแย้งในวัฒนธรรมอย่างไร มันก็ยังมีความขัดแย้งในเชิงความคิด  

“เราหวังว่ากระบวนการที่ศูนย์มานุษวิทยาสินธร ได้ดำเนินการมาช่วยให้เรารู้เท่าทันอคติที่เกิดขึ้นสามารถที่จะติดตามระมัดระวังเฝ้าระวังเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างน้อยก็ทำให้ความขัดแย้งต่าง ๆ เรามีวิธีการอยู่ร่วมกับความเห็นต่างเหล่านี้มากขึ้นก็เป็นทิศทางงานของศูนย์มานุษวิทยาสินธรที่เราใช้คำว่า “เรียนรู้ อยู่ร่วม” เพราะความแตกต่างที่ดำรงอยู่ในสังคมเราไม่สามารถที่จะขจัดให้มันหมดลงไปได้เราก็ต้องเรียนรู้ที่อยู่ร่วมบนความแตกต่าง ศูนย์มานุษวิทยาสินธร ทำหน้าที่เป็นพื้นที่เชิญชวนคนที่คิดเห็นแตกต่างกันได้มีโอกาสใช้เหตุใช้ผลการพูดคุยกันในเรื่องความต่างหรือความขัดแย้งให้มากขึ้น”  

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาโครงการติดตามความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทางสังคมวัฒนธรรมในสังคมไทย กล่าวว่า ตอนนี้ถือว่ามาถึงกลางทาง  ที่โครงการเฝ้าระวังความรุนแรงในสังคมไทย (Monitoring Violence in Thai Society) เป็นความพยายามหาทางป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งกลายร่างเป็นความรุนแรง วิธีนึงที่จะทำได้ คือมีข้อมูลความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนพอจะเห็นได้ว่ามีอะไรบางอย่างเป็นสัญญาณเตือนว่าสังคมไทยกำลังเคลื่อนไปในจุดอันตราย

สัญญาณเตือนอาจจะชี้ให้เห็นทั้งเหตุปัจจัยก่อนจะเกิดความรุนแรงบางอย่าง บางทีมันมีอะไรบ้างที่เห็นแล้วเราเลยคาดว่าจะเกิดความรุนแรงใหญ่ได้ หรือบางทีเป็นสัญญาณเตือนให้เห็นว่าความขัดแย้งแตกแยกมันอยู่ในเนื้อตัวส่วนใดของสังคม อย่างเรื่องของชาวหลีเป๊ะ จ.สตูล ปัญหาที่ตามมาก็คือว่าสภาพการถือครองที่ดินราคาที่ดินเปลี่ยนความรุนแรงก็ปรากฎ พอเป็นอย่างนี้ความรุนแรงก็ลึกลงในระดับชุมชนอย่างไร อันนี้ก็น่าสนใจ

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตและเล่าเรื่องใน 5 กรณี เรื่องที่ 1 ตลาดเมืองใต้ (ตลาดนัดกลางวัน) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เคยมีงานวิจัยสกว. โดย อ.มณฑา พิพัฒน์เพ็ญและคณะ ทำเรื่องเมืองเสี่ยงภัยแล้วก็มองไปที่ตลาด ที่เป็น อ.หาดใหญ่เพราะช่วงนั้นเกิดระเบิด เกิดความรุนแรงมีคนบาดเจ็บล้มตาย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชีวิตของคนขายริมถนนเปลี่ยนไป  โดยงานวิจัยพบว่า ท่านั่งของคนขายของที่เปลี่ยนไป บอกเราได้ว่ามันกำลังจะเกิดความรุนแรงหรือไม่ ตลาดกิมหยง ตลาดริมถนนกลางเมืองแถวนั้น คนขายเขาจะนั่งหันหลังให้ถนน เวลามีระเบิดมาวาง บางทีระเบิดมากับรถมอเตอร์ไซค์ต่าง ๆ พอเกิดเหตุหลาย ๆ ครั้งเขาก็ปรับตัว

“การปรับตัวดูได้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนท่านั่งของเขา เกิดจากความร่วมมือกันของร้านค้า ซึ่งเมื่อไหร่ที่เขาหันหน้าให้ถนน หันหลังให้คนซื้อ อันนี้เป็น warning sign เป็นวิธีนึงสำหรับการดูว่าอันตรายอาจจะเกิด ทำไมดูจากเขาเพราะเขามีชีวิตอยู่ตรงนั้น มีข้อมูล เพราะเขาต้องเอาชีวิตรอด เพราะฉะนั้นข้อมูลเขาต้องค่อนข้างเที่ยงและก็มีการตรวจสอบพอสมควร แล้วเขาก็นั่งสลับกันในลักษณะนี้ ท่านั่งของเขาเป็นตัว warning system ของตลาดได้”

ส่วนตลาดกลางคืน เป็นการศึกษาตลาด 10 แห่งใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี งานของ อ.วิไลวรรณ กาเจร์และทีม สิ่งที่พบคือมีการปรับตัว 4 เรื่อง คนซื้อปรับเวลามาซื้อ คนขายก็ต้องปรับเวลา แต่ที่สำคัญกว่าผู้จัดการตลาดก็เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญปรับเวลา ปรับสถานที่ ปรับเงื่อนไข ปรับทางเข้าทางออก รวมทั้งเปลี่ยนสถานที่เลยก็มีเพราะมันเป็นตลาดนัดที่สามารถเปลี่ยนพื้นที่ได้ การเปลี่ยนที่ของตลาดนัดก็อาจจะเป็นตัวเตือนภัยเราเหมือนกันว่ามันอาจจะเกิดความรุนแรงได้  ซึ่งเหล่านี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งต้องอยู่กับมันจนเห็นว่าชาวบ้านเขาปรับอย่างไรในการอยู่กับสิ่งเหล่านี้ แล้วมองหา warning sign มองหาสัญญาณเตือนภัย

เรื่องที่ 2  เรื่องข้อมูล โครงการติดตามความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงทางสังคม วัฒนธรรมในสังคมไทยใช้ข้อมูลจากสื่อ ไม่ใช่เพราะหาได้ง่ายกว่าแหล่งอื่น แต่เป็นเพราะประเด็นความรุนแรง สื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่เหมาะสม  เรื่องราวความรุนแรงเป็นเรื่องราวที่สื่อขายได้ ดังนั้น สื่อก็มีแนวโน้มที่จะแข่งขันกันในการรายงานเรื่องความรุนแรง ยิ่งมีสื่อหลายแบบก็จะยิ่งช่วยให้เห็นความรุนแรงได้หลายมุมมอง

ถ้าสื่อในความเป็นวิชาชีพสื่อสูง สื่อจะผนวกรวมข้อมูลกับภาครัฐ ตำรวจ ทหาร ภาคประชาสังคมเข้ามาอยู่ด้วยแล้ว ในขณะที่ถ้าใช้ข้อมูลจากทางภาครัฐอย่างเดียว ในหลายประเทศตำรวจเป็นปัญหา ทหารเป็นปัญหา ประเทศไทยก็อาจจะใช่ด้วยบางส่วน ดังนั้นสื่อที่มาจากสำนักข่าว มีระบบบรรณาธิการซึ่งพยายามจะกลั่นกรองข้อมูลที่ออกสื่อไปด้วย ผิดจากข้อมูลอย่างเช่น Crowdsourcing ซึ่งไม่ผ่านการคัดกรองโดยใคร แต่ปัญหาของการใช้ข้อมูลจากสื่อก็มี คือต้องให้ความสำคัญกับอคติภายในความเป็นสื่อมวลชนด้วย

อย่างการศึกษาในเคนย่า Low Intensity Conflict ใช้ข้อมูลจากสื่อมวลชน ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับตำแหน่งแห่งที่ของสื่อในความขัดแย้งทางการเมืองด้วย เช่น สื่ออยู่ข้างไหน แต่เขาก็ถือว่าถ้าสื่อเขาวิเคราะห์ได้ถูกต้องอาจมีส่วนช่วยในระบบที่เป็น surveillance system of violence โดยเฉพาะเวลาที่มัน collective วัดเทรนด์ได้เหมือนกันผ่านกาลเวลา

เรื่อง 3 จุดเด่นของโครงการนี้ หากดูจากโครงการอื่น ๆ อย่างเช่น ACLED (Armed Conflict Location and Event Data project) พวกนี้เขาสนใจสิ่งที่เรียกว่า Political violence ความรุนแรงทางการเมือง เขาก็สนใจ civil and communal conflicts ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน, ความขัดแย้งระหว่างพลเรือน, ความรุนแรงทางไกล การใช้โดรนและระเบิดแสวงเครื่อง การจราจลและการประท้วง

ปัญหาประการหนึ่งของโครงการเหล่านี้คือ ความไม่เคลียร์ในเรื่องของคอนเซ็ปต์ แต่ของเราสิ่งที่เราพยายามจะทำก็คือเอาโฟกัสไปที่เหตุการณ์ความรุนแรง ความรุนแรงกับความขัดแย้งไม่ใช่ของอย่างเดียวกัน เราทำงานเพื่อจะดูความขัดแย้ง แต่เราดูมันที่ความรุนแรงเป็นหลักไม่ใช่โฟกัสที่ความขัดแย้ง

ทีนี่เราโฟกัสที่เหตุการณ์เอาเฉพาะความรุนแรงทางกายภาพด้วย อาจจะไม่เชิงเรื่องอคติซะทีเดียว เพราะอันนั้นเป็นข้อมูลรายงานจากข่าว แต่ทั้งหมดนี้มันมีที่มาจากความขัดแย้งซึ่งผมเห็นว่าแบ่งได้อย่างชัดเจน 3 .ประเภท

1. governance conflict ความขัดแย้งอันเกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการบริหารของรัฐ 2. identity conflict ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา กลุ่มชาติพันธุ์ 3. environmental conflict ความขัดแย้งในเชิงสิ่งแวดล้อม ทั้ง 3 อันนี้ในความเป็นจริงมันไม่แยก แต่เวลาทำงานวิจัยต้องแยกออกจากกัน

เรื่อง 4 ความเข้าใจผิด? จากข้อมูลโครงการ Vims มูลนิธิเอเชียที่ทำการมอนิเตอร์ความรุนแรง เขาบอกว่าความเข้าใจผิดมี 2 เรื่อง

  1. ระบบเฝ้าระวังความรุนแรงสามารถทำนายความรุนแรงได้ อันนี้เป็นความเข้าใจผิด ลำพังการเก็บข้อมูลความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ช่วยในทำนายความรุนแรงได้ แม้แต่การวิเคราะห์สถิติมหภาพ ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลความรุนแรงที่เก็บเข้ากับข้อมูลเศรษฐกิจ สังคม และชุดอื่น ๆ อาจเพียงชี้ความเป็นไปได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง แต่ไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ? และอย่างไร ? โครงการของเราไม่ได้ตั้งเป้าเลย ว่าจะบอกได้แน่นอนว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อไหร่ เราทำได้แค่ warning เมื่อเห็นร่องรอยบางอย่าง บอกได้แน่นอนไหมอาจจะยังไม่ใช่
  2. ระบบเฝ้าระวังความรุนแรงสามารถบ่งชี้สาเหตุที่แท้จริงความรุนแรงได้ สาเหตุที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในเชิงลึกอีกมาก สิ่งที่ระบบเฝ้าระวังทำงานอยู่และอาจบ่งบอกได้บ้างก็คือ proximate cause อันนี้ตนเองก็ไม่ค่อยแน่ใจกับความคิดของ Morel ในแง่นี้ คือ บางทีอาจจะบอกได้ บางทีอาจจะบอกไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราเข้าไปในตัวของความรุนแรงและดูข้อมูลอีกแบบนึง เขาอาจจะเห็นมากกว่า proximate cause ซึ่งตนคิดกลับกันกับ Morel อันนี้คือสิ่งที่อยากจะทำให้เห็นว่าโครงการเราต่างอย่างไร

โครงการนี้เริ่มจากกรอบคิดที่คิดว่ามีความขัดแย้ง 3 แบบที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ เกี่ยวข้องกับหมวดอัตลักษณ์ เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม หรือชีวิตความเป็นอยู่กับธรรมชาติของคน เราก็ไปเก็บข้อมูลเชิงปริมาณในแง่ของความรุนแรงที่เกี่ยวกับ 3 เรื่องนี้ จากนั้นพอได้ข้อมูลมาเยอะ ๆ เราก็มาดูกรณีศึกษาจะทำให้เราเห็นความลึกของกรณีเหล่านั้น บางทีมันเลยจะชี้ให้เห็นสาเหตุที่ใหญ่กว่าได้ผ่านกรณีศึกษา บางทีอาจจะไม่ใช่แค่ผ่านข้อมูลจำนวนมากที่เราเห็น แต่ถามว่าทำไมเราไม่ทำกรณีศึกษาซะเลย คำตอบก็คือว่า เพราะว่าทำกรณีศึกษาอย่างเดียว เราไม่เห็นภาพรวมของประเทศ แต่ในขณะที่เราเลือกกรณีศึกษาจากภาพรวมมันจะชี้ในเห็นแผนที่ของความขัดแย้งในสังคมไทยได้มากกว่า ยกตัวอย่างกรณีการปิดล้อมหมู่บ้านในภาคใต้ กรณีนักกิจกรรมฝ่ายต้านรัฐถูกทำร้ายร่างกาย กรณีนักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นความรุนแรงทางตรงหมดเลย แต่พันกับเรื่องอื่น ๆ ทั้งหลายที่พูดมา

ประเด็นที่ 5  เรื่องเกี่ยวกับแม่น้ำไนล์ ในแม่น้ำไนล์มันมีหลายอย่าง นอกจากพีระมิด ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคนไม่ค่อยเห็นคือมีจระเข้เป็นภัยคุกคามมนุษย์  ประกอบกับมีการบันทึกในช่วงต้นศตวรรษที่18-19 ว่ามันมีสัตว์เลื้อยคลานบางอย่างทีเรียกว่า Monitor Lizard ชื่อทางการคือ varanus salvadori หรือจิ้กจกเฝ้าระวัง เพราะว่ามีความเชื่อว่าเวลาเห็นจิ้งจกพวกนี้แปลว่าภัยจากจระเข้ในแม่น้ำไนล์กำลังจะมาถึงแล้ว

อันนี้ก็เลยเป็นตัวเตือนที่สำคัญ ชื่อของ varanus salvadori มาจากภาษาอาหรับ ซึ่งแปลว่า มอนิเตอร์ ผู้เฝ้าระวัง หมายความว่า พอชาวบ้านเราเห็นตัวนี้ ซึ่งคนไทยเรียกว่าตัวเงินตัวทอง แต่ที่โน้นเรียกว่าผู้เฝ้าระวังช่วยให้รอดความคิดเกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลานอย่างนี้ไม่เหมือนกันในแต่ละสังคม อย่างกรณีข้างต้นหน้าที่ของมันเป็นอะไรในเชิงนิเวศก็คือ มันเป็นตัวเตือนมนุษย์ว่าภัยคุกคามกำลังจะมาแล้ว  ทีนี้เรามอนิเตอร์ทำไม เพราะในสังคมไทยมันก็มีจระเข้อยู่เต็มไปในแม่น้ำของเรา ถึงแม้แม่น้ำเจ้าพระยาจะไม่มี แต่ในแม่น้ำทางสังคมในแผนที่ทางสังคมมันมีและมันก็กัดทำร้ายประชาชน อย่างที่เห็นอยู่ในหลายๆ ลักษณะ

แล้วความรุนแรงเกี่ยวข้องกับงานวัฒนธรรมอย่างไร ?

1.จากกรอบคิดสู่ระบบการเตือนภัยต่อความสัมพันธ์ความรุนแรงไม่ใช่แค่ส่งผลต่อร่างกายและชีวิตทางกายภาพ แต่ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ทั้ง 3 ชุดความรุนแรง (การเมือง อัตลักษณ์ สิ่งแวดล้อม) เวลาเราคิดเรื่องความขัดแย้งในเชิงการบริหารการจัดการภาครัฐ เวลานี้ในสังคมไทยแตกแยกแตกขั้วออกเป็น 2 ข้างว่าด้วยเรื่องนี้ สมมุติความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ ความคิดเรื่องใครเป็นใหญ่ในรัฐธรรมนูญ ความคิดเรื่องสถาบัน ความสัมพันธ์พวกนี้มันเป็นเรื่องสำคัญ

2.ความสัมพันธ์ระหว่างคนส่วนน้อยกับคนส่วนใหญ่ในเชิงอัตลักษณ์  ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ผุกร่อนลงเรื่อย ๆ และอีกอันคือความสัมพันระหว่างผู้คนกับธรรมชาติที่มันแตกต่างกัน สำหรับคนจำนวนนึงป่าเป็นบ้านเขา ทะเลเป็นที่อยู่ที่กินของเขาไม่ใช่โรงไฟฟ้า ความขัดแย้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติที่ต่างกันของพวกนี้มันเลยสัมพันธ์ และความรุนแรงมันก็ไปปักที่ความสัมพันธ์พวกนี้

โดยสรุปก็คือว่า กลางทางโครงการเฝ้าระวังความรุนแรงในสังคมไทยเราก็อยากจะเฝ้าระวังจระเข้ในแม่น้ำไนล์ที่มีอยู่ แต่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งกลายร่างเป็นความรุนแรง โดยวิธีการของเราเริ่มจากกรอบคิดที่ชัดเจนว่าความขัดแย้งที่เราโฟกัสใน 3 อย่าง ความขัดแย้งระหว่างผู้คนบนฐานของการบริหารจัดการรัฐและรัฐธรรมนูญ และอื่น ๆ ความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์ และก็ความขัดแย้งในเรื่องของธรรมชาติคนจะอยู่กับธรรมชาติอย่างไร เราไปเก็บข้อมูลเชิงปริมาณจากสื่อ จากนั้นเราทอนมาเป็นกรณีศึกษา ซึ่งเราหวังว่าเราจะเห็นสัญญาณร่องรอยอะไรในความสัมพันธ์ของผู้คนสังคมไทย

แต่เราน่าจะพอเห็นได้ว่า พอมีอะไรบางอย่าง เป็นสัญญาณเตือนว่าสังคมไทยกำลังเคลื่อนไปสู่จุดอันตราย สัญญาณเตือนนี้อาจจะชี้ให้เห็นทั้งเหตุปัจจัยก่อนเกิดความรุนแรงบางอย่าง ถ้าเราโชคดีเราก็จะเห็นอันนั้นบ้าง แต่ที่สำคัญต่อให้ไม่เห็น เราก็จะเห็นว่าความขัดแย้งแตกแยกกันนั้น ขณะนี้มันอยู่ในเนื้อตัวส่วนใดของสังคมไทยแล้ว ร้าวรานไปถึงจุดไหนแล้ว ด้วยเหตุนี้คอนเซป เรื่องการเฝ้าระวังก็เลยต้องไปหาจากแม่น้ำไนล์มา เพื่อจะให้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร ว่าในสังคมไทยมันมีจระเข้อยู่ แต่จระเข้นั้นมันเป็นอย่างไร เป็นตัวแทนของอะไร หรือมีลักษณะอย่างไร อันนี้เป็นจิตนาการของท่านทั้งหลาย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ