คมสันติ์ จันทร์อ่อน
กองเลขาธิการสลัม 4 ภาค
ช่วงปี 2540 เป็นช่วงชีวิตที่ผมได้ก้าวย่างเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมกับเป็นช่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเข้าสู่ความเข้มข้นในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม เป็นสถานที่บ่มเพาะความคิด จิตสำนึก ให้ได้มองถึงสังคมรอบข้าง แทนที่จะมองแต่เรื่องตนเอง หรือเรียนให้จบ ๆ ไปแล้วไปหางานทำ
ชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมนี่เอง ที่ได้พาผมไปรู้จักสังคมอีกมุมหนึ่งที่สังคมกระแสหลักมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญ แต่กลุ่มคนในสังคมนั้นกลับมีความสำคัญต่อสังคมกระแสหลักเป็นอย่างมาก นั่นคือ “สลัม” คนเหล่านั้นเป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานราคาถูก แรงงานนอกระบบที่ชนชั้นกลางไม่ทำกัน หากขาดแรงงานเหล่านี้ไปเมืองจะเจริญไม่ได้อย่างแน่นอน (วาทะ พี่เปี๊ยก นายทวีศักดิ์ แสงอาทิตย์ แกนนำชาวบ้านสลัม)
นั้นคือบทบาทแรกที่ผมได้สวมเสื้อตัวที่ 2 จากชุดแรกที่สวมใส่คือชุดนักศึกษา เสื้อชุดที่ 2 นี่เองที่ทำให้ผมและกลุ่มชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมถูกเรียกขานว่าเป็น “นักกิจกรรม” ที่ศึกษาปัญหาชีวิตชาวคนจนเมืองที่ถูกละเลยจากสังคมหลัก เป็นอีกหนึ่งวิชาที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียน แต่ได้ความรู้มากมายกว่าการท่องจำกระดาษข้อสอบหน้ารามมากยิ่งนัก
บทเรียนจากการเป็นนักกิจกรรมของชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมนี้เองทำให้ผมได้รู้จักและได้ร่วมเคลื่อนไหวด้วยคือ “สหพันธ์นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)” และนี้เองที่ทำให้ผมได้มองสังคมได้กว้างมากขึ้นไปอีก เพราะการเคลื่อนไหวของ สนนท. ช่วงเวลานั้นก็จะสอดรับกับสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ และกลุ่มนักการเมืองพรรคต่าง ๆ ก็ใจจดใจจ่อถึง ร่าง รธน. ใหม่ที่จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร
หลังจากภารกิจ สสร. จบลง ประเทศไทยได้ร่าง รธน.ใหม่มา แน่นอนเนื้อหามันดีขึ้นกว่า รธน.เดิมอย่างสิ้นเชิง เนื้อหาสอดรับกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตั้งแต่กระบวนการเลือกผู้แทน สสร. จนถึงเนื้อหาในเล่มร่าง รธน. “การรณรงค์” จึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
เราทั้งในนามชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม และ สนนท. ร่วมกันจัดรณรงค์ไม่ว่าจะเป็นในมหาวิทยาลัยของตนเอง ที่ร่วมกับชมรม กลุ่ม ค่าย หรือแม้แต่พรรคในมหาวิทยาลัย จัดเวทีน้อยใหญ่ตามแต่โอกาส เพื่อให้เพื่อน ๆ นักศึกษาได้ข้อมูลเนื้อหาจากร่าง รธน. ฉบับปี 2540 หรือที่สังคมได้ขนานชื่อว่าเป็น รธน. ฉบับประชาชน
การรณรงค์ของเราไม่ได้หยุดแค่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของ สนนท. เท่านั้น เรายังมีนัดจัดเวทีสาธารณะตามจุดเมืองหลวงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วงเวียนใหญ่ หรือย่านบางลำพู เป็นต้น เราจัดเวทีอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ เปิดเผย และสร้างสรรค์ จนเกิดสัญลักษณ์ “ธงเขียว” ขึ้นมาเพื่อแสดงตัวตนให้รู้ว่าประชาชนที่มีธงเขียวนั้นต้องการร่าง รธน. ฉบับปี 2540 นี้
จนกระทั่งการลงคะแนนเห็นชอบรับร่าง รธน. ฉบับปี 2540 ก็เริ่มขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น สส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดพิจารณาออกเสียงว่าจะ รับ หรือ ไม่รับ ร่าง รธน. ฉบับนี้
ก่อนวันลงคะแนนเสียงผมยังจำได้ดี เรา นักศึกษา องค์กรประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดเวทีใหญ่กลางสนามหลวง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอภิปรายเนื้อหา ร่าง รธน. หรือกลุ่มไหนมาจากจังหวัดไหนถึงขั้นประกาศกร้าว หาก สส. จังหวัดตนเองไม่รับร่าง รธน. นี้ เลือกตั้งครั้งใหม่จะไม่เลือกกลับเข้ามาเป็น สส. ในจังหวัดนั้น ๆ อีก นี่เป็นแนวทางวิถีทางประชาธิปไตยในช่วงยุคที่ผมเป็นนักกิจกรรมช่วงนั้น
กลับมาสู่ปัจจุบัน ปี 2559 ผ่านมาแล้ว 19 ขวบปี การพัฒนาด้านประชาธิปไตยควรจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น การแสดงออกทางความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ “ควร” จะได้รับการยอมรับและเปิดกว้างมากขึ้น แต่กลับตรงกันข้าม
เป็นที่เข้าใจกันได้ว่าการเข้ามาปกครองโดยทหารในช่วงนี้ แม้ว่าจะเป็นภาวะไม่ปกติทั่วไปแต่ทิศทางที่ทางนายกรัฐมนตรี หรือ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศไว้ว่า จะเป็นการเข้ามาปกครองประเทศเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสากล และที่บริหารอยู่นี่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้วถึง 99 เปอร์เซ็นต์ และพยายามจะสร้างกระบวนการประชาธิปไตยโดยการจัดให้มีประชามติ เพื่อได้ให้ประชาชนออกเสียงแสดงความเห็นถึง ร่าง รธน. ฉบับใหม่นี้ ว่าควรจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างนี้ แต่กลับกลายเป็นเพียงแค่เปลือกกระบวนการ แต่หัวใจหลักนั้นถูกละเลย และปิดกั้นทุกวิถีทาง
ดังจะเห็นได้จากมีการข่มขู่ออกหน้าสื่ออย่างเนือง ๆ โดยคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ว่าจะดำเนินคดีต่อบุคคลนั้น กลุ่มนี้ เพียงเพราะการแสดงความเห็นที่แตกต่างจากฝ่ายบริหาร ที่เป็นเนื้อหาโดยแท้ของร่าง รธน. ฉบับนี้ หรือล่าสุดที่มีการจับกุมนักศึกษา นักกิจกรรม ที่รณรงค์เผยแพร่เนื้อหาอีกด้านหนึ่งของร่าง รธน. ฉบับนี้ต่อสาธารณะ เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ กลับถูกตำรวจจับ (ก่อน) แล้วแจ้งข้อหาทำผิดกฎหมายประชามติ ส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านั้นต้องติดคุกเพียงเพราะ “รณรงค์” เนื้อหาร่าง รธน.
ร่าง รธน. ฉบับนี้ หากยังไม่เปิดเล่มอ่านเนื้อหา เพียงแค่มองที่มา ที่ไป ก็แทบจะไม่มีความชอบธรรมในการนำเสนอต่อประเทศได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่แต่งตั้งมาโดยไม่ได้ยึดโยงจากประชาชนส่วนใหญ่ ส่วนกระบวนการรณรงค์สามารถทำได้เพียงฝ่ายเดียว นำเสนอเพียงด้านเดียว ภาคประชาชนไม่สามารถจะดำเนินการได้ หากจะดำเนินการก็ต้องผ่านขั้นตอนมากมายหลายอย่างและต้องถูกกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด ที่พร้อมจะสามารถยุติการกระทำได้ทันที
นี่ไม่ใช่รูปการที่จะพาสังคมไทยไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่มันจะเป็นการปิดกั้นอิสรภาพ เสรีภาพ ของประชาชน ปิดไว้เพื่อรอวันจะระเบิดออกมา
ดังนั้น ถึงแม้ผมจะเป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ 1 เสียง ในสังคม จึงอยากจะให้ คสช. และรัฐบาลได้ทบทวนกระบวนการ วิธีคิดใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด เรื่องเล่าเรื่องนี้มิได้คาดหวังที่จะเรียกร้องต่อ คสช. จะเห็นตามคำร้องขอ
แต่อยากจะส่งเสียงนี้ถึงนักกิจกรรม ทั้งในอดีต และปัจจุบัน ที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยกันมา ร่วมปกป้อง “สิทธิ อิสระ เสรีภาพ ของประชาชน” ร่วมกันอีกครั้ง การรณรงค์ประชามติครั้งนี้ ไม่ใช่สิ่งอัปยศแต่อย่างใด
สิทธิ อิสระ เสรีภาพ ทางความคิด การแสดงออก เป็นของประชาชนทุกคน !!!