อยู่ดีมีแฮง : มาลัยไม้ไผ่ บ้านกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

อยู่ดีมีแฮง : มาลัยไม้ไผ่ บ้านกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

“แต่ก่อนเฮ็ดของดีปานได๋ ก็บ่มีไผเห็น เดี๋ยวนี้มีโทรศัพท์ลงกริ๊งไปในเพจเจ้าของกลายเป็นมีคนเบิ่งเป็น 200 – 300 คน”

มีข้อมูลบอกเล่าว่า กว่า 100 ปี แล้วที่ชาวภูไทมีเครื่องผูกร้อยพืชพรรณธัญญาหารตามฤดูกาล พร้อมด้วยดอกไม้  ธูป  เทียน  เป็นเครื่องไทยธรรมเพื่อใช้ถวายเป็นพุทธบูชาในงานบุญพวงมาลัย ที่จัดขึ้นในช่วงวันแรม 13 – 14 ค่ำ เดือน 9 และวันขึ้น 14 – 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นช่วงบุญข้าวประดับดินและบุญข้าวสาก

งานบุญ ต้องใช้ความประณีตใส่ใจ รวมถึงงานฝีมือในการเหลาไม้ไผ่ เป็นเส้นเล็ก ๆ ของเหล่าหนุ่ม ๆ ไม่ว่าจะหนุ่มใหญ่หรือหนุ่มเล็ก ในหมู่บ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ช่วยกันทำหัตกรรมแห่งความศรัทธาชิ้นนี้ได้หรือที่เรียกกันว่า “มาลัยไม้ไผ่”

“เดิมเป็นเพียงมาลัยไม้ไผ่ที่ทำเพื่อใช้เป็นเครื่องแขวนปัจจัยไทยธรรมในงานบุญพวงมาลัย พอสมัยเปลี่ยนมีคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น มาลัยไม้ไผ่จึงมีการประยุกต์ให้น่าสนใจขึ้นจากลูกหลานรุ่นหลังที่อยากจะสืบทอด ต่อยอดไว้ไม่ให้เลือนหาย”

คุณพ่อ นารี ศรีกำพล คนในชุมชนบ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้ริเริ่มอยากจะสืบสานวัฒนธรรมประเพณีการทำมาลัยไม้ไผ่ไว้ให้คงอยู่ซึ่งคุณพ่อ นารี ได้พูดถึงมาลัยไม้ว่าตอนแรก ทำแค่ปีละ 2 ครั้ง แล้วเก็บไว้เพื่อแค่งานบุญแต่จะทำอย่างไรให้ มาลัยไม้ไผ่ ที่ทำอยู่ทุกปีนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ โชคดีที่มีเครือข่ายหลาย ๆ

เครือข่ายเข้ามาช่วยสนับสนุน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เข้ามาช่วยในด้านออกแบบสร้างสรรค์มาลัยไม้ไผ่ให้น่าสนใจ นำมาลัยไม้ไผ่มาประยุกต์ ประกอบให้เป็นมาลัยสวยงาม ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ก็จะมี เข็มกลัดหน้าอก ปิ่นปักผม ต่างหู และโคมไฟ บางครั้งยังมีการนำไปจัดประกวดในงานต่าง ๆ ได้ด้วย ที่สำคัญยังสามารถสร้างรายได้ให้กับคนชุมชนบ้านกุดหว้าได้มากขึ้น

“ปัจจุบันสื่อออนไลน์เข้ามาทำให้ มาลัยไม้ไผ่ เป็นที่น่าสนใจมากขึ้น”

เรียกได้ว่าสำคัญมากเลยก็ได้ สำหรับการใช้ช่องทางออนไลน์สื่อสารในปัจจุบัน สมัยก่อนคุณพ่อ นารี ได้เล่าว่า ทำเท่าไร เยอะแค่ไหน ก็ไม่มีใครเขาเห็น พอตอนนี้ แค่โพสต์ลง Facebook หรือไลฟ์สดไม่นานก็มีคนเห็น เป็นร้อยเป็นพันแล้ว จึงทำให้มียอดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จาก มาลัยไม้ไผ่เยอะขึ้น จนกลายเป็นจากแต่ก่อนนั่งรวมกันช่วยกันทำกับกลุ่มนาน ๆ ที จนตอนนี้ทำแทบทุกวันเลย  ซึ่งยอดขาย ยอดสั่งซื้อดีขึ้น ก็ยิ่งมีมิตรภาพที่ดี เพราะคนในชุมชนได้มานั่งพูดคุย ร่วมทำกิจกรรมด้วยกันเยอะขึ้น จึงทำให้หมู่บ้านกุดหว้ามีความสามัคคีแน่นแฟ้นกันมากขึ้น

“การสานต่อสืบทอด วัฒนธรรม ประเพณีให้คงอยู่แบบนี้ไปตลอดได้ ก็คงขาดไม่ได้เลยก็คือ คนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักในวัฒนธรรมของตนเองและการนำไปประยุกต์ในยุคต่อ ๆ ไป ”

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ