เมื่อ 11 พ.ย.57 เวลา 1400 ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ต่างทยอยเดินทางจากจังหวัดห่างไกลเพื่อมาร่วมประชุมที่สำคัญของ 2 วัน (11 – 12 พ.ย.) ในการเปลี่ยนผ่านชะตาลุ่มน้ำบ้านเกิดของตนเองที่ห้องพักพิง โรงแรมเพรสซิเดนท์ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่นกันเองในวงพ่อเฒ่าแม่เฒ่าพี่น้องที่รับผลกระทบโดยตรง ต่างทักทายด้วยความห่วงใย โดยมีคุณ ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้แจ้งความคืบหน้าของคดีเขื่อนไซยะบุรีที่ส่งคำฟ้องไว้กับศาลปกครองกลาง ว่าปัจจุบันศาลปกครองสูงสุด ได้รับคำร้องไว้ เมื่อ 24 มิ.ย.57 และตอนนี้ทาง กฟผ. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ยื่นคำให้การไว้ที่ศาลแล้ว โดยจะมาขอรับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์จริงในแต่ละพื้นที่ที่รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
ซึ่งพ่อเฒ่าแม่เฒ่าพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ ได้สะท้อนปัญหาออกมาจากส่วนลึก ตัวอย่างเช่น การเกษตร การทำประมง และการเลี้ยงปลากระชัง ต่างต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงวิถีชีวิต แต่สิ่งที่ผิดปกติของน้ำขึ้นน้ำลงในการปิด-เปิดเขื่อน ทำให้ปลาในปัจจุบันลดน้อย หรือบ้างก็ตายลงก็มี อีกทั้งรายได้จากการประกอบอาชีพก็ลดลงเช่นเดียวกัน จากในอดีตพ่อเฒ่าแม่เฒ่าพี่น้องในพื้นที่มีรายได้ ประมาณ 1 แสนบาท ต่อเดือนจากอาชีพขายปลา แต่ปัจจุบันมีรายได้ลดลงเหลือ ประมาณ 3 – 4 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นเรื่องน่าหดหู่ใจของคนลุ่มน้ำโขงมาตลอดหลายปี
หลังจากประชุมประมาณ 3 ชั่วโมง ของวันแรกบวกกับการเดินทางไกล จึงทำให้ทราบว่าการต่อสู้ของพ่อบรรเจิด เสนจันทร์ฒิไชย ตัวแทนจากนครพนม ที่ยึดตามหลักพระราชดำรัสของในหลวงไว้เสมอ “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…” เพื่อให้ได้มาซึ่งชุมชนและสิ่งแวดล้อมบ้านเกิดนั้น ต้องมีความบากบั่น และอดทนถึงที่สุด แม้ใช้เวลาหลายปีก็ตาม วันนี้เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้พิสูจน์แล้วว่าน้ำสำคัญกับคนลุ่มน้ำโขงอย่างไร