อยู่ดีมีแฮง : เมื่อ “กล้า” จะฝัน

อยู่ดีมีแฮง : เมื่อ “กล้า” จะฝัน

หลายคนคงเคยได้ยินคำผญาอีสานที่กล่าวถึง “เมืองดินดำน้ำซุ่ม ปลากุ่มบ้อนคือแข่แก่งหาง ปลานางบ้อนคือขางฟ้าลั่น จั๊กจั่นฮ้องปานฟ้าลวงบน แตกจ้นๆ คนปีปโหแซว มีซุอันซุแนว แอนระบำรำฟ้อน” ใช่แล้วครับพวกเราในนามผู้ผลิตรายการออนไลน์เฟสบุ๊คแฟนเพจ “อยู่ดีมีแฮง” จะนำพาทุกท่านเดินทางไปที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดของภาคอีสาน ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ดินดำ น้ำชุ่ม และมีแหล่งอาหารสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีประเพณีและวัฒนธรรมอันงดงาม ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนถึงอุปนิสัยและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เหมือนดั่งคำผญาของปราชญ์ชาวอีสานโบราณที่ได้ถ่ายทอดเอาไว้

กล้า หรือ ปาฏิหาริย์ มาตสะอาด

เป้าหมายของเราอยู่ที่บ้านนามน ตำบลนามน อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งห่างจากตัวเมืองกาฬสินธุ์ออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 50 กิโลเมตร โดยช่วงเวลาที่เราเดินทางคือต้นเดือนธันวาคม หลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในนา และกำลังเข้าสู่หน้า “เปิดหีบอ้อย” ดังนั้นการเดินทางของเราจึงต้องเผชิญกับคาราวานรถบรรทุกอ้อยที่ต่างมุ่งหน้าไปสู่โรงงานน้ำตาลอย่างไม่ขาดสาย

“เส้นทางมายากไหมลูก” ประโยคสนทนาแรกเริ่มขึ้น เมื่อเราจอดรถแล้วพบกับหญิงวัย 50 ปีเศษ รูปร่างเล็ก หน้าคม ผิวขาวแต่มีร่องรอยกรำแดดซึ่งคาดว่าจะเป็นผลจากการทำงานในไร่นา เธอได้เอื้อนเอ่ยกับเราด้วยความเอ็นดูพร้อมกับมีใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม “นั่งพักดื่มน้ำให้หายเหนื่อยก่อน ตอนนี้กล้าออกไปรับเพื่อนที่มาจากกรุงเทพฯ ที่สมเด็จ (อีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์) สักพักก็คงมาถึง” เธอกล่าวต่อไม่รอให้เราตอบ “เอาสัมภาระไปเก็บไว้ในห้องพักก่อนก็ได้” เนื่องจากเราเดินทางไปถึงเป็นเวลาอัสดง ซึ่งดวงอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า และที่นี่ก็คือโฮมสเตย์ชื่อ “เฮือนสวนเฮา Organic Farm” นอกจากเป็นที่พักสำหรับคืนนี้แล้ว เราก็จะมาพูดคุยกับชายหนุ่มผู้ที่คืนถิ่นกลับมา พร้อมกับความ “กล้า” ท้าทายที่จะทำอะไรแปลกใหม่ โดยที่คนในชุมชนแห่งนี้ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

จากวิทยากรเมืองกรุง สู่เกษตรกรเมืองกาฬสินธุ์

ระหว่างรอบุคคลที่เราต้องการพบ จึงถือโอกาสเดินยืดเส้นยืดสายสำรวจอาณาบริเวณ “เฮือนสวนเฮา Organic Farm” เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ซึ่งด้านหน้าก็จะมีไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์สีสันงดงามสลับกับต้นไม้ใหญ่ที่ให้บรรยากาศแลดูร่มรื่น และคอยทำหน้าที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือน เมื่อเดินเข้าไปข้างในเราก็ได้พบกับแปลงผักสวนครัวและพืชอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร อาทิ มะละกอ พริก มะเขือเทศ มะนาว มะกอก สลัด กล้วยฯลฯ ไม่ไกลกันนักจะเห็นกองปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ แกลบ และมูลสัตว์ นอกจากนี้ยังมีบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่เลี้ยงไส้เดือนอยู่ข้างในอีกหลายบ่อ ส่วนท้ายของพื้นที่เป็นแปลงนา ที่เหลือแต่ตอซังข้าวซึ่งผ่านการเก็บเกี่ยวเรียบร้อย

พอเราเดินกลับขึ้นมาก็ได้เจอกับชายหนุ่มรูปร่างสันทัด ผมฟู สวมแว่นตา เจาะหูและใส่ตุ้มหูทั้งสองข้าง ดูมาดกวนๆ เขาแนะนำตัวเองว่าชื่อ “กล้า” หลังจากนั้นเราจึงได้นั่งสนทนากัน กล้า หรือ ปาฏิหาริย์ มาตสะอาด อายุเข้าสู่วัยเบญจเพสพอดี เขาบอกกับเราอย่างภาคภูมิใจว่า “ปัจจุบันก็เป็นเกษตรกรเต็มตัวแล้วครับ ซึ่งก่อนหน้านั้นจริงๆ กล้าไม่ชอบเกษตรเลย แทบจะ Anti (ต่อต้าน) เลยด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่ามันลำบากเห็นแม่ทำแล้วทั้งตากแดด และกว่ามันจะโต แต่พอโควิด-19 เข้ามา งานที่เราทำเดิมอยู่แล้วมันไม่สามารถทำได้เลย เราก็เลยคิดว่ากลับมาอยู่บ้านไหม ลองมาทำอะไรที่บ้านดู สุดท้ายก็เลยแบบว่า จับพลัดจับผลู ทำโน้นทำนี่ แล้วมาอยู่จุดนี้”

เดิมกล้ามีอาชีพเป็นวิทยากร และเปิดบริษัทกับเพื่อนอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อรับจ้างจัดกระบวนการประชุมและฝึกอบอบรม “เป็น Training (การอบรม) ที่เกี่ยวกับคนวัยทำงาน ซึ่งจะทำอย่างไรให้คนมีความสุขได้กับการทำงานในทุกๆ วัน” เขาอธิบายขยายความลักษณะงานให้เราฟัง และเขาเรียกมันว่าเป็น “ธุรกิจเพื่อสังคม” แต่พอมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 เข้ามา จึงทำให้งานวิทยากรของเขาที่จะต้องพบปะ หรือปฏิสัมพันธ์กับผู้คนโดยตรงอยู่แล้วไม่สามารถไปต่อได้ จะโอดครวญก็ใช่เรื่อง เมื่อไม่มีหนทางอื่นใดจึงหันหลังให้เมืองกรุง แล้วมุ่งหน้าไปสู่เมืองดินดำน้ำชุ่ม

เริ่มนับหนึ่งใหม่ เรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

พ่อกับแม่ของกล้าเป็นคนกาฬสินธุ์ แต่กล้าและน้องชายเกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ ดังนั้นจึงมีวิถีทุกอย่าง ทั้งภาษาพูด พฤติกรรม รวมถึงการกินการอยู่ ที่แตกต่างไปจากเด็กหนุ่มต่างจังหวัดโดยทั่วไป ซึ่งตอนแรกๆ ก่อนกลับมาเขามีภาพฝันอย่างโรแมนติกเอาไว้ว่า ได้อยู่กับธรรมชาติ บ้านเถียงนา ชมสวนดอกไม้ ฟังเสียงนกร้อง เสียงไก่ขัน ตื่นเช้าทุกวัน ฯลฯ แต่มันไม่ใช่ เพราะการกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ของเขาจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

“เราเคยอยู่ในบ้านอยู่ในตึก ที่ทุกอย่างอำนวยความสะดวกพร้อม วันหนึ่งกลายเป็นว่าเราต้องมาเริ่มต้นใหม่ เช่น ห้องน้ำก็ไม่ดี ต้องใช้ขันตักน้ำอาบจากโอ่งหน้าบ้าน เหม็นขี้วัว ขี้ไก่ รวมถึงพวกแมลงมดต่างๆ ก็เยอะไปหมด บางวันก็นอนไม่หลับ ทำให้ต้องปรับตัวอยู่นานถึง 2-3 เดือนกว่าจะชิน”

“ส่วนเรื่องอาหารเราเคยกินอาหารตามสั่ง ข้าวผัด สุกี้ แต่ที่นี่เขากินแกงขี้เหล็ก อ่อมปลา หรือหมกไก่ อะไรทำนองนี้เราก็ต้องกินและอยู่ให้ชิน” กล้าเล่าอย่างเพลิดเพลิน ขณะที่เวลาอาหารเย็นกำลังจะมาถึง

สุดท้ายพอกล้าได้ลงมือทำกับสิ่งที่เขาบอกว่า “ไม่ชอบเลย” ไปพร้อมกับการค่อยๆ ปรับตัว และเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ จนทำให้เขาต้องหลงเสน่ห์กับมันอย่างไม่รู้ตัว “ตอนนี้กล้าเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเองว่าเป็นคนกินง่ายอยู่ง่ายขึ้นซึ่งมันก็โอเคได้อยู่กับธรรมชาติ ตื่นเช้าทุกวันรดน้ำต้นไม้ ดอกไม้ สามารถใช้อุปกรณ์ทำสวนเป็น คือถ้าช่วงแรกจับจอบจับเสียมขุดดินจนมือแตกเลย (ชูมือให้ดู) ให้ดูมือครับ แต่พอหลังๆ ก็ปรับตัวได้แล้ว ขี้วัวขี้ควายกลับหอมเฉยเลย แปลกใจเหมือนกัน (หัวเราะ)”

“ได้เวลากินข้าวเย็นแล้วลูก” เสียงของหญิงสูงวัยดังแว่วมาแต่ไกล เป็นเหมือนดั่งเสียงระฆังบอกให้พักยก เราจึงหยุดการสนทนาเอาไว้เพื่อคุยต่อในวันพรุ่งนี้

หลังจากที่เราได้อิ่มหนำสำราญกับอาหารท้องถิ่นที่มีต้มปลา ส้มตำ ไข่เจียว และเห็ดทอด กับข้าวเหนียวร้อนๆ ในวงกินข้าวแล้ว ด้วยบรรยากาศของฤดูหนาวเราจึงได้สัมผัสกับวงคุยธรรมชาติรอบกองไฟ โดยมีข้าวจี่และหัวมันหมกขี้เถ้าที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย นอกจากนี้เรายังได้ทำความรู้จักกับครอบครัวของกล้ามากขึ้น รวมทั้งเพื่อนของกล้าที่เป็นหญิงสาวสองคนด้วย ซึ่งหญิงสูงวัย คือแม่ของกล้าจะคอยเสิร์ฟข้าวจี่และหัวมันที่สุกแล้วให้กับทุกคน ส่วนพ่อของกล้าจะทำหน้าที่สวัสดิการ ขาดเหลืออะไรให้บอก และน้องชายของเขาที่อยู่ในวัยเดียวกัน เป็นเหมือนคนคุมวงคุย โดยมักจะมีเรื่องราวมานำเสนอให้ทุกคนฟังอย่างเพลิดเพลิน

สำรวจต้นทุนที่มี “กล้า” ดีอย่างไร

รุ่งเช้าของฤดูเหมันต์วันต่อมา เวลาประมาณ 06.30 น. ดวงตะวันจึงเพิ่งจะโผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมา ข้างที่พักของเราได้ยินเสียงคนคุยกันเจื้อยแจ้วปนเสียงหัวเราะ เมื่อเปิดประตูออกไปก็พบว่ากล้าและเพื่อนๆ กำลังสนุกสนานกับการเตรียมดินเพื่อทำการเพาะปลูกผักสวนครัว และรดน้ำต้นไม้ในสวน เราจึงแสดงความประสงค์ขอเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย “นอนหลับสบายดีไหมลูก” แม่กล่าวคำทักทายตอนเช้า ขณะมือกำลัง “ส่าย” ข้าวเหนียวนึ่งสุกซึ่งมีไอร้อนพวยพุ่งออกมา ไม่นานนักพ่อก็ทำหน้าที่จัดหาน้ำร้อน กาแฟ และขนมมาให้ทุกคนรองท้องก่อน

หลังจากนั้นกล้าและแม่ ก็พาพวกเราไปที่โรงเพาะเห็ดของครอบครัว เพื่อไปเก็บเห็ดมาประกอบอาหารและทำแหนมเห็ด ซึ่งมีเห็ดนางฟ้า และเห็ดนางรม พวกเราตื่นเต้นกับการที่ได้เห็นเห็ดที่งอกออกมาจากถุงเพาะจำนวนมากมาย โดยเฉพาะเพื่อนของกล้าทั้งสองสาวต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นประสบการณ์ครั้งแรก

หญิงสาวชาวกรุงผู้เริงร่า และตื่นตัวที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา พรพรรณ  ตั้งมั่นจิตธรรม หรือ โบว์ เพื่อนของกล้า เธอได้เล่าถึงความประทับใจที่ได้มาที่นี่ให้เราฟังว่า “มาที่นี่เป็นครั้งที่สองแล้ว ซึ่งได้ทำอะไรหลายอย่าง ทำสวน ปลูกผัก เก็บเห็ด เก็บผลผลิตต่างๆ และได้เลี้ยงน้องหมาด้วย แล้วที่ประทับใจคือได้ทำกองปุ๋ยหมัก แบบเอาพวกขี้วัวขี้ควายมาผสมกับแกลบและอื่นๆ เอามาผสมกันหมด รู้สึกสนุกและมีความสุขมาก และก็เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้ไปแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ของที่บ้านกล้า คือทุกคนที่นี่ที่เราเจอใจดีมาก เรารู้สึกว่าเป็นที่ๆ หาได้ยากในกรุงเทพฯ แล้วกัน” ขณะคุยกับเราเธอก็เล่นหยอกล้อคลอเคลียร์กับน้องหมาไปด้วย

เมื่อกิจกรรมต่างๆ จบลง เราจึงมานั่งคุยกับกล้าอีกครั้ง “หลายคนที่กลับมาบ้านก็มักจะสำรวจต้นทุนหรือทรัพยากรที่เรามี แล้วกล้ามีอะไร?” เราเริ่มรุกด้วยคำถาม

“ต้นทุนที่กล้ามีคือ หนึ่ง กล้าเคยเป็นวิทยากร กล้าใช้โซเชียลเป็น กล้าเคยทำเพจ ดังนั้นการทำเกษตรของเรา มันก็เลยต่างจากการทำเกษตรแบบอื่น อย่างเวลาขายแม่ไม่รู้ว่าจะขายเห็ดที่ไหน ก็ลงผ่านออนไลน์ ผ่านเพจตัวเอง ผ่านหน้าเฟสบุ๊คให้ส่งครับ แต่ถ้าต้นทุนจากที่บ้าน เรามีที่ดินของครอบครัว แม่เป็นเกษตรกรมานาน พ่อเป็นช่าง น้องชายชอบทำอาหาร พอเราเห็นต้นทุนเห็นทรัพยากรเหล่านี้ เรามองออกว่าเราจะใช้ต้นทุนพวกนี้มาทำอะไรบ้าง ดังนั้นที่นี่เราจะทำฟาร์มสเตย์ เพราะเราคิดว่ามันได้ใช้ต้นทุนที่เรามีทั้งหมด และก็ใช้เต็มประสิทธิภาพจริงๆ”

เมื่อ “กล้า” ที่จะฝัน และลงมือทำให้เป็นจริง

ระหว่างการสนทนาที่กำลังเข้มข้นออกรส เราจึงโยนคำถามต่อไปว่า ถ้าวันหนึ่งสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ โรคระบาดโควิด-19 สามารถควบคุมได้ หรือมีวัคซีนป้องกันแล้ว กล้าจะกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ อีกไหม?

“ตอบได้เต็มปากเลยว่าคงไม่กลับไปอีกแล้ว” เขาตอบสวนทันควันด้วยความมั่นใจ พร้อมกล่าวต่อว่า “กล้าอยากจะมุ่งและทำให้เต็มที่กับตรงนี้ ซึ่งจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมซะทีเดียว แต่จะใช้ต้นทุน พื้นฐาน และความสามารถเดิมที่เรามีจะเอามาบวกกับสิ่งที่เราทำตอนนี้มากกว่า”

หากจะเปรียบเทียบผืนดินทำมาหากินก็เสมือนดั่งที่มั่นสุดท้ายของคนกลับคืนถิ่น แล้วกล้ามีความฝันอย่างไรกับผืนดินแห่งนี้? สิ้นคำถามทุกสรรพสิ่งดูเหมือนเงียบงันจนไม่ได้ยินแม้กระทั่งเสียงลมหายใจของแต่ละคน

“ถ้าความฝันกล้าอยากทำเป็นฟาร์มสเตย์แหล่งเรียนรู้ ให้คนได้กลับมาเข้าใจแล้วก็มีวิถีชีวิตแบบกลมกลืนกับธรรมชาติ กล้ารู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ในเมืองหรือตัวเราเองเวลาทำงานแล้วมันเครียดมากๆ สภาพการทำงาน และสภาพแวดล้อมในเมืองมันบีบกดให้เราต้องเจ็บป่วย และเป็นโรคต่างๆ เพราะว่าการใช้ชีวิตที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติที่ควรเป็น กล้าจึงมองว่าถ้าพื้นที่ตรงนี้ “เฮือนสวนเฮา” มันสามารถให้คนได้กลับมาเห็น ได้กลับมาให้ความสำคัญกับการมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ มันจะทำให้เรามีชีวิตที่ง่ายขึ้น มีความสมดุล และมีความสุขมากขึ้น” กล้าเล่าความฝันให้เราฟังด้วยแววตาที่มุ่งมั่นและมีพลังเต็มเปี่ยม

หมดคำที่จะกล่าวเราจึงขอล่ำลา หมดประโยคที่จะสนทนาเราจึงขอตัวกลับ

“โอกาสหน้ามาอีกนะลูก” เราหันไปขอบคุณแม่ และยังคงเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของหญิงสูงวัย จึงทำให้เราได้เจอคำตอบว่า นี่คือพลังแรงใจสำคัญ ที่คอยเสริมพลัง (Empower) ให้กล้าไม่หมดไฟที่จะฝัน

แม่ของกล้า

แน่นอนครับ เราจะเฝ้ามองความ “กล้า” ฝันของเด็กหนุ่มคนนี้ไปด้วยกัน.

เดชา  คำเบ้าเมือง  เขียน / มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ  ภาพ

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ