เลนส์ไทบ้าน : มองหนังท้องถิ่นอีสาน “อุดรฟินแลนด์” ชวนคนกลับบ้าน ผ่านฝีไม้ลายมือคนทำหนังท้องถิ่นอีสาน จ.อุดรธานี

เลนส์ไทบ้าน : มองหนังท้องถิ่นอีสาน “อุดรฟินแลนด์” ชวนคนกลับบ้าน ผ่านฝีไม้ลายมือคนทำหนังท้องถิ่นอีสาน จ.อุดรธานี

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในระยะ 10 ปีผ่านมานี้ ถือได้ว่าเป็นช่วงที่มีการเปิดกว้างของตลาดภาพยนตร์และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในการสร้าง “หนังท้องถิ่น” วันนี้ผู้เขียนชวนพูดคุยกับ วรวุฒิ หลักชัย หรือ ครูวุฒิ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีประสบการณ์ในการผลิตภาพยนตร์เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหลายเวที และอีกบทบาทเป็นทั้งครูในสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 3 บ้านเหล่า จ.อุดรธานี ผู้ผักดัน “หนังท้องถิ่นอีสาน” ในการเล่าเรื่องราว วัฒนธรรมอีสานที่สอดแทรกอยู่แทบทุกเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ของเขา และภาพยนตร์ที่เราจะพูดถึงกันวันนี้ก็เป็นอีกเรื่องราวที่ วรวุฒิ หลักชัย ตั้งใจสื่อสารเรื่องราวที่มีกลิ่นไอท้องถิ่นอีสานกับการชวนผู้ชมหวนนึกถึงบ้านเกิดของตัวเองใน “อุดรฟินแลนด์”

วรวุุฒิ หลักชัย
นักแสดง “อุดรฟินแลนด์”

อุดรฟินแลนด์คืออะไร ?

“เป็นชื่อแรกที่คิดขึ้นมาได้เมื่อได้รับโจทย์ของโครงการมา ไอเดียคำว่าอุดรฟินแลนด์ คำว่า “ฟิน” มาจากความสุข เพราะอยากสื่อสารภาพยนตร์ให้ผู้ชมรู้สึกมีความสุข อุดรธานีมีความน่าอยู่มาอยู่อุดรธานีแล้วมีความสุข คำว่าแลนด์ มาจาก “แลนด์มาร์ก” คือแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เนื่องด้วยอุดรธานีเป็นเมืองธรรมะ มีแหล่งอารยธรรมโบราณบ้านเชียง และมีแหล่งธรรมชาติมากมาย จึงนำ 2 คำนี้มารวมกัน จึงกลายเป็นฟินแลนด์ครับ”

เรื่องราวในหนังเป็นอย่างไร ?

“เป็นหนัง 2 พาร์ท พาร์ท แรกจะพูดถึงพระเอกที่กลับมาบ้านเกิดเพื่อที่จะมาขายที่ดินทำกิน มรดกของบ้านไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ ส่วนอีกพาร์ท หนึ่งเป็นเรื่องของนางเอกที่กลับบ้านมาเหมือนกันแต่เป็นการกลับมานำของดีของเมืองอุดรธานี นำผ้าพื้นเมืองอุดรธานีอย่างผ้าหมี่ขิด นางเอกจะนำผ้าไปจัดแฟชั่นโชว์ที่กรุงเทพฯ ทั้ง 2 คน จะมีจุดประสงค์เดียวกันคือกลับมาบ้านเกิดและเพื่อที่จะกลับไป แต่สุดท้ายทั้ง 2 คนก็ได้เรียนรู้ ได้มาสัมผัสวิถีชีวิตบ้านเกิดของตัวเอง ได้หวนลำลึกความหลังได้มาเห็นช่วงเวลาของชีวิตปัจจุบันว่า จังหวัดอุดรธานีในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งในภาพยนตร์ก็จะบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในภาวะปัจจุบันว่ามีความเจริญรุ่งเรือง มีความน่าอยู่และมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่งดงาม”  

วรวุฒิ หลักชัย เล่าถึงเรื่องราวโดยย่อของภาพยนตร์อุดรฟินแลนด์ซึ่งเป็นเรื่องราวของตัวละครในเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกันในการกลับบ้านเกิดของตัวเองเพื่อเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองในบ้านเกิด โดยการเล่าเรื่องผ่านบรรยายกาศจริงใน จ.อุดรธานี

สไตล์หนังเรียกได้ว่าจัดอยู่ในประเภทไหน ?

“เป็นหนังโรแมนติคคอมเมอดี้ ด้วยชื่อหนังว่าเป็น “อุดรฟินแลนด์” อยากให้คนดูรู้สึกดูแล้วสบาย ๆ ชาวบ้านดูได้ ทุกคนเข้าถึงเรื่องนี้ได้โดยไม่เครียด ผมอยากทำหนังให้ทุกคนได้คลายเครียดและสร้างประโยชน์กับแหล่งท่องเที่ยวสวย ๆ ของจังหวัดอุดรธานีด้วย ถือได้ว่าเป็นการ “เที่ยวทิพย์” ในหนัง หากสถานการณ์ดีขึ้นเชื่อว่าทุกคนคงได้ไปเที่ยวชมสถานที่จริงของอุดรธานี ตามที่ปรากฏในหนัง ซึ่งผมทุ่มเทมากผมพยายามเก็บบรรยากาศสวย ๆ มาให้ได้เยอะที่สุดเพื่อที่อยากให้คนทั่วไปนั้นได้เห็นถึงความงดงาม วิถีชีวิต วัฒนธรรมอันดีงามของอุดรธานี”

เป็นระยะเวลาหลายเดือนในการสร้างหนังอุดรฟินแลนด์ ด้วยขั้นตอนและวิธีการที่ทีมคนทำหนังท้องถิ่นต้องทำงานภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องด้วยกองถ่ายที่เป็นคนท้องถิ่นอยู่แล้วและมีทีมงานที่ไม่มากอย่างกับกองถ่ายภาพยนตร์อื่น ๆ ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้แต่อย่างใด อีกทั้งนักแสดงหลักที่อยู่ในเรื่องนั้นต่างก็เป็นมืออาชีพที่ผ่านการทำงานในการถ่ายทำภาพยนตร์มาแล้วทั้งสิ้น

ในฐานะคนทำหนังท้องถิ่นคิดเห็นอย่างไร ?

“สิ่งที่เรามองในท้องถิ่นของเราคือ ด้วยความที่เราเป็นคนท้องถิ่นเราจะรู้จักบ้านเราเป็นอย่างดี หนังที่ออกมาก็จะเป็นการมองจากมุมคนในท้องถิ่น ไม่ใช่มองจากคนนอก ว่าเรามีของดีอะไร ก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่คนในท้องถิ่นได้เล่ามุมมองออกไปว่าเรามีดีอะไร พยายามที่จะสร้างจุดขายให้ผู้ชมได้เห็นได้สัมผัสกับมัน” วรวุฒิ หลักชัยเล่าต่อว่าถึงแม้วันนี้หนังท้องถิ่นจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อนก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าในฐานะคนทำหนังท้องถิ่นคนหนึ่ง เราจะต้องสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง พยายามเล่าเรื่องราววิถีชีวิตที่มันกำลังฃจะหายไป ความเชื่อ ประเพณีต่าง ๆ ที่กำลังจะหายไปเพื่อชวนให้หลายคนที่ได้ผ่านเข้ามาชมหนังนั้นได้หวนนึกถึงเรื่องราวดี ๆ เหล่านั้นและเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง อย่างน้อยก็ทำให้เขารู้สึกดีเมื่อได้เห็นภาพและเสียงนั้น

หนังจะช่วยดึงคนกลับบ้านไหม ?

“เป็นส่วนหนึ่ง อย่างน้อยหากไม่ได้กลับบ้าน ก็ไม่อยากให้ลืมบ้านของเรา สิ่งที่ดีงามหลายอย่างในภาวะปัจจุบันก็ออกไปทำงาน ออกไปกรุงเทพ ออกไปต่างถิ่น บางครั้งอาจจะหลงลืมสิ่งดีๆของบ้านเราหลายอย่าง หนังเรื่องนี้ก็จะทำหน้าที่ให้คนไกลบ้านได้ฉุกคิดบางอย่าง เช่น บางฉาก เราก็คิดว่าถ้าคนดูจะเห็นฉากแบบนี้น่าจะมีความคิดถึงบ้านเกิด  ผมเชื่อว่ายิ่งคนไกลบ้านได้ดูก็จะยิ่งคิดถึงบ้าน”

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ