สามสิบกว่าปี กับชีวิตความเป็นอยู่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

สามสิบกว่าปี กับชีวิตความเป็นอยู่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

“เสียงปืนแตกแล้ว แตกครั้งแรกเจ็ดสิงหา หลายปีผ่านมากองทัพได้ก่อขยาย ดั่งดวงไฟน้อย ๆ จากน้อยแล้วค่อยโตใหญ่…” นี่คือบางช่วงบางตอนของบทเพลง 7 สิงหา จงเจริญที่สหายดำเนิน หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้ร้องเปรยเบา ๆ ออกมาเพื่อชวนย้อนให้นึกถึงเรื่องราว 7 สิงหาคม 2508 วันเสียงปืนแตกครั้งแรกบ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม จนกระทั่งก่อเกิดพรรคคอมมิวนิสต์กระจายไปทั่วประเทศ

“คอมมิวนิสต์เกิดจากคนในพื้นที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ อย่างนักศึกษาในเมือง เกิดขบวนการประท้วง ถูกขับไล่ ถูกฆ่า ถูกยิงทิ้ง เพื่อนถูกยิงทิ้ง เพื่อนอีกคนก็หนีเข้าป่ามาอาศัยอยู่กับพวกเราที่น่านนั้นล่ะ”

คนปักษ์ใต้ คนกรุงเทพฯ ย้ายมาอยู่จังหวัดน่านเยอะ เพราะว่าเข้าจีนมันออกทางนั้นไม่ได้ เข้าจีนแล้ว เข้าเวียดนามออกลาวแล้วก็มาพักอยู่ที่นี่ บางคน 6 เดือน บางคน 4-5 เดือน บางคนก็ 2-3 ปี แล้วก็กลับลงไป

แต่สำหรับสหายดำเนิน เป็นชาวลัวะเกิดที่ประเทศไทย และเข้าไปเติบโตในพรรคคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันคือสำนัก 708 ฐานที่มั่นสุดท้ายของศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน พ่อเขาเป็นคนอีสาน แม่เป็นคนลัวะ พ่อกับแม่เลยผสมผสานชื่อเรียกว่า บ่อเนิน ปกติแล้วชนเผ่าลัวะจะเรียกคำนำหน้าว่า “บ่อ” ส่วน “เนิน” มาจากเนินเขา

ภายหลังจากร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่มากันยาวนาน สหายดำเนิน บอกว่า ผมมอบตัวตอนปี 2528 ส่วนปี 2526 นั้น พี่น้องประชาชนเขามอบตัวไปก่อน เราเป็นทหารต้องดูว่า ประชาชนมอบตัวแล้วเขาจะมีการฆ่าไหม ขูดรีดข่มเหงเหมือนที่เขาเล่าให้ฟังไหม พอไม่เห็นเขาทำอะไร ไม่ฆ่าประชาชน ไม่รังแกประชาชน ก็เลยเข้าไปมอบตัว บางคนใช้เวลาหลายปีกว่าจะเข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.)

“ราวปี 2527 ก็เริ่มตั้งหมู่บ้านผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ปัจจุบันมี 4 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านกิ่วจันทร์, หมู่บ้านงอมเปา, หมู่บ้านน้ำรีพัฒนา และหมู่บ้านน้ำช้างพัฒนา ส่วนภูเขาหลายลูกที่อยู่ตรงโน้น ผมเดินข้ามไปมาหมดแล้วทั้งนั้น”  

สหายดำเนิน บอกเพิ่มเติมว่า ช่วงแรก ๆ ชาวบ้านก็ยังแรงกัน แรงไม่นับถือใครทั้งนั้น หลัง ๆ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มเสด็จเข้าพื้นที่พรรคคอมมิวนิสต์ มีการสู้รบท่านก็ได้เสด็จมาเยือน คนก็เริ่มอ่อนลง อ่อนลง ต้องขอบคุณพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ไปเจรจากับจีนไม่ให้เอาอาวุธหนัก ๆ เข้ามา แต่ตัวช่วยอันดับหนึ่งคือในหลวงรัชกาล 9 ส่วนข้าราชการก็ปฏิบัติตามในหลวงรับสั่งให้ดูแลทุกหย่อมหญ้า ที่จริงถือเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ของสังคมไทยเลยก็ว่าได้ 

ชีวิตใหม่กับบทบาทข้าราชการดูแลทุกข์สุขคนในพื้นที่

สหายดำเนิน เล่าถึงชีวิตหลังมอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) บอกวิถีชีวิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตอนอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์ทำไร่ทำสวนแล้วก็ออกไปรบ ตอนนี้รู้สึกอิสระดี จะทำไร่ทำสวนก็ไม่ต้องคอยหลบทหารไทย ส่วนใหญ่ที่นี่เขาก็ทำไร่ ปลูกข้าวโพด ปลูกมัน ปลูกข้าว และมะม่วงหิมพานต์ ปลูกไผ่ไว้ใช้ บรรยากาศตอนกลางวันก็เป็นอย่างที่เห็น สงบ ช่วงเย็น ๆ ก็กลับจากไร่จากสวน ช่วงนี้ไม่มีเทศกาล นอกจากเทศกาลสงกรานต์ เล่นสาดน้ำกันหน้าบ้าน ตั้งแต่โควิดก็ไม่เล่น หยุดไปก่อน

“เมื่อก่อนมอบตัวแรก ๆ ไม่มีตังค์ มีตังค์เจ็ดร้อยออกจากป่ามา พี่ชายเอาไปดูดบุหรี่หมด เหลือศูนย์บาท นั่งฮอล์มาลงด้านล่างเนี่ย กลับบ้านตัวเปล่า หาของในป่า เก็บอะไรขายกิโลกรัมละ 3-4 บาท อดทนมาตลอด”

เริ่มเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก่อน จากทุนสมเด็จพระเทพฯ ถ้าอย่างนั้นไม่ได้เรียน สอบเปรียบป. 4 กศน. ได้ ป. 4 เรียน ป.6 จบเรียน ม.ต้น เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ท่านให้เรียนต่อ ม.6 พอจบ ม.6 เอาทุนให้เรียนต่อจนจบปริญญาตรี แล้วถามว่าอยากเป็นปลัดอำเภอ หรือเป็นครู ก็ได้บอกท่านไปว่าขอเป็นกำนัน

จากนั้นก็ลงแข่งขันกำนันสมัยแรก มีคู่แข่งอยู่สองคน เราได้ดำรงตำแหน่ง แต่ก็รู้สึกทำงานไม่สนุก เพราะคู่แข่งพยายามพูดยุยงไม่ดีมาตลอด เราก็บอกนายอำเภอ ว่าผมเป็นสักปี หลังจากนั้นเราก็ลาออก พอลาออก ปรากฏไม่มีคนเข้ามาลงแข่งสักคนเพราะเราทำงานถูกสายตา ทำงานดีได้ถวายงานตลอดทุกที่ ทุกปี ทุกโรงเรียน และเราประสานงานทั้งจากข้างบนและข้างล่าง ข้าราชการกับสำนักพระราชวัง เราสามารถเชื่อมหาทุนให้เด็กนักเรียนไปเรียนสูง ๆ มากขึ้น พอไม่มีคู่แข่งเราก็ทำงานพัฒนาตำบลขุนน่านมาเรื่อย ๆ

ที่นี่เป็นตำบลต้นแบบของประเทศแรก ๆ ที่มีการแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ คือ ที่อยู่อาศัย 2% ที่ทำกิน 8% ป่าเศรษฐกิจ 20% ป่าอนุรักษ์ 60% จากเดิมทำเฉพาะไร่ข้าวมันก็แค่กิน ส่วนข้าวโพดคือขายก็ได้เงิน ทำขายอย่างเดียวไม่ได้กิน ได้เงิน แต่ทำอย่างไรให้เงินมันเหลือ ชาวบ้านลองทำตามผม ซึ่งรัชกาลที่ 9 เขาสอนเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เราไม่กินเหล้า ดูดบุหรี่ ไม่เล่นพนัน เก็บอย่างเดียว พออยู่พอกินแต่ไม่รวย รวยยากอยู่บนดอย  

“รายได้ จากแต่ก่อนบางหลังคาเรือนไม่มีรถสักคัน รถคันนึงไม่ใช่ถูก 5 หมื่นขึ้น 4 หมื่นขึ้น เราให้ความรู้ความขยันความอดทน คนที่ชอบทำตามเราเร็ว คนนั้นได้รถปิคอัพก่อน ผมก็ไม่ได้มีอะไรตั้งแต่แรกอยู่แล้ว…”

ก็รู้กันทั้งประเทศ รู้กันทั้งหมู่บ้าน เราก็ต้องขยันไม่ให้มันว่าง พอมันว่างเงินก็ไม่มี ต้องห้ามกินเหล้า สูบบุหรี่ เล่นพนัน ตรงนี้มันใช้จ่ายเยอะ เหล้าสมัยนี้มันหลายร้อยบาท 10 ขวดก็กี่พันแล้ว

สหายดำเนิน พูดทิ้งท้ายถึงเด็ก ๆ ที่นี่ส่วนใหญ่ก็เข้าไปในเมืองไม่ค่อยเหลือ จบมาก็อยู่ในเมือง ถ้ารุ่นของตนเองหมดไป ป่ามันก็ขึ้นเองหมด เพราะไม่มีคนทำแล้ว นอกจากต้องปลูกผลไม้ยืนต้นทิ้งไว้

ส่วนเรานั้นในฐานะผู้มาเยือน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการไปจังหวัดน่าน แต่เป็นครั้งแรกได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับสหายเก่า พรรคคอมมิวนิสต์ ทุกคนต่างจดจำเรื่องราวในอดีตได้ดี จะมีเพียงความแก่ชราต่างหากที่ทำให้คนรุ่นนี้หายไปเหลือไว้เพียงประวัติศาสตร์ถูกจาลึกไว้ที่อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน แห่งนี้ ซึ่งหากไม่ติดสถานการณ์โควิด-19 ที่แห่งนี้ต้องกลับมาคึกคักในฐานะที่เป็นศูนย์กลางนักปฏิวัติเก่าแก่อย่างแน่นอน

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ