บันทึกที่ 2 อีกค่ำคืนในเดือนพฤษภา เด็กโรฮิงญา ชีวิตที่ไร้บ้าน อนาคตที่กำหนดไม่ได้

บันทึกที่ 2 อีกค่ำคืนในเดือนพฤษภา เด็กโรฮิงญา ชีวิตที่ไร้บ้าน อนาคตที่กำหนดไม่ได้

20151205014321.jpg

ศิววงศ์ สุขทวี 
ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ
เผยแพร่ใน FB: 5 พ.ค. 2558

เขียนเมื่อ 27-28 กุมภาพันธ์ ตะกั่วป่า พังงา

หญิงสาวเดินทางพร้อมกับลูกสาว  1 คน อายุประมาณ 3 ขวบ และลูกในท้องอีกคน สามีของเธอได้เดินทางออกมาจากรัฐยะไข่ล่วงหน้า โดยหวังว่าจะหางานทำและส่งเงินกลับไปให้เมียและลูกที่บ้านได้อย่างอยู่สบาย แต่ความรุนแรงในรัฐยะไข่ก็ทำให้หญิงสาวและลูกสาวต้องสูญเสียบ้าน และอพยพเข้าไปอยู่ในค่ายพักชั่วคราวที่รัฐบาลจัดให้สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง แต่สภาพแออัด และขาดแคลน ไร้อนาคตภายในค่าย ทำให้หญิงสาวตัดสินใจหลบหนีออกจากค่าย และขึ้นเรือหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ ตั้งใจจะเดินทางไปหาสามีที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย

“การเดินทางมาบนเรือระหว่างที่ฉันท้องลูกคนนี้ลำบากมาก ระหว่างทางฉันปวดท้องหลายครั้ง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ฉันต้องอดทนจนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุม และช่วยเหลือนำพามาอยู่ที่นี่ (บ้านพักเด็กฯ) ฉันคลอดลูกคนเล็กที่นี่เมื่อ 2 เดือนก่อน”

เธอและลูกยังโชคดีที่ถูกจับกุมและได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของอำเภอตะกั่วป่า แต่การสัมภาษณ์ของทีมสหวิชาชีพก็ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนและเพียงพอที่จะกันเธอและลูกให้เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เธอและลูกถูกดำเนินคดีในข้อหาลักลอบหนีเข้าเมือง ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก แต่เนื่องจากเธอตั้งครรภ์ และเดินทางมากับลูกสาวอีกคน จึงถูกส่งตัวจากเรือนจำตะกั่วป่ามาให้ทางบ้านพักฯ รับช่วงดูแลต่อ

ตอนนี้หญิงสาวชาวโรฮิงญาคนนี้อาศัยอยู่ในบ้านพักกับลูกสาวอีก 2 คน แม้ว่าใจของเธอยังอยากไปหาสามีของเธอในประเทศมาเลเซีย แต่ก็ยังไม่สามารถติดต่อเขาได้ และประสบการณ์ที่เจอระหว่างทางทำให้เธอไม่กล้าที่ตัดสินใจหนีออกจากบ้านพัก พร้อมลูกทั้ง 2 คน

“ที่นี่ (บ้านพัก) เป็นบ้านของฉัน บ้านของฉันที่ยะไข่ถูกเผาไปแล้ว และชีวิตที่นั่นก็ลำบากมากกว่าที่นี่มากมาย ฉันไม่มีบ้านที่นั่นอีกแล้ว …”

การเดินทางไปหาสามีที่มาเลเซียโดยขบวนการผิดกฎหมายเป็นความเสี่ยงที่ตัวเธอเอง และเจ้าหน้าที่ก็รับรู้ แต่การพยายามดำเนินการช่วยเหลือเธอและลูกตามกฎหมายก็ไร้อนาคต การถูกดำเนินคดีในข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายทำให้เธอและลูกทั้ง 2 คน อยู่ประเทศไทยในฐานะของผู้รอการส่งกลับประเทศต้นทางเท่านั้น

บ้านที่ถูกทำลาย และค่ายพักพิงชั่วคราวในเขตเมืองซิคเวย์ ที่รัฐบาลเมียนมาตั้งขึ้นในรัฐยะไข่สำหรับพวกเขา ชีวิตในค่ายไม่ได้มีอะไรใกล้เคียงกับบ้าน

“ครอบครัวผมมีด้วยกัน 8 คน เราได้ข้าวสารวันละ 1 กระป๋องนม มันไม่พอกินสำหรับครอบครัวของเรา แม้ว่าจะเอามาทำเป็นข้าวต้มแล้วก็ตาม ผมไปต้องไปหาเด็ดใบไม้ เหมือนต้นมะม่วงที่อยู่ในบ้านพัก เอาไปต้มใส่เพิ่มเข้าไปเพื่อให้ทุกคนพอกิน เราไม่รู้จะได้กลับออกไปไหม ผมก็เลยหนีออกมา” 

หนุ่มน้อยชาวโรฮิงญาอีกคนเล่าให้ทีมจากมูลนิธิผู้หญิง และผม พร้อมกับเพื่อนๆ โรฮิงญาและบังคลาเทศในบ้านฟังด้วยความตั้งใจ สายตาที่นิ่ง เรื่องเล่าที่ยาวนานเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ โดยมีรูปถ่ายของตนเองกำลังปีนอยู่บนต้นมะม่วงอยู่ในมือ

อาการแปลกแยกจากเพื่อนๆ และจากประวัติของหนุ่มน้อยชาวโรฮิงญาคนนี้ที่เคยอยู่กับชาวโรฮิงญาในไทยและได้รู้จักชาวโรฮิงญาทั้งในไทยอื่นที่อาจจะดีและไม่ดี หรืออาจจะได้เจอนายหน้าที่เป็นชาวโรฮิงญาด้วยกันโดยที่ตัวเขาเองไม่อยู่ในฐานะของการเป็นเหยื่อ รวมถึงชาวโรฮิงญาที่สามารถหลบหนีจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่และเดินทางไปมาเลเซีย ก่อนที่จะถูกส่งมาอยู่ที่บ้านพักฯ

หญิงสาวและหนุ่มน้อย ทั้ง 2 คนก็เหมือนเพื่อนๆ ทั้งเด็ก ผู้หญิง และวัยรุ่นชาวโรฮิงญาอีกเกือบ 20 คน ที่อยู่ในบ้านพักฯ ขณะที่ “บ้าน” ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สิ่งก่อสร้างที่เคยคุ้มหัวนอนถูกทำลาย แต่เป็นความสัมพันธ์ของชีวิตที่เคยมีอยู่พื้นที่ตรงนั้นถูกทำลายจนไม่สามารถกลับไปได้อีกครั้ง ไม่มีใครยินดีที่จะต้อนรับพวกเขากลับบ้าน

บ้านพักฯ ได้กลายเป็นบ้าน และเจ้าหน้าที่บ้านพักได้กลายเป็นแม่ เป็นพี่ที่คอยดูแลพวกเขาให้มีความสุขเท่าที่เจ้าหน้าที่จะทำได้ แต่ก็เป็นเพียงแค่ “บ้าน” ในปัจจุบันที่พวกเขาจะอยู่ได้เพียงแค่ชั่วคราว กับอนาคตที่ไม่มีใครมั่นใจ

“การอยู่ที่นี่ สบายกว่าที่บ้านในยะไข่ แต่ฉันก็ไม่รู้อนาคต ไม่รู้ว่าฉันจะอยู่ที่นี่ถึงเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าฉันจะถูกพาไป ไหนอีก…. อนาคตของฉันและลูกๆ ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่นี่” หญิงสาวชาวโรฮิงญาบอกกับเพื่อนๆ และเจ้าหน้าที่ของบ้านพักขณะที่เล่าถึงบ้านในฝันของเธอ

ขณะที่ความสบายในบ้านพักที่นี่ทำให้หนุ่มน้อยโรฮิงญากล่าวว่า “อยู่ที่นี่ได้กินดี ได้นอนดี แต่ไม่รู้ว่าจะได้ไปไหนในอนาคต อยากทำงาน อยากได้เงินบ้าง แต่ที่อยู่ที่นี่ไม่ได้ทำงาน ไม่รู้จะทำอะไร”

ความคิดถึง “บ้าน” ของชาวโรฮิงญาแตกต่างไปจากชาวบังคลาเทศชัดเจน ชาวบังคลาเทศที่อยู่ในบ้านพักหลายคนมาจากเมืองชายฝั่งตอนในใกล้ดักกาของบังคลาเทศ บางคนถูกชักชวนให้มาทำงานที่ซึ่งจะได้ค่าตอบแทนมากกว่าที่ทำงานที่เก่า แต่พอไปถึงที่ทำงานใหม่ก็ถูกบังคับให้ขึ้นเรือเดินทางมาเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย

การถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่ไทยจึงเป็นการช่วยเหลือพวกเขาให้รอดออกมาจากขบวนการที่นำพาเข้ามา ทุกคนมีความหวังที่จะได้กลับบ้าน พวกเขาเพียงรอคอยการดำเนินการของเจ้าหน้าที่สถานทูตบังคลาเทศประจำประเทศไทยในการดำเนินการพิสูจน์สถานะของพวกเขา และประสานงานกับรัฐบาลไทยในการส่งตัวพวกเขากลับบ้านที่บังคลาเทศ

“พวกเรายังมีบ้านให้กลับ แต่โรฮิงญาจะกลับบ้านที่ไหน” หนุ่มบังคลาเทศคนหนึ่งที่นั่งติดกัน หันหน้ามาที่ผมแล้วพูดขึ้นระหว่างฟังเรื่องบ้านของชาวโรฮิงญา
 
ทางเลือกที่ถูกบังคับ

ระหว่างที่ทีมที่เข้าไปช่วยทำกิจกรรมในบ้านพักจากมูลนิธิผู้หญิงกำลังเก็บของ เจ้าหน้าที่บ้านฯ คนหนึ่งก็บอกเราว่า เด็กๆ ชาวโรฮิงญามีเพลงที่ชอบร้องให้ฟังเกี่ยวกับการเดินทางไปมาเลเซีย ทีมงานและผมเลยขอให้ร้องให้ฟังสักครั้ง เพลงดังขึ้น ล่ามของเราแปลให้ฟังว่า

“อย่าไปเลยมาเลเซีย มีนายหน้าคอยรังแกอยู่มากมาย อดทนรอไปอเมริกา ที่นั่นไม่มีนายหน้ารังแกอีกต่อไป”

เด็กๆ ร้องเพลงแบบนี้ได้ก่อนที่จะถูกจับกุม และถูกส่งเข้ามาอยู่ในบ้านพักฯ แห่งนี้ เจ้าหน้าที่บ้านพักฯ ไม่ทราบว่าเด็กเหล่านี้ถูกสอนในร้องเพลงนี้เมื่อไหร่ อาจเป็นในค่ายพักในประเทศเมียนมา อาจเป็นบนเรือของขบวนการที่นำพาพวกเขาเข้ามาในประเทศไทย หรืออาจเป็นในห้องกัก หรือเรือนจำในประเทศไทย แต่ตลอดเวลานับตั้งแต่บ้านพักฯ แห่งนี้ต้องเข้ามารับหน้าที่การดูแลผู้อพยพสตรี เด็ก และเหยื่อการค้ามนุษย์ก็กลายเป็นพยานในการหลบหนีออกจากบ้านพักอย่างต่อเนื่อง ความพยายามในการป้องกันของเจ้าหน้าที่บ้านพักฯ ดูจะทำอะไรได้น้อยมาก เมื่อไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงจังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่

ระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นเรื่อยๆ ที่พวกเขาตัดสินใจเลือกอยู่ภายในบ้านพักฯ แม้จะมีความหวังแต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ที่ทำให้พวกเขามั่นใจว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง การจัดการศึกษาให้เด็กเป็นความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานร่วมกับองค์กรประชาสังคมของพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถจัดให้ได้กับทุกคน เช่นเดียวกับการอนุญาตให้ทำงานในระหว่างการรอดำเนินการตามกฎหมาย

การอยู่โดยการพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา ทำลายความรู้สึกถึงอำนาจในการกำหนดชีวิตของตัวเองและเช่นเดียวกับความหวังที่จะได้ไปประเทศที่สามห่างไกลออกไปขึ้นเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านพัก การไปมาเลเซียกลายเป็นทางที่พวกเขาเริ่มรู้สึกถึงการเป็นทางเลือกเดียว เมื่อพวกเขาถูกชักจูงจากนายหน้าอีกครั้ง ก็คงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะยับยั้งพวกเขาไม่ให้หนีออกไป

สร้างทางเลือก โดยการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และมุมของการใช้กฎหมาย

ภายใต้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะนำมาใช้จัดการกับปัญหาชาวโรฮิงญาที่ลักลอบเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่มุ่งจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์ที่มีศูนย์กลางของเครือข่ายอยู่ในหลายจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถหยุดยั้งทั้งการเข้ามาของผู้อพยพลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายชาวโรฮิงญา และการเติบโตของขบวนการค้ามนุษย์ที่นำพาพวกเขาเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง

การทุจริตของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมีตั้งแต่ในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันที่เป็นจุดชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งโดยเพาะใน 2 อำเภอของจังหวัดระนอง คือ อำเภอกะเปอร์ อำเภอสุขสำราญ และอีก 2 อำเภอของจังหวัดพังงา คือ อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า รวมทั้งจังหวัดสตูล ตลอดทางจนถึงชายแดนไทย-มาเลเซีย

การไม่มีนโยบายชัดเจนในการจัดการการอพยพลักลอบเข้ามาของชาวโรฮิงญาจากหน่วยงานระดับสูงที่กำหนดนโยบายความมั่นคงของประเทศ โดยหวังว่าการใช้มาตรการของหน่วยงานความมั่นคงทั้งตำรวจ ทหาร ที่ป้องกันปราบปรามการลักลอบเข้ามาของชาวโรฮิงญาจะหยุดยั้งการเข้ามาได้ ขณะที่ไม่ได้คำนึงถึงสถานการณ์ในประเทศต้นทางของชาวโรฮิงญาที่กลายเป็นปัจจัยหลักซึ่งผลักให้พวกเขาต้องออกมาจากบ้านเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา 

โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กที่เริ่มอพยพหนีออกมาขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา อยู่ในความเสี่ยงทั้งจากการถูกคุกคาม ถูกทำร้าย และทำให้พวกเขากลายเป็นสินค้าในการหาผลประโยชน์ โดยอาศัยช่องว่างกฎหมายภายใต้นโยบายป้องกันปรามปรามของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ของไทย

คนไทยจำนวนมากอาจกลัวการทะลักเข้ามาของผู้อพยพ แต่การปล่อยให้เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายทุจริต และทำมาหากินบนชีวิตของผู้อพยพที่หนีความรุนแรงเข้ามาเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากกว่า เจ้าหน้าที่ที่ทราบเครือข่าย ขบวนการแต่เลือกที่จะแวะไปรับเงินหลายแสนบาทในแต่ละเดือน ขณะที่ด่านตรวจของทหาร ตำรวจในจังหวัดชายแดน เช่น ระนอง ชุมพร สงขลาก็ไม่สามารถจับกุมได้ 

พร้อมกับข่าวลือถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายระหว่างทางที่เพิ่มสูงขึ้น และมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่กำลังทำลายความปลอดภัยของสังคมไทยโดยรวม และทำร้ายความมั่นคงในชีวิตประจำวันของคนไทยตามชายแดน ด้วยการปล่อยให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเติบโตไปกับขบวนการนอกกฎหมายที่ทำมาหากิน และคุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรงกับผู้อพยพ

การให้ความคุ้มครองผู้อพยพชาวโรฮิงญาในฐานะผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ หรือในฐานะของเป็นผู้หญิงและเด็กที่เสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์จึงเป็นสิ่งแรกที่ควรต้องทำในการต่อสู้กับขบวนการนอกกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ทุจริตในพื้นที่

การดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างจริงจังโดยรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่จำเป็นซึ่งจะป้องกันการเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ พร้อมกับการวางมาตรการ กลไกที่ชัดเจนในการดูแล ปกป้องผู้เสียหายเหล่านี้ในระหว่างการดำเนินคดี ที่ไม่เพียงแค่การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แต่รวมถึงการให้การศึกษาเด็ก และผู้หญิง การอนุญาตให้ทำงานสำหรับผู้ชายเพื่อทำให้ชีวิตพวกเขามีค่าขึ้นมาอีกครั้ง

กฎหมายต้องถูกใช้เพื่อปกป้องผู้คนที่เสี่ยงจะเผชิญกับความรุนแรงโดยเฉพาะผู้หญิง และเด็ก สร้างทางเลือกให้เขาสามารถเลือกของชีวิตนอกเหนือไปจากการหันไปหาความช่วยเหลือจากขบวนการนอกกฎหมาย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ