“อ่าวกุ้ง” อัญมณีแห่งท้องทะเลกับความท้าทายสู่การพัฒนา

“อ่าวกุ้ง” อัญมณีแห่งท้องทะเลกับความท้าทายสู่การพัฒนา

บ้านอ่าวกุ้ง เป็นชุมชนเล็ก ๆ ทางฝั่งตะวันออกของจังหวัดภูเก็ต ทำวิถีประมง ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีประการังเขากวาง ปะการังโขด และมีกัลปังหา กว่า 547 ไร่ มีแนวป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งพื้นที่นี้ คือพื้นที่ที่ปรากฏในแผนโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่า ในพื้นที่บ้านอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต นักวิชาการชี้ว่า ที่นี่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ชาวบ้าน ที่สำคัญในยามวิกฤตโควิด-19 ทะเลคือหลังพิงสุดท้ายของคนจน

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (05 เม.ย 65) นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ตัวแทนคณะทำงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก (พื้นที่ร่วมป่าคลอก) ตลอดจน บุคลากร ประชาชนในพื้นที่อ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ร่วมกันจัดเวทีเสวนาวิชาการ “อ่าวกุ้ง อัญมณีแห่งท้องทะเล กับความท้าทายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

อาจารย์สายสนิท พงศ์สุวรรณ  คณะวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต กล่าวว่า อ่าวกุ้งอยู่บริเวณช่องแคบที่ตัดผ่านระหว่างอันดามันมายังอ่าวพังงา เป็นส่วนหนึ่งของช่องแคบมะละกา ซึ่งประเทศไทยมีเพียงที่เดียว จะเห็นได้ว่าน้ำทะเลจากอันดามันสามารถไหลซึมมายังอ่าวพังงาได้ ในทางธรณีวิทยาแล้วมีความสำคัญมาก มีกองหิน ที่บ่งบอกถึงการแยกตัวของเปลือกโลก มีร่องร่อยที่บ่งบอกถึงระดับน้ำทะเลที่เปลี่ยนไป ถือเป็นอัญมณีแรกด้านธรณีวิทยา

ที่นี่ความสำคัญของระบบนิเวศที่หลากหลายล้อมรอบด้วยอุทยาน สิ่งมีชีวิต สัตว์ทะเล สามารถข้ามแม่น้ำทั้งสองฝั่งได้ ตัวอ่อนของปะการังสามารถผ่านตามกระแสน้ำที่ไหลได้ ทำให้มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ บริเวณฝั่งที่อยู่ใกล้กัน ก็จะมีพื้นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นป่าดิบชื้นที่มีสำคัญ (ทางกรมป่าไม้มีแนวคิดที่จะยกระดับให้เป็นพื้นที่นี้มีชื่อเสียงระดับโลก โดยเสนอชื่อให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล) โดยน้ำจากเขาพระแทว ไหลมาบรรจบ “อ่าวกุ้ง” จะเห็นได้ว่าอ่าวกุ้งมีพื้นที่ป่าดิบชื่น มีป่าชายเลน เป็นหาดเลน ที่พี่น้องชาวประมงทั่วภาคใต้รู้จักกันดีว่าหาดเลนเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทั้ง หอย กุ้ง ปู ปลา เป็นส่วนต้นของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเป็นอัญมณีที่สองในด้านนิเวศวิทยา และทรัพยากรที่สมบูรณ์เหล่านี้สามารถที่จะเลี้ยงชีวิตชาวบ้านทั้งในเเละนอกพื้นที่และที่สำคัญ ที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลายเป็นอัญมณีที่สามในด้านวิถีชีวิตเเละการท่องเที่ยว  

อาจารย์สายสนิท เล่าต่อว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เราปิดประเทศนักท่องเที่ยวกว่า 14 ล้านคน ลดลงเหลือ 0% ชาวบ้านในพื้นที่จ.ภูเก็ต 90% ทำอาชีพด้านการท่องเที่ยว คนตกงานจำนวนมากกลับบ้านพึ่งอาชีพประมง ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาเรารอดมาได้ด้วยทรัพยากรที่มีเเละพื้นที่ป่าคลอกเป็นฐานที่มั่นสุดท้าย

ผู้ว่าราชการเคยพูดว่า ที่ผ่านมา ภูเก็ต มีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว เปรียบศาลพระภูมิ มีเพียงเสาเดียว เมื่อเสาพังลงมาล้มกันทั้งจังหวัดพังทั้งหมด จึงต้องเพิ่มให้มีหลายเสาต้องเปลี่ยน เศรษฐกิจขาเดียวไปสู่เศรษฐกิจแบบยั่งยืน   

ดร.นลินี ทองแถม ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เล่าเสริมเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น จากการสำรวจหลังวิกฤตปะการังฟอกขาวในปี 2553 ทางทีมวิจัยได้ทำการสำรวจปะการังบริเวณอ่าวกุ้ง ในปี 2556, ปี2561 และปี 2565

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมของปี 2565 แนวประการังที่พบในพื้นที่อ่าวกุ้ง คือเกาะแพ มีพื้นที่แนวปะการัง19 ไร่ จากการสำรวจปี 2556 พบว่าเสียหายมาก ปี 2561 สมบูรณ์ปานกลาง และปี 2565 พบว่าสมบูรณ์ดี

เกาะรา มีพื้นที่แนวประการัง 1 ไร่ หลังวิกฤตปะการังฟอกขาว พบว่าปี 2556 เสียหายมาก ปี 2561 มีการฟื้นตัว สมบูรณ์ปานกลางและปี2565 สมบูรณ์ดีมาก 

เกาะปายู มีพื้นที่แนวประการัง 68 ไร่ พบว่าปี 2556 เสียหายมาก ปี 2561 มีการฟื้นตัว สมบูรณ์ปานกลาง และปี 2565 สมบูรณ์ดี

เกาะจำ มีพื้นที่แนวประการัง 131 ไร่ พบว่าปี 2556 เสียหายมาก ปี 2561 มีความเสียหายมาก และปี 2565 สมบูรณ์ปานกลาง

ชายฝั่งบ้านอ่าวกุ้ง พื้นที่แนวประการัง 64 ไร่ ปี 2561 มีความเสียหายมากและปี 2565 เสียหายมาก

และเกาะเฮ (อ่าวกุ้ง) พื้นที่แนวประการัง 62 ไร่ พบว่าปี 2556 เสียหายมาก ปี2561 มีความสมบูรณ์ปานกลางและปี2565 สมบูรณ์ดี

ซึ่งทั้งหมดมีแนวโน้มดีขึ้น โดยปะการังส่วนใหญ่จะเป็นปะการังพื้นราบเขตน้ำขึ้นน้ำลง ส่วนในพื้นที่อ่าวกุ้งจะเป็นปะการังในเขตพื้นราบจะโผล่พ้นน้ำช่วงน้ำลง ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นปะการังโขด ปะการังดอกไม้ทะเล ปะการังน้ำผึ้ง ปะการังสมอร่องยาว ปะการังช่องเหลี่ยมเเละปะการังเขากวาง

และจากการสำรวจ ปะการังในพื้นที่เกาะเฮ (อ่าวกุ้ง) ปะการังเขากวาง ขนาดพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ พบว่าปะการังเขากวางได้ตายลงประมาณ 75% ซึ่งเป็นผลกระทบในปี2562 เกิดเหตุการณ์น้ำทะเลลดลงต่ำกว่าปกติ ทำให้ปะการังตรงโซนนี้โผล่พ้นน้ำนานกว่าปกติ

ล่าสุดยังพบการลงเกาะของตัวออนประการังเขากวางและบางส่วนของปะการังเขากวางยังมีชีวิตอยู่และกำลังจะฟื้นตัวตามธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด ถ้าไม่มีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้ยังพบสัตว์น้ำอื่นๆเช่น ฟองน้ำทะเล, ปลิงทะเล, หอยสองฝา, เม่นทะเลและที่สำคัญ กัลปังหาสีแดง พบยังกระจายตัวหนาแน่นเป็นหย่อม ๆ บริเวณชายฝั่งบ้านอ่าวกุ้ง

ดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตมองว่า ทิศทางกรท่องเที่ยวที่ผ่านมาเราเน้นไปเชิงมหาชน ไม่ได้ศึกษาทรัพยากรว่าควรไปสู่การพัฒนาเเบบไหน ตรงนี้มีความสำคัญมาก

หากเราพูดถึง”ภูมินิเวศอ่าวกุ้ง” เราไม่สามารถที่จะมองอ่าวกุ้งเดี่ยวๆได้ เพราะว่าภูมินิเวศเชื่อมต่อกันทั้งอันดามันเเละอ่าวพังงา ถ้าจะมีกิจกรรรมอะไรที่ทำให้อ่าวกุ้งเปลี่ยนไป ก็จะส่งผลต่อภาพรวมทั้งหมดต้องมองเชื่อมต่อเป็นระบบ 

ดร.อาภาเล่าต่อว่า พื้นที่ตรงนี้มีหญ้าทะเลมีแนวโน้มว่าพะยูนจะมาขึ้นที่พังงา เพราะหญ้าทะเลอ่าวกุ้งเริ่มสมบูรณ์ ที่สำคัญอ่าวกุ้งสมบูรณ์เพราะ ระบบนิเวศที่เป็นปากคลองปากแม่น้ำ เป็นระบบที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงสุด ตรงนี้มีลักษณะที่เราเรียกว่าunique มีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะ

ดร.จตุรงค์ คงแก้ว ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการจัดการชายฝั่ง คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มองว่าพื้นที่นี้คืออู่ข้าวอู่น้ำของชาวบ้าน ที่กำลังได้รับผล กระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ กำลังจะมีการขุดลอกร่องน้ำอยู่ใกล้แนวประการังเกาะเฮ 

สำหรับผมแล้วปี2562 เจอวิกฤตปะการังฟอกขาว ถัดมาเจอน้ำทะเลลงนานกว่าปกติ มีโอกาสเจอแดดในช่วงน้ำลง แต่ปะการังเหล่านี้สามารถฟื้นตัวจากการฟอกขาวและตะกอนได้ 

ผมว่ามันเป็น ซุปเปอร์ โครอล มันเป็นเทรนอย่างหนึ่งของการศึกษาปะการังทั่วโลก ทั่วโลกกำลังค้นหาว่ามีปะการังที่ไหนบ้างที่ทนต่อแรงเสียดทาน หรือปัจจัยคุกคามที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ถ้าปะการังนี้ถูกทำลายจากโครงการพัฒนา มองว่าไม่ใช่แค่อู่ข้าวอู่น้ำของคนอ่าวกุ้ง แต่จะทำให้วงการวิชาการเสียโอกาส ที่จะได้เรียนรู้ ในเชิงลึก เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าปะการังที่นี่แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร ซึ่งน่าเสียดาย

ดร.จตุรงค์ มองว่า ถ้าเราเปิดโอกาสให้ขุดลอกตรงนี้ได้ ไม่ว่าจะด้วยกลไกอะไรก็ตามพื้นที่อื่น ๆ ก็จะตามมา ถ้าย้อนไปปี2562 เรายกเลิกการทำEIA เขื่อนกันคลื่น ปัจจุบันเกิดการระบาดของกำแพงกันคลื่นในประเทศไทยจำนวนมาก เเละสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศชายหาด พร้อมย้ำว่า เรามีโครงการมากพอหรือยังเราศึกษาเเล้วชั่งน้ำหนักมากพอหรือยังว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่แค่เม็ดเงินแต่หมายถึงคุ้มค่าในแง่ประเด็นอื่น ๆ 

เรากำลังกินสมบัติของลูกหลาน ถ้าเรากินหมดวันนี้แล้วลูกหลานในอนาคตล่ะ?

ดร.จตุรงค์ ทิ้งท้าย ว่าทะเลหลังพิงสุดท้ายของคนจน ชาวบ้านบอบช้ำจากโควิด บอบช้ำจากภาระหนี้สิน หันกลับไปพึ่งทะเลแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ถ้าหลังพิงนี้มันพัง เกิดวิกฤตนี้ขึ้นมาใครจะเป็นคนรับแรงกระแทกจากวิกฤตนั้น ที่ผ่านมาโควิดเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าทะเลเป็นความมั่นคงเป็นแหล่งพิงของคนจนอย่างแท้จริง 

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ