เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2564 ภาคีเครือข่ายประชาชนและประชาสังคมภาคตะวันออก ออกแถลงการณ์ประณามการสลายการชุมนุมของประชาชนที่หมู่บ้านทะลุฟ้า ในช่วงเช้าและช่วงเย็น
โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ฉบับนี้ระบุว่า การทำกิจกรรมของหมู่บ้านทะลุฟ้าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ถูกรับรองไว้ตามมาตราต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และยังถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญานี้อย่างเคร่งครัด เพราะการเข้าเป็นภาคีของกติกาฯตามสนธิสัญญา ก่อให้เกิดพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา มิฉะนั้นประเทศไทยจะต้องรับผิดต่อการละเมิดฯในกระบวนการระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังเป็นที่ทราบกันในสาธารณะว่า ภายในหมู่บ้านทะลุฟ้ายังมีมาตรการตรวจคัดกรองโรค โดยเฉพาะเชื้อไวรัสโควิด-19 บริเวณทางเข้าออก ตามมาตรฐานสาธารณสุขไทย ดังเช่นที่หน่วยงานรัฐกำหนด เป็นการปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ไม่ได้มีการละเมิด หลบเลี่ยง หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศต่าง ๆ ที่มีออกมาบังคับใช้ตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 แต่อย่างใด
แต่จากเหตุการณ์เมื่อรุ่งสางของวันนี้ (28 มีนาคม พ.ศ.2564) ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) กระทำการอุกอาจเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ณ หมู่บ้านทะลุฟ้า เจ้าหน้าที่ฯได้ลุแก่อำนาจ ทำการจับกุมประชาชนจำนวน 67 คน ในนั้นมีพระสงฆ์ จำนวน 2 รูป และเยาวชน จำนวน 6 คน ในช่วงเช้า และประชาชนที่มาชุมนุม ณ บริเวณหมู่บ้านฯ ในช่วงเย็น เพิ่มอีก 32 คน รวมเป็น 99 คน โดยเจ้าหน้าที่ฯได้นำผู้ต้องหาทั้งหมดไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี และบางส่วนไปไว้ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บก.ปส.) สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต
โดยเฉพาะการควบคุมประชาชนไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ดังกล่าว ปรากฏภาพในสื่อโซเชียลมีเดียว่า มีการใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องหาบางรายด้วย ซึ่งมีกลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ตามไปยังสถานที่ควบคุมตัว ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ถูกจับกุมเกินกว่าเหตุ โดยกลุ่มทนายความฯได้เข้าร่วมฟังการสอบสวน และพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาความตามพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ และพระราชบัญญัติการจราจรฯ ซึ่งเป็นข้อหาที่ใช้โดยขาดซึ่งความชอบธรรมในสายตาสาธารณชนที่ติดตามการจัดการชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้ามาตั้งแต่วันแรก
นอกจากนี้ กลุ่มทนายความฯ ยังพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ขอตรวจดีเอ็นเอของผู้ต้องหาทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเยาวชน และใช้กำลังบังคับให้พระสงฆ์ที่เข้าร่วมการชุมนุม ณ หมู่บ้านทะลุฟ้า ต้องสึกสิกขาโดยไม่เต็มใจ
การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอให้มีการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของผู้ต้องหา ในคดีเกี่ยวสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แสดงออกในทางการเมือง แม้จะอ้างว่า เป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 พิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหา หากแต่ความผิดเกี่ยวการแสดงออกทางการเมือง ไม่มีเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องร้องขอตรวจดีเอ็นเอแต่อย่างใด และประชาชนทีไม่ได้ทราบสิทธิของตนเองในเรื่องนี้อาจจะให้ความยินยอมไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากพวกเขาตกใจกลัวจากการจับกุมที่อุกอาจ และไม่รู้ถึงเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งการตรวจสารพันธุกรรมโดยไม่มีเหตุนี้ ถือเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อหลักความจำเป็นและเกินกว่าเหตุ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีนี้ ย่อมส่งผลเสียต่อตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำการในภายหลังได้ เจ้าหน้าที่ฯ ต้องพึงระวังในการปฏิบัติหน้าที่ หาใช่เพียงแต่กระทำการตามขั้นตอนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยไม่พิจารณาเหตุและพฤติการณ์แห่งคดี รวมถึงข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันอาจจะเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จนเกินกว่าเหตุได้
อีกกรณีหนึ่งที่ถือว่าเป็นกรณีที่รุนแรง และขัดต่อสายตาและศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย คือ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้ใช้กำลังบังคับ ดึงจีวรเพื่อให้พระสงฆ์ที่เข้าร่วมการชุมนุม ณ หมู่บ้านทะลุฟ้าลาสิกขา (สึกจากความเป็นพระ) โดยไม่เต็มใจ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจฯอ้างว่า พระสึกด้วยความสมัครใจนั้น เป็นการกระทำที่มิชอบ และเป็นการกล่าวอ้างที่ไร้เหตุผล เพื่อให้การปฏิบัติการที่เลวร้ายของตนเองได้รับการรับรองตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาและเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรมและศาสนบัญญัติ ซึ่งกำหนดว่า ตามพระธรรมวินัย การสึก มีแค่ ปาราชิก 4 และหากเป็นการผิดในกรณีอื่น ๆ ตำรวจฯทำได้เพียงผลักดัน เพื่อให้ท่านกลับวัดต้นสังกัดเท่านั้น
รัฐบาลไทย มีหน้าที่สำคัญยิ่ง คือ การปกป้องประชาชนจากอันตราย ต้องคุ้มครองให้ประชาชนมีความปลอดภัย และต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม แต่การสลายการชุมนุมภาคประชาชน ที่พวกเขาออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญฯ ที่คุ้มครองพวกเขา การสลายการชุมนุมโดยใช้กำลัง ใช้อาวุธ ใช้เครื่องพันธนาการ ตลอดจนการแจ้งข้อกล่าวหาที่เกินเลยจากความเป็นจริง และไม่เป็นธรรม เป็นการแสดงถึงความเป็นรัฐที่ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยในประเทศไทยอย่างร้ายแรง การอ้างความจำเป็นในการเข้าสลายการชุมนุมและอ้างกฎหมายในขั้นตอนการชุมนุม จึงเป็นการสร้างข้ออ้างที่บิดเบือนต่อข้อเท็จจริง และเป็นการให้ร้ายต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม
การสลายการชุมนุมและการจับกุมประชาชนดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างร้ายแรง โดยเครือข่ายประชาชนและประชาสังคมภาคตะวันออก ซึ่งมีรายนามตามด้านล่างนี้ ขอประณามทุกความรุนแรงที่รัฐไทยกระทำต่อกาย วาจา ใจ และสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเจตจำนงของกฎหมาย และพร้อมที่จะปฏิเสธคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาที่สั่งการใดๆต่อท่าน ที่เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนเพียงเพื่อการปกป้องความมั่นคงของรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว จงทำตัวดังคำปฏิญาณที่พวกท่านให้ไว้ว่า “ข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน”
ภาคีเครือข่ายประชาชนและประชาสังคมภาคตะวันออก
วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2564
- สมาคมสภาองค์กรชุมชนจังหวัดชลบุรี
- สมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี
- เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก
- สมาคมสื่อสร้างสรรค์ เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภาคตะวันออก
- กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch)
- กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai)
- กลุ่มโยธะการักษ์ถิ่น
- เครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ ภาคตะวันออก
- เครือข่ายรักษ์พระแม่ธรณี
- เครือข่ายสภาพลเมืองจังหวัดชลบุรี
- เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดชลบุรี
- กลุ่มยกระดับสินค้าชุมชน ภาคตะวันออก
- ศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตร
- สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน
- เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
- รวมมิตรบางปะกง
- เครือข่ายลุ่มน้ำปราจีนบุรี
- เครือข่ายเยาวชนปราจีนรักษ์บ้านเกิด
- เครือข่ายประชาชนเขียนอนาคตประเทศไทย
- กลุ่มกรองข่าวแกง
- กลุ่มโกงกาง
- กลุ่มรักษ์เขาชะเมา
- คณะประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน (คปอ.) ภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตะวันออก 13 จังหวัด
- We Watch ภาคตะวันออก