“มะขามเทศ” เม็ดเงินที่ติดเชื้อ

“มะขามเทศ” เม็ดเงินที่ติดเชื้อ

“มะขามเทศ” “มะขามแป” “บักขามเลียน” “หมากขามเรียน”

หลากหลายชื่อ เพราะความหลากหลายของพื้นที่ที่เรียกพืชชนิดนี้ต่างกันไปครับ คนภาคกลางอาจจะคุ้นที่สุดในชื่อ มะขามเทศ แต่อย่างบ้านผู้เขียนเรียก บักขามเลียน จำได้ว่ามี 1 ต้นที่หลังบ้านต่างจังหวัดของผู้เขียน ที่เมื่อออกลูกเป็นสีแดงมา เด็ก ๆ ในชุมชนก็จะไปสอยลงมากิน กินละคนเล็กคนละน้อยครับ เพราะต้นนั้นผลที่ออกมามีรสชาติค่อนข้างฝาดลิ้นหน่อย ๆ และไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากในชุมชน เพราะอย่างที่บอกครับ รสชาติไม่ได้ประทับใจมาก ต้นสูงและมีหนาม ยากกับการเก็บลงมากิน

นั่นเป็นประสบการณ์ในวัยเด็กกับบักขามเลียน 1 ต้นในชุมชนครับ ที่ดูไม่ได้มีมูลค่าอะไร แต่ใครจะรู้ละครับ เพราะผู้เขียนก็พึ่งรู้ว่า “มะขามเทศ” เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สามารถเลี้ยงปากท้องและส่งลูกหลานเรียนสูง ๆ ของพี่น้องในชุมชน ต.หนองมะค่า จ.ลพบุรี ที่พวกเขาปลูกกันจริงจัง ปลูกแบบเป็นธุรกิจ ปลูกแบบเป็นแปลงใหญ่

กว่ามะขามเทศจะเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนหนองมะค่า ก็เริ่มต้นจากการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบล ตามนโยบาย “สร้างความหลากหลายของพืชผลทางการเกษตร” นำมะขามเทศ โกโก้ อโวคาโด พุทรา 3 รส เข้ามาปลุกในพื้นที่ ตอนนั้นมีเกษตรกรที่สนใจประมาณ 20 คน และเลือกปลูกมะขามเทศในช่วงแรกไม่กี่คน แต่เมื่อรสชาติของมะขามเทศออกมามีความหวาน เพราะดินเหมาะสม ก็มีกลุ่มพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อโดยตรง พร้อมมีกิ่งพันธุ์สายน้ำผึ้งมาให้เกษตรกรปลูกขยายสายพันธุ์ และรับซื้อโดยตรงกับเกษตรกร ทำให้มะขามเทศตำบลหนองมะค่า เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมีการปลูกมะขามเทศของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น การต่อรองเรื่องการผลิตและราคาก็ถูกหยิบยกมาสู่แปลงใหญ่มะขามเทศตำบลหนองมะค่า ที่สนับสนุนองค์ความรู้จากนักวิชาหลากหลายภาคส่วน ทั้งในและนอกพื้นที่ โดยกลุ่มอาชีพปลูกมะขามเทศที่เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ มีทั้งหมดจำนวน 38 ราย มีพื้นที่ปลูกมากถึง 312 ไร่ รูปแบบการปลูก 25 ต้น/ไร่ ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคม จะเริ่มเป็นช่วงเก็บเกี่ยว เก็บยาว ๆ ไปจนถึงเดือนเมษา แต่จะเก็บได้เยอะที่สุด คือช่วง เดือนมกราคม – มีนาคม

แต่ตอนนี้ในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่มะขามเทศ กำลังประสบปัญหาโรคที่เกิดจากเชื้อรา ทำให้ผลผลิตเสียหาย ส่งผลถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น พวกเขาเลยต้องเรียนรู้ ปรับใช้ และต้องรอด

มะขามเทศช่วงที่มันจะติดดอก มันจะมีแมลงมากวน มันจะไปเจาะช่อดอก เวลาเราไปโดนช่อดอก แมลงพวกนี้มันจะบินมาชนหน้าเรา ไม่รู้เขาเรียกเพลี้ยหรือแมลงอะไรก็ไม่รู้ มันไปเจาะดอกพอดอกร่วงผลก็ไม่ติด

เกษตรกรปลูกมะขามเทศ ชุมชนหนองมะค่า

ซ้ำลงไปจากศัตรูพืชในมะขามเทศที่เกิดขึ้น โรคระบาดอย่างโควิด-19 กระทบตลาดเกษตรทำให้ยอดที่ขายได้ลดลง จากที่เคยได้ราคาสูงที่สุดถึง กิโลกรัมละ 50 บาท วันนี้ลดลงกว่าครึ่ง

นี่เป็นมะขามเทศที่เราจะคัดขาย เป็นมะขามเทศเบอร์ 1 ได้มาเราก็จะตัดแต่งนิดหน่อย ปีนี้ได้ราคาถูกหน่อย กิโลละ 25 บาท ส่วนฝักเล็กก็จะอีกราคาหนึ่งประมาณ 7 บาท

เกษตรกรปลูกมะขามเทศ ชุมชนหนองมะค่า

วันที่ 2 มีนาคม 2565 สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี สำนักงานเกษตร อำเภอโคกเจริญ และ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองมะค่า พวกเขาก็เลยลงพื้นที่ หมู่ที่ 3 บ้านลำโป่งเพชร ตำบลหนองมะค่า อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี เพื่อวิเคราะห์แก้ไขปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชในมะขามเทศ และร่วมกันบูรณาการให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชในมะขามเทศในรูปแบบชีววิถี ที่จะมีการลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อเติมเครื่องใหม่ให้กับเกษตรกร อย่างการทำน้ำส้มควันไม้ ที่เอาไว้ไล่แมลง และอื่น ๆ เพื่อยกระดับมะขามเทศให้เข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานผลผลิตทางการเกษตรต่อไป

เรียบเรียง : รัตนพล พงษ์ละออ
ข้อมูล/ภาพ : สภาเกษตรกรจังหวัดลพบุรี

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ