พลเมืองจับตาสถานการณ์ 15 พ.ย. 2564

พลเมืองจับตาสถานการณ์ 15 พ.ย. 2564

เปิดมาช่วงต้นสัปดาห์แบบนี้ เครือข่ายภาคพลเมืองก็มีความเคลื่อนไหว ไม่เพียงแต่เรื่องของกิจกรรมบุญประเพณีอย่าง ลอยกระทง ที่ใกล้จะมาถึงเท่านั้น สถานการณ์อื่น ๆ ในช่วงนี้มีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง ทีมนักข่าวพลเมืองลิสต์มาให้คุณผู้อ่านติดตามไปทีละข้อครับ

เริ่มต้นจากสถานการณ์เครือข่ายพลเมือง

  • วันที่ 15-16 พ.ย. นี้ มี ครม.สัญจร ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีทางเครือข่ายภาคใต้หลายประเด็นเดินทางไปยังพื้นที่ (กลุ่ม Beach for life, เครือข่ายชาวเลอันดามัน, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว) โดยมีประเด็นใหญ่ที่ตั้งคำถามต่อครม. ในครั้งนี้คือเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะการผลักดันโครงการอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ และมองว่ารัฐยังเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มหลัก
  • กลุ่มรักษ์บ้านพรุ เปิดเวทีวิพากษ์โครงการสร้างถนนสายสตูล – พัทลุง ได้หรือเสีย เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูลกำลังผลักดัน เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับคนทั้งสองจังหวัด ในขณะที่ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งมีความห่วงกังวลและมีข้อสงสัยว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์จริงหรือไม่เมื่อเทียบกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าไม้เทือกเขาบรรทัด
  • ส่วนอีกประเด็นที่น่าสนใจ ที่จังหวัดเชียงใหม่ยังมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากวันที่อยู่อาศัยโลก (วันที่ 4 ตุลาคม เพื่อรณรงค์สิทธิในที่อยู่อาศัยของทุกคน เครือข่ายคนจนเมือง สลัมสี่ภาค ในจังหวัดเชียงใหม่ เดินขบวนไปยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกร้องให้เปิดการหารือเพื่อการจัดการปัญหาการไล่รื้อที่อยู่อาศัยบริเวณริมคลองแม่ข่า
  • รวมไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน วันนี้ (15 พ.ย. 64) มีวงคุยพูดถึงการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย และ คุณภาพชีวิตจังหวัดขอนแก่น เวลา 10:00-12:00 น. เช่นเดียวกับ เว็บไซต์เครือข่ายภาคใต้เตรียมยื่นหนังสือ ให้รัฐบาลทบทวนโครงการ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม

สถานการณ์โควิด-19 ที่น่าสนใจ

  • จ.เชียงใหม่ เช่นที่ อ.สันทราย การจัดการเป็นระดับตำบล พยายามตรวจเชิงรุกให้ครบทุกคน งดงานประเพณีบางส่วน จำกัดคน  ส่วนตลาดก็ทยอยปิดมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาหาร พืชผัก ราคาแพงขึ้น  และพยายามเร่งฉีดวัคซีนคนในพื้นที่รวมไปเพื่อนบ้านให้สามารถเดิน Walk-in เข้ามาฉีดได้ 
  • จ.ขอนแก่น ยอดเมื่อวานนี้ผู้ติดเชื้อลดลง เหลือ 60+ น้อยที่สุดในรอบเดือน จากปกติอยู่ที่ระดับ 200+ ขึ้นมาโดยตลอด คลัสเตอร์ต่าง ๆ มีการตรวจเชิงรุกครบแล้ว
  • จ.นครราชสีมา ที่บ้านเก่านางเหริญ หมู่ที่ 5 ต.เกษมทรัพย์ อ.ปักธงชัย ช่วงวันที่ 5-11 พบผู้ติดเชื้อโควิด จำนวน 30 ราย จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ติดเชื้อมีประวัติการสัมผัสกับประชาชนในหมู่บ้านจำนวนมาก ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องเฝ้าระวัง จำนวน 99 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 53 ราย เบื้องต้นมีคำสั่งให้ปิดพื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านไปจนถึงวันที่ 26 พ.ย. 64
  • ส่วนที่ภาคใต้ภาพรวมแม้จะมียอดผู้ติดเชื้อสูง แต่คนในพื้นที่บอกว่าก็เริ่มพอจัดการได้ และภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการธุรกิจก็มองว่าน่าจะคลายการล็อกดาวน์บางส่วนได้แล้ว เพราะจะได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้

ประเด็นน่าติดตาม สถานการณ์น้ำและการเกษตร 

  • จ.ชุมพร ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ของ อ.สวี และมีการแจ้งเตือนผู้ที่อยู่อาศัยพื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองท่าตะเภา อ.ปะทิว อ.ท่าแซะ ให้ยกของขึ้นที่สูง เนื่องจากในพื้นที่ยังมีฝนตกหนักอีก 2-3 วัน / ถนนสาย 411 กลับมาวิ่งได้ปกติแล้ว
  • จ.นครศรีธรรมราช สถานการณ์พื้นที่ต้นน้ำกลับมาเป็นปกติแล้ว และหน่วยงานในพื้นที่เริ่มเข้าไปซ่อมแซมเส้นทาง หรือลำคลองที่ได้รับความเสียหายจากมวลน้ำ ส่วนพื้นที่เขตเมืองยังเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ พยายามหลักดันน้ำออกไปสู่ทะเลให้เร็วที่สุด มีทีมอาสาในพื้นที่ เตรียมเรือไว้ที่ ต.โพธิ์สะเด็ด ซึ่งหลังจากนี้เตรียมเฝ้าระวังเรื่องของอุปกรณ์ เรือ เข้าช่วยเหลือ
  • จ.ร้อยเอ็ด เครือข่ายในพื้นที่แจ้งว่าน้ำที่ บ.ดินแดง ต.สิงห์  อ.จังหาร ลดลงไปมากแล้ว แต่คนที่อพยพออกมาตอนนี้เขายังกลับเข้าไปไม่ได้ หลังจากนี้ก็จะอยู่ในช่วงระหว่างฟื้นฟูและการเยียวยา ซึ่งคิดว่าถ้าจะตามต่อก็จะเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ในช่วงอพยพออกมาศูนย์ชั่วคราว หรือ การเตรียมฟื้นฟู ทำความสะอาดบ้านเรือน
  • จ.ศรีสะเกษ จากผลกระทบหอมแดงที่เกษตรกรต้องรีบเก็บผลผลิต ไม่อย่างนั้นหอมแดงจะเน่าเสีย ล่าสุดในพื้นที่ได้แปรรูปเป็นกิมจิ ซี่งช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าขึ้นมาได้ วันพฤหัสบดีที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมาเพิ่งเปิดตัวไป และสัปดาห์นี้จะมีทีมพาทำกิมจิ จะลงพื้นที่สอนเกษตรกร
หมุด C-Site : น้ำท่วมหอมแดง
  • จ.สุพรรณบุรี ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อให้เปิดประตูน้ำพญาบันลือหลังน้ำท่วมขังในพื้นที่เป็นเวลายาวนาน เที่ยงวันนี้พวกเขาจะร่วมกันลงชื่อยื่นเสนรอในระดับจังหวัดต่อไป
  • กรุงเทพมหานคร ก็ยังคงจับตาน้ำที่หนุนจะสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ บางจังหวัดระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ อาจจะต้องมีวิธีการจัดการอื่น ๆ 
  • ส่วนที่ภาคเหนือ กำลังจับตามองเรื่อง นิช มาร์เก็ต (Niche Market : ตลาดเฉพาะกลุ่มที่น่าสนใจ) อาทิ การกำหนดราคาข้าวได้เองของเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ ทั้งการส่งออกข้าวอินทรีย์ ของราคาข้าว การตั้งราคารข้าวเองได้ ของเครือข่าย มันมีการจัดการอย่างไร ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

ปิดท้ายประเด็นที่กำลังร้อนแรงในโลกออนไลน์คือ ประเด็นการศึกษา การอยากลาออกของครูไทย ก่อนหน้านี้มีวงคุยในคลับเฮาส์ Club House ที่พูดถึงเรื่องของเงินเดือนที่ไม่สอดคล้องกับภาระหน้างานที่ต้องทำ แม้จะเพิ่งเปิดเทอมใหม่ไม่ถึง 1 เดือน แต่นี่คงเป็นปัญหาสะสมกับเหล่าคุณครูพอสมควร ทำให้ต้องออกมาถกกันถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทีม The Citizen Plus ก็จะมีการพูดคุยเรื่องนี้เช่นกัน ก็ฝากติดตามมาร่วมแลกเปลี่ยนกันได้ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากเพจ แจ่ม Jam นะครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ