แม่สุ อ่าน “สุนทรพจน์จากเรือนจำ” รับรางวัล จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ’64 แทนเพนกวิน

แม่สุ อ่าน “สุนทรพจน์จากเรือนจำ” รับรางวัล จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ’64 แทนเพนกวิน

20 ก.ย. 2564 สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ประจำปี 2564 ให้กับพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเด็กและเยาวชนไทย ในช่วงปี 2563–2564 และยังเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีมารดาคือ สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ เป็นผู้รับมอบรางวัลและอ่านสุนทรพจน์สุแทน เนื่องจากพริษฐ์ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

ก่อนการมอบรางวัล วิภา ดาวมณี ในฐานะคณะกรรมการจัดงานฯ ได้อ่านบทกวีที่ของวัฒน์ วรรลยางกูร ผู้นำเครือข่ายเดือนตุลา ที่ส่งมอบให้มารดาของผู้รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ จากนั้น ชยพล ดโนทัย ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบโล่รางวัลและเกียรติบัตร และวีรวงค์ วรรินทร์กิตติกุล กลุ่มเพื่อนจารุพงษ์ ทองสินธุ์มอบดอกไม้แสดงความยินดี

“พี่ครับ ออกมาได้แล้ว แม่คิดถึงพี่” สุรีรัตน์ พูดหลังอ่านสุนทรพจน์จากเรือนจำของพริษฐ์ เนื่องในโอกาสการรับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานรำลึก “ครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา 2519” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 ต.ค. 2564 ในรูปแบบออนไลน์ หากมีการประกาศจาก กทม.ห้ามใช้สถานที่หน้าประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 ในการจัดงาน จึงมีการบันทึกเทปกิจกรรมบางส่วนไว้

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2521 กล่าวว่า วันนี้เดิมคณะกรรมการจัดงานฯ นัดหมายกันมาบันทึกเทปและในวันที่ 6 ต.ค. 2564 จะมีการจัดงานจริงภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ล่าสุดการพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ปฏิเสธไม่ให้ใช้สถานที่จัดงาน ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วย จึงประท้วงด้วยการไม่บันทึกเทปการกล่าวปาฐกถาพิเศษในวันนี้ เพราะคิดว่าเป็นตราบาปของมหาวิทยาลัยฯ จากที่เคยจัดงานทุกปีภายหลังเหตุการณ์

กฤษฎางค์ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวยังยืนยันจะจัดงานรำลึกในสถานที่จริง ในวันนี้จะขอเข้าพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ อีกครั้ง และเชิญชวนผู้ที่ต้องการรำลึกในสถานที่จริงมาเข้าร่วมงานได้ในวันที่ 6 ต.ค. 2564

“งาน 6 ตุลาฯ ไม่ได้เกี่ยวกับความประทับใจ หรือว่าเรื่องใครจะมาพูด หรือเรื่องการวางหรีด เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่าเราเรียกร้องให้ประชาชนจำและเอาคนผิดมาลงโทษ” กฤษฎางค์กล่าว

พริษฐ์ ชิวารักษ์ รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ : สุนทรพจน์จากเรือนจำ

กราบสวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ในวันนี้ผมรู้สึกได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลจารุพงษ์ทองสินธุ์ ประจำปี 2564 เพราะจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นอกจากจะเป็นรุ่นพี่นักกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของผมแล้ว ยังเป็นผู้หนึ่งที่ได้กระทำการเสียสละเพื่อประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด นั่นคือการเสียสละชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงได้มีการก่อตั้งรางวัลนี้ขึ้น เพื่อมอบแก่ผู้ที่เสียสละเพื่อประชาธิปไตยเช่นจารุพงษ์ ทองสินธุ์ แต่เกียรติภูมิของผมหากจะมีอยู่ ก็ไม่อาจเทียบเท่ากับของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ และวีรชนเดือนตุลาคนอื่น ๆ ได้ การรับรางวัลในวันนี้จึงถือว่าเป็นเกียรติอันใหญ่หลวง และก็เป็นความน่าหดหู่ของสังคมนี้ด้วย เพราะการที่เรายังต้องแจกรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นี้อยู่ ก็แสดงให้เห็นว่าแม้จารุพงษ์ ทองสินธุ์และเพื่อนพ้องมิตรสหายจะได้เสียสละจนจากเราไปมากว่า 45 ปีแล้ว ประเทศนี้ยังคงต้องมีคนเจ็บปวด เสียสละเพื่อประชาธิปไตย มีคนถูทำร้ายเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ต่างกับในยุคสมัยของจารุพงษ์ ทองสินธุ์

ท่านที่เคารพ ในระหว่างการรับรางวัลนี้ผมยังถูกจับกุมคุมขังด้วยเหตุแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งผมเชื่อว่าประสบการณ์อันขมขื่นนี้ เพื่อนร่วมรุ่นของจารุพงธ์หลายท่านอาจได้เคยสัมผัส นี่อาจเป็นการเสียสละอิสรภาพเพื่ออุดมการณ์ แต่ในอีกด้าน มันคือความโหดร้ายของรัฐไทย ที่จับเอาคนไปจองจำในคุกอันคับแคบ เพียงเพราะเขาเหล่านั้นคิดและเชื่อแตกต่างจากที่รัฐสั่ง นอกจากนี้การคุมขังคนธรรมดาที่แค่มีคำพูด ความคิด ความเชื่อเป็นของตัวเอง ยังเป็นอาการที่สะท้อนว่าประชาธิปไตยของประเทศเรากำลังติดเชื้อโรคเผด็จการแทรกซ้อนจนอ่อนแอ และเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง เปราะบางกระทั่งไม่อาจจะอดทนต่อคนที่พูดความจริง จึงต้องปฏิบัติต่อพวกเขาเยี่ยงไพร่ ทาส จำเลย คนพูดความจริงที่ต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ มีมาในหลายยุค หลายสมัย ไม่ว่าจะเป็น กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์, ครูครอง จันดาวงศ์, กลุ่มนักศึกษา 6 ตุลา กระทั่ง ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ไปจนถึงใครหลายคนที่ตอนนี้ยังต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนั้นอยู่ รวมถึงตัวผมเอง เช่นนี้เองจึงเป็นเหตุให้ใน

ขณะนี้ เพื่อนพ้องคนรุ่นใหม่และพี่น้องคนไทยลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งที่คำว่าประชาธิปไตยนั้นก็ก่อเกิดมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475แล้ว หากแต่ว่านับแต่ปี 2475 เป็นต้นมาเรามีแค่ประชาธิปไตยที่ถูกขังกรง ล่ามโซ่ไว้ ยังไม่เคยมีประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพสักที

ประชาธิปไตยที่เรากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มานี้ แม้จะปรากฎในหลายรูปแบบ โดยแต่ละแบบต่างมี

รูปลักษณ์และข้อเด่น ข้อด้อย แต่ละด้านแตกต่างกัน แต่เสน่ห์ของประชาธิปไตยไม่ว่าจะรูปแบบใดมีร่วมกัน คือ การยอมรับและอดทนอดกลั้นต่อความเห็นของคนอื่น นานาอารยะประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตย มองคนเท่ากัน ล้วนต้องเชิดชูบูชา เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม กระทั่ง เสรีภาพในการต่อต้านรัฐบาลอย่างสันติมากกว่าสิ่งอื่นใด หรือใคร เพราะโดยเนื้อแท้แล้วประชาธิปไตยเป็นกลไกลที่ออกแบบไว้ให้กลุ่มความคิดเห็น และกลุ่มพลังต่าง ๆ ได้เชือดเฉือน ขัดย้งกันโดยไม่ใช้ความรุนแรง หากเปรียบเทียบก็คือ สังเวียนมวย ที่ให้ทุกคนขึ้นชก ชิงชัยชนะกันได้ โดยให้ทุกคนใส่นวมและสวมอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้บาดเจ็บล้มตาย หลักการใส่นวมต่อยกันนี้ทำให้ประชาชนในประเทศประชาธิปไตย ทั้งหลายต้องสามารถออกมาชุมนุมแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าเป็นทรราชได้ โดยไม่บาดเจ็บ ล้มตาย

รวมถึงสามารถแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ผู้มีอำนาจและสถาบันต่าง ๆ ได้ โดยมิต้องหวั่นเกรงกฎหมายอาญามาตราใด เพราะประเทศเหล่านั้นทราบดีว่า การใช้กำลัง กฎหมายและอำนาจเถื่อนปราบปรามความคิดเห็นที่แตกต่าง จะเป็นการก่อไฟความคับแค้นสุมไว้ในใจผู้ถูกกระทำ จนกลายเป็นชนวนความขัดแย้งไม่รู้จบสิ้น ดังที่ประเทศไทยเผชิญมาในรอบสิบปีนี้ หากเราใฝ่ฝันถึงแผ่นดินไทยที่สงบร่มเย็นและปราศจากความรุนแรงทางการเมือง เราจะต้องร่วมกันปกป้องสิทธิ เสรีภาพทางความคิดของทุกคน ทุกฝ่าย โดยเริ่มต้นจากการปลดปล่อยผู้ที่ถูกจองจำด้วยเหตุแห่งความคิด เยียวยาผู้ที่ถูกกระทำโดยอำนาจเถื่อน รวมถึงยกเลิกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการแคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน ทุกฉบับ ทุกมาตรา เพื่อให้สังคมไทยสามารถเดินหน้าไปสู่ความยุดิธรรม ความสมานฉันท์ และประชาธิปไตยได้ต่อไป

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การรับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ในวันนี้ จะช่วยส่งแรงให้ประเทศไทย ไม่ต้องมีจารุพงษ์ ทองสินธุ์ คนอื่นคนใดขึ้นมาอีก

วันที่ 43 ของถูกจองจำครั้งที่ 3

พริษฐ์ ชิวารักษ์

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ