“ถ้าได้ยินเสียง ในช่วงนี้ขอให้น้อง ๆ ได้มารับเอาสิ่งของ อุปโภค บริโภค น้อง ๆ มาหยิบเอานะครับ มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีไข่” นี่เป็นเสียงประกาศเสียงตามสายในหอพักของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จำเป็น ว่าที่ร้อยตรีอาทิตย์ อนุสรณ์ หรือพี่ต้า ที่ออกแจกจ่ายแบ่งปันข้าวกล่องให้น้อง ๆ นิสิตที่กักตัวในหอพัก หลังจากที่กลับเข้ามาในมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีความสะดวกในการเรียนออนไลน์มากขึ้น เพราะที่นี่น้อง ๆ สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ฟรี
ในหนึ่งสัปดาห์จะไปประกาศเสียงตามสายที่หอพักนิสิต โดยนำสิ่งของ-เครื่องใช้จำเป็น ไปเติมในตู้ปันสุข ในเขตพื้นที่ขามเรียง (ม.ใหม่) ได้แก่ หอพักพยัฆภูมิพิสัย หอพักบรบือ หอพักเชียงยืน หอพักนาดูน และเขตพื้นที่ในเมือง (ม.เก่า) ได้แก่ หอพักชวนชม โดยนำข้าวกล่อง จากโรงครัวสนามไปส่งเพื่อช่วยเหลือและแบ่งปันให้กับนิสิตที่กักตัวในหอใน และที่จุดโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณหอพักนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) ที่รองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม”
จากวิกฤตโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ที่ทำให้อีกหลายชีวิตห่อเหี่ยวในจิตใจด้วยภาวะที่ตึงเครียด ในอีกมุมหนึ่งด้านสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใช้วิกฤตในครั้งนี้ เรียนรู้และปรับเปลี่ยนดูแลกายใจ ไปสู่ทางรอดมากขึ้น
ในแต่ละวันจะมีการมอบข่าวกล่องวันละ 2 มื้อ มื้อกลางวันและมื้อเย็น ทำวันละมากกว่า 200 กล่องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แล้วยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับ บุคลากร นิสิต โดยรอบมหาวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบ
“นิสิตของเราในปัจจุบัน ที่อยู่ในบริเวณหอนอก ซึ่งเป็นผู้ได้รับการติดเชื้อเอง เรามีทางด้านของศูนย์พักคอยแล้วก็โรงพยาบาลสนาม โดยทางอำเภอกันทรวิชัย รับผิดชอบดูแล แล้วก็ทางมหาวิทยาลัยเรานำการดูแล การส่งอาหาร ที่ทำครัวสนาม ให้กับนิสิตเองหลังจากนั้น เราได้จัดทำตู้ปันสุข ในเขตพื้นที่บริเวณหอในเขตพื้นที่ขามเรียงต่าง ๆ แล้วก็มีพื้นที่ปันสุขในพื้นที่มอเก่าซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเมือง ตั้งเป็นสองจุด แล้วในส่วนหอนอก เรามีการประชาสัมพันธ์ เชิญชวนว่านิสิตคนไหนที่ได้รับผลกระทบหรือว่ามีความลำบาก นอกเหนือจากด้านสิ่งของอุปโภค-บริโภค แล้วสามารถมาติดต่อรับได้ที่จุดบริจาค ของทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีการได้เตรียมการวางแผนไว้ในเบื้องต้นตั้งแต่เดือน กรกฎาคม ไปจนถึงปลายเดือนกันยายน มีระยะเวลาในการช่วยเหลือตลอด 3 เดือน ที่เราจะดูแล ครั้งนี้ก็จะประเมินสถานการณ์ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น เราจะเพิ่มขยายเวลาออกไป ในการช่วยเหลือ ทั้งบุคลากร นิสิต เราจัดครัวสนามขึ้นเพื่อช่วยทั้งด้านของการประหยัดเงิน ประหยัดทางด้านอุปโภค บริโภค เพื่อช่วยเหลือนิสิตของเรา”ว่าที่ร้อยตรีอาทิตย์ อนุสรณ์ เล่าถึงแผนการทำงานของทีมอาสา
“เนื่องจากมีนิสิต แล้วก็บุคลากร ส่วนที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มเสี่ยง ที่มาอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งหอพักนิสิต แล้วก็คอนโดบุคลากร เราก็เลยมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาค จริง ๆ แล้ว เริ่มแรกคือเราทำตู้ปันสุขก่อน ก็คือบริจาคไปใส่ที่ตู้ปันสุข ทีนี้มันก็จะต้องมาปรุงอาหารอะไรอีกด้วยเราก็เลยทำ เป็นอาหารกล่องไปส่งนะคะ ไปส่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19” สิริพร ศิระบูชา ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี เล่าถึงความร่วมมือร่วมใจดูแลกัน
ข้าวกล่องและของใช้ในตู้ปันสุข กลายเป็นอีกสัญลักษณ์เพื่อส่งต่อความห่วงใยไปยังคนแปลกหน้า ซึ่งหลายครั้งผู้ส่งและผู้รับ อาจไม่ได้แม้จะสบตา กล่าวทักทาย หรือ กล่าวขอบคุณกัน แต่กับข้าวรายวันและสิ่งของเหล่านี้ที่แบ่งปัน แม้ภายในรั้วมหาวิทยาลัยและพื้นที่ รพ.สนาม แต่ก็ยังเติมแรงผู้ให้และผู้รับเผื่อจะพอมีในการฝ่าฝันอุปสรรคทางกายและทางใจในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ให้ทุกคนผ่านไปด้วยกัน รวมถึงในสนามการเรียนออนไลน์ของนิสิต ปีการศึกษา 2564 ที่ยังไม่รู้ว่าบรรยากาศการเรียนในห้องบรรยายจะกลับมาอีกเมื่อใด