จดหมาย ‘กลุ่มศิษย์เก่าสถาปัตย์ฯ’ ถึงอธิการบดี สจล.จี้ถอนตัวโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา

จดหมาย ‘กลุ่มศิษย์เก่าสถาปัตย์ฯ’ ถึงอธิการบดี สจล.จี้ถอนตัวโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา

20 เม.ย. 2559 กลุ่มศิษย์เก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก คัดค้านการเป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของ สจล.ภายหลังกรุงเทพมหานคร ได้ทำสัญญาว่าจ้าง สจล. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 57 กิโลเมตร 

20162004220842.jpg

Photo Credit : Patra Kongsirimongkolchai
ที่มา:
Friends of the River

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวเป็นการร่วมลงชื่อของกลุ่มศิษย์เก่า จำนวน 177 ราย มีรายละเอียดดังนี้ 

จดหมายเปิดผนึก

คัดค้านการเป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของ สจล.

วันที่ 20 เมษายน 2559

เรียน อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

จากการที่กรุงเทพมหานคร ได้ทำสัญญาว่าจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษาโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 57 กิโลเมตร และพื้นที่นำร่องสองฝั่งรวม 14 กิโลเมตร จากสะพานพระรามเจ็ด ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อศึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากำหนดรูปแบบ รายละเอียด และงบประมาณของโครงการให้ชัดเจน กำหนดระยะเวลาศึกษาเจ็ดเดือน ซึ่งทาง สจล.ได้พยายามนำเสนอแนวคิด “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน” (Chao Phraya for All) นั้น ปรากฏว่ามีกระแสคัดค้าน เคลือบแคลง และวิพากษ์วิจารณ์การเข้ามารับงานของ สจล. อย่างกว้างขวาง และไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีได้

จากสถานการณ์ดังกล่าวทางกลุ่มศิษย์เก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. จึงมีความกังวลและห่วงใยต่อการที่ สจล. เข้าไปรับงานที่ปรึกษาของโครงการข้างต้น ในประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้

(1) ความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความน่าเชื่อถือของ สจล.ในฐานะสถาบันการศึกษา

โครงการฯ ไม่เคยเปิดเผยเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณสูง และส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ที่มีความสําคัญในหลายมิติ ทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมืองระดับประเทศ แต่โครงการฯ กลับแสดงออกว่าต้องการที่จะดำเนินการด้วยความเร่งด่วน ตลอดระยะเวลาหลายเดือนทีผ่านมาก็ยังไม่มีการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการ และความจำเป็นทที่ต้องดำเนินการด้วยความเร่งด่วน จนเป็นเหตุให้สังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใส และความจำเป็นของโครงการ อีกทั้งไม่เคยมีการจัดเวทีสาธารณะ ที่เปิดโอกาสให้ประชาคม สจล. ทั้งศิษย์เก่า นักศึกษาปัจจุบัน และคณาจารย์ได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็น

ดังนั้นการเข้าไปรับงานที่ปรึกษาในสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่ต่างจากการดึงสถาบันฯ เข้าไปในความเสี่ยงที่ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสถาบันฯ ที่สั่งสมมายาวนานจะถูกสั่นคลอนได้

(2) ความสุ่มเสี่ยงต่อข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะทำงาน

อธิการบดี สจล. ดำรงตำแหน่งนายกวิศวกรรมสถาน แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยตำแหน่งจึงเป็นกรรมการโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย ดังนั้นการเข้าไปรับงานที่รึกษา ด้วยชื่อ สจล. จึงเลียงไม่ได้ที่จะทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและจรรยาบรรณวิชาชีพ อีกทั้งโครงการฯ ยังมีแนวโน้มที่จะต้องจัดจ้างบุคคลหรือเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดของ สจล. เอง แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ลักษณะการดำเนินงานเช่นนี้ย่อมจะทําให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงว่า จะเป็นการนำชื่อสถาบันการศึกษาไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลหรือไม่

(3) ความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความน่าเชื่อถือของ สจล.ในหมู่นักวิชาชีพ

โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบที่ซับซ้อน ในขณะที่ภาคประชาชนก็ยังไม่มีความเห็นที่เป็นข้อสรุปทีแน่ชัดว่าเห็นด้วยหรือไม่ ในหมู่ของนักวิชาชีพโดยเฉพาะสถาปนิก นักวางผังเมืองก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในสถานการณ์เช่นนี้ สจล.ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา ทำหน้าที่ผลิตนักวิชาชีพ จึงควรที่จะวางตัวเป็นกลาง และระมัดระวังในการที่จะเข้าไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในต่อบัณฑิตของ สจล.ในสังคมนักวิชาชีพในระยะยาว ส่วนข้ออ้างในลักษณะที่ว่า “แม้ สจล.ไม่ทำ ก็จะต้องมีสถาบันการศึกษาอื่นเข้ามาทำ” หรือ “งานลักษณะนี้ต้องมีคนไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว” นั้นก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะนำมาสร้างความชอบธรรมให้กับสถาบันฯ ในการรับงานภายใต้สถานการณ์ที่มีความน่าเคลือบแคลงสงสัยเช่นนี้ได้

(4) ความไม่น่าเชื่อถือของแนวทางการดำเนินการโครงการฯ ของคณะทำงาน

แม้มีการแถลงข่าวว่าโครงการฯ จะมีประโยชน์รอบด้านต่อทั้งประชาชน ชุมชน และเมือง แต่แนวทางการดำเนินงานที่ทางคณะทำงานของ สจล.ได้นำเสนอต่อสังคม ยังไม่อาจเชื่อได้ว่าจะเกิดการรับฟังความเห็นได้อย่างครอบคลุม เพียงพอต่อการตัดสินใจภายใต้กรอบเวลาที่มีจำกัด อาทิ การชี้แจงว่าได้ให้ความสำคัญกับชุมชนโดยการลงพื้นที่วันละสามชุมชนนั้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้ดำเนินการยังขาดความเข้าใจพื้นฐานในความหมาย และกระบวนการของการสร้างการมีส่วนร่วมที่แท้จริงในโครงการสาธารณะเช่นนี้ สจล.ในฐานะสถาบันการศึกษา ควรแสดงท่าที่และบทบาทให้เป็นบรรทัดฐานให้แก่สังคม บนฐานคิดที่ไม่มุ่งเน้นแต่เพียงการพัฒนาทางวิศวกรรม โดยละเลย หรือหลีกเลี่ยงการทำความเข้าใจผลกระทบของโครงการทีมีต่อสังคมในมิติอื่นๆ รวมถึงจะต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของคนในสังคมด้วย

(5) ความสุ่มเสี่ยงต่อการนำ สจล.เข้าไปมีส่วนร่วมในการผิดสัญญาประชาคม

จากข้อมูลปัจจุบัน การดำเนินการโครงการฯ ยังต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีมาก่อนหน้าซึ่งอาจกลายเป็นข้อกำหนดด้านรูปแบบ ขนาด และความสูงของโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังไม่มีหลักประกันว่าเส้นทางริมเจ้าพระยาจะไม่ถูกปรับไปใช้เป็นทางรถยนต์ในอนาคต แม้ในขณะนี้ทางรัฐบาลจะยืนยันว่าเป็นเส้นทางจักรยานก็ตาม แต่หากในวันหน้าทางโครงการได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานที่ต่างไปจากข้อตกลงและการประชาสัมพันธ์ต่อสังคมในปัจจุบัน อาทิ การเพิมเส้นทางรถยนต์เข้าไปในโครงการนี้ด้วย ก็เท่ากับว่าคณะทํางานของโครงการฯ ได้นำพา สจล.เข้าไปมีส่วนร่วมในการผิดสัญญาประชาคมด้วยเช่นกัน

จากความกังวลและห่วงใยข้างต้น กลุ่มศิษย์เก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. จึงไม่อาจเพิกเฉยต่อการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำลายชื่อเสียงและความเชื่อมันที่สังคมมีต่อ สจล. มาอย่างยาวนานได้ และได้มีมติร่วมกันแสดงความเห็น “คัดค้าน” การเป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝังแม่น้ำเจ้าพระยา ของ สจล. และขอให้อธิการบดีได้พิจารณาทบทวนบทบาทในโครงการนี้ โดยหากยังไม่สามารถชี้แจงความคลุมเครือ ข้อสงสัยต่างๆ ของการดําเนินงานที่ทาง สจล. เข้าไปมีส่วนร่วมในครั้งนี้ ให้แก่ประชาคม สจล. และสาธารณะชนได้เข้าใจและเห็นด้วยได้ ก็ควรจะพิจารณา “ถอนตัว” จากโครงการดังกล่าว ก่อนที่จะสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับ สจล.อย่างที่ไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้ ทางกลุ่มฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอธิการบดี และผู้บริหารโครงการฯ จะมีความตระหนักว่า การจะเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับได้นั้น นอกจากจะประกอบด้วย คณาจารย์ และนักศึกษาแล้ว ยังต้องได้รับความเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนจากศิษย์เก่าและภาคประชาสังคมด้วย หากอธิการบดียังคงเดินหน้าโครงการฯ ต่อไปโดยไม่ฟังเสียงทัดทานดังกล่าวในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้แล้ว ทางกลุ่มฯ และศิษย์เก่า สจล. อีกจำนวนหนึ่งก็พร้อมและจำเป็นที่จะต้องยุติการให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ สจล. ในทุกทางในทันที

ด้วยความนับถือ

กลุ่มศิษย์เก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.

หมายเหตุ: คลิกอ่านฉบับเต็ม

 

ด้านความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร มีกำหนดจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) ในวันที่ 22 เม.ย. 2559 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องอมรินทร์ ชั้น 3 โรงแรมเอส. ดี. อเวนิว ถนนปิ่นเกล้า เพื่อแนะนำโครงการ ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น นำเสนอสาระสำคัญ พื้นที่ศึกษาโครงการ แผนการดำเนินงาน แนวทางศึกษาของโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 

พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานราชการ, หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ, สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต, สถาบันการศึกษา, ศาสนสถานใกล้เคียง, สถานที่ราชการใกล้เคียง 4 เขต, ชุมชน 34 แห่งในพื้นที่ศึกษา (นำร่อง) 14 กม.ใน 4 เขต, สมาคมวิชาชีพต่างๆ, นักวิชาการ, ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ, ภาคธุรกิจเอกชน, องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชน

เวทีสาธารณะหรืองานประชุมรับฟังข้อคิดเห็นครั้งนี้จะนำเสนอสาระสำคัญโครงการ รายงานความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของโครงการ การสรุปผลการประชุมหรือหารือผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่เขต และผู้ประกอบการ 17 เขต และการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 รวม 32 ชุมชน ในเขตเขตบางพลัด บางซื่อ ดุสิต และพระนคร 

ภายในงานประชุมรับฟังข้อคิดเห็นจะนำเสนอแบบร่างแนวคิดการออกแบบพื้นที่ 1 ชุมชน (เขตบางซื่อ) และรูปแบบทางสัญจร 1 พื้นที่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเกิดความเข้าใจและเห็นภาพการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำมาประกอบการศึกษาวิจัยในขั้นตอนต่อไป และร่วมกันออกแบบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อประชาชนทุกคน 

ทั้งนี้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีการจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน อีก 2 ครั้ง ได้แก่ การจัดประชุมเพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 และจัดประชุมสรุปผลการศึกษาของโครงการ ช่วงเดือนกันยายน 2559 (ที่มา : http://www.iurban.in.th/pr/102573/)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ