คุยกับ ดร.อ้อย สรณรัชฎ์ กาญจนะวาณิชย์ | ปั่นเพื่อเปลี่ยน เปลี่ยนเพื่อปั่น

คุยกับ ดร.อ้อย สรณรัชฎ์ กาญจนะวาณิชย์ | ปั่นเพื่อเปลี่ยน เปลี่ยนเพื่อปั่น

“จักรยาน”  พาหนะที่เข้ามามีบทบาทกับคนเมืองมากขึ้น  บางคนเลือกใช้เพื่อเดินทางแต่ก็พบว่ามีอุปสรรค ทั้งในเรื่องของกฎหมาย ความปลอดภัย เส้นทางจักรยาน  ผังเมืองและระบบขนส่งมวลชนที่ไม่รองรับ   ภาพอนาคตของการปั่นจักรยานในเมือง จะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน  สามารถเป็นพาหนะทางเลือกของคนเมืองได้จริงหรือไม่ รายการพลเมืองข่าวมีสัมภาษณ์พิเศษกับ ดร.สรณรัชฎ์  กาญจนะวาณิชย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและประธานมูลนิธิโลกสีเขียว มาให้ติดตามกันค่ะ

20142708024650.jpg

พิธีกร :: ตอนนี้เราอยู่กับ ดร.สรณรัชฎ์  กาญจนะวาณิชย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและประธานมูลนิธิโลกสีเขียว  วันนี้พลเมืองข่าวมาคุยกับพี่อ้อยในฐานะที่เป็นตัวอย่างคนใช้จักรยานที่อยู่ในเมือง  พี่อ้อยปั่นจักรยานมา อยากให้เล่าลักษณะการใช้จักรยานในปัจจุบันหน่อยค่ะ ว่าใช้ไปไหนอย่างไรบ้าง ?

พี่อ้อย :: พี่ใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักคือจริงๆ ใช้พาหนะหลายชนิด หลายประเภทในเมือง แต่หลักๆ ก็คือจักรยาน แต่ว่าพี่จะใช้เพื่อความสะดวกก็จะใช้จักรยานพับ เพราะฉะนั้นเนี่ยเราก็จะใช้แบบผสมผสานกับขนส่งมวลชน โครงเครือข่ายขนส่งมวลชนเราเนี่ย ก็มันอาจจะยังไม่ค่อยทั่วถึงใช่มั้ยคะ แต่จักรยานพับมันก็สามารถขึ้นไปได้ ตามจุดต่างๆ เราก็ขี่จักรยานต่อ ขึ้นแท็กซี่ก็ได้ถ้าจำเป็น

พิธีกร :: แล้วปัญหาที่เจอมีอะไรบ้างคะ ?

พี่อ้อย :: ก็เป็นปัญหาทั่วไปๆ เหมือนกับที่ทุกคนก็ทราบนะคะ  คือทางกายภาพของถนนในเมืองกรุงมันยังไม่ได้ดีไซน์ไว้ให้เหมาะสมกับจักรยาน  อาจจะต้องเหมาะกับรถโฟร์วีล เพราะถนนก็จะขรุขระโดยเฉพาะทางเลนซ้ายสุดนะคะ มันก็จะอันตราย ทั้งฝาท่อ ทั้งอะไรต่างๆ พฤติกรรมการใช้รถยนต์พี่พบก็ดีขึ้นนะคะ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คนเริ่มมองเห็นจักรยาน เริ่มชิน แต่เราก็ต้องระวังในเรื่องรถเฉี่ยว รถออกมาตัดหน้าอะไรเหล่านี้นะคะ  ที่พี่จะรำคาญมากที่สุดก็จะเป็นไอเสีย เพราะฉะนั้นหลักๆ ก็จะเลี่ยงถนนใหญ่ พยายามไปหาตรอกซอกซอย จะเลี่ยงไอเสีย  แล้วก็ร้อนก็มีบ้างเพราะว่าถนนเราไม่มีต้นไม้ แต่ว่า ถ้าเข้าไปในถนนวิทยุหรือสุขุมวิทซอย 26 ที่มีต้นไม้ปกคลุม  ก็สบายมากไม่มีปัญหาเลย

พิธีกร :: พูดถึงเส้นทางจักรยาน อย่างพี่อ้อยบอกว่าชอบไปปั่นในตรอกซอกซอย เราพูดถึงทางที่ไป ไม่ว่าจะถนนในตรอกซอกซอย จริงๆ มันเอื้อต่อการปั่นขนาดนั้นมั้ยคะพี่อ้อย

พี่อ้อย :: ซอยหลายอันมันถูกใช้เป็นทางลัดให้รถยนต์ ซึ่งบางครั้งจะปั่นยากกว่าบนถนนใหญ่อีก เพราะว่าที่แคบมากแล้วไม่มีช่องให้จักรยานนะคะ ก็ยอมรับว่า แน่นอน กรุงเทพฯ มันไม่ได้ออกแบบไว้เพื่อจะรองรับจักรยาน  จริงๆ แล้วในทุกอย่าง ในระบบสัญจรทั้งหมดในกรุงเทพฯ ก็ให้ความสำคัญสูงสุดแก่รถยนต์ แม้กระทั่งเรื่องรถไฟฟ้าก็ตาม ถึงแม้ว่ามันจะสะดวกสบาย แต่การที่มันถูกเอาไปไว้ข้างบน ลอยฟ้าอยู่ข้างบนหรือลงไปมุดอยู่ใต้ดิน  ก็เพื่อจะหลีกเลี่ยงการใช้พื้นผิวระดับราบถนนซึ่งเป็นพื้นผิวระดับที่มันสะดวกสบายที่สุด  แล้วก็ยังได้แสงแดด ได้มองเห็นวิว ไม่ต้องไปมุดอยู่ในท่อเป็นรูๆ เหมือนหนูเนอะ หรือต้องไต่กระไดขึ้นไปสูง  เรากลับให้พื้นผิวในระนาบนั้น ให้กับรถยนต์ซึ่งจริงๆ มีกำลัง มีคันเร่งมีอะไรนะคะ แต่ว่ารถยนต์ก็เอาไปครอบครองหมด

พิธีกร :: ถ้าพูดถึงการใช้จักรยานของผู้คนในเมืองปัจจุบัน ก็ใช้หลายแบบ บางคนอย่างปาล์มเนี่ยค่ะ ปั่นไปเที่ยว ปั่นออกกำลังกายบ้าง  แต่ว่าก็มีบางคนที่ใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักเหมือนกัน  ทีนี้ถ้าเราย้อนกลับไปสัก 30-40 ปีที่แล้ว ที่ชุมชนมันร้อยเรียงอยู่เป็นเมืองเล็กๆ มันก็เหมาะต่อการใช้จักรยาน แต่ปัจจุบันที่เมืองมันขยายใหญ่ขนาดนี้ ก็ต้องการให้จักรยานเป็นพาหนะหลักหรือคู่ขนานในการเดินทาง มันต้องรื้อโครงสร้างเมืองขนาดนั้นไหม

พี่อ้อย :: คือผังเมืองจะต้องออกแบบมาเพื่อจะช่วยที่จะรองรับวิถีชีวิตในการปรับเมืองให้เป็นเมืองจักรยาน แล้วก็กำหนดใช้จริงๆ  คือตอนนี้เหมือนว่าตัวกำหนดศูนย์ต่างๆ ในเมือง เป็นเอกชนที่ไปสร้างห้างสรรพสินค้า  แต่ว่าอันนี้ตัวผังเมืองรวม จะต้องเป็นตัวที่ช่วยออกแบบค่ะ  ทำให้เราสามารถที่จะมีศูนย์ที่กระจายไปหลายๆ ศูนย์นะคะ สมมติถ้าเทียบดูอย่างปารีส ณ จุดๆ หนึ่ง คุณสามารถที่จะไปหาเภสัชกร หายา คือหาทุกอย่างที่เป็นปัจจัยที่คนเมืองต้องการในการดำเนินชีวิตได้ในท้องที่ที่เดียว แต่แน่นอนถ้าคุณอยากไปอีกเมือง คุณก็ต้องเดินทางไปอีกศูนย์หนึ่ง แต่ว่าชีวิตปะจำวัน โรงเรียน อะไรต่างๆ ที่คุณต้องการจะหาได้ในท้องที่ที่หนึ่ง  กรุงเทพฯ ก็ควรพยายามที่จะทำให้มีของที่คนต้องการอยู่ในที่ที่ใกล้ๆ บริเวณท้องถิ่น แต่แน่นอนว่าเราก็พัฒนามาแบบมั่วๆ อย่างนี้จนกลายเป็นเมืองเพื่อรถยนต์ เราใช้ตัวทางด่วนรถยนต์เป็นตัวร้อยเรียงเป็นตัวโยงใย คนบางคนบ้านก็อยู่ไกล๊ไกลตั้งรังสิตขึ้นทางด่วนเข้ามา  

คือพี่มองว่าก็ต้องเอาหลายตัวมาช่วยกันนะคะ คือ หนึ่งผังเมืองช่วยพยายามให้เมืองกระจายไปแบบนี้หรือมากไปกว่านี้  แต่ขณะเดียวกันถ้าเผื่อเราเพิ่มระบบขนส่งมวลชน เพิ่ม BRT  จะทำได้ถูกกว่ารถไฟฟ้า ก็คือกำหนดให้รถเมล์ มาเป็นรถเมล์ที่มีคุณภาพสามารถเอาจักรยานขึ้นได้  เราก็สามารถที่จะใช้จักรยานร่วมกับระบบขนส่งมวลชน คือทำให้เครือข่ายขนส่งมวลชน พี่พูดถึงเรือด้วยนะ จะเป็นตัวที่มันโยงเป็นโครงข่ายใหญ่ๆ แต่เรามีจักรยานอาจจะเอาติดตัวขึ้นไป อาจจะเป็นระบบ Bike Sharing ระบบ ปัน ปั่น ที่อยู่ตามศูนย์สถานีต่างๆ พวกนี้จะเป็นโครงข่ายละเอียดที่จะสานพื้นที่ในท้องถิ่น คุณก็สามารถใช้ขนส่งมวลชนไปจากจุด A ไป B และในบริเวณจุดที่ไปลงก็ใช้จักรยานได้หรือเดินได้

พิธีกร :: ที่พี่อ้อยพูดนอกจากเรื่องของผังเมืองแล้ว เรื่องของการเชื่อมร้อยจักรยานเข้ากับขนส่งมวลชนด้านอื่นๆ ที่มีอยู่มันก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน

พี่อ้อย :: ใช่ๆ เพราะพี่คิดว่ามันมีศักยภาพที่ไม่เหมือนกัน เราก็น่าจะอุดหนุนพาหนะระบบสัญจรที่เป็นมิตรต่อชีวิต เป็นมิตรต่อการสร้างเมือง เมืองที่เป็นเมืองน่าอยู่นะคะ เรียกว่าเป็นเมืองเพื่อชีวิตไม่ใช่เมืองเพื่อรถยนต์ต้องเอามาช่วยกันตามศักยภาพของมัน รถไฟก็เหมาะกับอย่างนี้ คือรถไฟ รถเมล์ ขนส่งมวลชนเหล่านี้มันสามารถเดินทางได้ไกลกว่า ก็ใช้พื้นที่ที่ขนาดใหญ่กว่า เป็นโครงข่ายใหญ่กว่า แล้วก็ จักรยานหรือเป็นแบบรถกอล์ฟเล็กๆ ไฟฟ้าก็อาจจะสำหรับคนที่แก่หน่อยขี่จักรยานไม่ได้ก็อาจจะใช้เป็นที่โครงข่ายที่ท้องถิ่นขึ้น

20142708025115.jpg

พิธีกร :: ในบทความหนึ่งที่พี่อ้อยเขียนค่ะ พี่อ้อยพูดถึงเมืองโบโกตาที่เป็นเมืองในโคลัมเบียที่เป็นเมืองจักรยาน ปาล์มไปอ่านมาเพิ่มเติม เขาพูดว่าการสร้างเมืองจักรยานไม่ได้มาจากวัฒนธรรมการปั่นแต่ต้องมาจากการสร้างเลนจักรยานก่อน ซึ่งเลนจักรยานจะนำมาสู่การปั่นและการปั่นก็จะนำไปสู่วัฒนธรรมจักรยาน คิดอย่างไรกับเรื่องนี้คะ

พี่อ้อย :: เห็นด้วยนะคะ แต่ว่าคิดว่า เปนญาโลซา (Enrique Peñalosa) นายกเทศมนตรีในสมัยนั้นจริงๆ เขาทำสองอย่างควบคู่กันไป ทั้งการสร้างวัฒนธรรม สร้างวาทกรรมจักรยานพร้อมกับสร้างด้านกายภาพ คือด้านกายภาพกว่าเขาจะสร้าง เขาต้องใช้เวลา 3-4 ปี แต่ว่าสิ่งแรกมันจะต้องสื่อสารในสังคมให้ได้ก่อน เพราะฉะนั้นก็เน้นเยอะทั้งบู้หลายอย่าง  คือสิ่งแรกที่ทำจะเรียกว่าประกาศสงครามกับรถยนต์ก็ว่าได้ ก็คือว่า ไม่ให้รถยนต์ขึ้นไปรุกรานคือ โบโกตาตอนนั้นก็เหมือนกับกรุงเทพฯ สมัยนี้ค่ะ ฟุตบาทที่คนเดินรถยนต์ก็ไต่ขึ้นไป

พิธีกร :: โบโกตา เคยมีสภาพแบบกรุงเทพมาก่อนหรอคะ

พี่อ้อย :: เหมือนกรุงเทพมาก่อนค่ะ ก็คือ ฟุตบงฟุตบาททั้งมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ก็ขึ้นไปจอดนะตามสบายเลย แต่อาจจะง่ายกว่านิดนึงคือ คนที่ขับรถยนต์ในโบโกตามี 25% ของบ้านเรามันเกิด 50% หรือมากกว่าอยู่แล้วตอนนี้ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าคนขับรถยนต์เป็นหลัก คนขับรถยนต์เป็นคนส่วนน้อยแต่ว่ากินพื้นที่หมดเลย เพราะนั้น เปนญาโลซา จึงต้องลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องนี้ให้เยอะๆ แล้วคุมกำกับแล้วก็ใช้วิธีกำกับดูแลกฎหมายพื้นฐานไม่ให้ไปละเมิดต่อคนเดินถนน เสร็จแล้วก็จัดทุกวันอาทิตย์ 

คือเขาก็เริ่มมาจากปีละครั้ง เริ่มจาก car free day แล้วก็กลายมาเป็นทุกๆ วันอาทิตย์ สร้างประสบการณ์คนสามารถทำให้คนลิ้มรส สร้าง Event คนก็ชอบพูดว่าปิดถนนจริงๆ มันเป็น open street เป็นการเปิดถนนให้กับชีวิตต่างๆ ให้คนได้ลองเข้ามาลิ้มรสชีวิตในเมือง  ถนนเป็นพื้นที่สาธารณะคุฯสามารถที่จะปั่นจักรยานเข้ามาได้ เดินเข้ามาได้ วิ่งเข้ามาได้ แล้วก็ใช้ชีวิตบนถนนที่ปลอดภัย  ที่ไม่มีรถยนต์ คนก็เริ่มมองเห็นว่าเห้ย เป็นไปได้นี่ มันเจ๋งนี่ เพราะฉะนั้นก็เริ่มได้แรงสนับสนุนแต่ตอนแรกเจอแรงต่อต้านเยอะมาก เพราะว่ากำลังจะเปลี่ยนจากของที่คนยังไม่ get คนยังไม่เข้าใจ  แล้วคนยังไม่มีประสบการณ์ เราเคยชินแล้วเรายอมรับสภาพมาตลอด กับคน 25% ที่เสียผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนหน่อย จนกระทั่งคนเริ่มเข้าใจมากขึ้น พอโครงข่ายเส้นทางจักรยานที่มีคุณภาพ ซึ่งทำควบคู่ไปกับรถเมล์ BRT ที่มีคุณภาพมาก ขนส่งมวลชนด้วย ไม่ใช่ว่าทุกๆ คนต้องขี่จักรยานนะคะ ต้องมีระบบขนส่งมวลชนด้วย

พิธีกร :: เรากลับมามองที่บ้านเราค่ะพี่อ้อยคือพื้นที่ถนนมีเท่าเดิม เรื่องของการรื้อผังเมืองเราพักไว้ก่อน   ทีนี้รถยนต์เยอะขนาดนี้การขับเคลื่อนเรื่องของจักรยาน เราต้องจัดการนโยบายที่ลดปริมาณรถยนต์ด้วยหรือเปล่าคะ ไปควบคู่กับการจัดการจักรยาน

พี่อ้อย :: คือพี่ว่านอกจากการที่จะลดปริมาณรถยนต์ หมายความว่าเราจะต้องให้ความสำคัญกับรถยนต์น้อยลง  จริงๆ ต้องให้ความสำคัญกับรถยนต์น้อยที่สุด คือรัฐไม่ควรสนับสนุนรถยนต์ เรามาถึง ณ วันนี้  ทรัพยากรจะเป็นถนน ที่ดิน ทุกสิ่งทุกอย่างมันจำกัด แต่ว่าคนเยอะขึ้น แล้วทุกคนก็ต้องการความเท่าเทียม ต้องการความสะดวกสบายเท่ากัน เราต้องเปลี่ยนวิธีจัดสรรทรัพยากร เพราะฉะนั้นเป็นทางเดียวเราต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการใช้ทรัพยากรทั้งหลายร่วมกันนะคะ แล้วก็โยนภาระต่อสังคมต่อกันน้อยลง มันไม่จำเป็นเลยอากาศหายใจ ภัยอันตรายบนท้องถนน สิ่งเหล่านี้มันลดลงได้ 

ทุกวันนี้ถึงแม้ภาครัฐจะสนับสนุนจักรยาน แล้วก็คิดว่าเรากำลังสร้างระบบไฟฟ้าขนส่งมวลชนต่างๆ แต่เราจะเห็นได้ว่ามันไม่เพียงพอ  ทุกโครงการจักรยานที่ทำจะมีโครงการเพื่อรถยนต์ไม่รู้กี่อันนะคะ ดังนั้นมันจะไม่มีวันสู้ได้ ทางรัฐจะต้องลดความสำคัญของรถยนต์ลงไป ดูความเป็นธรรมนะคะ เราทุกคนก็เสียภาษีเท่ากัน  อาจจะไม่เท่ากันแต่เราก็เสียภาษีร่วมกันทั้งนั้น รถส่วนตัวกลับเอาพื้นที่ส่วนตัว ยัดลงไปในพื้นที่สาธารณะ ของที่ใช้ร่วมกันเอาไปใช้มากกว่าเขา   สมมติว่าเราเหลือให้รถยนต์เพียงแค่เลนเดียว  เลน 2 เลนแล้วแต่ขนาดของถนน รถยนต์ส่วนตัวก็ยังใช้พื้นที่เฉลี่ยต่อหัวมากกว่าคนอื่นอยู่ดี ที่นี้ถ้ามันติด เขาก็อยากจะใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น แต่ระบบขนส่งมวลชนก็ต้องจัดเตรียมไว้ให้มันมีคุณภาพแล้วก็รถเมล์คุณภาพเป็นอะไรที่ง่ายที่สุดอย่าง BRT ถ้าเกิดเราดูอย่างโบโกตานั่นคือสิ่งที่เขาทำก็คือรีบจัดสรรระบบ BRT มารองรับเป็นโครงข่ายใหญ่แล้วก็ทำให้มันประสานเชื่อมโยงกับโครงข่ายของจักรยาน

พิธีกร :: แล้วถ้าเกิดมีคนใช้รถเขาบอกว่า เห้ย  มันเป็นสังคมอุดมคติมันเป็นเรื่องดูไกลกว่าความจริงหรือเปล่า แล้วถ้าเกิดว่า ถ้าคุณพ่อทำงานอยู่ที่รังสิต คุณแม่ทำงานที่สีลม ลูกเรียนอยู่บางระบืออย่างนี้ วิถีจักรยานจะไปตอบโจทย์ชีวิตผมอย่างไร จะตอบเขาอย่างไรดี

พี่อ้อย :: คือเราเห็นใจเนอะ เราเห็นใจเพราะว่าสภาพมันเป็นอย่างนี้ เราอย่าเพิ่งไปคิดว่าเมืองจักรยานเป็นเรื่องอุดมคติ คือเราต้องมองว่าตอนนี้เราไปไม่รอดละในสภาพที่เป็นอยู่ขณะนี้  ไม่ว่าเราจะดื้อดันแค่ไหน ไปไม่รอดหรอกค่ะ คือตอนนี้คิดว่าต่อให้ทำให้น้ำมันแพงขึ้นคนจะได้ลดการใช้รถยนต์ลงไป มันก็จะกลายเป็นว่าใช้อำนาจของเงินเป็นตัวกำหนดจำนวนรถยนต์ เพราะฉะนั้นคุณพ่อที่มีลูกเรียนอยู่บางกระบือก็จะลำบากมากขึ้น ดังนั้นนโยบายต้องเข้ามาช่วย เพราะฉะนั้นพี่ก็อยากจะเน้นว่าสิ่งที่ทำง่ายที่สุดก็คือระบบขนส่งมวลชนบนผิวดินนี่แหละค่ะ ระบบ BRT ระบบรถเมล์ที่มีคุณภาพ ช่วยคุณพ่อ คุณลูก คุณแม่ ทั้งหลายได้ ผสมผสานกับจักรยาน นี่เป็นของที่ทำได้เลย  จริงๆ เหมาะกับนักการเมืองมากเลยนะคะ เพราะมันเป็นของที่คุณทำได้ภายใน 4 ปี สมมตินะคะผู้ว่าได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจัดทำได้เลย  เกิดขึ้นได้แต่ต้องมีความมุ่งมั่นแล้วก็ตั้งใจสื่อสารจริงๆ จังๆ  

คือเราต้องเข้าใจทุกกลุ่มที่จะต้องได้รับผลกระทบว่าจะหาทางที่จะช่วยให้แต่ละคนปรับตัวเข้าสู่วิถีที่มันเป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นเป็นเมืองที่คาร์บอนต่ำลง คือเบียดเบียนกันและกันน้อยลงอย่างไร  ช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องที่ยากแต่เราก็ใช้การออกแบบบ้าง จำเป็นมากๆ ที่ต้องเอาหลายประสบการณ์เข้ามาหลอมรวมกันเพื่อที่จะหาวิธีออกแบบได้ดีที่สุด  บางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ใจกลางเมืองอาจจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดรถยนต์ไปเลยด้วยซ้ำ หรือมีได้บ้างแล้วแต่ ถ้าเผื่อคุณเป็นคนที่อยู่อาศัยตรงนั้น  อยากให้ดูหลายๆ แห่งแต่จะเป็นพื้นที่ปลอดรถยนต์ ในพื้นที่ที่ไกลออกมาหน่อย มีเลนรถยนต์ให้มากขึ้น คือเราคงไม่ได้พยายามจะเปลี่ยนพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือจนคนไม่สามารถปรับตัวได้ แต่พี่คิดว่าเราก็ควรที่จะเริ่มนึกถึงทางออกเพราะว่าเราไปอย่างนี้ไม่ได้อีกแล้วนะคะ

พิธีกร :: เคยอ่านบทความพี่อ้อยบทความหนึ่ง คิดว่าจักรยานจะสามารถแก้ปัญหาในภาพรวมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้ ผ่านเรื่องราวของจักรยานเป็นของสังคมประชาธิปไตย อยากจะให้เล่าให้ฟัง ขยายความจากตรงนี้นิดนึง

พี่อ้อย :: พี่คิดว่าสาเหตุที่เรามารณรงค์จักรยานไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว  แต่เป็นเรื่องที่เป็นเทคโนโลยีที่มันง่ายแสนง่ายนะคะ  ช่วยเราพึ่งตนเอง แต่มันไปแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนมากมายหลายอย่าง หลายด้านเต็มไปหมดมันก็เลยเจ๋ง ทั้งนั้นทั้งนี้เราไม่ได้มองว่ามันจะไปแก้ปัญหาได้หมดทุกอย่าง ไม่ใช่ แต่ได้เยอะมาก  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพยากรพื้นที่ถนน แก้ปัญหาจราจร ปัญหาสิ่งแวดล้อมแน่นอนนะคะ   อันนี้สำคัญมากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดแบ่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ไม่เท่าเทียมกัน ทีนี้สิ่งที่ตามมาอีกคือมันสร้างความสัมพันธ์ในสังคมเพราะคนมันทักทายกันได้เวลาขี่จักรยาน ผิวของคนเราไม่ได้เอาอากาศที่เป็นฟองรถยนต์ยัดเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวละ เราไปเดี่ยวๆ โลดๆ เราก็สัมผัสอากาศ  มันทำให้เราสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพราะฉะนั้นมันเป็นการเรียนรู้ทำให้คนเชื่อมโยงกับธรรมชาติและว่าเจอแต่ปูนร้อนๆ ไม่ไหวขอเจอต้นไม้ ก็จะอยากได้ต้นไม้เพราะฉะนั้นมันจะร้อยเรียงชีวิตเราให้สัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆด้วย เพราะฉะนั้นปฏิสัมพันธ์ในสังคม ปฏิสัมพันธ์ของคนกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมานะคะ เพราะฉะนั้นมันก็ได้ทั้งมิติสังคม การเมือง เพราะว่าความที่การลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิสัมพันธ์ ทำให้คนรู้จักกันมากขึ้นมันก็ช่วยอยู่แล้วเรื่องการเมือง 

พี่ก็มองว่าเพราะฉะนั้นมันก็เป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แล้วก็น่าสนใจมากที่ว่ามันมีการศึกษาถึงความเท่าเทียมในสังคมโดยดูจากตัวเลขของช่องว่างของเงิน ความเหลื่อมล้ำทางการเงินของรายได้ ในสังคมๆ หนึ่งซึ่งก็ได้พบว่าหนังสือเรื่อง spirit  labour พบว่ามันเป็นตัวที่สะท้อนให้เห็นในสังคมต่างๆ สังคมที่เหลื่อมล้ำมากก็จะมีปัญหาสังคม มีปัญหาสุขภาพ คือปัญหาตั้งแต่วัยรุ่นท้อง อะไรเหล่านี้มากกว่าปัญหาที่เราคิดไม่ถึง  มันมาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ จะมีปัญหามากกว่าสังคมที่มีความเท่าเทียมกันมากกว่านะคะ   

พี่ก็เลยเอาข้อมูลของจักรยานเข้ามาดูด้วยแล้วก็ส่งไปให้คนที่เขาทำวิจัยเรื่องนี้ด้วยนะคะ แล้วเขาก็เอาไปทำสถิติต่อ พบว่ามันต้องแสดงความสัมพันธ์ สังคมที่ใช้จักรยานมากก็เป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำน้อยกว่าแล้วก็เป็นสังคมที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม ปัญหาสุขภาพแน่นอนปัญหาอาชญากรรมอะไรเหล่านั้นน้อยกว่าด้วย เพราะฉะนั้นก็ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมันก็เป็นตัวบ่งชี้สังคม healthy สังคมที่มีสุขภาพในทุกด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพทางกายแต่สุขภาพจิต สุขภาพทางการเมือง มันเท่าเทียมกันมากขึ้น มันก็รังแกกันน้อยลง เบียดเบียนกันน้อยลง มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น คือง่ายๆเลย ไม่ต้องไปคิดเป็นปรัชญาอะไรสูงส่ง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ