ครูนักเรียนสะท้อน TCAS กระทบทั้งระบบ ผู้เรียนไม่ได้เรียน – มหาวิทยาลัยไม่ได้บัณฑิตตามเป้า

ครูนักเรียนสะท้อน TCAS กระทบทั้งระบบ ผู้เรียนไม่ได้เรียน – มหาวิทยาลัยไม่ได้บัณฑิตตามเป้า

กระแส # ในทวิตเตอร์ต่อเรื่องระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย TCAS ปี 2565 ร้อนระอุอีกครั้ง หลังพบปัญหาการสื่อสารไม่ชัดเจนของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ส่งผลให้นักเรียนจำนวนมากสับสนในการเตรียมตัวสอบ ความไม่ชัดเจนนี้ยังสร้างความกังวลใจให้เด็กTCAS รุ่นน้องที่กำลังรอเตรียมตัวสอบในปีหน้าว่าจะพบปัญหาเดียวกันหรือไม่

ไทยพีบีเอส จัดวงแลกเปลี่ยนหัวข้อ คุยกันหน่อยไหม ว่าไง ว่ามา “ระบบสอบใหม่ #เด็ก65 ยังไหวกี่เปอร์เซ็นต์” เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวทางเตรียมตัวและหาทางออก ผ่านช่องทาง Discord พื้นที่สังคมออนไลน์ของเด็กเกมเมอร์ ไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ดำเนินรายการโดย สุชาดา อัศวชัย นักศึกษาปี 4 สาขาคอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ คะนิ้ง C-Site V-tuber

อลงกรณ์ บุดดา นักเรียนจากจังหวัดขอนแก่น บอกว่า ตนเองกำลังจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2566 ซึ่งทปอ. ประกาศเปลี่ยนระบบสอบเป็น TGAT – TPAG ปัญหาคือเด็กปี 66 ไม่ทราบว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ยังประกาศไม่ชัดเจนว่าจะเป็นการสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่ แล้วแต่ละสนามสอบจะมีคอมพิวเตอร์มากพอที่จะสอบในสนามสอบหรือเปล่า รวมถึงปัญหาอินเทอร์เน็ตแต่ละโรงเรียน ที่อาจทำให้การส่งข้อสอบมีความเร็วไม่เท่ากัน หากเกิดดีเลย์ ระบบก็จะตัดคะแนนไปเลย หรือจะตัดแบบไม่รับคำตอบไปเลย ทปอ. จะมีมาตรการดูแล อย่างไรในอนาคต ซึ่งตนเองมองว่าใช้วิธีสอบเป็นกระดาษสอบปกติก็ได้ จะสอบผ่านคอมพิวเตอร์ให้สิ้นเปลืองทรัพยากรทำไม แต่ก็เข้าใจว่าข้อดีคือทำข้อสอบเสร็จอาจจะดูผลคะแนนได้เลย แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคอมพิวเตอร์แต่ละ สนามสอบจะเสถียรพอที่จะทำข้อสอบ

ในฐานะที่ตนเองเป็นเด็ก 66  ทำได้เพียงแค่เตรียมเนื้อหาพื้นฐานไปก่อนเพราะไม่สามารถที่จะบอก ได้เลยว่าแนวสอบจะประมาณไหน บางเนื้อหาอาจจะไม่ได้ใช้เลยก็ได้ หรือบางเนื้อหาอาจจะเป็นเนื้อหาใหม่ เมื่อเปลี่ยนระบบใหม่กระทันหัน ทำให้เด็ก 66 กังวลมากขึ้น  

“เวลาจัดสรรออกข้อสอบหรือว่าเปลี่ยนระบบ ควรจะแจ้งให้เราทราบก่อนอย่างน้อยหนึ่งปี ว่าจะปรับเปลี่ยน ไม่ใช่บอกกระทันหัน เพราะเด็กจะเตรียมตัวทันกับข้อสอบที่จะออกหรือ ? ”

มณีวรรณ พลมณี เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังกลับเข้ามาสอบมหาวิทยาลัยปี 66 กล่าวว่า  รู้สึกว่า ทปอ. ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ อย่างกรณีที่มีการหยิบยกประเด็นที่แอดมิน Mytcas.com ตอบคำถามเรื่องการสอบช่วงสถานการณ์โควิด-19 นำไปสู่การติด #.แบนทปอ หลังจากนั้นก็ไม่เห็น ทปอ. มีแถลงอะไร หรือรับผิดชอบอย่างไรกับตัวองค์กรเลย

“อันนี้ก็น่าคิดว่า ทปอ. ฟังเสียงเด็กหรือฟังเสียงคนอื่นบ้างไหมในฐานะที่เป็นตัวกลาง พาเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัย”

โดยมณีวรรณกล่าวว่า รับรู้มาตลอดว่าเรื่อง TCAS เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ซึ่งหน้าที่ตรงนี้ ครูแนะแนวแต่ละโรงเรียนจะต้องช่วยแนะนำในเรื่องของเนื้อหา หรือว่าการประชาสัมพันธ์เพื่อ ส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงระบบได้มากกว่านี้

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ระบบการรับสมัครเข้าเรียนยังไม่เสถียรและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุก ๆ  ปี ไม่ใช่เด็กทุกบ้านทุกครอบครัวที่มีความพร้อมในการติดตามและปรับตัวทัน เพราะว่าการเตรียมตัวเข้าสู่ระบบการรับเข้าการสอบ TCAS 1 2 3 แต่ละรอบจะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน

และปัญหาเดิมก่อนจะมีระบบ TCAS ได้กลับมาอีกแล้ว คือการที่แต่ละคณะวิชา แต่ละสถาบันมีการกำหนดเกณฑ์แบบของตัวเองขึ้นมา เพื่อจะเลือกเด็กที่มีความพร้อมก่อนใน TCAS รอบ 1 ให้กลับมายื่น portfolio ซึ่งอันนี้มันเป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นก่อนที่จะเป็นระบบ TCAS ที่พยายามจะดึงทุกอย่างมาใช้แพลตฟอร์มกลางจัดอยู่ในกรอบเวลาเดียวกัน และพยายามจะไม่ให้เด็กต้องมีปัญหาวิ่งเรื่องการยื่น portfolio ยื่นสอบมากจนเกินไปจนเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างครอบครัวที่พร้อมจะช่วยให้เด็กสมัครหลาย ๆ ที่ ยื่นหลาย ๆ แห่งเอาไว้ก่อนกับเด็กที่ต้องรอสอบด้วยข้อสอบชุดเดียวกันในรอบที่เป็น GAT PAT หรือรอบที่เป็น O-net

พอปีที่ผ่านมาก็ยกเลิก O-net ไปทำให้ข้อสอบที่ปกติไม่ต้องเสียเงินในการจัดสอบ ข้อสอบก็ไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของการยื่นคะแนนเข้าสู่มหาวิทยาลัย เป็นการบีบกลาย ๆ ว่าทุกคนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยต้องไปใช้ระบบของการเข้าสอบพวก GAT PAT กันหมดไปยื่น 9 วิชากันหมด   

หลายคณะก็เริ่มผันสัดส่วนงานมารับเด็กรอบ 1 มากขึ้น ไม่รอเด็กรอบ 3 เริ่มมีการเกลี่ยรับเด็กรอบ 1 2 3 อีกแบบนึง นำมาซึ่งระบบความวุ่นวายไปที่ฝั่งผู้สอบต้องวิ่งสมัครด้วยตัวเอง อย่างคณะแพทย์ที่นั่นที่นี้จะมีรอบหนึ่งหรือป่าว ใช้คะแนนยื่นอะไร สอบด้วยข้อสอบอะไร มันจะกลับไปเป็นเหมือนสมัยก่อนที่จะมี TCAS และทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีความพร้อมในการติดตามข้อมูลข่าวสาร หรือการจะจ่ายเรื่องค่าเตรียมตัวทั้งหลาย เขาก็เสียเปรียบในการเข้าสู่ระบบของมหาวิทยาลัย

ทั้งที่จริง ๆ แล้วที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีเพียงพอเพื่อเด็กทุกคน เพราะมีที่นั่งว่างทุกปีจากระบบการสอบ และปีนี้เท่าที่ติดตามข่าว เด็ก 65 จำนวนหนึงก็คือมีเด็กเลือกที่จะไม่ยื่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยเยอะขึ้นกว่ามาก ๆ  อาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งเขาวิ่งไปสู่รอบหนึ่งกันแล้ว สัดส่วนคนที่จะมาสอบรอบสาม ก็เปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงเด็กที่เทการสอบไปแล้ว คือไม่สอบ ไม่เข้ามหาวิทยาลัย แต่ไปทำงานก่อน ก็เป็นตัวแปรหนึงที่น่าจะต้องติดตามต่อว่า หลังจากการประกาศผลสอบไปแล้วจะมีปัญหาเรื่องที่นั่งที่ว่าง โดยที่จริง ๆ มันมีความเพียงพอในการรองรับเด็ก แต่เด็กนักเรียน ม.6 กลับไม่สามารถเข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหน  

“ทุก ๆ ปีเราจะเจอปรากฏการณ์ว่าที่นั่งว่าง และปรากฏการณ์เรื่องเด็กซิ่ว ช่วงเมื่อสองปีหลัง ครูว่าเป็นเรื่องซีเรียสมากขึ้น  แม้คณะที่ครูอยู่ก็มีเด็กที่เรียนแล้วก็เทออกไปเยอะขึ้น อันนี้ก็กลายเป็นโจทย์ใหญ่”

หลายปีก่อน เราจะห่วงเรื่องเด็กซิ่วกัน พยายามจะให้เด็กมีระดับเลือกมากขึ้น ให้เด็กเลือกอะไรที่ใช่มากที่สุดเพื่อลดปัญหาเรื่องการซิ่ว สุดท้ายฝั่งมหาลัยวิทยาลัยเองก็ไม่ได้ผู้เรียนตามเป้าหมายที่วางไว้ และผู้เรียนเองก็ต้องการเข้าถึงตำแหน่งแห่งที่เหล่านั้น แต่ปรากฏการณ์การออกแบบระบบการรับเข้ามันกลายเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้สองฝั่งความต้องการของคนที่จะเข้าถึงที่เรียน กับความพร้อมในการจัดพื้นที่ของการเรียนให้เพียงพอ จึงมันไม่สอดคล้องกัน

ผศ.อรรถพล ยังสะท้อนอีกว่า ตรงนี้เหมือนต่างคนต่างคิด ทปอ. เองเป็นแค่หน่วยที่มันถูกเซ็ตอัพขึ้นมาใช้เพื่อจัดการสอบ แต่เขาไปไม่ถึงการทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดการต่อรองกันระหว่างมหาวิทยาลัย เรื่องพื้นที่ในการรับเข้า และมันมีความสูญเปล่าเกิดขึ้น

สมมติคุณมีที่นั่งการรับเด็กได้ 40 คน แต่สุดท้ายคุณได้ผู้เรียนรุ่นนั้นมาแค่ 30 คน และระหว่างเรียนก็ยังคงหลุดไปอีกประมาณ 5-6 คน ทั้งที่คุณมีความพร้อมในการผลิตบัณฑิตในวิชาเอกนั้น ๆ ในปีนั้น ๆ ถ้าเหลือแค่ 23 คน มันคือความสูญเปล่าจริง ๆ นะ

ในขณะเดียวกันคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อช่วงสองปีหลังก็มีเด็กซิ่วเข้ามาเรียนเยอะมากซึ่งก็น่าแปลกใจ เพราะคณะครูทุกคนรู้ว่ามาก็ต้องมานั่งฝึกสอน ถ้าเป็นเด็กที่เข้ามาเรียนปีแรกอาจจะพอนึกออก แต่ถ้าเป็นเด็กที่ไปเรียนคณะอื่น มหาวิทยาลัยอื่นมาสองสามปีแล้ว แล้วจะมาสอบเข้าครุศาสตร์ใหม่ ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ตนเองก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีเด็กซิ่วข้ามปีในช่วง 2 ปีนี้เยอะขึ้นแบบนี้ อันนี้เป็นอีกมุมที่สังเกตอยู่

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ