คุณจำได้หรือไม่ว่าคุณพบเห็นคนส่งหนังสือพิมพ์ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่กัน ?
ทุกคนคะ ทุกคนเคยตามหาสิ่งของบางอย่างโดยที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับของสิ่งนั้นเลยไหมคะ นอกจากชื่อเรียกของมันแล้วเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันยังมีอยู่ไหมหรือว่าว่ามันหายไปแล้ว ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน ไม่รู้ว่าใครรู้จักมันบ้าง แต่สิ่งที่เราจะพาทุกคนมาตามหาวันนี้ไม่ใช่สิ่งของค่ะ แต่เป็น “บุคคล”
บุคคลที่เรามาตามหาในวันนี้ก็คือ คนส่งหนังสือพิมพ์ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนการที่เราพบเจอกับคนส่งหนังสือพิมพ์คงเป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ เลยใช่ไหมคะ แต่ทุกคนจำได้หรือเปล่าว่าเราเจอคนส่งหนังสือพิมพ์ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่กัน
ในจังหวัดพะเยาเองมีคนส่งหนังสือพิมพ์ที่ยังคงทำหน้าที่นี้อยู่เหลือเพียงคนเดียวเท่านั้นค่ะ ในยุคที่การรับรู้ข่าวสารเป็นเรื่องที่ง่ายเพียงปลายนิ้วกดในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาโจมตีสื่อสิ่งพิมพ์จนแทบจะหายไป จึงปฎิเสธไม่ได้ว่ามันส่งผลกระทบให้คนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงและคนส่งหนังสือพิมพ์ก็น้อยลงมาตามลำดับ เราจึงตัดสินใจที่จะเริ่มต้นตามหาอาชีพที่กำลังจะหายไป . . .
เราเริ่มต้นการตามหาอย่างเคว้งคว้างสุด ๆ เลยล่ะค่ะ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่ส่งหนังสือพิมพ์คนนี้ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน และยังมีอยู่จริงๆหรือเปล่าก็ไม่รู้ เราคิดแค่ว่าสิ่งแรกที่เราต้องตามหาคือร้านหนังสือพิมพ์
“แล้วร้านขายหนังสือพิมพ์อยู่ที่ไหนล่ะ?” อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่าคนเริ่มอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงมาก ร้านขายหนังสือพิมพ์จึงเป็นสิ่งที่หายากไม่แพ้กันเลย
คิดดูเล่น ๆ นะคะว่าถ้าเรามาเดินตามหาร้านขายหนังสือพิมพ์เมื่อ 10 ปีก่อนคงจะมีร้านมากมายจนเลือกเข้าไม่ถูกละค่ะ แต่ดูตอนนี้สิคะอย่าว่าแต่ร้านขายหนังสือพิมพ์เลยร้านขายหนังสือยังหายาก
เคยได้ยินใครบ้างคนพูดว่าถ้าอยากรู้อะไรเกี่ยวกับชุมชนให้ไป ตลาด เพราะตลาดเป็นที่ ๆ รวมวิถีชีวิตของคนทั้งชุมชนเอาไว้ที่นี้ เราจึงไปที่ตลาดค่ะเพื่อไปสอบถามว่าแถวนี้ร้านขายหนังสือพิมพ์อยู่ที่ไหน เป็นตามที่คิดผู้คนที่ตลาดแนะนำให้พวกเราไปที่ร้านเหรียญทอง ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าร้านนี้เป็นร้านขายหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพะเยาแล้ว ไม่รอช้าค่ะเราเดินไปตามคำแนะนำของคนที่ตลาดอย่างไว
สิ่งที่เราได้พบก็คือร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่ทุกวันนี้เงียบเหงาและแทบนับคนที่เข้ามาซื้อหนังสือได้
เราเข้าไปสอบถามถึงเรื่องความนิยมอ่านหนังสือพิมพ์ของคนพะเยาในอดีตกับคุณป้าเจ้าของร้าน
น้ำเสียงที่แกเล่ามันเป็นเสียงที่มีความน้อยใจปนอยู่ แกเล่าว่าแต่ก่อนหนังสือพิมพ์ได้รับความนิยมมาก เรียกได้ว่าทุกคนจะต้องอ่านหนังสือพิมพ์ ทุกร้านกาแฟต้องมีหนังสือพิมพ์ให้ลูกค้าอ่าน ว่าจะคนสูงอายุหรือหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็อ่านกันทั้งนั้นแต่ทุกวันนี้หันไปทางไหนก็พบแต่คนเล่นโทรศัพท์ ร้านขายหนังสือนี้ก็แทบจะไม่มีคนเข้าร้านหนังสือแถวนี้ก็ปิดตัวกันไปหมดเพราะสู้ไม่ไหวจริง ๆ มาถึงจุดนี้เราเริ่มท้อใจแล้วว่าคนส่งหนังสือพิมพ์จะมีอยู่หรือเปล่า เพราะผู้คนเริ่มไม่อ่านกันหนังสือพิมพ์กันแล้ว หลังจากการสอบถามจึงได้รู้ว่าจังหวัดพะเยานี้ยังเหลือคนส่งหนังสือพิมพ์อยู่แล้วเหลืออยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น และจะพบได้ต้องมาตอนเช้าเพราะคุณลุงจะมารับหนังสือพิมพ์ที่ร้านนี้ทุกเช้า
05:00 น. ภารกิจเฝ้ารอคุณลุงเริ่มต้นขึ้น การรอคอยเป็นผลเราได้พบกับคุณลุง คุณ สุรพล ฤทธิ์หิรัญ คนส่งหนังสือพิมพ์หนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ในจังหวัดพะเยา เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณลุงว่าทำไมถึงยังคงยืนหยัดที่จะทำอาชีพนี้อยู่ คุณลุงเล่าว่าแกทำอาชีพนี้มาเกือบ 30 ปี ตั้งสมัยที่หนังสือพิมพ์รุ่งเรืองมาก ๆ และในอดีตมีคนส่งหนังสือพิมพ์มากกว่า 7 คน แค่เฉพาะในเมืองพะเยาก็เรียกได้ว่าส่งแทบทุกบ้าน แต่ทุกคนที่เหลือแกเพียงคนเดียวเพราะคนไม่นิยมอ่านเท่าเมื่อก่อนแล้ว ซึ่งจริง ๆ ที่แกยังทำอาชีพนี้อยู่ก็เพราะ ยังมีคนที่อ่านอยู่นั้นก็คือผู้สูงอายุที่ตามอินเทอร์เน็ตไม่ทันและอาชีพนี้ก็เป็นอาชีพที่ทำให้แกมีบ้านมีกินมีใช้ทุกวันนี้
นอกจากได้สอบถาม เรายังมีโอกาสได้ตามติดคุณลุงไปดูการส่งหนังสือพิมพ์ด้วยละค่ะ เป็นไปตามที่คุณลุงพูดทุกอย่างสิ่งที่เราได้พบก็คือคนที่อ่านหนังสือพิมพ์มีแต่ผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่ามีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากนี้ศูนย์ราชการ วัด และโรงเรียนก็ยังคงต้องการหนังสือพิมพ์คุณลุงแกบอกว่าวัดกับศูนย์ราชการยังไงก็ต้องมีหนังสือพิมพ์เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้
ตลอดสองวันที่เราตามหาคุณลุงและได้พูดคุยกับผู้คนมาก สิ่งเดียวที่ตรงกันก็คือ หนังสือพิมพ์กำลังจะหายไป มันน่าใจหายมาก ๆ เลยเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่โตมากับหนังสือพิมพ์เห็นและคุ้นเคยกับมันมาตลอด เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นทุกวันจนที่ให้อะไร ๆ ที่ตามไม่ทันเทคโนโลยีก็ค่อย ๆ หายไปจนเกือบหมด ในอีก 10 ปีข้างหน้า หนังสือพิมพ์อาจจะเหลือเพียงแค่ชื่อ
ร้านขายหนังสืออาจจะเหลือเพียงแค่เรื่องเล่า และคนส่งหนังสือพิมพ์ก็อาจจะเป็นอาชีพที่หายไปก็ได้ . . . .