เริ่มเข้าใกล้ช่วงท้ายสัปดาห์แบบนี้ สถานการณ์เครือข่ายมีอะไรที่ต้องจับตากันบ้าง วันนี้ทีมข่าวพลเมืองชวนมาอ่านไปด้วยกันครับ
ความเคลื่อนไหวประจำวัน
- จะมีการคิกออฟ รถโมบายเคลื่อนที่ในระดับอำเภอสำหรับการจัดการเรื่องสิทธิสถานะให้กับคนที่ยังไม่มีสถานะทางบุคคลในเชียงใหม่ โดยจะเริ่มจากหางดงและจะกระจายไปยังอำเภอต่าง ๆ ต่อไป
- ในเวลาเดียวกันที่เชียงใหม่เองก็มีเวทีฝุ่นควันภาคเหนือ ของทีมสภาลมหายใจ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อคุยกันต่อถึงมิติใหม่ในการจัดการฝุ่นควันในภาคเหนือ “ฝุ่นควัน 65 รัฐบาลจะยังทำเหมือนเดิมหรือเอาจริง”
- ขยับมาที่ภาคอีสาน วันนี้มีวงคุยแม่น้ำโขง “การมีส่วนร่วมพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน” ที่ จ.นครพนม เพื่อเห็นสถานการณ์และทางออกเชิงนโยบายในการจัดการแม่น้ำโขงแบบมีส่วนร่วม
- แวะลงทางใต้นิด ๆ วันนี้ก็มีกิจกรรมมอบบ้านให้กลุ่มเปราะบางในภูเก็ต เป็นบ้านที่สร้างโดยอาสาสมัครจากคลินิกหมอบ้านงานช่าง
- ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร ภายใต้โครงการร่วมป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เทศบาลนครหาดใหญ่ โดยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาจิตอาสา ผู้ที่สนใจเข้าฝึกทักษะการสื่อสารและเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานด้านอาสาสมัครเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนสำหรับป้องกันปัญหาจากการแพร่ระบาดในพื้นที่ และเพื่อการสร้างระบบต้นแบบในการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่กลุ่มคนเปราะบาง อีกทั้งสามารถนำไปขยายผลต่อในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
- เขาโต๊ะกรังพบหอยทากจิ๋ว (microsnails) ซึ่งบางชนิดยังไม่สามารถระบุชื่อ หรือสายพันธุ์ได้ เพราะพบเฉพาะที่นี่เท่านั้น / ลุ้นว่าจะเป็นสายพันธ์ใหม่ของโลกไหม จากการสำรวจความหลากชนิดของหอยทากจิ๋ว บริเวณเขาโต๊ะกรัง เปรียบเทียบกับพื้นที่เขาอื่น ๆ ในจังหวัดสตูล ได้แก่ เขาหินปูนใน อำเภอละงู ทุ่งหว้า พบว่า พื้นที่บริเวณเขาโต๊ะกรัง มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยทากจิ๋ว ซึ่งพบความหลากชนิดของหอยทากจิ๋วมากกว่า 10 ชนิดซึ่งจัดว่ามีความหลากหลายมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ที่สำรวจ บ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและสะท้อนถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่
นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 ที่เฝ้าระวัง
- เชียงใหม่ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจำนวนสูง (271 ราย เสียชีวิต 3 ราย) มีมาตรการเคาะประตูบ้าน ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งคนไทยและแรงงานเพื่อนบ้าน ในพื้นที่สีแดงเข้มอำเภอเมืองและสันทราย ตั้งเป้าแก้ปัญหาให้ได้ภายในวันที่ 1 ธ.ค. ส่วนการดูแลผู้ติดเชื้อในสองอำเภอนี้ เปลี่ยนมาเป็น home isolation โดยมีการัดชุดยา อาหารสำหรับกักตัว มีทางอสม. และผู้นำชุมชนช่วยดูแล แต่ยังพบว่ามีบางคนที่ไม่ได้ทำตาม หลังจากขอความร่วมมือแล้วไม่สำเร็จ หลายชุมชนจึงใช้มาตรการทางกฎหมายในการจัดการแทน ส่วนเครือข่ายยังคงลงพื้นที่มอบอาหารและข้าวของจำเป็นในการกักตัวสำหรับพื้นที่ห่างไกล เช่น ฝาง ฮอด
- ภารกิจของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ โดยกองเลขาเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ระดมของมอบให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ถูกกักตัว รวมถึงครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
- อาสาเส้นด้ายถึงเชียงใหม่และลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกพร้อมกับเปิดรับสมัครอาสาสมัครในการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกพร้อมกับช่วยเหลือเคส
- พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับแผนการฉีดวัคซีน โดยจะนำไปฉีด ในด่านข้ามจังหวัดที่เป็นจุดใหญ่ ๆ
- จ.ขอนแก่น กำลังพยายามชวนคนมาฉีดวัคซีนมากขึ้น เมื่อวานนี้จากเพจของจังหวัดแจ้งว่าบางจุดบริการฉีดวัคซีน อย่างที่ศูนย์ประตูน้ำ อู้ฟู่ ไม่มีคนมาเข้าใช้บริการเลย วันนี้เลยเร่งให้ทุกคนไปฉีด รวมถึงแรงงานเพื่อนบ้านหรือเขย-สะใภ้ชาวต่างชาติ ก็สามารถไปฉีดได้
กิจกรรมที่น่าสนใจวันพรุ่งนี้
- ส่วนวันพรุ่งนี้ วันศุกร์ 18 พ.ย. ที่ จ.ขอนแก่น เครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้าน ลงพื้นที่เรียนรู้สภาพปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตคนจนเมืองขอนแก่น ร่วมกับ UN-Habitat (โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ) ลง 4 ชุมชนเปราะบางในขอนแก่น
นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่าง เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หลายคนอาจจะกำลังเตรียมแผนเดินทางกลับบ้านเลือกคนที่ใช่ในการพัฒนาบ้านตนเอง ก็อยากให้ระมัดระวังการเดินทางและสุขภาพจากโควิด-19 เพื่อป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ระลอกใหม่