ภาพแห่งจิตวิญญาน ลูกหลานมังกรปากน้ำโพ

ภาพแห่งจิตวิญญาน ลูกหลานมังกรปากน้ำโพ

“ท่วงท่า…อยู่ในสายเลือด

เสียงกลอง…อยู่ในหัวใจ

ศรัทธา…อยู่ในจิตวิญญาณ”

คือคำอธิบายถึงภาพชุดที่สะดุดตาสะดุดใจผู้พบเห็น เด็กน้อยในท่วงท่าร่าเริงสมวัย เคียงคู่กับเงาที่ทอดสูงใหญ่สะท้อนถึงสายเลือดมังกร ซึ่งเมื่อปล่อยไปทางสื่อออนไลน์ มีหลายคอมเม้นท์มาแลกเปลี่ยนรำลึกถึงอดีตของใครต่อใครอีกหลายคน

คุณฟอร์ด อัครพงศ์ วังไพศาล หนึ่งในทีมถ่ายภาพจิตอาสาลูกหลานชาวนครสวรรค์ ที่สร้างสรรค์ภาพชุดนี้บอกว่า ปีนี้ด้วยสถานการณ์โควิด 19 อาจทำให้ลูกหลานหลายๆ คนไม่ได้กลับมาร่วมงาน ทีมถ่ายภาพจิตอาสาจึงจัดทำภาพชุดนี้ให้ลูกหลานชาวปากน้ำโพทุกท่านแทนความคิดถึงบ้าน

แนวคิดในการทำภาพชุดนี้ เลือกใช้เด็กเป็นตัวนำเสนอผ่านประสบการณ์ที่เด็กนครสวรรค์ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับงานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพเป็นอย่างดี เช่น เด็กผู้ชายเมื่อได้เห็นสิงโต หรือมังกร ก็หาสิ่งของรอบๆตัวมาเล่น หากล่องหาลังมาแทนหัวสิงโต หากิ่งไม้มาควงแทนกระบองเอ็งกอ หรือหยิบเอา ไม้กวาดขึ้นมาแห่มังกร ส่วนเด็กผู้หญิงเมื่อเห็นขบวนรถนางฟ้าโปรยดอกไม้ ก็หาผ้าเช็ดหน้า หาตระกร้ามาแสดงท่าทางตามที่เห็น ใช้ภาพเงาบนผนังแทนความฝันที่เด็กแต่ละคนได้เป็นตัวละครในขบวนแห่จริงตามจินตนาการ

“เด็กๆ ผมก็วิ่งตามมังกรแบบในภาพนี่หละครับ” คุณฟอร์ดเล่า  ซึ่งก็เรียกความรู้สึกของคนนครสวรรค์อีกหลายคนที่คอมเม้นท์ความรู้สึกย้อนไปในความทรงจำวัยเด็กเช่นกัน

“สมัยเด็กๆเคยเล่นเชิดสิงโตด้วยกล่องลังเบียร์กับเพื่อนๆ แห่กันไปตามทางเท้ารอบๆ ย่านถนนสุชาดา มาตุลี โกสีย์ และซอยฉัตรชัย บางทีก็ไปเล่นกันในตรอกซินอา ข้างๆร้านตราหมี”

“ความฝันในวัยเด็กคอนหวันทุกๆคนที่จะได้ร่วมขบวนแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่สักครั้งในชีวิต” 

“เราลูกหลานไหหนำตอนเด็กเข้ามาอยู่ในขบวนแห่ตรุษจีนโดยการเป็น ทหารเจ้า เดินตามเกี้ยวเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ สามสี่ปีต่อมาอยู่คณะเชิดสิงโตไหหนำหน้าที่ตีฉาบ”

คุณฟอร์ดเล่าว่า ภาพชุดนี้เป้าหมายต้องการสื่อ 2 ประเด็น ให้กับคน 2 กลุ่มคือ

กลุ่มแรก ผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็ก (นครสวรรค์) เหมือนเป็นภาพ flashback ประสบการณ์ที่เคยผ่านมาในอดีตที่บางคนอาจหลงลืมไปได้ย้อนคิดถึงความฝันในวัยเด็ก

กลุ่มที่สอง ให้คนต่างจังหวัดได้เข้าใจงานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ของคนปากน้ำโพ ว่ามีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทุกคณะการแสดงล้วนมีที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองนครสวรรค์ นักแสดงส่วนใหญ่ก็เป็นคนในพื้นที่ มีการสืบทอดจากรุ่นปู่ รุ่นพ่อ จนมาถึงรุ่นหลาน มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 105 ปี

“จริงๆ แล้วงานที่นครสวรรค์ คืองานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่  ไม่ใช่งานเทศกาล เป็นประเพณีทำกันมา 105 ปี แล้วครับ ทุกๆ คณะเช่น สิงโต มังกร มีสมาคมอยู่ในจังหวัดเอง ผู้แสดงคือลูกหลานคนในพื้นที่ และเมื่อ พ.ศ.2561 ประเพณีการแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ ถูกขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยกระทรวงวัฒนธรรม  ซึ่งปีนี้อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ในรูปแบบของงานเหมือนเช่นทุกปี แต่สิ่งที่ไม่เคยลดน้อยลงคือการสืบสานงานประเพณี ที่ยังคงยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของคนนครสวรรค์ตลอดมา”

นอกจากชุดภาพแห่งจิตวิญญาน ลูกหลานมังกรปากน้ำโพ  แล้วยังมีภาพถ่ายสีสันจัดจ้าน  มีชีวิตชีวาอีกมากมาย  ปรากฏอยู่ในเพจ “ตรุษจีนนครสวรรค์ สืบสานงานประเพณี แห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ” เป็นผลงานของทีมถ่ายภาพจิตอาสาลูกหลานชาวนครสวรรค์กว่า 30 คน รวมตัวกันช่วยเหลืองานจังหวัด ถ่ายภาพเพื่อประโยชน์สาธารณะต่างๆโดยไม่มีค่าตอบแทน อย่างงาน ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี ก็ทำต่อเนื่องมาประมาณ 3-4 ปีแล้ว

ปีนี้ งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ กำหนดจัดระหว่างวันที่ 5-16 กุมภาพันธ์ 2564  และมีแนวทางปฏิบัติตัวแบบ Social distancing

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เพจ

ตรุษจีนนครสวรรค์ สืบสานงานประเพณี แห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ

ทีมถ่ายภาพจิตอาสาลูกหลานชาวนครสวรรค์

ขอบคุณการรายงานผ่าน C-Site โดย คุณอัครพงศ์ วังไพศาล    https://www.csitereport.com/explore

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ