พลเมืองจับตา ประจำวันพุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2564

พลเมืองจับตา ประจำวันพุธ ที่ 24 พฤศจิกายน 2564

กลางสัปดาห์นี้มีหลายประเด็นการสื่อสารที่ภาคพลเมืองช่วยกันจับตาและเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิดสื่อสารเข้ามา เริ่มต้นที่เรื่องแรก 

สถานการณ์โควิด-19

  • จ.เชียงใหม่ ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงอยู่ (245 ราย เสียชีวิต 3 ราย) มีการตรวจเชิงรุกและเร่งฉีดวัคซีนให้กันคนในพื้นที่ ส่วนเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐากที่ประกาศขอรับบริจาคเพื่อไปช่วยเหลือแรงงานเพื่อนบ้านที่กักตัวใน 3 หอพักชุมชนวัดช่างเคี่ยน ได้รับการสนับสนุนข้าวสาร อาหารแห้ง และของใช้จำเป็น 150 ชุด เพื่อมอบให้กับ 150 ครอบครัว ที่กักตัวจาก Pioneer International  Foundation ซึ่งจะนำไปมอบให้ในวันที่ 25 พ.ย.ที่จะถึงนี้ 
  • ในขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ (23 พ.ย. 64) เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ลงพื้นที่อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ แบ่งปันสิ่งของแจกอุปกรณ์ยังชีพให้กับครอบครัวแรงงานในชุมชน เบื้องต้น 33 ครอบครัว จากที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
  • เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันตกว่า เกิดการแพร่ระบาดของโควิค-19 เป็นคลัสเตอร์ใหม่ในชุมชนชาวกะเหรี่ยงโพล่ง ในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ในต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ได้แก่บ้านกล้วย บ้านป่าผากและบ้านห้วยหินดำ ประชากรประมาณ 500 ครอบครัว มีชาวบ้านติดเชื้อแล้วกว่า 90 คน พี่น้อง มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก เพราะต้องกักตัวและปิดหมู่บ้าน 14 วันเป็นอย่างน้อย พี่น้องในพื้นที่แจ้งมาว่าขาดแคลน เครื่องใช้ส่วนตัว สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน ผงซักฟอก แมส แอลกอฮอล์ และอาหารแห้ง จำนวนมาก ส่วนข้าวสารที่น้องพอมีเพราะในพื้นที่ยังพอทำไร่หมุนเวียนกันได้
  • จ.พังงา พบชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 15 ราย เป็นการตรวจหาเชื้อโควิด 19 รอบที่สอง ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ถูกกักตัวอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งได้ดำเนินการตรวจทั้งหมด 328 ราย ผลบวก (พบเชื้อ) 15 ราย โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการแยกกักบริเวณและจะลำเลียงผู้ป่วยทั้งหมด15 รายโดยเรือ ฉุกเฉินทางการแพทย์ เพื่อขึ้นฝั่งเข้ารับการรักษาในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ตอนนี้ชาวมอแกนเกาะสุรินทร์ติดเชื้อรวมแล้ว 37 ราย 
  • โรงเรียนบ้านลาหงา (ระดับประถม) อ.ละงู จ.สตูล หลังเปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมาตอนนี้พบ นักเรียน จำนวน 44 คน และคุณครู จำนวน 7 คน ติดเชื้อโควิด ทำให้ต้องใช้พื้นที่ของโรงเรียนเป็นศูนย์กักตัวชั่วคราว ระหว่างกักตัวทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยครูกลุ่มเสี่ยงสูงตามปกติ เสมือนการเปิดค่ายเรียนรู้ หรือค่ายคุณธรรม ซึ่งครูกับนักเรียนจะอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง มีการเรียนการสอนและมีกิจกรรมสำหรับผ่อนคลาย ซึ่งสตูลมีโรงเรียนที่เปิดเรียนแบบ On Site แล้วทั้งหมด 34 แห่ง กำลังจะขอเปิดเพิ่มอีก 34 แห่ง เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล จำนวน 25 แห่ง ประเมินตามแบบ Thai School Stop Covid Plus
อ่านสถานการณ์เพิ่มเติม พังงา-ด่วนพบชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์ป่วยโควิด-19เพิ่ม15 ราย ประกาศปิดพื้นที่ห้ามเข้าออก14วัน

ขยับต่อมาที่เรื่องสถานการณ์น้ำและการเกษตร

  • ข้าวที่สุรินทร์ เครือข่ายสภาเกษตรตั้งข้อสังเกตว่าชาวนาขายข้าวไม่ออก เพราะเป็นเรื่องของคุณภาพข้าวและการรับซื้อของโรงสีเอง เป็นวิกฤติซ้ำซ้อนทั้งราคาข้าวที่รับซื้อในราคาถูกและไม่ได้รับซื้อด้วย ซึ่งหลังจากนี้เครือข่ายจะคุยกันต่อว่าจะจัดการข้าวได้อย่างไร หรืออาจจะพัฒนาไปสู่การแปรรูปต่อเหมือนหอมแดงที่ทำเป็นกิมจิ
  • เกาะพงัน เริ่มมีน้ำท่วม น้ำหลากเข้าพื้นที่แล้ว/หลายจังหวัดในภาคใต้ ต้องเริ่มระวังน้ำหลาก เพราะภูมินิเวศเป็นภูเขาสูง/มีการเตรียมตัวขุดลอกคูคลองไว้ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล
  • ราคาพริกที่อำเภอพบพระ จ.ตาก เริ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ จากกิโลกรัมละ 10 บาท ตอนนี้เพิ่มมาเป็น กิโลกรัมละ 50-60 บาท โดยเป็นความผันผวนของราคาพริกที่ขึ้นลงไม่ค่อยคงที่เท่าไรนัก เกษตรกรก็ต้องรีบขายพริกในช่วงราคาขึ้น
ภาพจากหมุด C-Site อ.พบพระ ชาวบ้านเฮ ราคาพริกสดแดง พุ่งกระฉูด พ่อค้ารับซื้อในไร่กิโลกรัมละ 50-60 บาท

นอกจากนี้มีสถานการณ์ทั่วไปที่เครือข่ายภาคพลเมืองกำลังจับตามอง

  • จังหวัดการค้าชายแดนในภาคอีสาน เช่น บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี เริ่มมีการตื่นตัวหลังจากจะเริ่มว่าจะมีนโยบายขายกัญชา กิจกรรมช่วงเดือนธันวาคม ในกลุ่มชาว จ.นครพนม มีเสียงอยากให้รีบเปิดด่านประเทศเช่นกัน เพราะอยากกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ลำพังแค่คนไทยกันเองอาจจะยังไม่เพียงพอ โดยตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดได้ เพราะต้องประเมินสถานการณ์การณ์จาก สปป.ลาว ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ชุมชนกิ่งแก้ว หมู่ 3 ต.รัษฏา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ประเด็นเรื่องระบบสาธารณูปโภค ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียนเรื่องการจ่ายค่าไฟฟ้าราคาแพงกว่าบ้านทั่วไป เนื่องจากอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม (ที่ดินรัฐ) ทำให้ไม่สามารถขอติดตั้งไฟฟ้าได้ ทางกรรมการสิทธิฯ ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในชุมชน

นอกจากนี้ในแอปพลิเคชัน C-Site มีปักหมุดเข้ามาเรื่องการเลือกตั้ง อบต. ที่จะใกล้ถึงนี้ทั้งการสร้างความเข้าใจและเชิญชวนไปเลือกตั้ง คุณผู้ชมที่อยู่ในพื้นที่ก็สามารถปักหมุดสื่อสารเข้ามาเป็นหนึ่งเสียงสำคัญได้ เชิญชวนพลเมืองทุกท่าน ระดมไอเดีย “ท้องถิ่นในฝัน” คุณเคยเห็น หรือฝันอยากให้ชุมชน ท้องถิ่นของคุณเป็นแบบไหน เสนอความคิดเห็น และร่วมถ่ายภาพ หรือวาดภาพ ที่สะท้อนแนวคิดนั้น พร้อมเขียนคำอธิบาย ว่าทำไมถึงเป็นชุมชน/ท้องถิ่นที่ฝันอยากให้เป็น ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 26 พฤศจิกายน 2564 เพื่อลุ้นของรางวัลที่ระลึกจากไทยพีบีเอส

อ่านความคิดและร่วมออกแบบอบต.กันได้ง่าย ๆ ที่ https://www.csitereport.com/saoexplore

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ