ปริญญา เทวานฤมิตรกุล | กับ 3 ทางเลือกของประชาธิปไตย

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล | กับ 3 ทางเลือกของประชาธิปไตย

อ.ปริญญา เขียนข้อเสนอ 3 ประการเอาไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว (คลิกอ่าน) ใจความดังนี้

/////////////

ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ความขัดแย้งและปฏิรูปประเทศไทยภายใต้กรอบของการเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

การหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ทุกฝ่ายยอมรับในขณะนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เพราะฝ่ายผู้ชุมนุมต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศไทย “ก่อน” แล้วจึงค่อยมีการเลือกตั้ง จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรักษาการลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ทางฝ่ายรัฐบาลก็ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่สามารถลาออกได้ ทำให้ติดขัดกันอยู่ในขณะนี้ แต่ทั้งนี้เนื่องจากได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่แล้ว การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศไทยจึงไม่อาจจะหนีไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

เหตุผลสำคัญที่ฝ่ายผู้ชุมนุมต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศไทย “ก่อน” การเลือกตั้ง คงจะด้วยเกรงว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ทุกอย่างอาจจะกลับไปเป็น “เหมือนเดิม” รัฐบาลเดิม พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองเดิม แต่จริงๆ แล้วการเมืองไทยนับจากนี้จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเสียงข้างมากไม่อาจจะทำอะไรตามอำเภอใจได้อีก เนื่องจากประชาชนสามารถถ่วงดุลรัฐบาลและเสียงข้างมากในสภาได้แล้วไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นพรรคไหนหรือเสียงข้างมากจะเป็นพรรคใด ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้รัฐบาลหลังเลือกตั้ง จะต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งผมขอเสนอทางเลือกที่จะทำได้ “ก่อน” เลือกตั้ง เพื่อให้เกิด “ผล” หลังเลือกตั้ง ๒ -๓ ทางเลือก ดังนี้

ท า ง เ ลื อ ก ที่ ห นึ่ ง การทำสัญญาประชาคมหรือสัตยาบันพรรคการเมือง : ให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคใหญ่ที่สุดสองพรรคคือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ลงนามทำสัญญาประชาคมหรือสัตยาบันพรรคการเมืองที่จะดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยหลังเลือกตั้ง โดยให้มีรูปธรรมที่ชัดเจนที่จะดำเนินการได้ สำหรับข้อสัญญาประชาคมพรรคการเมืองจะมีอะไรบ้าง ก็ให้นำมาจากข้อสรุปของเวทีประชาคมหรือเวทีสาธารณะ ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการอยู่แล้วในขณะนี้ ทำเป็นข้อสัญญาประชาคมให้พรรคการเมืองรับที่จะดำเนินการเมื่อได้รับเลือกตั้งหรือได้เป็นรัฐบาลแล้ว แต่ถ้าเห็นว่าทางนี้ไม่หนักแน่นพอ ก็อาจใช้ทางเลือกที่สอง หรือทางเลือกที่สาม ดังจะได้กล่าวต่อไป

ท า ง เ ลื อ ก ที่ ส อ ง การทำประชามติในวันเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ : ในต่างประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา มักจะใช้วันเลือกตั้งในการทำประชามติในเรื่องหนึ่งเรื่องใดควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง เนื่องจากประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันอยู่แล้ว และมีหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้วในวันนั้น ในเมื่อเราจะมีการเลือกตั้งในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เราจึงน่าจะใช้โอกาสนี้ทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๕ ในเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย เรื่องสภาประชาชน หรือเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สุดแท้แต่ว่าเราจะให้ประชาชนตัดสินในเรื่องใด ซึ่งจะมีผลทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะต้องผูกพันให้ดำเนินการตามผลของประชามติ สำหรับประเด็นประชามติจะเป็นเรื่องใดก็อาจจะให้มีเจรจาตกลงกัน หรือมาจากเวทีสาธารณะตามทางเลือกที่หนึ่ง

แต่ทางเลือกที่สองนี้ มีปัญหาตรงที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา ๖ (๑) กำหนดให้ต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๙๐ วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น ถ้าจะใช้ทางเลือกนี้ก็จะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยแก้เพียงมาตราเดียวคือ มาตรา ๖ (๑) ให้การออกเสียงประชามติที่ดำเนินการในวันเลือกตั้งยกเว้นไว้ว่าไม่จำเป็นต้องมีระยะเวลาถึง ๙๐ วัน แต่ปัญหาคือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบไปแล้ว จะแก้ไขกฎหมายได้หรือ? คำตอบคือตามรัฐธรรมนูญมีหนทางที่จะทำได้ ส่วนจะทำอย่างไรเป็นเรื่องรายละเอียดที่ยังไม่ขอกล่าวถึงในชั้นนี้

ท า ง เ ลื อ ก ที่ ส า ม ประชามติแบบไม่เป็นทางการในวันเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ : ถ้าเห็นว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป ก็อาจใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๖ (๘) ในเรื่อง “การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน” ในการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในวันเลือกตั้ง โดยทำหีบเหมือนกับทำประชามติ ถึงแม้จะไม่ใช่ประชามติในทางกฎหมาย แต่สามารถมีผลได้เท่ากันถ้าพรรคการเมืองให้สัตยาบันที่จะยอมรับผลของการออกเสียงของประชาชน

รัฐบาลรักษาการมีเวลาก่อนเลือกตั้งไม่ถึง ๒ เดือน เราจึงไม่ควรไปมุ่งเน้นแต่เพียงเรื่องรัฐบาลรักษาการ แต่ควรมุ่งเน้นไปที่รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ส่วนใครจะเป็นรัฐบาลก็เป็นไปตามการตัดสินของประชาชนเจ้าของประเทศ และถ้าหากรัฐบาลหลังการเลือกตั้งไม่ดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย ประชาชนไม่ว่าข้างไหนหรือฝ่ายใดก็จะมาช่วยกันทวงถาม นี่แหละคือ “ประชาธิปไตย” และประเทศไทยก็จะก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งอย่างแน่นอน.

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๖

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ