“แต่ฉันต้องทนอยู่เส้นชัยอีกไกล
จะฝ่าไปให้ได้ซึ่งการศึกษา
ในสิ่งที่มุ่งหวังถ้าสมดังตั้งใจ
จะกลับไปเพื่อสรรสร้างสู่บ้านดอย
ใจฉันหวนคำนึงอยากกลับบ้านดอย
ที่มีคนคอยรักและคอยห่วงใย
ดอกไม้ป่าไม้ผู้คนสดใส
ซึ่งจริงใจหาได้ที่บ้านดอย”
โดย ชิ สุวิชาน
“ก่อนจะหวนคืนสู่บ้านดอยเหตุใดกันนะที่ทำให้
ฉันเข้าสู่สังคมเมืองอันศรีวิไล”
ประเทศไทยนั้นมีชาติพันธุ์อยู่ราว ๕๖ กลุ่มซึ่งอาศัยกระจัดกระจายในพื้นที่ต่างๆของประเทศ กลุ่มคนเหล่านี้ต่างมีวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป
ในยุคสมัยซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมาก ราวกับการเดินทางข้ามเวลา ทำให้ชีวิตของชาติพันธุ์ต้องปรับเปลี่ยนบริบทชีวิตของตนตามยุคสมัยเช่นกัน แล้วชาติพันธุ์ Generation (เจเนเรชัน) ไหนละที่ต้องปรับชีวิตให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด แน่นอนว่าคงจะหนีไม่พ้น “เด็กชาติพันธุ์รุ่นใหม่”
นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เป็นกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียนหรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN) ประเทศสมาชิกในเขตภูมิภาคเหล่านี้ต่างมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมของตัวเองให้ดีขึ้น ประเด็นซึ่งแต่ละชาติสมาชิกอาเซียนได้แลเห็นความสำคัญ คือ การพัฒนาระบบการศึกษา การส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแรงงานข้ามชาติ เป็นเครื่องมือที่ชาติสมาชิกอาเซียนแลเห็นถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศของตนได้
แต่การพัฒนาเหล่านี้อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับคนทุกคนในชาติสมาชิกอาเซียน เพราะความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี มีช่องว่างคุณภาพชีวิตระหว่างคนรวยและคนจนที่มากเกินไป
ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ มีผลวิจัยว่า จำนวนคนจนในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๑. ๙๗% หรือประมาณ ๗00,000 คน จาก ๑.0๓% หรือประมาณ ๔00,000 คน ข้อมูลสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นทุกวัน อาจเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้หนุ่มสาวชาติพันธุ์จากพื้นที่สูงตัดสินใจ ทิ้งชีวิตจากบ้านดอยเพื่อดิ้นรนให้อยู่รอดในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความก้าวหน้าและเงินตรา
ก่อนจะตอบโจทย์ “ทำไมหนุ่มสาวชาติพันธุ์อยากหวนคืนสู่บ้านดอย” นักวิชาการด้านชาติพันธุ์ได้ให้ความคิดเห็นออกเป็น ๓ หัวข้อย่อย ซึ่งกล่าวถึงแรงจูงใจที่ทำให้คนชาติพันธุ์รุ่นใหม่ตัดสินใจทิ้งบ้านดอยเพื่อลงมาใช้ชีวิตในสังคมเมือง
เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจคือปัจจัยหนึ่งซึ่งสามารถบ่งบอกความก้าวหน้าด้านคุณภาพชีวิตประชาชนในแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี หากประเทศใดประเทศหนึ่งมีเศรษฐกิจที่ดี ความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีตาม หากประเทศไหน เศรษฐกิจตกต่ำย่อมส่งผลต่อชีวิตของประชาชน ในประเทศนั้นเช่นกัน อาชีพหลักของชาติพันธุ์ในประเทศไทยคือ การทำเกษตรกรรม ซึ่งแต่ละปีรายได้ของพี่น้องชาติพันธุ์จากการทำการเกษตรนั้นไม่เพียงพอต่อครอบครัวของตนด้วยซ้ำ เพราะ ค่าวัสดุการทำเกษตรที่นับวันราคาเริ่มแพงขึ้น ปัญหาราคาผลผลิตจากการเกษตรตกต่ำ ภาครัฐมีไม่มีตลาดรองรับหากผลผลิตจากการเกษตรราคาตกต่ำ ปัญหาหนี้สิ้นจากการกู้ยืมจากธนาคารเพิ่มขึ้น ข้อมูลเหล่านี้คือหนึ่งในแรงจูงใจซึ่งทำให้หนุ่มสาวชาติพันธุ์ลงมาทำงานในเมือง เพื่อใช้หนี้เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับครอบครัว
การศึกษา อาชีพ และการงาน
ทักษะอาชีพและการงานคือ การสร้างรายได้ การสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่ตัวเอง หลีกเลี่ยงที่จะกลายเป็นภาระให้สังคมและครอบครัว หากอยากมีการงานที่ดี อาชีพที่ดี จำเป็นต้องมีการลงทุน การศึกษาคือการลงทุน พ่อแม่ต้องควักเงินจำนวนมากเพื่อการศึกษาแก่ลูกหลาน ผู้คนมากมายเชื่อว่า การศึกษาจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ พ่อแม่ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ด้วยเช่นกัน เพราะแนวคิดพ่อแม่ของคนชาติพันธุ์รุ่นใหม่ที่เชื่อว่า “ตนเองนั้นไร้การศึกษา” จึงพยายามพลัดดันลูกหลานของตนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่การพลัดดันเหล่านี้บางครั้งต้องแลกด้วยหนี้สินเป็นจำนวนมากจากการกู้ยืม เพราะใบปริญญา คือเครื่องหมายของการยอมรับ หนุ่มสาวชาติพันธุ์หลายชีวิตเริ่มออกจากหมู่บ้าน เพื่อพ่อแม่ เพื่อความฝัน เพื่อความสำเร็จ เพราะมีค่านิยมของการศึกษาในการตัดสินอนาคตของพวกเขา
ความฝันและการยอมรับ
“เพียงเพราะพูดภาษาไทยไม่ชัด และมาจากบนดอย”สังคมเมืองจึงไม่ยอมรับบุคคลเหล่านี้ แม้ปัจจุบันจะมีจำนวนหนุ่มสาวชาติพันธุ์จำนวนมาก ซึ่งสามารถเรียนจบในระดับอุดมศึกษา เป็นความฝันของเด็กชาติพันธุ์หลายๆคนเพื่อจะได้มีการงานที่ดีในสังคม พ่อแม่จะได้ภูมิใจ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการถูกยอมรับ จึงทำให้เด็กชาติพันธุ์หลายคนพยายามต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในสังคม “ทำไมเด็กชาติพันธุ์ถึงไม่ได้ถูกยอมรับเท่าที่ควร”เพราะสังคมที่พวกเขาเข้าไปอาศัยอยู่นั้นถูกป้อนข้อมูลที่ผิดๆตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในเรื่องชาติพันธุ์ สังคมเมืองมองว่าชาติพันธุ์มีความล้าหลังด้อยการพัฒนา ชาติพันธุ์ตัดไม้ทำลายป่า เผ่าป่าทำให้เกิดมลภาวะ นี้คือเรื่องที่สังคมเมืองมอบให้แก่คนในเมือง ทำให้ชาติพันธุ์นั้นกลายเป็นความแปลกแยก แล้วจะแก้ไขเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร ยังคงเป็นคำถามที่ยังรอคอยคำตอบ
“ยามสุริยาใกล้โพ้นขอบฟ้า ฝากเพียงแสงทอง ส่องเพื่ออำลา
ลูกรักจากบ้าน คิดถึงห่วงหา จากไปเนิ่นนาน บ้านดอยอ้างว้าง เหลือความทรงจำ
โอ้ลูกรัก เจ้าจะรู้ไหม ลูกคือดวงใจ คือแรงแห่งกาย คือแรงแห่งใจ หวังยังอีกไกล เจ้าจงอุตส่าห์ สู้และฝ่าฟัน ให้ถึงจุดหมาย ปลายทางแห่งฝัน ”
บทเพลง S’yuj baf hop คิดถึงลูก
“หวนคืนสู่บ้านดอยเพราะสังคมเมืองอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับชีวิต”
การหวนสู่บ้านดอย คือ การตั้งหลักชีวิตใหม่และการเติมพลัง
ครอบครัว หรือ ชุมชน คือ แรงสนับสนุมที่ดีสำหรับเด็กชาติพันธุ์ ชุนชนควรมีงานรองรับเด็กเหล่านี้เมื่อกลับบ้าน การหวนคืนสู่ถิ่นฐานอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับพวกเขา แต่เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาจะเริ่มเรียนรู้และมีความใกล้ชิดกับ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ของพวกเขาให้มากขึ้น
เชื่อว่าความรู้ที่เด็กชาติพันธุ์ได้สะสมจากประสบการณ์ในสังคมเมืองนั้น อาจเป็นการต่อยอดสร้างอาชีพใหม่ให้พวกเขาได้ เด็กชาติพันธุ์กลับบ้านแล้วจะหาเลี้ยงชีพอย่างไร หลายๆคนเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ การทำการเกษตร การทอผ้า ศึกษาเรื่องกาแฟ หรือศึกษาเครื่องดนตรีประจำเผ่าตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวพื้นฐานซึ่งเด็กชาติพันธุ์ได้เคยสัมผัส ได้เคยซึมซับ
สิ่งที่เรียกว่า ครอบครัว และชุมชน ควรเป็นสถานที่ ให้เด็กเหล่านี้กลับมาเติมพลัง เติมความหวัง หรือบางคน การหวนกลับบ้านอาจเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับพวกเขา ก็เป็นไปได้
เพราะชีวิตในเมืองอาจไม่ใช่คำตอบ หรือหมดแรงจูงใจสำหรับชีวิตที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ทั่งกลางการแข่งขัน นักวิชาการชาติพันธุ์ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า เด็กชาติพันธุ์ที่เลือกกลับบ้านดอยนั้น จำเป็นต้องรู้ว่า กลับบ้านแล้วจะวางแผนกับชีวิตอย่างไร กลับบ้านแล้วจะสามารถรับความแรงกดดันจากคนในชุมชนเช่นไ รเพราะความคาดหวังซึ่งตามมาด้วยคำถามจากคนรอบข้าง ตัวอย่างเช่น “ เรียนจบจากมหาลัย หางานที่ดีทำสิ กลับบ้านทำไม ลำบากก็ลำบาก ทำนาทำสวนไหวเหรอ” เป็นคำพูดที่ธรรมดา แต่อาจทำให้คนที่ตัดสินใจกลับบ้านต้องรับแรงกดดันจากคำพูดเหล่านี้ หากแรงจูงใจในการกลับบ้านที่ยังหาไม่ได้ จากตัวเอง สิ่งที่ตามมาคือ ความเครียด จึงทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า
ดังนั้น การกลับเดินหวนคืนบ้านของเด็กชาติพันธุ์จำเป็นต้องรวบรวมทั้งความกล้า ความหวัง และที่สำคัญการสนับสนุมจากคนรอบข้าง
ชีวิตในสังคมเมืองอาจเป็นเรื่องราวของผจญภัย แต่บ้านที่พวกเขาจากมาคือ สิ่งแรกหล่อหลอมให้พวกเขาเข้าใจชีวิตของตัวเองมากกว่าที่ใดๆ ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ของชาติพันธุ์รุ่นต่อไปจะธำรงอยู่ ด้วยการสนับสนุมและความเข้าใจ