เปิดใจคนรอ… ธุรกิจคนดนตรีในวิกฤติโควิด-19 กับคำถาม “ให้เรารออะไร?”

เปิดใจคนรอ… ธุรกิจคนดนตรีในวิกฤติโควิด-19 กับคำถาม “ให้เรารออะไร?”

220++ คือตัวเลขสะสม การขยับนับวันปิดทำการของคนในธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ที่ยังคงรอคอยการปลดล็อก

หากต้องรอไปอีก 120 วัน ทุก ๆ วันทั้งคน ทั้งธุรกิจก็คงค่อย ๆ ปลิดปลิวออกจากวงการ แคมเปญ #saveคนกลางคืน #อย่าทิ้งคนหาค่ำกินเช้า จึงเกิดขึ้นมาเป็นระยะก่อนหน้านี้ และความเคลื่อนไหวล่าสุดคือการยื่นหนังสือให้หน่วยงานรัฐ เพื่อต่อลมหายใจผู้ประกอบการทั้งระบบ หลังโควิด-19 กระทบหนัก

0000

เรื่องอันสืบเนื่องจาก จดหมายเปิดผนึก จากสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ที่ถูกนำไปยื่นให้กับประธานรัฐสภา ชวน หลักภัย เพื่อเสนอ ศบค. กับ 8 ข้อมาตรการเพื่อผ่อนปรน-เยียวยา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2564

หลังจากนั้น 18 มิ.ย. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีมติผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลให้ในวันที่ 21 มิ.ย. ยังคงปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิงในทุกพื้นที่

เราจึงต่อสายคุยกับ “เต๋า – นนทเดช​ บูรณะ​สิทธิ​พร” เจ้าของคนปัจจุบันของร้าน The Rock Pub ผับย่านราชเทวีที่มีอายุอานามกว่า 35 ปี ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน…รายชื่อแรกของผู้ลงนามจดหมายเปิดผนึก

00000

Q ข้อเสนอถูกตอบรับอย่างไรบ้าง

อ่า… ไม่มีอัพเดตครับ ไม่มีเสียงตอบรับจากภาครัฐ คือเขาก็รับเรื่องไปและให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของการพิจารณา คือเราเตรียมกระบวนการฟอลโลอัพเอาไว้แล้ว แต่ว่ายังไม่ถึงเดตไลน์ที่เราตั้งไว้ เรารอให้เขาได้มีเวลาทำงานกันนิดหนึ่ง ให้เขาได้ทำงานกันหน่อย ให้เวลาเขา แต่ว่าผ่านไป… วันนี้วันที่เท่าไหร่นะ 22 ถึงวันนี้ 5 วัน ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าครับ ยังไม่มีคำตอบ ไม่มีอัพเดต

Q ให้เวลายังไง

อย่างต่ำให้ 2 อาทิตย์ แล้วเดี๋ยวเราจะมีการฟอลโลอัพกลับไปทุกที่ที่เราไปยืน เริ่มจาก ศบค. ก่อน แล้วก็ไปที่สาธารณะสุข แล้วก็รัฐสภา เราได้คุยกันในทีมบ้างแล้วว่าฟอลโลอัพ แต่จะวิธีไหนอย่างไรต้องมีการคุยกันก่อน

Q ประกาศล่าสุดวันที่ 21 มิ.ย. ก็ยังให้ปิดอยู่ดี

ในหนังสื่อเรายื่นไป 1 ก.ค. (ให้ปลดล็อก) ที่นี้มันมีหมายเหตุด้วย ว่าเรายินดีหารือ หาทางออก โดยที่เขาเรียกเราเข้าไปคุยได้ แต่ว่าก็ยังไม่มีตรงนั้นกลับมา คือผมเข้าใจถูกหรือเปล่าไม่รู้ว่าความจริงเขาก็จะมีการประชุมกันทุกอาทิตย์ แต่ว่าหากเป็นการออกมาตรการใหญ่จะมีการออกทุก 2 อาทิตย์ ทีนี่มันก็ต้องผ่าน 1 ก.ค.ไปก่อนแน่นอน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าจะต้องเกิดเหตุการณ์ที่คาบเกี่ยวก่อนเขาออกรอบต่อไป ก่อนการผ่อนคลายรอบต่อไป มันคือเลยเดตไลน์เราไปแล้ว แต่ทีนี้ประมาณวันที่ 30 มิ.ย. หรือ 1 ก.ค. เราจะคุยกันดูว่าจะฟอลโลอัพด้วยวิธีไหน เพราะตอนนั้นก็จะประมาณ 2 อาทิตย์พอดี

Q ความเร่งด่วนที่รอไม่ได้ของเราคืออะไร

คือมันรอไม่ได้ เพราะจริง ๆ เรารอมานานมากแล้ว เหตุการณ์นี้มันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ตั้งแต่โรคระบาดเราโดนปิดมาถึงตอนนี้ผมลืมแล้วตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ แต่ว่าครั้งล่าสุดที่ผมนับมันคือ 220 วันแล้ว ที่สถานบันเทิงไม่ว่าจะเป็นลักษณะไหนก็ตาม ทุกประเภทก็โดนปิดหมด สั่งปิดแบบไร้การเยียวยามาหมด พอมารอบนี้มันก็ 2 เดือนกว่าแล้ว แล้ววันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มขึ้นอีก แล้วให้เรารออะไรครับ ผมก็ไม่เข้าใจว่าให้เรารออะไร ให้เราทำอะไร

คือมันมีมาตรการที่สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่าง หรือการอะไรก็ตามที่สามารถผ่อนคลายได้ คือทำได้ ไม่ได้บอกว่าถ้าเปิดพวกเราแล้วยอดมันจะตกลงหรือว่าไม่กระเตื้องขึ้นหรืออย่างไร มันไม่เกี่ยวเลยครับ ทุกวันนี้มันมีแค่กลุ่มบางกลุ่มในประเทศ หรือในพื้นที่สีแดงที่ต้องเสียสละ นับวันรอเสียสละไปเรื่อย ๆ โดยที่เราก็นั่งนับ นั่งมองทุกเช้าว่าตัวเลขที่มันปรากฎออกมามันก็ไม่เคยลดลง

ทีนี้คำถามคือให้เรารออะไร ให้รอวันที่ตัวเลขมันเป็น 800 หรือ 500 หรือ 0 หรืออย่างไร เพราะว่าสุดท้ายมันก็ไม่มีวันเกิดขึ้น การที่ตัวเลขจะเป็น 0 หรือน้อยลงระดับนั้นได้ หนึ่งคือวัคซีน สองคือการล็อกดาวน์พร้อมกันทั่วประเทศ มีแค่นี้จริง ๆ พิสูจน์มาแล้วทั่วโลกทำอย่างนี้ หากไม่ล็อกดาวน์ทั้งหมด ล็อกดาวน์แค่บางส่วน มันก็จะเป็นอย่างนี้ เราเห็นได้ชัดว่าการล็อกดาวน์ครั้งนี้มันปิดเฉพาะบางส่วนจริง ๆ แล้วมันก็ไม่มีประโยชน์จริง ๆ

เราไม่ได้บอกว่าทางฝั่งสาธารณสุขเราไม่ได้นึกถึง เราคำนึงถึงตลอด สองรอบแรกเราถึงไม่ค่อยเห็นความเคลื่อนไหวของคนกลางคืนหรือนักดนตรีมากมายนัก ความจริงก็มี แต่มันก็ไม่ได้มากมายขนาดนี้ หรือเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องต่อเนื่องขนาดนี้ เพราะเราเข้าใจเรื่องนี้ แต่รอบนี้มันเป็นการโยงมาจาก 2 รอบแรกที่ไม่มีการเยียวยาอะไรเลย

ไม่เยียวยา ไม่ฟัง ไม่สนใจ และรอบนี้มาชี้ด้วยว่าเราเป็นผู้ร้ายอย่างแบบแท้จริง มันก็ไม่แฟร์

และอีกอย่าง 2 รอบแรก พอการปิดหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นตัวเลขมันลด เพราะมาตรการเข้มงวดกว่านี้ หลาย ๆ อย่างเห็นได้ชัดว่าอย่างน้อยตัวเลขมันลดนะ เราเห็นแสงสว่างในการที่เราจะได้กลับมาเปิดอีกครั้ง รอบนี้มันตรงกันข้ามทุกอย่าง ปิดเราแล้วตัวเลขมากขึ้น อย่างนี้มันก็เป็นคำถามว่าเรารออะไร เรารอไม่ได้แล้ว

ถ้าพูดถึงในมุมของนักดนตรีเขาตายมานานแล้ว พนักงานเขาตายมานานแล้ว แต่ร้านต่าง ๆ รอบนี้ อย่างตัวเลขที่ผมร่วมทำเดอะคอนเสิร์ตซึ่งเป็นแอปพลิเคชัน เขารวมดาต้ามาจากผู้ที่ลงทะเบียนใช้บริการ 500 กว่าร้าน ประมาณ 120-130 ร้านแล้วตอนนี้ที่ปิดตัวลงอย่างถาวร มันเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบมันเกิดขึ้นจริง ๆ และเกิดขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนสิ่งที่ภาครัฐปล่อยให้เราตายไปเรื่อย ๆ ให้คนที่ตัวเล็ก คนที่สายป่านสั้น ๆ ร้านเล็ก ๆ ทะยอยกันตายทีละร้าน เพื่ออะไร

มันไม่มีคำตอบใด ๆ จากฝั่งรัฐเลย นี่คือเหตุผลที่เราถึงบอกว่ารอไม่ได้

Q ที่ผ่านมาไม่ใช่ไม่ปรับตัว เราปรับอะไรกับมาบ้าง

มันปรับจนไม่มีทางปรับแล้ว คือปรับตัวในความหมายของทุกคนอาจจะเข้าใจว่ามันปรับง่ายมาก เพราะคำว่าปรับตัวสำหรับคนที่ไม่เคยต้องปรับตัวความจริงมันง่าย คือมันง่ายเพราะว่ามันก็เป็นคอมฟอร์ทโซนเดิม ๆ ที่เขาบอกว่า “ทำไมคุณไม่ปรับตัวหละ” มันจะมาจากคนที่ประกอบอาชีพได้อยู่ ส่วนใหญ่นะครับ ส่วนคนในอาชีพกันเองหรือว่าที่เราลำบากกันมา ไม่ต้องมีใครมาบอกเราก็ปรับกันตั้งแต่ตอนแรกแล้ว ทุกคนก็ปรับไปทำอะไรก็ตามที่สามารถทำได้ บางคนกลับบ้านไปทำนากับพ่อแม่ก็ยังมี บางคนมาขายไข่เจียว ขายหมูปิ้ง ขายน้ำส้ม ผมเองรอบนี้ผมมาเปิดเป็นคาเฟ่ขายกลางวันอย่างเดียว

คำถามสำคัญที่ผมจะโยนกลับไปให้ทุกคนก็คือว่า ถ้าลองนึกตามจะเห็นภาพได้เลยว่า ถ้าคุณชอบกินร้านอาหารร้านนี้ ร้านโปรดของคุณ ถ้าวันหนึ่งเกิดอะไรบางอย่างขึ้นมาแล้วภาครัฐสั่งปิดร้านอาหารทั่งประเทศ แล้วร้านนี้หันมาเล่นดนตรี ปรับตัวมาเล่นดนตรีให้คนฟัง หรือปรับตัวมาขายเบียร์ ขายเหล้า เขาอยู่ได้ไหมครับ มันคืออาชีพเขาไหม มันคือสิ่งที่ทำให้เขาอยู่รอดได้ไหม หรือมันจะได้แค่ชั่วคราว อันนี้คือประเด็นสำคัญ

ตรงนี้ความจริงการปรับตัวมันเกิดขึ้นมาปีครึ่งแล้ว ของทุกคน อันนี้ผมการันตีได้เลย แต่วิธีการปรับตัวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนปรับจนตายไปแล้ว จนไม่ปรับแล้ว บางคนถอดใจไปแล้ว บางคนก็หาอาชีพอื่นนะครับ แต่อยากจะบอกสังคมให้รู้ว่า จริง ๆ ปีครึ่งที่ผ่านมาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ มันมีน้อยมากที่ภาคธุรกิจไหนจะต้องการบุคลากรเพิ่ม สมมติว่าบอกคนกลางคือให้ไปทำงานกลางวัน แล้วจะทำอะไร มันก็ไปแย่งงานคนกลางวัน แล้วมันจะมีพื้นที่ให้เขาไปทำไหม นี่คือคำถามสำคัญ ก็ไม่มี มันเป็นวนลูปปัญหาที่เกิดขึ้น

การขายอาหาร ขายน้ำส้ม หรือการขายกาแฟอย่างที่ผมทำ ต้องมาเห็นสภาพครับแล้วจะเข้าใจว่าทำได้ชั่วคราวจริง ๆ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เดือนแรก ๆ ที่ทำมันโอเค เอามาซัพพอร์ทค่าใช้จ่ายบางอย่างไร เพราะว่ามันมีคนที่รักเรา คนที่พร้อมซัพพอร์ทเรา แต่พอผ่านไปเดือนหนึ่ง สองเดือน มันกลายเป็นขาดทุน แล้วจะต้องหยุดทำกันไป ขนาดศิลปินดัง ๆ ทำก็ทำได้แค่เดือน สองเดือน มันได้แค่นั้น เพราะคนเขาซื้อจากอาชีพเก่าของเรา เขาไม่ได้ซื้อเราเพราะอาชีพใหม่ของเรา มันเรียกได้ว่าเป็นอาชีพเสริมเท่านั้นแหละครับ

Q การที่คนดนตรีปรับเข้าสู่วงการออนไลน์ ลองปรับแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

มันหมดความเห่อไปแล้ว ช่วงแรกที่ทำคือมันบูมมาก ผมเริ่มทำเร็วมาก มาก่อนคนอื่นสักประมาณ 2 อาทิตย์ พอทำไป 2-3 อาทิตย์ก็กลายเป็นทำกันทุกคน ทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นค่ายใหญ่ค่ายเล็ก ศิลปินอิสระ นักดนตรีกลางคืน ร้าน ฯลฯ ทำกันหมดเลยครับ มันก็โอเค คือมันก็มีคน Donate (บริจาค) เข้ามาให้ มันก็ไปได้น่าจะประมาณร่วม ๆ 3-5 เดือน ที่บางคนพยายามบอกว่านี่คือ “นิวนอร์มอล”

สุดท้ายผมพูดมาตลอด ผมพูดมาตั้งแต่วันนั้นแล้วว่านี่ไม่ใช่นิวนอร์มอล มันแค่การปรับตัวหาทางรอดชั่วคราว…

ผมพูดประเด็นนี้มาตลอดว่าไม่มีทางว่านี่จะเป็นนิวนอร์มอลของภาคธุรกิจนี้ได้ เพราะต้องเข้าใจว่าการเสพสิ่งเหล่านี้ การเสพดนตรี การเสพศิลปะบางชนิดหรือเกือบทุกชนิดนั่นแหละ มันอาศัยการปฏิสัมพันธ์ โดยเฉพาะดนตรี มันอยู่รอด ความสุขที่มันได้มามันคือการแลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์กันของคนเล่นและคนดู คนดูและคนดู มันเกิดสิ่งนี้เกิดขึ้นครับคือเราได้ความสุขร่วมกัน การนั่งดูหน้าจอมันทำได้ชั่วคราว ทำได้แค่บางครั้ง สุดท้ายมันก็จะเบื่อ มันก็จะโหยหากับการที่เราจะได้ไปดูคอนเสิร์ตจริง ๆ ดูศิลปิน ได้ฟังเสียงสด ๆ ที่ไม่ใช่แค่ฟังจากหูฟัง

และสิ่งนี้ก็เป็นจริง มันพิสูจน์มาจาก 6-7 เดือนที่ผ่านมาถ้าสังเกตไม่มีใครไลฟ์อะไรเลย น้อยมากครับ ค่ายใหญ่เขาก็ไม่ไลฟ์ เหตุผลหลักก็เพราะไม่สำเร็จ เพราะมันไม่ใช่นิวนอร์มอล มันเป็นแค่ทางรอด ณ ชั่วคราวในวันนั้น มันพิสูจน์ให้เห็นเลยโดยไม่ต้องมีใครบอก ถ้าคนในวงการจะเข้าใจตรงนี้ดีว่า มันก็ได้แค่นั้น คือมันเป็นทางเลือก สมมติว่าในอนาคตสำหรับคนที่ดูไม่ได้ เราก็จะมีคอนเสิร์ตจริง ๆ อยู่ด้วย แต่ช่องทางออนไลน์มีสำหรับคนที่อยากดูมากแต่มาไม่ได้ คุณก็ซื้อบัตรดูออนไลน์

มันเป็นทางเลือก มันไม่ใช่สิ่งที่จะมาทดแทนสิ่งนี้ได้ การเสพดนตรีสด ๆ มันทดแทนไม่ได้จริง ๆ อันนี้ผมคอนเฟิร์ม เพราะปรับกันทุกระดับ ทำกันทุกระดับ และมันหายไปพร้อมกันเลย

Q อะไรจะเป็นนิวนอร์มอลสำหรับคนดนตรี

มันไม่มีนิวนอร์มอล คำว่านิวนอร์มอลมันไม่มี เพราะว่า… สำหรับผมนิวนอร์มอลมันคือสิ่งที่จะเป็นนอร์มอลได้ตลอดไป มันจะเป็นการเปลี่ยนการใช้ชีวิตแบบหนึ่ง เท่าที่ผมสังเกตุสำหรับคนบางคน นิวนอร์มอลคือการทำเขาจะใส่หน้ากากในที่สาธารณะ เขาเดินทางไปต่างประเทศเขาจะใส่หน้ากากตลอดไป อย่างนี้เป็นนิวนอร์มอลที่เกิดขึ้นได้จริง และคงมีจริง บางคนอาจระมัดระวังในการใช้ชีวิตต่อไปนี้มากขึ้น อันนี้เป็นไปได้

แต่ว่าสำหรับวงการดนตรี วงการผับบาร์ วงการบันเทิงมันใช้ไม่ได้ มันแค่เป็นสถานการณ์ ณ วันนี้ ที่ปรับตัวทำได้ รอวันที่โรคระบาดนี้มันไม่ใช่โรคระบาดอีกต่อไป โรคนี้จะกลายเป็นโรคหวัด นั่นแหละ ก็จะกลับสู่โอลด์นอร์มอล นอร์มอลนี้มีแค่นอร์มอลเดียว คือการเล่นคอนเสิร์ตสด ๆ

สังเกตุจากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีคอนเสิร์ตของวงดังที่อเมริกา คือวง “Foo Fighters” จัดคอนเสิร์ตที่เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น จุคนประมาณ 2-3 หมื่นคน ไม่ใส่หน้ากากเลยสังคน ทำได้แล้ว กลับมาสู่ที่เดิมแล้วครับ ใช้เวลาปีครึ่งประเทศที่เกิดวิฤติหนักที่สุดในโลก เขากลับมาแล้ว วงการนี้กลับมาแล้ว กลับมาด้วยวัคซีน เขาฉีดวัคซีนให้คนเยอะมาก ทั่วถึง และเป็นวัคซีนที่ระงับการแพร่เชื้อ

ต้องบอกว่าบางอาชีพ บางภาคธุรกิจมันไม่สามารถที่จะเป็นนิวนอร์มอลได้ อย่างร้านอาหารบางประเภท ยกตัวอย่างโอมากาเสะเขาจะเป็นนิวนอร์มอลไม่ได้ จะไปทางออนไลน์ไม่ได้ เพราะเขาขายศิลปะ เขาขายการปรุง เขาขายการมานั่งกินที่ร้าน การอธิบาย เขาขายคอสเป็นหมื่น ๆ เขาปรับตัวไม่ได้ เพราะเขาเอาเข้าแกรบไม่ได้ มันไม่เหมือนร้านข้างทาง ร้านก๋วยเตี๋ยวที่ปรับตัวได้ หรือแม้แต่วงการของเหล้าเบียร์ คราฟท์เบียร์เขาจะปรับตัวอย่างไร ในเมื่อมาตรา 32 สั่งห้ามขายออนไลน์ ห้ามโปรโมทออนไลน์ ห้ามชวนดื่มออนไลน์ แล้วจะให้เขาปรับตัวอย่างไร ปรับไม่ได้ครับ

มันมีมิติเยอะมาก มีเลเยอร์เยอะมากที่มันป้องกัน แม้ว่าในบางอุตสาหกรรมขยับไปหานิวนอร์มอลได้ แต่ก็ถูกปิดกั้นโดยภาครัฐอยู่ดี

มันมีการไลฟ์เกิดขึ้นสำหรับบางร้านในช่วงแรก ตำรวจก็ไปลงร้าน มีนักดนตรีอยู่ 5 คนในร้าน กับเจ้าของร้าน กับซาวน์อีก 2 คน ตำรวจไปจับ บอกว่าเปิดร้าน ทั้งที่เขาล็อกประตู ไลฟ์กันเองแล้วคน Donate เข้ามา คือมันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทุกวัน มันก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีนิวนอร์มอล แต่บางคนหรือบางอุตสาหกรรมก็ไปไม่ได้เพราะถูกปิดกั้น

แต่ผมก็เชื่อว่าในภาคดนตรี ดนตรีมันขับเคลื่อนด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดูกันเองและคนดูกับผู้เล่น และการพรีเซนเทชั่น เวที ไลท์ติ้ง ทุกอย่างที่มันต้องมาสัมผัสสด ๆ ความรู้สึกตรงนั้นมันถึงจะได้ครบ คือมันต้องครบองค์ การเสพดนตรีมันมาทางตาและเสียง แต่ถ้าพูดกันติดตลก กลิ่นก็มานะครับ กลิ่นของงานคอนเสิร์ต กลิ่นเหงื่อ แม้แต่กลิ่นเหล้าบุหรี่ มันคือกลิ่นที่พอไปสัมผัส มันต้องครบรสชาติ เหมือนการทานอาหาร คนที่ชอบสิ่งนี้ มีความสุขกับสิ่งนี้ จะเข้าใจว่าทำไมถึงโหยหา

สำหรับผม ประเด็นนี้ผมพูดมาตลอดว่าโควิดปีครึ่งที่ผ่านมามันยิ่งตอกย้ำและทวีคูณด้วยซ้ำว่า อุตสาหกรรมของเรามันไม่มีทางไปสู่นิวนอร์มอลได้ คนโหยหาสิ่งนี้มากกว่าเดิม มันเป็นการตอกย้ำว่า “ฉันขาดดนตรีสดไม่ได้” วันที่ดนตรีสดกลับมา ทุกคนจะกลับไปดูเยอะยิ่งกว่าเดิม ทุกคนให้คุณค่ากับสิ่งนี้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ การได้ดูดนตรีสด ๆ การได้มาสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้สด ๆ

Q แล้วความหวังที่เราจะกลับคืนสู่ความปกตินั้นได้คืออะไร

มันคือวัคซีน ถ้าพูดเหตุผลส่วนตัวที่ผมออกมาขณะนี้ เพราะว่าผมหมดหวัง ผมหมดหวังกับการที่ต้องนั่งรอให้รัฐทำให้เราถึงจุดนั้น เพราะว่าเขาไม่แคร์เรา เขาลืมเรา เขาสามารถจัดสรร จัดลำดับการฉีดวัคซีนให้กับหน้าด่านที่สำคัญเหมือนกันหลาย ๆ ด่าน ยกตัวอย่างเช่นคนขับรถเมล์ คนขับรถแท็กซี่ ครู หลาย ๆ อาชีพที่สมควรจะได้รับ เป็นอาชีพที่ต้องพบเจอผู้คน แต่อาชีพที่เหลือหละ ทำไมต้องให้เราแทบจะต้องขอร้อง ต้องทำเรื่องเข้าไป ต้องส่งเสียงดังขนาดนี้เพื่อการที่จะให้เราได้เข้าไปร่วมประชุม ยังไม่ต้องให้วัคซีนเลย

มันคือสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าอาชีพของพวกเรามันเป็นอาชีพที่ถูกลืม ที่เขาไม่สนใจ ที่เขาปล่อยให้ตายได้ เพราะมันไม่มีให้ถึงเราเลย

การเรียกร้องของเรามันเป็นความหวัง ที่ส่วนตัวผมและทีมหลาย ๆ คน เราหวังกับสังคมมากกว่า ถ้าสังคมเห็นว่าเรากำลังเจออะไรอยู่ สังคมพยายามที่จะเข้าใจเรา มองเราว่าอาชีพของเรามันก็มีมีค่าเท่ากับทุกอาชีพเหมือนกัน เขาจะเข้าใจเรา เขาจะช่วยเราส่งเสียง เขาจะไม่ด่าเรา

ยกตัวอย่างหากครูหรือคนขับแท็กซี่ลุกขึ้นมาเรียกร้องว่าต้องได้วัคซีนก่อน ทุกคนคงไม่ว่า แต่ถ้าเราออกไปปุ๊บ ทุกคนด่าครับ หลาย ๆ คนที่ด่า ด่าด้วยความโกรธเกลียดจริง แต่บางคนที่ด่าเพราะเขาไม่เข้าใจว่าทำไมอาชีพเราถึงสำคัญ เขาไม่เข้าใจว่าเราก็คือคนเหมือนกัน เพราะเขาไม่เข้าใจว่านี่คือทางที่เราเลือกแล้ว และเราปรับตัวไม่ได้

นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะสร้าง awareness (ความเข้าใจ) ตรงนี้ให้สังคม เพื่อนำพาไปสู่วันที่ภาครัฐเขารู้ว่าเขาทำกับเราไม่ได้ อันนี้คือความหวังหนึ่ง

อีกความหวังหนึ่งสำหรับผมคือเรื่องวัคซีนมันเป็นเรื่องที่ความจริงแล้วประชาชนไม่ควรต้องออกมาด่า หรือออกมาเรียกร้องด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดในการทำให้ทุกอย่างกลับมาปกติได้เร็วที่สุด อันนี้ทุกคนเข้าใจ ไม่ต้องจบอะไรมาเลยทุกคนเข้าใจ แต่เราก็เห็นแล้วว่ามันล้มเหลวขนาดไหน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราหวังคือ ถ้าคุณทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย เช่นวัคซีนไม่ทั่วถึง เยียวยาเราไม่ได้ ให้เรากลับมาเปิดครับ ภายใต้เงื่อนไขว่าเราจะรักษา เราจะทำตามมาตรการเหมือนที่ร้านอาหารทำ เหมือนที่ทุกอาชีพทำ

ทุกอาชีพ หลาย ๆ อาชีพก็มีเงื่อนไขในการทำอาชีพของเขา ไม่ใช่ว่าทุกอาชีพจะทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เราก็เช่นกัน เราขอแค่ทำ อย่างผมเองทำเพราะต้องการเงิน ไม่ใช่ว่าหวังกำไรเหมือนเดิม ผมต้องการเงินมาจ่ายค่าเช่า เอาเงินมาจ่ายเด็กที่ร้าน มาจ้างนักดนตรี แค่นั้นผมก็สบายใจในระดับหนึ่ง เราอยู่รอดได้ด้วยกันก่อน อย่าเพิ่งมาหาว่าเราเอากำไร ขอเราได้ทำอาชีพแบบ 50 เปอร์เซ็นต์ก่อน แค่นั้นเลย โอเคในระดับหนึ่งแล้ว

ให้เรากลับมา ในเมื่อไม่สามารถปิดทุกอาชีพ ปิดทุกอย่างในประเทศได้ ก็อย่าปิดเรา การปิดเรามันก็คือคุณกำลังเลือกให้คนกลุ่มหนึ่งของประเทศเสียสละแบบไม่มีประโยชน์ใด ๆ เกิดขึ้นเลย

Q การกำหนด 120 วันของรัฐบาล มันเข้าทางเราไหม

เราต้องมองการกำหนด 120 วัน ของนายกว่าเรามองความจริงหรือเรามองเรื่องความหวัง ถ้าเรามองความจริง ตอบได้ว่าเกิดขึ้นได้ยาก คืออาจจะเปิดจริง แต่พัง ภายใน 120 วันกี่เปอร์เซ็นต์ของประชาชนไทยที่จะได้ฉีดวัคซีน และฉีดตัวไหน เป็นตัวที่ระงับการแพร่เชื้อด้วยไหม ตัวไหน ต้องจำแนกเป็นเปอร์เซ็นต์ เป็นสิ่งที่ทุกประเทศที่ได้เปิดประเทศเพราะเขาฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึงแล้วจริง ๆ เกิด herd immunity (ภูมิคุ้มกันหมู่) ได้ระดับหนึ่งแล้วจริง ๆ แต่ถ้าวันนั้นยังไม่มาถึง เปิดไปก็พัง

แต่ถ้าถามเรื่องความหวัง ความหวังคืออะไร เราก็มองกลับมาที่ตัวเองว่า อุตสาหกรรมเราถ้าวันนั้นเขาจะเปิด 120 วัน อย่างน้อย ๆ เขาก็จะให้เราเปิดก่อน อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง เปิดเราก่อน 2 เดือน ไม่งั้นเขาจะเปิดประเทศได้อย่างไร ถ้าไม่เปิดพวกเรา นี่คือความหวัง แต่หากมองในแง่ความจริงมันไม่มีอะไรที่เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นได้เลยว่ามันจะเป็นไปได้จริง มันก็เลยไม่อยากหวังกับมันมาก

Q การที่กลุ่มคนทำงานกลางคืนรวมตัวกันเป็น “สมาพันธ์ฯ” เห็นผู้คน เห็นพลังที่อย่างไรบ้าง

เห็นมากเลย ก่อนหน้านี้เราอยู่ในกะลา ทุกคนจะมีกะลาของตัวเอง อยู่ในกรอบของตัวเอง จากวันแรกที่ผมโพสต์ลงเพจหาแนวร่วมคนที่เดือดร้อนเหมือนกัน ความตั้งใจตอนแรกไม่ได้คิดอะไรเลย แค่อยากรวมคนที่เดือดร้อมมาไว้ที่เดียวกันก่อน ที่มาเยอะสุดคือนักดนตรีกลางคืน มาเร็ว มาเยอะสุด แต่มันก็มีหลาย ๆ อาชีพที่เข้ามารวมตัวกัน อย่างเดอะคอนเสิร์ต แอปพลิเคชันขายตั๋วคอนเสิร์ต และเป็นพาร์ทเนอร์ให้ร้านค้า ผับบาร์ไปลงทะเบียนก็เข้ามา โดยที่เราก็ไม่เคยสัมผัสเลยว่าเขาเดือดร้อนเหมือนเราเลย เพราะผับบาร์เปิดไม่ได้ คอนเสิร์ตจัดไม่ได้ รายได้เขาเท่ากับ 0 และพนักงานเขาก็ยังต้องจ้างอยู่ อันนี้ก็เป็นมิติใหม่ที่เห็นว่ามีคนกระทบเยอะมาก

ร้านข้าวต้มกลางคืนเขาเข้ามา เขาเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง จากที่ขายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ วันที่มีการสั่งห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ปิดผับบาร์ เขาขายได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นต้น มันมีมุมที่เราไม่เคยมองเห็น พอมีคนเหล่านี้เข้ามา มันก็ทำให้เห็นภาพรวมได้มากขึ้น มันก็เป็นที่มาว่าการเรียกร้องในกลุ่มเราพยายามทำให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มให้มากที่สุดจริง ๆ เท่าที่ทำได้ คนกลางคืนทั้งหมด เพราะว่าพวกเราคือฟันเฟืองที่มันเชื่อมกัน พาร์ทใดพาร์ทหนึ่งตายไป หรือไม่ได้เปิด มันก็พังกันหมด

ยกตัวอย่าง สถานบันเทิงที่เปิดได้ยากที่สุดหากโรคระบาดมันยังมีอยู่คือ “เลานจ์” เพราะจะมีพนักงานบริการมานั่งร่วมโต๊ะ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มาใช้บริการ เพราะฉะนั้นมันจึงยากที่ธุรกิจนี้จะกลับมาเปิดได้ แต่หากเขากลับมาเปิดไม่ได้มันก็จะกระทบคนอีกจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เจ้าของร้านจะเปิดไม่ได้ ไม่ว่าจะเจ้าของจะเป็นใคร แต่มันกระทบพนักงานที่มาให้บริการ ก่อนเข้างานเขาต้องกินข้าว แต่หน้า ทำผม แต่งตัว ร้านที่ให้บริการเหล่านี้เขาก็จะเปิดตอนกลางคืน ร้านส้มตำบางร้านก็เปิด 1 ทุ่ม ถึงตี 3 เพื่อให้ลูกค้าคือคนเหล่านี้มาใช้บริการ

มันเป็นภาพที่ภาครัฐเขาอาจจะลืม ผมคิดว่าเขารู้ แต่เขาคงอาจจะลืม หรือคิดว่ามันยอมเสียได้ เขาอาจจะมองว่าภาคุรกิจกลางวันมันสำคัญกว่า มันขับเคลื่อนมากกว่า แต่ผมจะบอกวันนี้ว่ามันไม่จริง เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเมินกันแล้วว่ามากกว่าแสนล้านแน่นอนที่ต้องสูญเสียไปจากการสั่งปิดธุรกิจฯ ร่วมทั้งการห้ามขายแอลกอฮอล์ และมันให้คนกว่าสิบล้านตกงาน หรือรายได้ขาดอย่างรุนแรงมานานกว่าปีครึ่ง แล้วพาร์ทกลางวันคนเหล่านี้จะเอาเงินที่ไหนไปใช้จ่าย เรามองแบบเบสิกมากที่สุด ทุกคนต้องประหยัด ทุกคนไม่มีเงิน ร้านอาหารก็ทยอยเจ๊งไปเหมือนกัน แม้ว่าจะเปิดได้

ผมมองว่าในวิกฤตินี้ทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน มันซับพอร์ทกันอยู่ แต่ภาพนี้คนกลับไม่ค่อยเห็น เพราะว่าคนกลางวันก็เป็นคนส่วนใหญ่ที่ออกมาต่อต้าน หรือเป็นคนที่ไม่เข้าใจ แต่คนกลางคืนเข้าใจสิ่งนี้ดี เพราะมันเป็นสิ่งที่ความจริงแล้วมันเข้าใจไม่ยาก ถ้ามันเกิดขึ้นกับตัวคุณเอง หรือถ้าพยายามจะทำความเข้าใจมัน

Q รวมกลุ่มแล้วทำอะไรต่อไปได้บ้าง

การรวมตัว ถ้ามันได้คนไม่มากพอ มันก็ไม่สำเร็จ ตอนแรก ๆ ก็ถอดใจเพราะมีคนมาไม่เยอะ แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามีคนมาร่วมกับเราระดับหนึ่ง จำนวนอาจไม่เยอะ แต่เป็นคนที่เรารู้สึกว่าเขาสามารถมาช่วยเราขับเคลื่อนได้ มาร่วมขบวนการกับเรา เข้ามาทีละคน ทีละองค์กร ยกตัวอย่างเราอยู่มาประมาณสัก 3 เดือน แล้ววันหนึ่งวงค็อกเทลก็แชร์แคมเปญของเรา ซึ่งมันเริ่มจากวงศิลปินอิสระ เช่น safeplanet, H3F ที่ช่วยแชร์แคมเปญและเกิดผลกระทบในวงกว้าง เกิดการรับรู้ในสังคม แฟนเพลงช่วยกันแชร์ ๆ จนไปกระทบกับศิลปินข้างบน ซึ่งก็ร่วมแชร์ด้วย

เกิดเป็นขบวนการนี้ขึ้นมา เมื่อมันแตะคนวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ มันก็มีคนที่สามารถเอาตรงนี้ไปทำต่อได้กว้างขึ้นอีก อย่างวงค็อกเทลเขาก็พยายามรวมคนที่เกี่ยวข้องรวมถึงพวกเราด้วยมาหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อดี ในวิธีของกลุ่มเขา ซึ่งถ้าเราเห็นด้วยเราก็ทำ ไม่ว่ากลุ่มไหนทำถ้าเราเห็นด้วยก็ยินดีเป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น มันเหมือนเป็นโซ่ เป็น chain validation เป็น domino effect ที่ส่งถึงคนในวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จากเมื่อก่อนเราตะโกนออกไปจนคอแห้งก็ไม่มีใครได้ยิน

ที่ผ่านมาเครือข่ายมันมี แต่ว่ามันไม่มีศูนย์รวมตรงกลาง ไม่มีการกรอบแบบฟอร์ม ไม่มีการรวมเป็นชมรมจริงจัง แต่อันนี้เป็นสิ่งที่พยายามทำกันอยู่ เราพยายามที่จะทำให้มันเป็นทางการ และเราเก็บดาต้า ในเมื่อดาต้าคือสิ่งที่รัฐต้องการ อันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยมีให้เขาเห็นว่าเราคือใคร เราก็จะบอกว่ามันไม่ได้ลอย ๆ มา เรามีตัวเลขอยู่จริง เรามีคนร่วมขบวนการจริง คนที่มีอยู่เดิมแต่มาจัดทำเป็นดาต้า มีชื่อคนจริง ๆ มีชื่อร้านจริง ๆ มีตัวตนจริง ๆ

สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงมันเป็นภาพกว้างมาก มันเป็นการรวมตัวของกลุ่มไหนก็ได้ อย่างที่ผมบอกว่าความจริงมันเป็นสมาพันธ์ที่เปิดรับ ใครจะมาร่วมกับเรา ถึงแม้จะร่วมแค่การเคลื่อนไหวอันไหนก็ได้ เราเปิดรับ โดยยืนพื้นว่าเราเรียกร้องระยะสั้นเร่งด่วนวันนี้กับวิกฤติโควิด ระยะกลางและระยะยาวเราก็จะขับเคลื่อน เพื่อแก้ไขปัญหา และตอบโจทย์สิ่งที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับอาชีพของเรา

Q คาดหวังที่อยากฝากทิ้งท้าย

ความคาดหวังของเรา และสิ่งที่เราอยากให้ทุกคนทำคือช่วยกันส่งเสียงให้เรา สื่อเองก็สำคัญมาก ๆ เป็นกระบอกเสียงชั้นดี ที่จะนำพาความเข้าใจไปสู่สังคม สื่อทุกสื่อไม่ควรทำแค่สิ่งที่รัฐบอกให้ทำอย่างเดียว หากรัฐบอกว่าเหล้าเป็นตัวการ สื่อก็ต้อง สามารถต่อสายหาคนที่ทำอาชีพเหล่านี้ว่าจริงไหม มีความเห็นไหม ออก 2 ด้านให้เท่ากัน ทุกอย่างต้องมองภาพรวมให้ครบ แล้วให้สังคมตัดสิน

ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะอ้างเรื่องเหล้าแอลกอฮอล์ สถานที่ปิด การสัมผัส หรืออะไรก็ตาม มันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ธุรกิจกลางวันก็เกิดครัสเตอร์ทุกวัน เหมือนกัน ไม่ต้องมีเหล้าเบียร์ ไม่ต้องเป็นสถานที่ปิดก็เกิดทุกวัน แต่คำถามสำคัญคือ ทำไมคุณถึงไม่ปิดเขาแบบเหมารวมได้ เขาสำคัญกว่าเราอย่างไร เขามีค่ามากกว่าเราอย่างไร นี่คือคำถามที่ผมถามภาครัฐมาตลอด ทำไมคุณปิดเป็นครัสเตอร์ ปิดเป็นร้าน ปิดเป็นสถานที่ไซต์ก่อสร้าง ปิดเป็นรายตลาด ๆ ไปได้ ร้านอาหารในห้างปิดเฉพาะโซนด้วยซ้ำ

ทำไมทำได้ เขาสำคัญกว่าเราใช่ไหม อยากให้รัฐตอบ แล้วเราจะหาวิธีส่งให้สังคมเข้าใจเรา คือมันต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะพูดอย่างไรแต่การระทำมันตรงข้าม เพราะฉะนั้นนี่คือวิธีของเรา

เราพยายามสร้างความเข้าใจมากกว่า เพราะความคาดหวังที่จะให้รัฐฟังเรา มันไม่พอ เพราะเราคือสมาพันธ์ ฯ เดียว คือคนกลุ่มเดียว แม้เราเดือดร้อนมาก็จริง แต่ความสำคัญในภาพรวมเขายังไม่ให้ แล้วเขาจะให้เราแค่สมาพันธ์เดียวหรือ ก็อาจจะไม่ แต่ถ้าสังคมนำพามาคุณต้องมองคนกลุ่มนี้แล้วนะ ฉันไม่โอเคที่คุณจะเลือกปฏิบัติอย่างนี้แล้ว… นั่นแหละจะถึงวันที่เราได้เปิดอย่างแฟร์ ๆ

00000

ไทยพีบีเอสสู้โควิด-19 : การปรับตัวของคนดนตรี อนาคต (ใหม่) หลังโควิด (24 มิ.ย. 64)

00000

ปล.1 The Rock Pub เคียงข้างชาวร็อคมานับตั้งแต่วันที่ดนตรีร็อกเข้ามาในประเทศไทย จนเรียกได้ว่า “พื้นที่ทางประวัติศาสตร์เพลงร็อกไทย” ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่เป็น The Rock Café ตั้งแต่วันแรกที่ถูกสั่งปิด ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อความอยู่รอดในยุควิกฤตการณ์โควิด-19 โดยเปิดให้บริการทุกวัน​​ไม่มีวันหยุด​ ตั้งแต่เวลา​ 11.30 -​20.00​ น.

ปล.2 ข้อเสนอเพื่อผ่อนปรน-เยียวยา ทั้ง 8 ข้อ มีดังนี้

  1. ยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม โดยให้ปิดเฉพาะสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเป็นระยะเวลา 14 วัน และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้กักตัว
  2. ข้อให้มีคำสั่งปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการ และสามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค.เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค
  3. ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้ เนื่องจากไม่พบข้อมูลบ่งชี้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยในการก่อโรค
  4. ผ่อนปรนให้มีการจัดมหรสพโดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการคำสั่งของ ศบค.เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค
  5. พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้ผู้ประกอบการ ผู้บริการ และ/หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานประกอบการธุรกิจกลางคืน และธุรกิจบันเทิงโดยเร็ว
  6. พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และ/หรือ การกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจและรักษาการจ้างงานพนักงานจากการปิดธุรกิจชั่วคราว รวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่ได้รับโอกาสให้เขาถึงแหล่งการเงินเหล่านี้ พร้อมลดหย่อนภาษี
  7. เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และ/หรือ ประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟัง เสนอแนะ พูดคุย ในกระบวนการออกมาตราการและนโยบายต่าง ๆ
  8. เปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการจากประชาชนที่เดือดร้อน

ปล.3 ชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย เปิดให้กลุ่มนักดนตรี ศิลปิน และเหล่าบุคลากรที่ทำงานเบื้องหลังในแวดวงอาชีพดนตรี ได้มาร่วมลงชื่อเข้าชมรม ให้ครบอย่างต่ำ 10,000 รายชื่อภายในเวลา เที่ยงคืน ของวันที่ 30 มิ.ย. นี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีตัวตนอยู่จริง ที่ลิงค์ https://thaimusiciansandcrew.web.app/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ