ชวนวัยรุ่นงดเหล้าเข้าพรรษา

ชวนวัยรุ่นงดเหล้าเข้าพรรษา

ภารกิจท้าทายในยุคโควิด-19 ที่ดูเหมือนธุรกิจเหล้าจะซบเซามากที่สุดในรอบหลายสิบปี  ไม่มีงานเลี้ยง ไม่มีงานดนตรี ไม่มีนักท่องเที่ยว ตลอดช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนที่ผ่านมา แล้วจะชวนใครงดเหล้าพรรษา ในเมื่อจำนวนนักดื่มลดลง อุบัติเหตุลดลง ความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดจากเหล้าลดลง สวนทางกับปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนที่เพิ่มขึ้น ๆ คำพูดของลุงบางคนที่สัญญาว่าจะทำให้คนจนหมดประเทศนี้ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว

“ใช่…คนกำลังจะจนกันหมดทั้งประเทศแน่ ๆ”

เหตุผลนี้แหละที่ทำให้ศูนย์ประสานงานเครือข่ายงดเหล้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดินเข้าไปหาเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเดินเร่ขายของที่ระลึกอยู่รอบวิหารพระมงคลบพิตร ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เด็กวัยรุ่นชายหญิงเกือบ 20 คน มาจากครอบครัวยากจนย่านชุมชนวัดตะไกร วัดโคกพระยา วัดวรโพธิ์ และชุมชนคลองท่อ เดินเร่ขายดอกไม้สำหรับไหว้พระ บูชาพระ และของที่ระลึกจำพวก พวงกุญแจ โมเดลช้าง ม้า เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวมานานหลายปี

นักท่องเที่ยวบางคนก็ซื้อเพราะความสงสาร บางคนก็ซื้อเพราะตัดความรำคาญที่เด็ก ๆ เหล่านี้คอยเดินตามตั้งแต่ลงจากรถจนถึงวิหารพระมงคลบพิตร ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ออกกฎห้ามปราบกันเอาไว้ น้อง ๆ เหล่านี้ก็คงจะตามเข้าไปนั่งขายของตอนที่นักท่องเที่ยวกำลังไหว้พระในวิหารแน่ ๆ และก็มีหลายครั้งที่นักท่องเที่ยวพบเห็นน้อง ๆ แย่งลูกค้ากัน ทะเลาะกัน ด่ากัน จนถึงขั้นชกต่อยกันก็เคยมี

อะไรทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้ต้องออกมาเดินเร่ขายของ?

ความยากจนที่ลุงเคยบอกว่าจะหมดไป กลายเป็นปัญหากดทับให้ชีวิตพวกเขาจมดิ่งลงในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาด นักท่องเที่ยวไม่มา ของขายไม่ได้ รายได้ไม่มี ชีวิตจากที่เคยลำบากยากเย็นอยู่แล้ว ต้องยากลำบากมากขึ้น  บางคนไม่เงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ก็ต้องออกมาเร่ร่อนนอนตามวัด ตามศาลาริมทาง บางคนไม่มีข้าวกินก็เดินเก็บขยะ คุ้ยขยะ แย่งอาหารที่คนเอามาวางเซ่นไหว้ แก้บนตามความเชื่อ บางคนก็ขอแบ่งไก่ย่างที่คนใจบุญซื้อมาเลี้ยงหมาจรจัดกินเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดไปวัน ๆ 

“ไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นเด็กวัยรุ่นเหล่านี้รับจ้างไปซื้อเหล้า ซื้อบุหรี่ ให้ลุงขี้เมาแถวบ้าน  วันหนึ่งเราอาจจะเห็นเขาเดินส่งยาบ้า กัญชา หรือบุหรี่ไฟฟ้า ให้กับวัยรุ่นคนอื่น ๆ  ซึ่งมันคือสิ่งที่เราไม่อยากจะเห็น และนั่นเป็นเหตุให้เราเข้ามาชวนพวกเขางดเหล้าเข้าพรรษา” หมอติอธิบาย

“หมอติ” หรือ เภสัชกรสันติ โฉมยงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นักกิจกรรมสร้างสรรค์ เด็ก เยาวชน และครอบครัว ผู้ซึ่งคร่ำหวอดทำงานในพื้นที่มานานกว่า 15 ปี และตอนนี้กำลังเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็ก ๆ เหล่านี้ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้เพื่อพาตัวเองหลุดพ้นจากปัญหาความยากจน และผลกระทบต่าง ๆ จากการพัฒนา

การชวนวัยรุ่นงดเหล้าเข้าพรรษาในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนอิฐก้อนแรกที่จะนำไปสู่การเรียนรู้อีกมากมายในโลกกว้าง เพราะบางคนไม่ได้เรียนหนังสือ บางคนเรียนซ้ำชั้นประถมมาหลายปีแล้ว บางคนเรียนกำลังจะจบชั้น ม.3 แต่เมื่อเจอสถานการณ์โควิด 19 ก็ทำให้ไม่ได้ไปเรียน ไม่มีอุปกรณ์เรียนออนไลน์ ไม่รู้ชะตากรรม ซึ่งตลอดพรรษา 3 เดือนที่ผ่านมาพวกเขาได้ซึมซับกับบรรยากาศห้องเรียนชุมชน วิชาชีวิต วิชาดนตรี ศิลปะ ภาษาและการสื่อสารที่จะนำพาชีวิตเขาให้มีความสุขมากขึ้น ยิ้มสู้ทุกปัญหาที่กดทับพวกเขามาตั้งแต่ลืมตาดูโลก

เด็กวัยรุ่นชายเกือบทุกคน ยอมรับว่าเคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางคนบอกว่าตอนเรียนอยู่ ชั้น ป. 1 พ่อแม่ใช้ให้ไปซื้อเหล้าก็แอบลองจิบ ลองดื่มดูบ้าง บางคนก็นั่งร่วมวงกับพี่ ๆ ตั้งแต่ ป.2  ซึ่งเป็นการศึกษาชั้นสูงสุดในชีวิตเขา  เด็กวัยรุ่นชายหญิงเหล่านี้คุ้นเคยกับเหล้า บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และยาบ้า เป็นอย่างดี รู้จักวิธีการเสพ สามารถแยกแยะได้ว่าแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร  ซึ่งหมอติและทีมงานได้พยายามออกแบบห้องเรียนชุมชนชวนงดเหล้าเข้าพรรษาของเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ได้อย่างลงตัว เป็นธรรมชาติ เหมาะสมตามช่วงวัย และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวพวกเขา โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการบีบบังคับ ไม่ใช่การมาแสวงหาประโยชน์ใด ๆ  และไม่ใช่แค่การมาสร้างภาพเอาผลงานออกสื่อแล้วก็จบไป

การเดินวิ่ง plogging เก็บขยะหน้าวิหารพระมงคลบพิตร เป็นกิจกรรมห้องเรียนชุมชนที่เด็กๆ ให้ความสนใจมาก นอกเหนือจากการเล่นดนตรี ศิลปะ และการฝึกฝนทักษะ พูด อ่าน เขียน เพื่อขายของให้กับนักท่องเที่ยว

ทุกบ่ายวันอาทิตย์เป็นเวลาที่รู้กันดีว่าจะมีการเดินวิ่ง plogging เก็บขยะบริเวณรอบ ๆ พื้นที่เดินเร่ขายของ เพื่อช่วยกันรักษาความสะอาดบริเวณด้านหน้าวิหารพระมงคลบพิตร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเด็ก ๆ เหล่านี้มีส่วนในการทำให้เกิดขยะมากมายในแต่ละวัน  และภายหลังจากเก็บขยะเรียบร้อยแล้ว พวกเขาก็จะรวมตัวกันร้องเพลง เล่นกีตาร์ ตีคาฮอง อย่างสนุกสนาน ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้านนอน เพื่อตื่นมาสู้ชีวิตใหม่อีกครั้งในวันถัดไป

ลานจอดรถด้านหน้าทางเข้าวิหารพระมงคลบพิตร กลายเป็นห้องเรียนชุมชนขนาดใหญ่ที่พี่ๆ อาสาสมัครแวะเวียนกันมาทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ

3 เดือนที่ชีวิตไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเหล้า บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และยาบ้า เป็นช่วงเวลาที่แสนจะมีความสุขของเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ อาจจะมีบ้างที่ทะเลาะกัน ผิดใจกัน ก็นัดชกต่อยกันตามกติกา ชกต่อยเสร็จแล้วก็มาเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม

หน้าวิหารพระมงคลบพิตรจึงเป็นเสมือนห้องเรียนรู้ชุมชนที่กว้างใหญ่ เกือบทุกวันจะมีพี่ ๆ อาสาสมัครแวะเวียนมาเยี่ยมมาหา มาสอนหนังสือ มาเลี้ยงข้าว เอาอุปกรณ์ยังชีพมาให้ไว้ใช้ดำรงชีวิต เช่น เสื้อผ้า ข้าวสาร อาหารกระป๋อง อุปกรณ์เพื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ บางทีก็พาไปตัดผม พาไปรักษาโรคผิวหนัง รวมทั้งสืบหาผู้ปกครองเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนให้กับบางคนที่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน  ฯลฯ

รอยยิ้ม แววตาและสีหน้าของพวกเขา บ่งบอกว่าประตูโอกาสที่เปิดให้นั้น มันมีคุณค่าและความหมายเพียงใด

“นี่คงเป็นการชวนงดเหล้าเข้าพรรษาที่แปลกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติเดิม เพราะที่อยุธยา เราสนใจคนเล็กคนน้อย ให้มีโอกาสได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเอง จึงเป็นที่มาของห้องเรียนชุมชน ชวนวัยรุ่นงดเหล้าเข้าพรรษา ที่ไม่ได้เน้นพิธีกรรมหรือคำสอนตามหลักศาสนาอย่างที่คนอื่นรับรู้ แต่เราทำให้เด็ก ๆ เห็นว่าเหล้ามันส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตเขา ครอบครัวเขา แล้วเราก็ชวนเขาคิดต่อว่า เข้าพรรษา 3 เดือนนี้ ถ้าไม่ยุ่งเกี่ยวกับเหล้า บุหรี่ และยาเสพติดที่มีอยู่รอบตัวเขา ตื่นเช้ามาก็เจอนั้น เขาอยากจะทำอะไร แล้วเราก็ช่วยกันลงมือทำ” บทสรุปสั้น ๆ จากหมอติ ที่พูดถึงกิจกรรมชวนวัยรุ่นงดเหล้าเข้าพรรษาของเครือข่ายงดเหล้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ผ่านมา

และนี่คือเรื่องเล่าดี ๆ ของคุณหมอนักพัฒนา ที่ชวนวัยรุ่นงดเหล้าเข้าพรรษาตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาได้สำเร็จ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ