“กิจกรรมที่ถือเป็นหัวใจหลักของเครือข่ายฯ ทสม.แม่จัน คือ การเพาะชำกล้าไม้ มีการร่วมกันทำเรือนเพาะชำกล้าไม้มาได้ 3 ปี เพราะที่จังหวัดเชียงราย จะมีการปลูกต้นไม้ทุกปี ที่สำคัญคือ สามารถสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งกล้าไม้ที่เพาะชำขึ้นมานั้น “แจกฟรี” สำหรับหน่วยงานท้องถิ่น เครือข่าย และผู้ที่สนใจ ทั้งในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดอื่น ๆ”
“กัดไม่ปล่อย ถอยไม่เป็น เล่นไม่เลิก” คือคติประจำใจ ที่ แชมป์-วรินทร์ เรืองศรี อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) อ.แม่จัน จ.เชียงราย ใช้ยึดถือในการทำงาน
ก่อนที่ แชมป์ จะกลับมาอยู่บ้านเกิด เคยใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรมาก่อน หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย สมัยเรียนมัธยมได้สมัครเข้าค่าย “สืบ นาคะเสถียร” ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นแรงบันดาลใจ ให้เขาเบนเข็มชีวิตกลับมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
หลังกลับมาจากค่ายสืบ นาคะเสถียร แชมป์ร่วมกับเพื่อนจัดตั้งกลุ่ม “ละอองฝุ่น” ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตลอดมา แม้กระทั่งชีวิตในมหาวิทยาลัย ก็ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เมื่อกลับบ้านเกิด แชมป์ได้ทำงานร่วมกับ ปตท.ในเรื่องสิ่งแวดล้อม และสมัครเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) อ.แม่จัน เพื่อจะได้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มตัว
เขาร่วมทำงานกับหลายเครือข่าย อาทิ เครือข่ายสภาลมหายใจเชียงราย เครือข่ายปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ เครือข่ายปตท. เครือข่ายพื้นที่แหล่งชุ่มน้ำ เครือข่ายแม่น้ำโขง 8 จังหวัดประเทศไทย เครือข่าย Hotspot เชียงราย และเป็นเหยี่ยวข่าว ทสม. คอยรายงานข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เมื่อวันสิ่งแวดล้อม ปี 2563 แชมป์ได้รับรางวัลเหยี่ยวข่าว ทสม. ให้ภูมิใจ
กิจกรรมที่ถือเป็นหัวใจหลักของเครือข่ายฯ ทสม.แม่จัน คือ การเพาะชำกล้าไม้ มีการร่วมกันทำเรือนเพาะชำกล้าไม้มาได้ 3 ปี เพราะที่จังหวัดเชียงรายจะมีการปลูกต้นไม้ทุกปี ที่สำคัญคือสามารถสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งกล้าไม้ที่เพาะชำขึ้นมานั้น “แจกฟรี” สำหรับหน่วยงานท้องถิ่น เครือข่าย และผู้ที่สนใจ ทั้งในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดอื่น ๆ
ต้นไม้ที่เพาะมีหลายหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะได้เมล็ดพันธุ์อะไรมา เช่น ไผ่กินซุง งิ้ว กระบกฯลฯ แชมป์ เล่าว่า การแจกกล้าไม้ การปลูกต้นไม้ ตอบโจทย์ทุกอย่าง เราไม่ต้องมีเครื่องฟอกอากาศ ถ้าต้นไม้เยอะ อากาศจะเย็นลง 3-5 องศาเซลเซียส อากาศจะดีขึ้น ฤดูหนาวอากาศจะคงที่ ฤดูร้อนอากาศจะเย็น และที่สำคัญ ต้นไม้ช่วยฟอกอากาศ ลดหมอกควัน
“อย่างกล้าไม้ที่เราเพาะ เราจะใส่เชื้อเห็ดลงไป ถ้ารากมีเห็ด คนจะดูแลรักษาป่า ไม่เผาป่า เพราะเราจะให้ข้อมูลด้วยว่า เห็ดเกิดจากเชื้อรา ถ้าหากโดนไฟ เชื้อราจะตาย ดังนั้น เค้าเอากล้าไม้เราไปปลูกที่หัวไร่ปลายนา เค้าจะดูแลอย่างดี”
วิธีการทำงานเพาะชำกล้าไม้ จะเริ่มตั้งแต่การซื้อวัสดุเพาะชำ ได้แก่ ดิน แกลบ ขี้เถ้า ถุงดำ ถุงเพาะ การเตรียมค่าจ้างแรงงาน ค่าอาหารจิตอาสา ประมาณเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ก็จะเริ่มแจกจ่าย โดยใช้วิธีประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ใน Facebook และมีคนแชร์ต่อ ๆ กัน จะมีโรงเรียน มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่เทศบาลต่าง ๆ ติดต่อเข้ามาว่า ต้องการจำนวนกี่ต้น เราก็จะเตรียมไว้ให้ แล้วให้เขามาขนเอง ใครติดต่อมาก่อนก็จะได้ก่อน หากกล้าหมดก็หมดเลย หรือใครอยากช่วยซื้อก็ยินดีขายให้เพื่อจะได้นำมาต่อทุนต่อไป
ในปี 2562 – 2563 แจกกล้าไม้ไปกว่า 2,000 ต้น ทั่วประเทศ ปีนี้ (2564) เพาะไว้อีก 7,000 ต้น สำหรับแจกจ่ายให้เครือข่ายทั่วประเทศนำไปปลูก ปัญหาหนึ่งที่แชมป์บอกก็คือ งานเพาะชำกล้าไม้ ทางเครือข่ายฯ ยังขาดทุน ขาดวัสดุอุปกรณ์ ขาดงบประมาณสนับสนุน หากมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนก็ยินดี
นอกจากเพาะกล้าไม้ไว้แจกเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มอากาศสะอาดแล้ว ทางเครือข่าย ทสม.แม่จัน ยังได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ทุก ๆ ปี เช่น โครงการปลูกกระบกป่า เพื่อจ่าแซม โครงการปลูกป่าเพื่อเป็นพุทธบูชา โครงการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีการแลกแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กับเครือข่ายอื่น เช่น เครือข่ายทางอีสานให้เมล็ดลูกกระบกมาเพาะ แล้วก็แจกจ่ายเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ เช่น อำเภอเชียงแสน การทำกิจกรรมทุกๆ ครั้งจะมีน้อง ๆ เยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย
OOO
จากประสบการณ์การทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมฯ เรื่อยมา ทำให้แชมป์ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรกระบวนการ วิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ การปลูกต้นไม้ ฯลฯ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน โรงเรียนและมหาวิทยาลัย หรือพื้นที่เครือข่ายสิ่งแวดล้อมในต่างจังหวัด เช่น ต.ตากตก อ.บ้านตาก จ.ตาก ซึ่งมีปัญหาเรื่องขวดเกลื่อนพื้นที่ เราก็เข้าไปจัดตั้งกลุ่มจัดการเรื่องขวด ทั้งนำไปขาย นำไปสร้างบ้าน เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังเป็นพี่เลี้ยงงานด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเครือข่ายในพื้นที่อีกด้วย เช่น ไปจัดอบรมที่ศูนย์เด็กเยาวชนอำเภอแม่สรวย จ.เชียงราย เพื่อฝึกเด็กเป็นพี่เลี้ยง แชมป์บอกว่า “เราอบรมไม่แค่เด็กที่ศูนย์ เราจะได้ทั้งเด็กที่ศูนย์เด็ก และเยาวชนในพื้นที่อีกด้วยเพื่อเป็นแกนนำสานต่องานด้านสิ่งแวดล้อม”
การเชื่อมประสานการทำงานในพื้นที่ จะใช้กลุ่ม LINE ชื่อว่า Hotspot ในการสื่อสารหลัก เป็นกลุ่มใหญ่ระดับจังหวัด มีข่าวสาร ปัญหาต่าง ๆ เรื่องสิ่งแวดล้อม จะใช้ช่องทางนี้ กรณีเผาในที่โล่งแจ้ง ในพื้นที่ อ.แม่จัน ปีนี้ไม่มีการเผา หากมีจะจับปรับตามที่จังหวัดแจ้งมา แต่จะเกิดปัญหาไฟป่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา จะมีการหนุนช่วยกันในพื้นที่ เช่น การส่งเสบียงอาหาร เข้าไปให้เจ้าหน้าที่/อาสาที่ดับไฟ มีการประชุมพูดคุย แลกเปลี่ยนสถานการณ์กันเป็นประจำในจังหวัดเชียงราย
ในส่วนการเชื่อมประสานการทำงานของเครือข่าย ทสม. หากมีการจัดการจะเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง ทางเครือข่ายฯ ก็จะนำกล้าไม้ อุปกรณ์การปลูก ไปร่วมสมทบ ให้คนในงานได้ปลูกป่าร่วมกัน หรือนำกล้าไม้กลับไปปลูกในบ้าน ในสวนของตน เป็นการขยายแนวคิดการปลูกป่าได้อีกทางหนึ่ง
นับได้ว่า เครือข่าย ทสม. อ.แม่จัน ได้ใช้งานเพาะชำกล้าไม้เป็นตัวเชื่อม ประสานงานด้านสิ่งแวดล้อม กับภาคีเครือข่ายกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับภาค เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน ในการร่วมกันสร้างอากาศสะอาด เพื่อลมหายใจของทุกคน