หากกล่าวถึงวลีที่ว่า “กลับบ้านเกิด” ภาพในจินตนาการของใครหลายคนอาจจะนึกถึงคนกลุ่มหนึ่ง อายุราววัยกลางคน กำลังยุ่งอยู่กับการรดน้ำต้นไม้ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ทำการเกษตรหลากหลายรูปแบบ เป็นชาวไร่ก็ดี หรือชาวสวนผลไม้สักชนิด มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อยู่บ้านดิน กินผักปลอดสารเคมี เลี้ยงไก่ไข่ เป็นต้น
นั่นคือความจริงครับ แต่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ลองตั้งคำถามดูสนุกๆ กันนะครับว่า แล้วคนที่อยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ที่เป็นชุมชน “เมือง” เขากลับบ้านบ้าง เขาจะประกอบอาชีพอะไรกัน ในเมื่อครอบครัวเขาก็ไม่ได้ถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรมาก่อน ภาพในฝันที่คิดไว้ในวรรคแรกน่าจะเป็นไปได้ยาก แล้วภาพความจริงอีกส่วนหนึ่งคืออะไร วันนี้ผมอาสาจะมาเล่าให้ฟังครับ
ผมเติบโตจากชุมชนเมืองปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์นั่นเองครับ ที่นี่ถือได้ว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีผู้คนอาศัยค่อนข้างหนาแน่น ผมเองได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ราว 20 ปี มีช่วงเวลาในวัย “ทีนเอจ” หรือวัยรุ่นก็ที่นี่นั่นเอง
หลังจากประชุมทีมงานถ่ายทำสารคดีเรื่องเกี่ยวกับผู้ประกอบการ ก็พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ เกี่ยวกับกลุ่ม YEC หรือ Young Entrepreneur Chamber of Commerce ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ วัยราวๆ 20-45 ปี มารวมตัวกันสร้างสีสันให้กับจังหวัด ผมยิ่งประหลาดใจครับ เพราะนครสวรรค์หรือถิ่นที่อยู่อย่างปากน้ำโพในความทรงจำวัยรุ่นของผมนั้น เรียกได้ว่าเป็นขาลงของเศรษฐกิจเลยก็ว่าได้ เพราะมีทั้งปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ได้เปรียบอีกต่อไปและยังมาเสียเปรียบจากน้ำท่วมใหญ่อีกหลายครั้ง รวมถึงการสร้างถนนหนทาง ทั้งทางเลี่ยงเมืองก็ดี หรือการเกิดขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำหลายเจ้า หลายครั้งที่ผมกลับไปเยี่ยมที่บ้านก็รู้สึกได้ครับว่า เงียบเหงาซบเซาลงไปมาก
พอมีคนถามว่า “ถ้าจะกลับบ้าน” ตัวผมจะไปทำมาหากินอะไร ผมต้องใช้เวลาคิดพอสมควรเลย เนื่องด้วยครอบครัวของผมเป็นชนชั้นกลาง-ล่าง ที่มีอาชีพรับจ้างตามแต่ความถนัดรายได้ปานกลาง มีตึก 3 ชั้นครึ่งอายุมากกว่าผมสักสิบปีได้ไว้ใช้หลับนอนพักผ่อน ด้วยชะตาชีวิตเหมือนกับใครหลายคน ผมจึงไปแสวงหาโอกาสอยู่เมืองที่ใหญ่กว่า การกลับบ้านในมุมมองของผมจึงค่อนข้างแตกต่างจากท้องถิ่นอื่นที่เป็นภาคการผลิตหรือการเกษตรอย่างมากครับ ผมอยากทำสวน ก็ไม่มีต้นทุนใดๆ ผมอยากเลี้ยงสัตว์ยิ่งดูมีความเป็นไปได้น้อยมาก
แต่เมื่อพบกับประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ น.พ.สมยศ นะลำเลียง ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงช่องทางและทิศทางของเมืองปากน้ำโพ ว่ามีทิศทางที่น่าสนใจ และพร้อมที่จะกลายเป็น “บ้านเกิด” ให้เด็กยุคใหม่ได้กลับ ไว้อย่างน่าสนใจ
“พลังของการทำงานจะต้องมีคนหลาย Generation และสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนระยะยาว ในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้าจะต้องไม่ใช่แค่คนรุ่นเรา ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นส่วนในการขับเคลื่อน เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะต้องเตรียมความพร้อมของน้องๆ เราจะเรียกว่า YE หรือ YEC นะครับ (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) ซึ่งจะเป็นเด็กรุ่นใหม่อายุซัก 20 – 30 ปี ที่พึ่งเริ่มกลับมาช่วยที่บ้านที่นครสวรรค์ เราก็คิดว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมีความสามารถช่วยจะทำงานให้กับองค์กรและก็จังหวัดในระยะยาว เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถดึงน้องๆเหล่านี้เข้ามาทำงาน ขับเคลื่อนและเห็นทิศทางร่วมกัน จะเป็นสิ่งที่จะทำให้จังหวัดมีทิศทางที่ชัดเจนและไปในแนวทางที่ควรจะเป็น เราก็เลยคิดว่าอยากจะดึงน้องๆกลุ่มนี้มาช่วยทำงาน อันแรกก็คืองานพาสานนะครับ เป็นการสร้างสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมันเป็นแลนด์มาร์คระดับประเทศ มันไม่ใช่แค่ของนครสวรรค์อย่างเดียวถ้าเขาสามารถที่จะเข้าใจ และก็ขับเคลื่อนเหล่านี้ได้เนี่ย มันก็จะเป็นทิศทาง และก็แนวทางการทำงานของเขาในอนาคตต่อไปได้ดียิ่งขึ้น”
ฟังที่อาจารย์หมอได้กล่าวไว้ก็ยิ่งอยากรู้ครับว่ากลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ได้กล่าวถึงนั้นเป็นใครมาจากไหนกันบ้าง จึงได้นัดแนะกับ “โบ้”เปรมินทร์ เจียมจิตพลชัย ประธานของกลุ่ม YEC เพื่อพบปะพูดคุยกันที่พาสาน
โบ้บอกกับเราว่าการสร้างจุดสนใจให้กับนครสวรรค์นั้นไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงไปหรือทิ้งวัฒนธรรมเดิมแต่อย่างใด กลายเป็นการเสริมหรือเติมแต่งให้มีเสน่ห์ที่หลากหลายมากขึ้น
“เราไม่ได้ลบภาพเดิมของนครสวรรค์แต่เราพยายามเติมเข้าไปว่ามันมีอะไรที่แปลกใหม่ ที่มานครสวรรค์แล้วต้องมา อย่างเป็นพาสานเนี่ย มานครสวรรค์ก็ต้องมานะ เป็นจุดเช็คอินใหม่ ตรุษจีน ลูกชิ้นปลากราย เป็นโมจิ เป็นของฝากอื่นๆ อีกตั้งหลายอย่างที่เป็นของน่าอร่อยของนครสวรรค์ที่ต้องซื้อฝาก“
“เราพยายามทำให้มันกลมกล่อม คือให้มันมีรสชาติมากขึ้น เรามีตรุษจีนอาจจะจืดเกินไป เราก็เริ่มใส่พาสานเข้ามา จะมีรสชาติความเป็นเทคโนโลยี รูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น อนาคตเรามีองค์เจ้าแม่กวนอิม เราก็จะมีความเป็นศรัทธา และเราก็จัดให้มีพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมที่อยู่ใต้ฐานองค์เจ้าแม่อีก มาดูได้ตลอดทั้งปี จะมีความเป็นมีรสชาติมากขึ้น เรามีคลองเกชอนซึ่งทันสมัยมากเพราะว่า มันมีมันสะท้อนถึงรูปแบบใหม่สวยงาม ใช้เทคโนโลยีการผันน้ำเสียเข้ามาบำบัด มีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าเมืองเราเนี่ย จะเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้” ศุภวัฒน์ ขมทอง หรือ “พี่เต้ย” ประธานของกลุ่ม YEC ประจำปี 2562 ซึ่งวันนี้ได้มาพบพวกเราพร้อมกับโบ้กล่าวถึงการสร้างพาสานขึ้นมาของคนในนครสวรรค์
“เราพยายามจะสร้างให้ คนรู้สึกว่าทำไมนครสวรรค์มันแปลกจากเมื่อก่อน และเราต้องการสร้างภาคบริการ คือการท่องเที่ยวเป็นรายได้ส่วนนึงเข้ามาในตัวนครสวรรค์ด้วย เพื่อพัฒนาธุรกิจต่างๆให้ธุรกิจเดิมมันอยู่ได้ ธุรกิจใหม่ก็เติบโตขึ้น อันนี้คือเป็นปัจจัยหลักที่เราคิดของคนรุ่นเรานะครับ เพราะเราอยากให้เด็กรุ่นเรามาอยู่ที่นี่ ให้กลับบ้านมา ฉะนั้นทางเดียวก็คือสร้างทุกอย่างให้พร้อม เพื่อให้เด็กรุ่นเรา ได้กลับมาช่วยพัฒนาและใช้ให้มันเกิดประโยชน์สูงสุดครับ“
ถึงตรงนี้ผมก็เริ่มรู้สึกได้ว่าการกลับมาทำงานที่บ้านของผมเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมากกว่าย่อหน้าแรกเยอะเลยครับ แต่ลำพังตัวคนเดียวทั้งผมเอง และเพื่อนๆบางคน อาจจะทำธุรกิจได้อย่างยากลำบาก การมีกลุ่มเพื่อนคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมันน่าจะดีกว่า ในประเด็นนี้ “โบ้” ซึ่งเป็นรุ่นน้องของที่โรงเรียนมัธยมปลายประจำจังหวัดได้เล่าถึงการรวมกลุ่มของ YEC นครสวรรค์ไว้อย่างน่าสนใจ
“กลุ่ม YEC อยู่ภายใต้การดูแลของหอการค้านครสวรรค์ ซึ่งกลุ่ม YEC เนี่ยมีทั่วประเทศไทย มีทุกจังหวัด เราอยู่รวมกันน่ะ เรามีหลักสำคัญเพียงไม่กี่ข้อครับ 1. คือให้ความรู้ พัฒนาบุคลากร ก็คือคนที่อยู่ด้วยกัน พัฒนาความรู้ให้เกิดองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีที่คุณจะต้องจ่ายทุกปี 2. คือเรามีหน้าที่ช่วยเหลือสังคม งานจังหวัด งานบริจาคโลหิต ก็ซึ่งเป็นๆหน้าที่ของเราอยู่แล้วสิ่งพวกนี้มันก็เป็นการพัฒนาทั้งตัวเองและก็จังหวัดยิ่งขึ้นไป“
“จริงๆเวลาเราไปรวมๆกลุ่มกัน มันก็จะมีการพูดคุย โดยส่วนใหญ่อะ คือคนที่อยู่ในกลุ่มเนี่ย มันก็จะมีธุรกิจที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นขนส่งเป็นร้านอาหาร คนทำของฝาก มันคือการปรึกษาการมองภาพรวมของธุรกิจของแต่ละคน เรามาอยู่รวมกันไม่ได้มองเรื่องผลกำไรหรือสิ่งที่จะตอบรับ แต่มันเป็นการอยู่เพื่อพัฒนาตัวเอง มุมมองถนัดคนละมุมมาแชร์กัน อย่างพี่เขาจะสร้างโรงงาน เขาก็มาปรึกษา โบ้จะพี่จะสร้างโรงงานนะ ดูยังไงให้ได้บ้าง ต้องดูยังไงบ้าง แบบเป็นแบบนี้ดีมั๊ยก็คือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นการส่งเสริมกัน“
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ผมได้พบสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งเป็นตัวอย่างการช่วยเหลือกันและการพัฒนากิจการของตัวเองจากการเข้าร่วมกลุ่ม YEC ได้อย่างดี คนแรกคือ “เมย์” บัณฑิตา ล้วงจันทร์ ทายาทธุรกิจโรงพิมพ์ฉลากยาให้กับโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายที่
“ทาง YE อะค่ะ เขามีกิจกรรมอย่างเช่นจัดสัมมนาเพิ่มพูนความรู้ อาจจะสัมมนาภาษีบ้าง สัมมนานวัตกรรมอิเล็คทรอนิคส์อย่างเช่นการขายออนไลน์ เพราะว่าอย่างในส่วนของเมย์เอง เราจะถนัดในการฮาร์ดเซลล์มากกว่าคือส่งเซลล์เข้าไปไดเร็กส์ไปเลย เราไม่เคยทำอิเล็คทรอนิคส์เซลล์เลย พอเราเข้ามาในกลุ่ม เราก็เริ่มเห็นว่า มีอิเล็คทรอนิคส์เซลล์ เราก็ขายง่ายขึ้น เพราะว่า ไม่ว่าเราจะส่งเป็นเซลล์ไดเร็กส์เข้าไปเองเนี่ย เขาก็สามารถเปิดเว็บได้ แล้วก็ดูว่าผลิตภัณฑ์เรามีอะไรบ้าง เราสามารถทำอะไรได้บ้างหลากหลายรึเปล่า ก็เข้าไปเรียนรู้ตัวนี้ แล้วก็นอกจากการที่มีสัมมนาแล้วก็มีนั่งแลกเปลี่ยนความคิดกัน ประชุมประจำปีค่ะ“
ตัวอย่างถัดไปเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจกันของ “พี่ฝ้าย” ชนัญธิดา จันทร์สวัสดิ์ เจ้าของกิจการผลิตขนมโดนัทและเบเกอรี่ที่ประสบความสำเร็จสามารถส่งขายไปได้ทั่วประเทศและมีแหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์นี่เองครับ
“YEC ฝ้ายพึ่งเข้าปีนี้เอง มันก็ทำให้เราเห็นผู้ประกอบการในจังหวัดนครสวรรค์ด้วยกัน ทำให้เกิดโอกาสในการเชื่อมต่อกันว่าใครทำธุรกิจอะไร แล้วเราช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเรื่องอะไรได้ ก็เลยได้พาร์ทเนอร์ธุรกิจเพิ่มมาจากช่องทางนี้ มันก็เลยดีกว่าการที่เราจะต้องไปใช้บริการคนอื่น ก่อนหน้านั้นก็คือใช้ขนส่งเอกชนหลากหลาย ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคู่ค้าของเรา ด้วย หลังจากมาอยู่ใน YEC มาเจอกับน้องฟ้า ตอนหลังก็เลยเปลี่ยนมาใช้บริการเขาทั้งหมดเลย เพราะง่ายในการทำงานฝ้ายด้วย แล้วพอรู้จักกันมีปัญหาอะไรก็โทรหากันได้“
พี่ฝ้ายใช้บริการขนส่งวัตถุดิบในการผลิตเป็นจำนวนมาก การใช้ขนส่งภายในท้องถิ่นเอง มีความสะดวกและประหยัดต้นทุนลงไปได้มาก สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการสื่อสารที่เป็นกันเอง รับรู้ถึงความต้องการของลูกค้าได้อย่างเข้าใจนั่นเองครับ
สิรินภา หลินภัทรชัย “ฟ้า” คือทายาทกิจการขนส่งสินค้าเก่าแก่ของจังหวัดนครสวรรค์ เป็นรุ่นที่สามต่อจาก คุณพ่อ และปู่ สานต่อกิจการยาวนานมากว่า 60 ปี เมื่อเข้าร่วมกลุ่มพบปะกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยกันในจังหวัดนครสวรรค์ ก็จึงเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจของตัวเองเข้ากับกิจการของเพื่อนๆได้อย่างดี แลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำธุรกิจกับคนในกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ
“ฟ้าว่าการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญค่ะแล้วก็อย่ามองสิ่งนั้นให้มันเป็นปัญหา หรือว่าให้เป็นวิกฤติ ให้มองว่ามันเป็นโอกาส อย่ามองปัญหาที่เกิดขึ้นข้างหน้าว่า เฮ้ย เอาและชีวิตหมดแล้ว ชีวิตจบแล้ว ให้มองว่าในปัญหานั้นอาจจะมีโอกาสบางสิ่งบางอย่างให้เราทำอะไรอยู่ก็ได้ แต่เราต้องค่อยๆ ศึกษาค้นคว้าไปอย่าไปยอมแพ้ หรือว่าอย่าไปย่อท้อ” ฟ้ากล่าวทิ้งท้ายให้กับพวกเราอย่างมั่นใจครับ
ได้อ่านตัวอย่างและความพยายามของพวกเขาเหล่านี้แล้ว การกลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดของลูกหลานคนในชุมชนเมืองอย่างผมก็ดูมีความหวังขึ้นมาทันทีเลยครับ นอกจากรวมพลังกันสร้างสถานที่สำคัญแห่งใหม่ ทั้งพาสาน คลองเกาะญวนที่มีชื่อเล่นว่า “คลองเกซอนเมืองไทย” หรือที่กำลังสร้างอยู่ อย่างองค์เจ้าแม่กวนอิมที่จะประดิษฐานในเร็ววันนี้ เป็นหลักฐานที่แสดงออกมาให้คนที่ผ่านไปมาได้เห็นว่า นครสวรรค์ เป็นเมืองที่ไม่ยอมแพ้อย่างชัดเจน อีกสิ่งนึงที่อยู่เบื้องหลังที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “คน”ที่จับมือกันผลักดันอยู่หลังม่านเหล่านี้เองครับ
ปล. กลับบ้านคราวนี้ ได้ยินสำเนียงคนนครสวรรค์อีกครั้ง เช่นคำว่า “อึ้ย” เป็นคำติดปาก ใช้พูดก่อนยกตัวอย่าง หรือยกคำพูดของผู้อื่นมากล่าว หรือใช้ทักทายก็ได้ เช่น “อึ้ยเนี่ย มีคนบอกว่าปากน้ำโพอาหารอร่อย จริงหรือ?” หรือ “พอได้ยินคนพูดแบบนี้ก็คิดในใจว่า อึ้ย แม่เราก็ทำขาหมูอร่อยใช้ได้นี่นา” เป็นต้น ซึ่งผมเดาว่า ใช้คล้ายกับ “เฮ้ย” แต่ด้วยนิสัยของคนนครสวรรค์ คำว่า “เฮ้ย” อาจจะดูหยาบคายเกินไป หรือคำว่า “อุ๊ย” อาจจะใช้ได้เฉพาะผู้หญิง จึงกำเนิดคำว่า “อึ้ย” ก็แล้วกันใช้ได้ทั้งชายและหญิงคำนี้ขึ้นมาครับ ทั้งนี้ ยังมีอีกคำครับ คำว่า “แงะ” ซึ่งกร่อนคำมาจาก “หรืออย่างไร?” ใช้ลงท้ายคำถาม เช่น “สบายดีแงะ” “หน้าแดงแบบนี้ไม่สบายแงะ” เป็นต้นครับ