บทบาทชุมชนในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย “ปทุมธานีโมเดล”

บทบาทชุมชนในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย “ปทุมธานีโมเดล”

20150707115511.jpg

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน : เรื่อง/ภาพ

การขุดคลองในรัชสมัย ร.4 เพื่อการขยายพื้นที่เพาะปลูก และสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ได้มีส่วนสำคัญให้การพัฒนาเมืองเจริญเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ผู้คนจากทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามาทำมาหากินในเมืองกรุง มีคนจำนวนไม่น้อยปลูกสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำลำคลอง ลงหลักปักฐานสร้างบ้านหาเลี้ยงครอบครัว อย่างที่คลองหนึ่ง ปทุมธานี ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร จากตลาดไทถึงหลังฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต มีผู้อยู่อาศัยราว 1,060 หลังคาเรือน รัฐจะจัดระเบียบอย่างไร จะทำการพัฒนาแบบไหน ให้การรื้อย้ายชุมชนไม่ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

“ปทุมธานีโมเดล” เป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานภาคี กรมธนารักษ์ ชลประทาน สำนักงานเจ้าท่า ที่ดินจังหวัด สถาบันการศึกษา และองค์กรชุมชน ร่วมกันจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เพื่อรองรับนโยบายในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกคลอง  ตามมาตรการจัดระเบียบชุมชนแออัดที่อยู่อาศัยลุกล้ำคลอง และรองรับการระบายน้ำ

จากข้อมูลเบื้องต้นมีชาวบ้านจะได้รับผลกระทบประมาณ 1,060 หลังคาเรือน แบ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง จำนวน 364 หลังคาเรือน และผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในเขตเทศบาลเมืองคลองหลวงจำนวน 696 หลังคาเรือน ซึ่งมี่หน่วยงานภาครัฐได้จัดเตรียมพื้นที่ริมคลองเชียงรากใหญ่ ตำบลคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ประมาณ  42  ไร่ ไว้สำหรับรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรื้อย้ายชุมชนจากพื้นที่เดิมไปอยู่ในที่ดินผืนใหม่ และให้ผู้อยู่อาศัยได้ซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์หรือได้เช่าในระยะยาว ปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในช่วงทำความเข้าใจกับชุมชน และการออกแบบที่อยู่อาศัยอย่างมีส่วนร่วม

20150707115602.jpg

นายประพจน์ อริยะบัณฑิตกุล คณะทำงานสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นคณะทำงานของสหกรณ์เคหะสถานเมืองบางพูน จำกัด เทศบาลตำบลบางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี ที่นั่นมีสมาชิก 137 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 500 คน ที่เคยเช่าที่อยู่อาศัยในที่ดินรถไฟ ที่กรมชลประทาน และที่ดินของเอกชน มีปัญหาถูกไล่รื้อมาตั้งแต่ปี 2549 หลังจากนั้นชาวบ้านเริ่มมีการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ต่อมาขยับสถานะเป็นสหกรณ์ และขอสินเชื่อจัดซื้อที่ดิน สินเชื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ประมาณ 36 ล้านบาท จากโครงการบ้านมั่นคง พอช. สำหรับการก่อสร้างบ้านแถวสองชั้น ขนาด 4X7 เมตร บนเนื้อที่ 11 ตารางวา โดยสมาชิกจะผ่อนชำระ 15 ปี ตกราวๆ เดือนละ 2,500 บาท ซึ่งโครงการได้เริ่มก่อสร้างเมื่อ ปี 2557 ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2558

และเมื่อต่อสู้แก้ปัญหาชุมชนของตนเองได้แล้ว ก็ออกมาช่วยเหลือพี่น้องชุมชนแออัดริมคลองในจังหวัดปทุมธานีต่อ โดยช่วยในการสำรวจข้อมูลครัวเรือน จับพิกัดจีพีเอสชุมชนแออัดที่อยู่อาศัยริมคลองหนึ่ง จัดเวทีพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชน ซึ่งในช่วงต้นบางที่ไม่เปิดรับ บางชุมชนไล่ แต่เมื่อทำงานไปได้สักระยะ มีการเชื่อมโยงการทำงานกับทางเทศบาลเมืองคลองหลวง เทศบาลเมืองท่าโขลง และทางกรมชลประทาน มีการจัดเวทีรับฟัง และการที่รัฐมนตรีออกมาแถลงข่าวในการแก้ปัญหาชุมชนแออัดริมคลองหนึ่ง “ปทุมธานีโมเดล” ทำให้การลงชุมชนมีความง่ายขึ้น

ตั้งแต่เดือนเมษายน-ปัจจุบัน ตนเองและ สมาชิก สอช.ลงเก็บข้อมูลเกือบทุกวัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ในการพิสูจน์สิทธิ์ที่ชาวบ้านควรจะได้รับ เพราะข้อเท็จจริงคือพี่น้องที่อยู่ริมคลองไม่สามารถยื้ออยู่อาศัยริมคลองต่อไปได้ แต่ต้องให้ความร่วมมือ รวมกลุ่มในชุมชนอย่างสามัคคี และลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วยตนเองให้มาก

นางปริญญา ไพรจันทร์ สมาชิกชุมชนวัดบางขัน หมู่ 8 เทศบาลเมืองท่าโขลง จังหวัดปทุมธานี หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ เล่าให้ฟังว่า แรกๆ ที่รู้ข่าว ก็มีความวิตกกังวล ปุ๊บปั๊บมาไล่ แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน คนส่วนใหญ่ที่นี่ก็ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง ทำงานในโรงงาน หาเลี้ยงครอบครัว เรารู้ว่าเรามาบุกรุกอาศัยที่ริมคลองอยู่อาศัยนั้นไม่ใช่เรื่องถูก ล่าสุดวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือมาปิดป้ายประกาศแจ้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 90 วัน เราพร้อมที่จะทำตาม และให้ความร่วมมือ เพราะเชื่อว่ารัฐได้เข้ามาดูแลให้ความเป็นธรรมกับพวกเรา

ได้ข่าวว่าต้องย้ายเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา ช่วงนั้นมีเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสมาชิก สอช. มาพูดคุยทำความเข้าใจ คนชุมชนวัดบางขันก็เริ่มมีการรวมตัว จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เริ่มมีการออมกัน 2 ครั้ง มีสมาชิก 71 คน เพื่อการออมซื้อที่ดินและซื้อบ้าน และพวกเรายินดีที่จะไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ที่เชียงราก แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ เพราะชุมชนมีครอบครัวขยาย 107 ครัวเรือน แต่ที่มีสิทธิ์เพียงแค่ 48 ครัวเรือน 

นายมุสตาฟา อาดำ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองคลองหลวง เล่าให้ฟังว่า ชุมชนแก้วนิมิตร เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่จะต้องรื้อบ้านเรือนที่รุกล้ำคลองหนึ่ง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชุมชนมุสลิมที่ใช้ภาษามาลายู อาศัยอยู่ที่แห่งนี้มาประมาณ 150 ปี จนเกิดครอบครัวขยาย บ้างซื้อที่ดินตั้งบ้านเรือนในบริเวณนี้ บ้างก็ลุกล้ำริมคลองอาศัยตั้งบ้านเรือน โดยชุมชนมุสลิมที่อยู่อาศัยบริเวณคลองหนึ่ง จะมีหมู่ 3 หมู่ 4 และหมู่ 5 ซึ่งใน 3 หมู่นี้ มีชาวบ้านได้รับผลกระทบประมาณ 100 ครัวเรือน ซึ่งเขามีความยินยอมที่จะรื้อย้ายตามนโยบายของรัฐ แต่สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือการจัดซื้อที่ดินในละแวกนี้ เพื่อรวมกลุ่มอยู่อาศัยไม่ไกลจากมัสยิด และพี่น้องมุสลิม หากถ้าต้องย้ายไปสถานที่แห่งใหม่ที่รัฐจัดเตรียมให้ สถานที่นั้นก็ควรจะให้เขาอยู่รวมกลุ่ม มีสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาอย่างเป็นส่วนสัด ที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่ารัฐจะดำเนินการเมื่อไหร่อย่างไร แต่ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน     

20150707115627.jpg

ผศ.ดร.ภูมิชาย พันธุ์ไพโรจน์ คณะสถาปัตยกรรมและผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ออกแบบที่อยู่อาศัยในที่แห่งใหม่ เล่าถึงแนวคิดและการทำงานในช่วงที่ผ่านมาให้ฟังว่า แนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัย ริมคลองเชียงรากใหญ่ ตำบลคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นการเสนอแนวทางสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม โดยมีการประเมินรูปแบบจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน เพื่อสามารถนำไปพัฒนาเป็นแบบก่อสร้างและสร้างโครงการได้ในเวลาที่เหมาะสมกับชุมชนริมคลอง โดยยึดข้อมูล สภาพปัญหา ความคิด ความต้องการ ข้อจำกัด ทางเลือกต่างๆ จากชุมชน นำมาพัฒนาแบบที่อยู่อาศัย

การอยู่อาคารสูงชุมชนจะมีรายจ่ายน้อยกว่า ใช้ที่ดินได้คุ้มค่ากว่า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ซึ่งต่างจากอพาท์เม้นท์ คอนโด เพราะชุมชนมาช่วยกันคิดช่วยกันออกแบบ เปลี่ยนแนวความคิดที่เป็นห้องต่างคนต่างอยู่ เป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันได้ การอยู่อาคาร 5 ชั้น จะมีพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้น มีพื้นที่เหลือพอสำหรับทำศูนย์ดูแลเด็ก ศูนย์พักคนชรา คนพิการ มีพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการ จะปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งแบบของแต่ละตึกไม่เหมือนกัน การออกแบบเป็นไปตามสังคมที่เขาเคยอยู่ด้วยกันมา ชาวบ้านสามารถเสนอให้ทำอย่างสอดคล้องกับที่เขาเคยอยู่อาศัย สอดคล้องกับชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งถ้าเป็นแบบบ้านเดียวจะไม่เหลือพื้นที่ส่วนกลางให้ทำอะไรเลย

ทั้งนี้ในการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้อาศัยแนวคิดและประสบการณ์จากโครงการบ้านมั่นคง มาใช้ในการดำเนินงานโดยยึดหลัก 1) การสำรวจข้อมูลเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ชุมชนจะต้องร่วมกันสำรวจทุกครอบครัวในชุมชนเพื่อเป็นข้อมูลไปสู่การวางแผนพัฒนาชุมชนในทุกๆ เรื่อง 2) การสร้างความเข้าใจ เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน 3) การตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อเป็นฐานเงินของตัวเอง ได้เรียนรู้ระบบการจัดการร่วมกัน และทำให้เกิดความสัมพันธ์ของคนในชุมชน 4) การจัดสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย เป็นเรื่องที่สำคัญและต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่สำรวจร่วมกันเป็นตัวตั้ง 5) ร่วมวางผัง ออกแบบบ้านตามใจผู้อยู่ ร่วมกันในการคิดที่จะสร้างชุมชนตามวิถีชีวิตและสังคม 6) ร่วมกันสร้างระบบสาธารณูปโภคและการสร้างบ้าน

โครงการนี้ มีข้อดีที่ทำให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ต้องมีใครมาไล่ที่ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี แม้จะไม่คุ้นชินกับอยู่บนอาคาร และมีทัศนะคติที่ไม่ชื่นชอบ อพาท์เม้นท์ คอนโด แฟลต แต่รูปแบบที่อยู่อาศัยที่นำเสนอมาจากฐานชีวิต จากรูปแบบชีวิตของเขา ชาวบ้านมองในเชิงบวกมากขึ้น มองว่าที่ผ่านมามีชุมชนพื้นถิ่นที่อยู่กันมาเป็นร้อยปีแต่ยังไม่ได้สิทธิในเรื่องที่ดิน และชุมชนที่มาอยู่ที่หลังก็ต้องการที่พักอาศัยที่ถาวรเช่นกัน โครงการนี้จะเป็นการช่วยชุมชนทั้งดั้งเดิม และชุมชนใหม่ จะทำให้ชุมชนมีศักดิ์ศรีมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น สามารถร่วมกันทำอะไรที่ดีๆ ให้กับสังคมได้ต่อไป

20150707115703.jpg20150707115704.jpg20150707115705.jpg20150707115707.jpg20150707115709.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ