จรัล มโนเพ็ชร : คิคแบบคนลุงลัง บทสัมภาษณ์ก่อนลมหายใจเฮือกสุดท้าย

จรัล มโนเพ็ชร : คิคแบบคนลุงลัง บทสัมภาษณ์ก่อนลมหายใจเฮือกสุดท้าย

ภาพประกอบจากหมุด C-Site คุณเปีย วรรณา

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ “รายา ผกามาศ” สัมภาษณ์ “จรัล มโนเพ็ชร” ที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้ จ.เชียงใหม่ เมื่อ ตุลาคม 2543 เผยแพร่ใน หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือรายสัปดาห์ ฉบับที่ 45 ประจำวันที่ 2-8 กันยายน 2545
รายาต้องการบันทึกไว้เพื่อรำลึกถึงและสานต่อความฝัน เนื่องในวาระครอบรอบ 1 ปี แห่งการจากไป โดยพยายามคงบรรยากาศและแก่นความคิดของอ้ายในตอนนั้นไว้ทั้งหมด แม้ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลายเป็นอดีตไปแล้วก็ตาม …

2565 ครบ 20 ปีจรัลลา ความคิดและความฝันของจรัล มโนเพ็ชร จากบทสัมภาษณ์ยังมีคุณค่า ดิฉันได้ขออนุญาต พี่รายา นำบทสัมภาษณ์นี้มาเผยแพร่ใน The Citizen Plus อีกครั้ง และได้คุยข้อมูลกับอาจารย์บารเมศ วรรณสัย เพื่อนสนิทอ้ายจรัลถึงฝันที่ได้ช่วยกันฝันต่อคือการเปิดหอศิลป์สล่าเลาเลืองจนสำเร็จในปีนี้
บทสัมภาษณ์ก่อนลมหายใจเฮือกสุดท้ายนี้ คงเป็นส่วนหนึ่งที่พอทำให้เราได้เข้าใจ แก่นความคิดต่อศิลปวัฒนธรรมล้านนา และความคิดฝันต่องานเพลง ของจรัล มโนเพ็ขรมากขึ้น

ขอขอบคุณ คุณเปีย วรรณา ที่อัพเดทภาพและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับจรัล ผ่านการปักหมุด C-Site มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาพสะสมของคุณอันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิตจรัล มโนเพ็ชร ที่ขออนุญาตนำมาประกอบในบทความนี้

ด้วยรักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร
อัจฉราวดี บัวคลี่
อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือรายสัปดาห์

ช่วงนี้ (ต.ค.43) อ้ายกลับมาเชียงใหม่ มีโครงการจะทำอะไรบ้าง?

อันดับแรก กลับมาดูแลร้าน “สายหมอกกับดอกไม้” เพราะเราเปิดมาเกือบสองปีแล้ว ก็เหมือนกับการอุ่นเครื่อง ตอนนี้อยากจะมาดูแล ช่วยเหลือน้องนุ่งที่ทำกันอยู่ และกลับมาร้องประจำที่นี้ พุธ พฤหัส ศุกร์

อีกอันหนึ่งก็คือเผยแพร่ผลงานชุด “ล้านนาซิมโฟนี” งานชุดนี้เป็นการทำงานเพลงพื้นบ้านออกมาในจุดที่เราได้ยิน ฟังเพลงพื้นบ้านแล้วคิดอะไรหรือได้ยินอะไร ผมก็ทำเป็นซิมโฟนีออกมา ตอนนี้มีสองเบอร์ คือ “แม่ปิงซิมโฟนี” กับ “อินทนนท์ซิมโฟนี”

ทำเสร็จแล้ว นำออกจำหน่ายแล้ว แต่ไม่ได้วางขายทั่วไป ขายเฉพาะที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้ที่เดียว (ทว่าหลังการเสียชีวิตของอ้ายจรัล ผลงานชุดนี้ก็ได้รับการจัดการให้ออกเผยแพร่ในวงกว้าง-รายา)

ที่ทำก็ไม่ได้จ้างใครทำ เทปทุกม้วน ซีดีทุกแผ่น (ในตอนนั้น) ทำเองหมด ก็เอาออกมาทีละ 10 ม้วน เพราะเราขายแพงมาก เทปม้วนละ 500 บาท ซีดีแผ่นละ 1,000 บาท ที่ขายอย่างนี้เพราะอยากขาย อยากได้สตางค์เยอะ ๆ เพราะรู้ว่าเพลงเหล่านี้ไม่ใช่เพลงตลาด กลุ่มผู้ฟังมีน้อยมาก เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มา จะสมทบทุนเข้ากองทุนสร้างหอศิลป์ (สล่าเลาเลือง) ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปินล้านนา (ปัจจุบัน -พ.ศ.2545 – ผู้ดูแลโครงการก่อสร้างหอศิลป์สล่าเลาเรืองคือคุณอันยา โพธิวัตน์ คู่ชีวิต – บรรณาธิการ)

หอศิลป์นี้สร้างขึ้นเพื่อเก็บงานที่เล็ดลอดจากการถูกเก็บ ถูกเห็น หรือถูกเชิดชู เราจะเก็บไว้ งานบางอย่าง ไม่ค่อยมีผู้เก็บ เพราะเขามองข้ามมานาน ทำให้เกิดความเว้าแหว่งทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด

ของเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องเป็นจุดเชื่อมต่อ หรือเป็นจุดเปลี่ยนแปลง แต่มักถูกลืม เพราะคนมักจะเก็บของที่สำเร็จรูปแล้ว ตัวอย่างเช่น ดินปั้น ที่ผ่านมาเราปั้นตามความต้องการของตลาด ทว่าคนที่ปั้นมาตั้งแต่บรรพบรุษ แต่ขายไม่ได้ เราก็ไม่ได้จำเป็นต้องไปส่งเสริมให้เขาขาย เพราะเราไม่ใช่พ่อค้า เราจะเก็บงานเขา เก็บประวัติ เก็บความคิดของเขาไว้ รวมทั้งงานใหม่ที่ออกมา แต่มันไม่ประสบความสำเร็จ มันก็ไม่ได้ขายอีกเหมือนกัน เราก็จะเก็บงานพวกนั้น เช่นเดียวกับรูปเขียนที่บอกถึงความเปลี่ยนแปลง บอกสภาวะ เช่น ในรูปปั้นนั้นอาจจะมีรถโฟล์คหรือรถคัมรีซึ่งมันขายไม่ได้ แต่มันสะท้อนอะไรสักอย่าง ถ้ามันอยู่ในตลาด อยู่ในไนท์บาซาร์ หรืออยู่แกลลอรีเราซื้อได้ ในราคาถูก ๆ เราจะซื้อ แต่ถ้าขอได้ เราก็ขอ (หัวเราะ)

อีกอันหนึ่งที่มันจะหายไปแล้วคืองานสานกระบุง ตะกร้า ซึ่งเขาไม่ใช้แล้ว ครั้นจะไปเก็บในหอศิลป์อื่น เขาก็มองไม่เห็นคุณค่าของมัน แต่เวลาจะใช้ขึ้นมา เราหากันจนแทบพลิกแผ่นดิน เช่น การสานก๋วยตีนช้าง ก๋วยขี้ปุ๋ง เราเลิกใช้ เพราะหันไปใช้ถังสังฆทานแทน จนถังสังฆทานจะล้นวัด จนพระต้องออกมาโวยว่าเลิกซะทีได้มั้ย (หัวเราะ)

ผ้า-ผ้าทอลายแปลก ๆ มันอาจจะไม่สวย แต่มันแปลก เราก็จะเก็บ แล้วก็งานเขียน งานวรรณกรรม เช่น บทซอ เพลงที่มันเผยแพร่ไปแล้ว มันก็ไม่ได้อะไรกับมา เราก็จะเก็บ งานแกะสลัก แล้วก็อีกหลายอย่าง อันนี้เป็นงานของหอศิลป์

แล้วก็จะเปิดให้เป็นที่แสดงงานของคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้สึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมของบ้านตัวเอง ไม่ใช่ศิลปินรุ่นใหม่ที่ต้องอนุรักษ์สุดขั้ว แต่เราจะสนใจศิลปินที่สามารถเชื่อมโยงวัฒนธรรมใหม่กับเก่า…

ตรงนี้-ฟังดูเหมือนว่าหอศิลป์แห่งอื่นไม่สามารถสนองสิ่งที่เราอยากทำได้?

ก็ใช่… เพราะเขาไม่มีนโยบายที่จะเก็บงานอย่างเรา และศิลปินพื้นบ้านไม่มีวันกล้าเดินเข้าไปในหอศิลป์เหล่านั้นหรอก

แต่หอศิลป์ของเรา จะทำให้มีคนเดินเข้าเดินออก ตั้งแต่คนอ่านหนังสือไม่ออกจนถึงจบการศึกษาระดับสูงสุดก็สามารถเข้าไปได้ เราอยากจะทำให้มันเป็นอย่างนั้น

นอกจากหอศิลป์ ได้ข่าวว่าอ้ายจรัล กำลังจะทำละครด้วย

ครับ… แต่มันก็ต่อเนื่องกัน เป็นโครงการเดียวกัน คือโครงการหาเงินสร้างหอศิลป์ เพราะตั้งแต่ทำมูลนิธิส่งเสริมศิลปินล้านนามาเกือบ 14 ปี เราไม่เคยหาเงินเข้าไปกองไว้ในมูลนิธิเลยสักครั้งเดียว จะทำอะไรที ส่วนมากผมก็จะเป็นคนหาเงิน หามาได้ก็ใช้ไปในงานที่ต้องทำเกี่ยวกับศิลปะ อย่างเช่น เราสร้างจองคำสำหรับใส่สลุงน้ำขมิ้นส้มป่อย สำหรับสรงกู่อัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย เราก็จัดคอนเสิร์ตขึ้นมาที่นี่แหละ ที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้ ได้เงินเท่าไหร่เราก็ไปสร้าง  เราไม่มีเงินที่จะไปรองรังไว้ในมูลนิธิเลย เพราะนโยบายจริง ๆ ก็คือ มูลนิธิไม่มีนโยบายที่จะหาเงินมา แล้วกินดอกเบี้ยเงินฝากหวังก็ไม่ได้ เพราะตอนนี้ธนาคารคนจนหมด…ก็เลยจะจัดละครขึ้นมา ไม่ได้หวังรายได้เป็นจุดหลั  กแต่หวังให้ผู้คนได้รู้จัดงาน รู้จักโลกทัศน์ของมูลนิธิ สิ่งที่มูลนิธิจะไป และสิ่งที่เคยผ่านมามากกว่า เพราะที่ผ่านมา มันเหมือนมูลนิธิส่วนตัว

มูลนิธินี้ อ้ายจรัลเป็นคนตั้งเอง

ครับ ผมตั้งเป็นชมรมก่อน ต่อมาเราก็ได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ ฝ่ายและมีคนบริจาคเงินให้เราไปก่อตั้งเป็นมูลนิธิ ก็ทำขึ้นมาแต่ทุกวันนี้ มูลนิธิยังไม่มีสำนักงาน กรรมการทุกคนต้องควักกระเป๋าเอง ทำงานทุกอย่าง พอสิ้นปีมา ต้องเสียภาษีโน่น ภาษีนี่ ค่าบัญชี ค่าตรวจสอบอะไรต่าง ๆ กรรมการก็เฉลี่ยกันออก

โครงการที่วางไว้ทั้งหมด ต้องระดมทุนให้ได้สักเท่าไหร่ ใช้เวลานานขนาดไหน ถึงจะเป็นจริงขึ้นมาได้

ผมคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปีถ้าเราใช้วิธีระดมทุน แต่เราอาจจะโชคดี ถ้ามีผู้เห็นความสำคัญของงานตรงนี้ หรือเห็นคุณค่าของมัน และเชื่อในมูลนิธิ เขาอาจจะสนับสนุนเรา ซึ่งเราก็หวังไว้อย่างนั้น

เราไม่ได้หยิ่ง แต่ยุคสมัยนี้เราจะไปขออะไรจากใคร มันยาก ต้องทำงาน ผมจึงอิจฉามูลนิธิต่าง ๆ ที่เขาหาเงินกันเก่ง ๆ มีคนบริจาค 10 ล้าน 20 ล้าน ผมไม่เอาอะไรมาก ขอให้ผมสร้างหอศิลป์อันนี้เสร็จก่อนเถอะ สำนักงานมูลนิธิผมก็จะอยู่ที่หอศิลป์นั่นแหละ อะไร ๆ ก็จะอยู่ในนั้น เพราะตอนนี้มันเก็บไว้ที่บ้านผม อย่างเช่น เทปเพลงพื้นบ้าน 4-5 พันม้วน ผมต้องทรานสเฟอร์จากเทปรีลมาเป็นคาสเซตต์ จากคาสเซตต์ไปเป็นแด็ด จากแด็ดไปเป็นซีดีเก็บเอาไว้

คิดไว้หรือเปล่าว่าหอศิลป์จะอยู่ที่ไหนรูปแบบเป็นยังไง?

ที่ดินพอมีอยู่แล้ว เป็นที่ของผมเองถ้าเป็นที่พอใจของมูลนิธิ ของกรรมการ ผมยินดียกให้ หรือใครจะบริจาคที่มา ผมก็จะเก็บที่ไว้ก่อน เอาที่บริจาค เพราะมันมีพลัง คือเราไม่ค่อยอยากไปซื้อหา เพราะพลังมันไม่มี ถ้ามีผู้บริจาค พลังมันจะมี ผมอยากได้ในรูปแบบนั้นเล็กใหญ่ขนาดไหนไม่เกี่ยง ขอให้ผมสามารถทำหอศิลป์ได้ก็แล้วกัน ผมก็ดูแลมูลนิธิมานานมาแล้ว ผมสร้างสิ่งนี้ (หอศิลป์) ไว้แล้ว ผมก็อยากให้คนรุ่นใหม่เข้าไปดูแลมูลนิธิ ให้ผมเป็นที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยงไปเถอะ เพราะเขาอาจจะเก่งกว่าผม ทำให้มูลนิธิเจริญก้าวหน้าได้

นอกนั้น ที่กลับมาบ้านครั้งนี้ คือต้องการช่วยงานในท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมากเข้าไปทำงานในชุมชน อยู่กรุงเทพฯ ก็ต้องวิ่งขึ้นวิ่งลง ส่วนมากก็งานวัฒนธรรม เราไม่ไปแก้ไขอะไรเขา เราไปช่วยเขาในเรื่องระบบจัดการ ไปให้เทคโนโลยีที่เขาไม่มี ไม่งั้นเขาจะต้องเอามาจากส่วนกลางแล้วคนส่วนกลางจะไม่รู้จักวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น มันก็เกิดการขัดแย้ง ภาพที่ออกมาก็บิดเบี้ยวไปหมด

หลาย ๆ อย่างไม่ว่าการแต่งกาย คำพูด สีสัน ทุกอย่างมันไปหมด ซึ่งเราไม่ปฏิเสธนะครับว่าวัฒนธรรมมันต้องเปลี่ยน แต่มันต้องมีราก มันต้องมีที่มาที่ไป และพัฒนาไปในทางที่ดีงาม ถ้าเรายกมาทั้งดุ้นมันคงแย่ อย่างเช่นถ้าดอกลิลลี่มันไปอยู่ในสวนดอกไม้ดอกมันจะเป็นยังไง? มันควรจะเป็นดอกเค็ดถวาหรือดอกไม้พื้นเมืองอื่น ๆ น่าจะเหมาะสมกว่าหรือไม่ก็ไปงานใส่ขันดอกอินทขิล มีแต่ดอกฝรั่งเต็มไปหมด มีดอกเอสเตอร์ แกลดิโอลัส มันคงดูไม่จืดนะ เราไม่อยากเห็นอย่างนั้น…

เปิดหอศิลป์สล่าเลาเลือง   https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000017352  

13 มีนาคม 2564 หอศิลป์สล่าเลาเลือง เปิดอย่างเป็นทางการตามแนวคิดที่จรัล มโนเพ็ชร วาดฝัน ไว้บนที่ดิน 8 ไร่ ซึ่งเป็นที่บริจาคของเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน บริเวณวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ภายในมีห้องจัดแสดง 2 ห้องประกอบด้วย 

1. ห้องเก๊าผญา (รากเหง้าภูมิปัญญา) ที่แสดงถึงบุคลลสำคัญที่วางรากฐานศิลปะแขนงต่างๆ ของลำพูนไว้  คือมหาสิงฆะ วรรณสัย ปราชญ์ด้านวรรณกรรมล้านนา เจ้าหญิงลำเจียก ณ ลำพูน ต้นแบบผ้าทอ ผ้าไหมยกดอก ครูบาคำมูล ผู้ออกแบบลายวิหารทรงล้านนาทั่วภาคเหนือ พระศรีศิลป์สุนทรวาที พระนักเทศน์ ต้นแบบแต่งนิยายธรรมะเผยแพร่  นายแก้ว ตาไหล พ่อครูช่างซอเมืองลำพูน อาจารย์อินสนธ์ วงศ์สาม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ.2542  พระสุเมฆมังคลาจารย์  ผู้ได้จัดตั้งโรงเรียนเมธีวุฒิกรขึ้นในวัดพระธาตุหริภุญชัย เพื่อเปิดโอกาสให้พระภิกษุสามเณร และกุลบุตรได้ศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กัน และจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ให้ความสำคัญกับศิลปะวัฒนธรรมล้านนา โดยใช้ชีวิต 8 ปีก่อนเสียชีวิตที่ลำพูนสร้างสรรค์แนวทางให้เกิดการสืบต่อศิลปะล้านนาสาขาต่าง ๆ ผ่านงานเพลง งานแสดง ละครชุมชนที่เชื่อมโยงกับสล่า หรือช่าง  

2.ห้องสล่าเลาเลือง (สล่า แปลว่า ช่าง, เลา แปลว่า งาม สวยงาม  เลือง แปลว่า พอเหมาะ พอดี มีมาตรฐาน)  เป็นห้องที่จรัลมุ่งหวังเพื่อจัดแสดงผลงานการสืบต่อของช่างหรือ สล่าหรือศิลปินล้านนา ยุคใหม่ในเป็นห้องรวมศาสตร์และศิลป์ของเมืองลำพูนและล้านนาทุกแขนงมาไว้  

(สัมภาษณ์ อ.บารเมศ วรรณสัย เพื่อนรักอ้ายจรัล – 31 สิงหาคม 2564 ภาพประกอบจากหมุด C-Site คุณเปีย วรรณา และภาพสะสมของคุณคุณอันยา โพธิวัตน์ คู่ชีวิตจรัล มโนเพ็ชร –บรรณาธิการ)    

ถึงตอนนี้ถ้าเป็นไปได้ งานด้านวัฒนธรรมจรัล มโนเพ็ชร อยากเป็นแค่ปรึกษา?

ครับ อีกอันหนึ่งที่เตรียมไว้ก็คือ วันที่ 10 เมษา ปี 44 ก็จะครบรอบ 25 ปี การทำงานเพลง ก็ให้รู้สึกตื่นเต้นในตัวเอง อยากทำเพลงขึ้นมาในโอกาสที่ตัวเองครบรอบ จะทำเพลงในสีสันเหมือนงานแรกที่เราทำ ที่มันผ่านมา 25 ปีแล้ว เป็นโพลค์ซองคำเมือง แล้วมันช่วยไม่ได้ครับ ว่าจะทำงานอย่างนี้ มันต้องอยู่ในท้องที่ อยู่ที่ไหนในโลกนี้ก็ทำไม่ได้ หลายคนคิดอย่างนั้น ผมก็อยากลองเหมือนกัน ก็เลยตั้งใจมารับรู้ มาดู มาเห็น ว่าเรารู้สึกอย่างไร แต่ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก มันกลายเป็นมุมมองใหม่ ค่อนข้างยาก แต่ก็ได้เริ่มทำงานแล้ว คิดว่าตัวเองต้องขยันขึ้นอีกมากถึงจะออกทัน เพราะทำงานช้ามาก

อ้ายจรัลจากบ้านไปอยู่กรุงเทพฯ กี่ปีแล้ว?

ตั้งแต่ปี 2526 ก็ประมาณ 17 ปีผมเริ่มทำงานครั้งแรก เทปผมที่วางขายนะครับที่ร้านท่าแพบรรณาคาร ก็คือวันที่ 10 เมษา 2520 ทำเองขายเอง เหมือนทอดกล้วยแขกเลยล่ะทำกัน อัดกันอยู่ตรงนี้ คนรอซื้อก็บอก “เร็วซี่ๆ” คนตัดปกก็ตัดปกไป สนุกมาก (หัวเราะ)

นอกจากนั้น ที่ยังต้องขึ้น ๆ ลง  ๆ เชียงใหม่-กรุงเทพฯอยู่ เพราะว่ามีงานที่กรุงเทพฯ มีละครโทรทัศน์ มันก็เป็นอาชีพอย่างหนึ่ง แล้วลูกชายยังเรียนอยู่ที่นั่นคาค้างอยู่ ถ้าเขาเรียนจบม. 6 เอ็นทรานซ์ได้ เราคงจะตัดหางปล่อยวัดได้แล้ว เพราะเขาคงโตพอ เมื่อนั้นคงจะได้กลับมาอย่างจริงจัง แต่ไม่กล้าบอกว่าถาวร เพราะอาชีพอย่างผม มันไปทั่ว

เท่าที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2526 ก็ไม่ใช่ว่าผมจะไม่กลับบ้านเลย แต่เวลากลับมาเชียงใหม่ ผมไม่ไปไหน ส่วนมากผมอยู่บ้าน ผู้คนเลยไม่ค่อยรู้ บางคนก็คิดว่าผมไม่กลับมาเลย ไม่มาทำอะไรเลย แต่ผมไปหมดครับผมไปทำที่พะเยา ลำพูน เชียงราย แม่แจ่ม แม่ฮ่องสอน น่าน ผมไปทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมแต่มันเป็นงานของชุมชน ไม่ใช่งานของราชการที่จะทำให้ผู้คนรู้ข่าวคราวความเคลื่อนไหว มันเป็นงานที่จบเป็นชิ้น ๆ แต่กลับมาคราวนี้ มาแบบประกาศตัว

ในฐานะคนที่ทำงานเพลงมานาน จากการเริ่มต้นเหมือนเทปใต้ดินหรืออินดี้สมัยนี้ คือทำเองขายเอง ต่อมาก็เข้าไปอยู่ในระบบธุรกิจขายเทป และหันกลับมาทำเองขายเองอีกในช่วงหลัง แต่ละอย่างมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันยังไงบ้าง?

ถ้าทำเอง อิสระในการคิด การนำเสนอของเราจะมีมาก เราสามารถทำงานออกมาในสิ่งที่เราคิด เราทดลองก็ได้หมด แต่มันจะลำบากในเรื่องการเผยแพร่ เพราะเราไม่มีสื่อในมือ ในยุคที่ผมเริ่มต้นใหม่ ๆ พวกเขายังให้โอกาสอยู่ แต่ทุกวันนี้คือสื่อผูกขาด ไม่มีทาง ต่อให้คุณมีเงินคุณทำเอง จะไปขอซื้อเวลาเขา เขาก็ไม่ขาย

แต่ถ้าเรามีสังกัด เข้าไปอยู่ในระบบธุรกิจ เขาก็จะเริ่มสั่งเราทันที เขาอยากให้เรามากนะครับ เขาชอบงานเรามาก ชอบเพลงอย่างเรา แต่พอเราเข้าไปอยู่ในบริษัทเขา เขาจะเอาเพลงอย่างนี้ ให้เราทำตัวอย่างนี้ให้เราตัดผมอย่างนี้ แต่งตัวอย่างนี้ ผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นบ้าอะไร

เหมือนคนชอบที่ตรงนี้ ชอบมากเลยซื้อปุ๊ป ไถเลย มันประหลาด มันจะเกิดขึ้นทำนองนี้… แต่มันสามารถรับประกันเราได้บางส่วนว่างานของเราได้รับการเผยแพร่แน่ แต่ไม่รู้ว่าจะขายได้ไหม และคุณไม่มีวันเป็นอิสระ คุณจะต้องเอาอกเอาใจตั้งแต่ภาคโรงไปจนถึงประธานบริษัท ไม่งั้นงานคุณอาจถูกดอง

ผมมีปัญหาเมื่อเข้าไปอยู่ในระบบธุรกิจผมจะแข็งขืนมาก มันทำให้ผมอยู่ได้ไม่นานเซ็นสัญญา 3 ปี ผมก็ยอมให้ปรับไปเลย ทำชุดเดียวผมเลิก ปรับก็ปรับไปเถอะ ผมไม่มีเงินให้ก็แล้วกัน (หัวเราะ)

แล้วเขาปรับหรือเปล่า?

ปรับก็จะเอาอะไรล่ะ…(หัวเราะ)…แล้วผมก็ไม่ทำอีก บอกได้เลยว่า ผมไม่เคยชอบใจสักสังกัดที่ผมเข้าไปอยู่เลย ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดี ผมอาจจะไม่ดีก็ได้ ผมอาจจะมีความคิดเอกเทศมากเกินไป เลยกลับมาทำเองอีก

25 ปี จรัลมีเทปออกมาทั้งหมดกี่ชุด

ประมาณ 18 ชุด ขายดีที่สุดคือชุดแรก (โฟล์คซองคำเมืองอมตะ 1) ยังขายอยู่ทุกวันนี้ ตอนออกใหม่ ๆ ก็ขายเป็นหลักล้าน

ในฐานะผู้บุกเบิกเพลงโฟล์คซองคำเมืองให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั่วประเทศ อยากให้เล่าถึงสภาพของเพลงแนวนี้ยุคก่อนหน้าและยุคหลังจรัล มโนเพ็ชร

ก่อนหน้าก็มีเพลงคำเมือง แต่ผมคงมีโอกาสมากกว่า งานของผมเลยได้รับการเผยแพร่ เพื่อนรุ่นพี่ผม รุ่นน้องผมที่ทำอยู่ก็มี แต่เนื้อหาเขาจะไม่เหมือนงานผม งานผมก็อย่างที่ฟัง ๆ กันอยู่ เรื่องคนตาย เรื่องคนแก่ เรื่องโน้น เรื่องนี้ ส่วนมากเพลงที่ออกมาในยุคก่อนหน้าผมเป็นเพลงตลก เพลงขบขัน เพลงชวนหัวมากกว่า ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ก็ยังออกมาอย่างนั้น

แล้วรุ่นหลัง ๆ ที่ออกมาแนวเดียวกับจรัลพบเห็นบ้างไหม?

ไม่มีเลย เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ผมเองยังเศร้าเลย

ทำไมถึงไม่มี?

ผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าผมเห็นความพยายามมากเลย แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร มันถึงไม่สามารถที่จะสานต่อกันได้ ผมก็พยายามหาคนมาสานต่อ แต่ผมกลับมีความคิดอีกอย่างหนึ่งว่า งานเหล่านี้มันน่าจะเป็นตัวของตัวเอง เขาจะต้องสร้างงานขึ้นมาอีกแนวหนึ่ง แต่อยู่ในประเภทเดียวกับผม จะให้เหมือนผมเลยก็ไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ผมจะไปทำเหมือนคนอื่นก็ไม่ได้

แต่ทีนี้งานโฟล์คมันต้องอาศัยหลายอย่าง หนึ่ง-ความจัดจ้านในการบรรเลง ต้องค่อนข้างสูง ต้องเอาตัวรอดได้คนเดียว คุณจะต้อง keep show บนเวทีคนเดียวได้ คุณจะต้องพูดกับผู้คนได้คนเดียว และคุณจะต้องแต่งเพลงเอง คุณจะไม่มีค่าเลยถ้าเอาเพลงคนอื่นมาร้อง ยังไงเขาก็มองไม่เห็นคุณค่า แต่ถ้าแต่งเอง ร้องเอง บรรเลงเอง ผมคิดว่ามีโอกาส

ทว่าการแต่งเพลงโฟล์ค มันก็ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะเนื้อหามันจะต่างจากเพลงที่มีอยู่ มันไม่ใช่เพื่อชีวิต และมันก็ไม่ใช่เพลงประโลมโลกโลกย์ มันแยกของมันเอง ผมก็ดันไปตั้งทฤษฎีให้มันอย่างนั้น ขนาดผมจะหันกลับไปทำมัน ยังทำไม่ค่อยได้เลย มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ยืนของมันอยู่อย่างนั้น ไปแตะต้องมันอีกก็ไม่ได้ อย่าว่าแต่คนอื่นเลย ผมเองจะสร้างมันขึ้นมาอีก ยังต้องยอมรับว่าทำยาก

แต่อ้ายก็กำลังพยายามทำอยู่ ในโอกาสครบรอบ 25 ปี

ใช่ครับ และถ้าผมจะซุ่มซ้อมใครขึ้นมาสักคน นั่นหมายความว่าผมต้องให้มันสมองเขาด้วย เพราะเพลงเหล่านี้ต้องใช้มันสมอง ต้องมีคติ มีวิธีคิดของตัวเอง มันลำบาก เพราะต้องคมและชัดมากด้วย มันยาก

อย่างปฏิญญา ตั้งตระกูล บางเพลงของเขาคิดว่าให้อารมณ์ใกล้เคียงเพลงของอ้าย…

ผมก็เคยฟัง แต่ปัญหาก็คือสื่อทุกวันนี้ (ราวปี 2540 บรรณาธิการ) มันแข่งขันกันมาก มันเลยเป็นการคุมกำเนิดไปในตัว สำหรับผม ผมคิดว่าตัวเองโชคดีเท่านั้นเอง คือผมอยู่ในจังหวะที่ปลอดตลาดก็ปลอดมาก ไม่มีเพลงประเภทผมเลย ไปนั่งเล่นคนเดียว คนฟังก็บอกว่า เล่นได้ยังไงวะ บางคนมาจ้องดูว่าเราเล่นยังไง ด้วยซ้ำไป มันเลยได้ตรงนี้

แต่วันนี้ มีหลายคนเล่นเก่งกว่าผมอีก แต่มันไม่แปลกแล้ว มันไม่เหมือนยุคผมแต่ผมก็ยังเชื่ออยู่นะว่า ถ้าเพลงมันดีจริง ๆ ไพเราะจริง ๆ ไม่มีใครปิดกั้นมันได้ เพราะฉะนั้นผมก็หวังให้ผู้สร้างงาน มีความพยายามมากขึ้น อยากให้ทำเพลงให้ดีกว่าที่ผมเคยทำมา ดังนั้นผมจึงสร้างใครไม่ได้เลย เพราะว่ามีจรัลคนเดียวก็ยุ่งแล้ว ไม่อยากให้มีจรัล 2 (หัวเราะ) …ถ้าผมเป็นเจ้าของบริษัทเทปแกรมมี่ เหมือนอาร์เอส ผมจะต้องมีแผนกคำเมืองแน่นอน

อ้ายไม่คิดหานายทุนตั้งค่ายเทปเอง?

ไม่เคยคิดเลยครับเพราะผมไม่ถนัดธุรกิจ ผมก็เลยทำไม่ได้ผมก็อยากให้มีนักธุรกิจที่สนใจทำแบบนี้ ให้โอกาสแก่เพลงแบบนี้ เพราะเราก็เห็นกันอยู่เอาง่าย ๆ แบบไม่ต้องอาย เรายัดเยียดเปิดใส่หูเขาวันละพันครั้งในภาคเหนือ เดี๋ยวมันก็ดังเองแหละใช่ไหมครับ? ถ้าจะต้องทำอย่างนั้น แต่ใครล่ะครับ ที่จะลงทุนทำ

ถ้ามีคนอยากทำ แล้วขอให้อ้ายไปเป็นที่ปรึกษา เป็นโปรดิวเซอร์ให้ศิลปิน อ้ายจะรับไหม?

ได้เลยครับ แต่ผมขอทำงานนด้านศิลปะ เพราะผมขายของไม่เป็น เหมือนอัลบั้มล้านนาซิมโฟนีของผม ผมก็ขายที่ไหนไม่ได้ ผมขี้อาย ผมไม่กล้าหยิบของผมไปฝากใครขาย ผมมีร้านของตัวเอง ผมก็ขายตรงนี้แหละ ช่างมันเถอะ ผมจะขายไปชั่วชีวิตผม ปีหน้าผมก็จะออกมาอีกสองเพลง

ผมอยากจะให้มีงานเอาไว้ใช้ เพราะที่ผ่านมา เราก็ไปเอาเพลงฝรั่งมาใช้ ไปเอาซิมโฟนี่ของฝรั่งมาหมด ผมไม่ได้หวังขาย ผมสร้างขึ้นมา หวังให้คนเอาไปใช้ ผมยินดี แต่อย่าขโมยของผม โทรมาบอกผมหน่อย ผมให้หมดแหละ แต่อย่าเอาของผมไปขาย ไปก็อป ผมเล่นงานตายเลย (หัวเราะ)

ตอนนี้ก็มีคนเอาไปใช้แล้วครับ เห็นโทรมาบอกว่าจะเอาไปใส่ในรายการสารคดีอะไรสักอย่างที่ฉายทางโทรทัศน์

ส่วนการเป็นที่ปรึกษาค่ายเทปผมก็อยากทำนะครับ เพราะสื่อทางเหนือเราก็มีหมด เราก็พร้อมพอที่จะทำ และผู้คนก็ยังโหยหาเพลงเหล่านี้อยู่ แต่มันยังไม่มีหน่วยกล้าตายที่ออกมามันก็เป็นเพลงในลักษณะ “ชั่วครู่” ประเดี๋ยวประด๋าว ซึ่งเขาก็ฟังกันประเดี๋ยวประด๋าวจริง ๆ แทบจะเดือนละชุด แล้วผมเองก็ไม่รู้ด้วยว่าผู้คนทั่วประเทศอยากฟัง “คำเมือง” อย่างไร ผมไม่รู้ ถ้ารู้ ผมก็รวยแล้ว (หัวเราะ)

ถ้าอ้ายยินดีช่วย หน่วยกล้าตายน่าจะมีเพราะทางภาคใต้ก็มีตัวอย่างให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของการสร้างเพลงและศิลปินท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ อย่างวงณามา มาลีฮวนน่า ด้ามขวาน

ทางเหนือก็มีครับ แต่ว่ามันไม่สามารถทะลุถึงส่วนกลาง…ที่สำคัญ ผมอยากทำงานกับคนที่ให้โอกาสแก่ความคิด ผมไม่อยากบอกว่า “ต้องกล้าเสี่ยง” เพราะก่อนทำอะไร เราต้องคิดแล้ว อย่างผมไม่มีเวลาเสี่ยง แต่ผมจะคิด ถ้าคิดว่ามันใช่ นั่นไม่ใช่สิ่งที่เสี่ยง ผมคิดว่ามันใช่แต่มันจะใช่หรือไม่ใช่ในสายตาคนอื่น ผมไม่รู้ แต่สิ่งที่ผมทำ คือใช่แล้ว ผมอยากทำอย่างเนี้ย ผมคิดอย่างเงี้ย ผมเลยทำออกมา

แล้วใครล่ะครับ ที่จะกล้ารับความคิดของผมไปทำ เหมือนกับตอนที่ผมทำเพลงโพล์คซองคำเมืองตอนแรก ๆ ไม่มีใครกล้า มีคุณมานิด อัชวงค์ กล้าที่จะไปซื้อเครื่องไม้เครื่องมือมาแล้วอัด มาบันทึกเสียง เงินสองสามหมื่นในการลงทุนครั้งแรก เมื่อก่อนมันก็เยอะ ถ้ามีคนกล้าอย่างนี้…ตอนนี้เชียงใหม่ เรามีห้องบันทึกเสียง มีเทคโนโลยีต่าง ๆ เต็มไปหมด ผู้แทนสื่อมวลชน ทุกสาขา ทุกสถาบัน เราก็มี อยู่ที่ว่ามันต้องช่วยกัน

แล้วอีกอันหนึ่งก็คือ มาตรา 40 เรามาช่วยกันตีไข่ให้แตกก่อนเถอะ เราบอกว่าสื่อเสรี…สื่อเสรีจริง แต่คนใช้มันไม่เสรี คนใช้มันยังเผด็จการรวบอำนาจ พวกพ่อค้าก็เห็นแต่ผลประโยชน์ของเขาฝ่ายเดียว

มันไม่เหมือนอย่างเมืองนอก ที่นั่นเพลงเก่า ๆ ยังมีอยู่ สถานีวิทยุยังเปิดอยู่ เด็ก ๆ ก็ยังได้รับฟังเพลงเหล่านั้นอยู่ เขามีโอกาสได้ฟังเพลงหลากหลาย เพราะฉะนั้น สมองของเขาก็ได้รับรู้ และสามารถเปรียบเทียบได้หมด ไม่เหมือนของเรา เด็ก ๆ ได้ฟังเพลงอยู่ประเภทอเดียวรุ่นเรายังดีกว่า เรายังมีอิสระในการฟังเพลง เราสามารถฟังเพลงสุนทราพรณ์ เพลงของสุเทพ สวลี เพลงลูกทุ่ง เพลงฝรั่งทุกประเภท เราฟังได้หมด

แต่ทุกวันนี้ คุณจะไปหาฟังที่ไหน มันหาไม่ได้ มันมีแต่การข่มขืนรูหูกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ถ้าเราแก้ระบบตรงนั้นไม่ได้ ก็ไม่มีสิทธิที่จริงสื่อที่มี ให้ภาคธุรกิจไปเลย 50% แล้วแบ่ง 25% สำหรับศิลปะวัฒนธรรม และเป็นเวทีของชาวบ้าน อีก 25% ให้ข้าราชการไป แค่นี้เราก็จะมีโอกาสได้ 10% เราก็เอา แต่ต้องแบ่งนะ เพราะจำเป็นต้องใช้แล้ว

โลกทุกวันนี้ คือโลกของเทคโนโลยีโลกของสื่อ ถ้าใครช้า คนนั้นตกเวทีไป มันเป็นอย่างนั้น สื่อจึงจำเป็นสำหรับชาวบ้าน ถ้าคุณทำให้สื่อเป็นอิสระได้ คนที่สร้างงานศิลปะสามารถเข้าไปใช้สื่อได้ ผมคิดว่าประเทศไทยคงไม่มีศิลปินเยอะ จนเวียนออกสื่อไม่ได้หรอก ผมคิดว่าศิลปินในประเทศนี้ มันมีน้อยอยู่แล้ว มีสักกี่คนที่ผลิดตงานศิลปะจริง ๆ

ที่ผ่านมา การผูกขาดสื่อ ถือเป็นอุปสรรคอย่างมากในการพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรม ผมก็ยังฝันถึงวันนั้น วันที่จะได้ฟังได้เห็นงานดี ๆ

งานเพลงที่ดีในทัศนะของอ้ายเป็นยังไง?

อันดับแรกเลย มันต้องประเทืองอารมณ์ เพราะศิลปะเป็นสิ่งประเทืองอารมณ์ ศิลปะจะไม่รับใช้อะไรเลย ไม่ว่าการเมือง อุดมการณ์ อุดมคติ หรืออะไรก็ตาม อย่างที่เดียวศิลปะควรรับใช้คืออารมณ์ของมนุษย์ ไม่ว่าอารมณ์เศร้า ดีใจ โกรธ ทุกอารมณ์ที่มนุษย์ทุกคนเป็นเหมือนกันหมด

อันดับสอง หลังจากที่มันประเทืองอารมณ์แล้ว มันก็ควรประเทืองสติปัญญาตามมาด้วย และการผลิตของมันต้องเป็นการผลิตงานศิลปะ อย่างงานที่ออกมา ถ้าเขาบอกว่า ฉันจะร้องอย่างนี้ ใครจะทำไม เราก็อยากบอกว่า แกไปขายกล้วยแขกดีกว่า ไม่ต้องมาร้องเพลง

คนที่บอกว่า เบื่อวิธีร้องแบบเก่า มันโบราณ ความจริงคุณทำไม่ได้อย่างเขาต่างหาก เพลงแต่งอย่างนั้น ใช้ฉันทลักษณ์อย่างนี้ เป็นกฎเกณฑ์บังคับของเขา คุณทำไม่ได้ แต่คุณบอกว่ามันเชย ถ้าการทำเพลง การทำงานศิลปะ มันง่ายอย่างที่ทำ ๆ กันอยู่ ทุกคนก็ทำได้หมดแหละประเทศนี้ก็จะมีศิลปินล้นโลกเลย จริงไหมครับ? เพราะใครก็ทำ

แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น งานศิลปะมันต้องมีการประดิษฐ์ เพราะถ้าคุณไปหยิบมันมาเลยเขาเรียกว่าธรรมชาติ ไม่ใช่งานศิลปะศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์เท่านั้นทำขึ้นมาเพื่อรับใช้อารมณ์ของมนุษย์

ถ้าค่ายเทปหรือนักร้องนักแต่งเพลงที่ทำเพลงรักออกมาปาว ๆ อยู่ทุกวัน เพลงของเขาเป็นการทำงานศิลปะ เพราะรับใช้อารมณ์รักของมนุษย์ อ้ายจะว่ายังไง?

ใช่ คุณรับใช้อารมณ์ แต่คุณทำมันออกมาเป็นเพลงหรือเปล่า? ที่ผมเห็น ที่ผมได้ฟัง คุณทำมันออกมาเป็นเสียงตะโกน เสียงบริภาษ เสียงด่า เสียงแมวคราง เสียงหมากัดกันบนสังกะสี มันไม่ใช่เพลง

แต่ถ้าคุณยืนยันว่ามันเป็นเพลง ผมก็ต้องฟังคุณ แต่ผมไม่เชื่อ และถ้าคุยยังยืนยันอย่างนั้น ลองกลับไปคิดทบทวนตัวเอง ว่าคุณเชื่อจริง ๆ มั้ย ผมว่าเขารู้ตัวเขาเองดี เขากำลังทำสินค้าต่างหาก เขากลังมอมเมาตลาด เขากำลังสร้างตลาด สร้างรสนิยมขึ้นมาใหม่ เพื่อจะเทสินค้าเข้าไปรองรับตรงนั้น เขากำลังสร้างความจำเป็นขึ้นมา แล้วก็เอาสินค้าลงไปเข้าไม่ได้มีใจบริสุทธิ์ในการสร้างงานศิลปะลงไปจริง ๆ แต่เขากำลังทำสินค้าที่แอบอ้างว่าเป็นงานศิลปะ เท่านั้นเอง

เราไม่ดูถูกวัยรุ่น ว่าไม่รู้จัดเลือกเสพแต่สื่อปิดกั้นเขาหมด ไม่ให้โอกาสเขาได้ยินได้ฟังอะไรอื่นเลย มันก็ทำให้หมดสิครับ ถ้ามีเงิน ผมก็ทำได้ เอาเงินมาให้ผมสิ เงินเท่าที่พวกคุณใช้ ๆ กันอยู่น่ะ ผมก็ทำได้ และดังด้วย แต่เป็นเพลงมั้ย? เท่านั้นเอง

เมื่อคุณมีเงินอยู่ในมือ มีสื่ออยู่ในมือทำไมคุณไม่ทำเพลงจริง ๆ ออกมา คุณกลัวอะไร? กลัวเจ๊ง นั่นไง นั่นคือธุรกิจ ไม่ใช่งานศิลปะ แต่สำหรับเขามันก็ถูกต้อง เพราะมันเป็นการลงทุนมหาศาล เขาจะยอมให้ขาดทุนไม่ได้ แต่ทำงานศิลปะแล้ว ขาดทุนตลอดครับ มีใครบ้างที่สร้างงานศิลปะแล้วได้กำไร? ได้เป็นเงิน… ไม่มีทาง

แต่คนทำงานศิลปะจะได้ใจ ได้ความสดชื่น ได้ความภาคภูมิใจ ได้ศักดิ์ศรีของตัวเองได้ความเป็นมนุษย์ ได้อะไรเยอะแยะไปหมด แต่ที่ไม่ได้คือเงิน แล้วบังเอิญเงินมันจำเป็นซะด้วยในสังคมยุคนี้ (หัวเราะ) เราจึงเห็นว่า ศิลปินบ้านเราจะต้องทำอย่างอื่น เช่น ขายก๋วยเตี๋ยว เปิดร้านอาหารอย่างผมเนี่ย เขาไม่มีวันอยู่ได้ด้วยงานของเขาเอง

มันเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับประเทศนี้

ครับ เพลงของผมเขาเอาไปเปิดในต่างประเทศ ยังมีคนอุตส่าห์เก็บเงินส่งกลับมาให้แต่บ้านเราสิ ก็อปปี้กันอยู่นั่นแหละ เทปผีซีดีเถื่อนใครจัดการได้ ลูบหน้าปะจมูกกันอยู่นั่นแหละใครเป็นใครเราก็เห็นกันอยู่ แต่อย่าไปชี้นะ เดี๋ยวตาย

นอกจากทำเพลง อ้ายก็ยังแสดงหนัง แสดงละคร อ้ายเริ่มเข้าสู่วงการแสดงตอนไหน?

ก็เป็นผลบุญของเพลงผมนั่นแหละ พอเพลงชุดแรกได้รับความนิยมทั้งประเทศ หลังก็วิ่งเข้ามาเอง เรื่องแรกคือ “ดอกไม้ร่วงที่แม่ริม” ผมเป็นพระเอกวัยรุ่นยุคแรก ๆ สมัยก่อนเขามีแต่พระเอกแบบล่ำบึ้ก แต่ผมตัวนิดเดียว ก็ไปเล่นปรากฏว่าหนังประสบความสำเร็จมากเลย ฉายที่เชียงใหม่ ผู้คนจากรอบนอกเหมารถมาดูกันแน่นโรง ทั่วประเทศก็ขายดี ผมก็ต้องเดินสายไปโชว์ตัวทั่วประเทศ เขาก็ติดลม สร้างอีกเรื่อง “เสียงซึงที่สันทราย”

บอกตรง ๆ ว่า ตอนนั้นผมไม่ได้อยากเล่น แต่หลายสิ่งหลายอย่างทำให้ต้องเล่น และผมก็อาละวาดไว้เยอะ เพราะไม่อยากเล่น ผมก็เบี้ยวสุดชีวิต ตามประสาผม หลังจากสองเรื่องนั้น ผมก็ไม่เล่นอีกเลย ทำยังไงก็ไม่ยอม

จนกระทั่งหนังเรื่อง “ด้วยเกล้า” คุณบัณฑิต (ฤทธิ์ถกล) ทำ คุณมานิด ผู้จัดการผมขอเลย เพราะเขารู้ว่าบทอย่างนี้ผมจะชอบผมก็ยอม เพราะผมไม่ได้เล่นเป็นจรัล เหมือนสองเรื่องแรก ผมเล่นเป็นชาวนา ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ มันสนุกมาก และเป็นหนังที่ผมประทับใจที่สุด อิ่มที่สุด

หลังจากเล่นหนัง ก็มีละครเวทีเข้ามาอีก “ดอน กีโฮเต้…สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” นั่นเป็นละครเรื่องเดียวในชีวิตผมที่ชอบ ประทับใจที่สุด ที่มีโอกาสได้อยู่ในงานดี ๆ ร่วมงานกับผู้กำกับดี ๆ ก็เข้าไปแบบนั้น

ต่อมาก็มีงานเข้ามาเรื่อย ๆ ผมก็จะรับงานปีละเรื่องสองเรื่อง เพื่อความสนุก และว่างเว้นจากงานที่เราทำประจำบ้าง

แล้วเพลงประกอบภาพยนตร์ 

ถ้ามันยังเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้อยู่ ผมก็ไม่ทำหรอกครับ เพราะว่าบางทีเขาให้เวลาเราแค่อาทิตย์เดียว มันทำไม่ได้ หรือทำได้แต่มันทรมานตัวเองมา แล้วมันก็ไม่ดี ถ้ามีเวลาให้สักสองสามเดือนยังโอเค รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่สมน้ำสมเนื้อเท่าที่ผ่านมา ที่ผมทำก็คือ ใจรักและอยากทำ แต่รู้แล้วว่ามันทำให้ดียากมาก เพราะความประหยัดด้านงบประมาณ

นอกจาก “กาเหว่าที่บางเพลง” ผลงานอื่นด้านเพลงประกอบภาพยนตร์ยังมีอะไรบ้าง?

ผมทำเยอะนะครับ แล้วก็มาหยุดที่กาเหว่าฯ เพราะตอนทำกาเหว่าฯ ผมต้องเข้าโรงพยาบาลสามสี่รอบ ตอนแรกเขาบอกว่ามีเวลาให้สามเดือน ต่อหดเหลือสองเดือน และทำจริงให้เวลาเพียง 21 วัน หนังบางเรื่อง 4 วัน ผมยังเคยทำเลย เพราะมีเวลาเท่านั้นเอง มีงบเท่านั้น ผมใช้เกินกว่านี้ก็ไม่ได้ เขาไม่มีจ่ายค่าห้องอัดแล้ว หมดแล้ว ผมอยากทำนะครับ แต่เวลาต้องพร้อม ค่าใช้จ่ายต้องพร้อมด้วย.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ