อยู่ดีมีแฮง : คุยกับ “ศราวุฒิ มูลพันธ์” เกษตรทำมือ 5 ไร่ 5 แสนต่อปี

อยู่ดีมีแฮง : คุยกับ “ศราวุฒิ มูลพันธ์” เกษตรทำมือ 5 ไร่ 5 แสนต่อปี

มนุษย์วัยทำงานอาจมีหลายความฝัน “มีเงินเดือนพอเลี้ยงชีพ มีหน้าที่การงานมั่นคง ดูแลคนในครอบครัวได้” ซึ่งความฝันมีหลากหลาย บ้างคล้ายคลึง บ้างต่างกันลิบลับ แต่เชื่อว่าฝันหนึ่งที่เหมือนกัน “คือการได้อยู่ที่บ้านกับครอบครัว”

“อยู่ดีมีแฮง” เปิดโอกาสให้ผู้เขียนออกเดินทางไปไถ่ถาม พูดคุยกับผู้คนมากหน้าหลายตาได้มีโอกาสสัมผัสรับฟังหลายความฝัน บ้างสำเร็จ บ้างริเริ่ม และบ้างล้มเลิก เพื่อบอกเล่าสื่อสารสู่วงกว้างผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงข้อเขียนในเว็บไซต์นี้

นับจากบรรทัดนี้ ผมจะพาเดินทางไปพูดคุยกับเกษตรกรรุ่นใหม่ “ศราวุฒิ มูลพันธ์” ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ผู้นำชุมชนที่บ้านโคกสว่างหมู่ 9 ต.ไร่ขี  อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ ผู้เคยเดินทางไล่ล่าความฝันในเมืองใหญ่ในฐานะมนุษย์เงินเดือน แต่ ณ วันนี้ นาทีนี้ เขากำลังสร้างฝันบนผืนดินของตัวเอง ท่ามกลางความอบอุ่นของครอบครัวและพร้อมส่งต่อให้กับคนในชุมชน ซึ่งไม่ว่าฝันของหลายคนอาจจะ “เหมือน” หรือ “ต่าง” แต่อยากจะชวนทุกคนมาเติมพลังฝันด้วยกันครับ

ก่อนหน้านี้ไปอยู่กรุงเทพฯ มาหลายปี

ผมเอ่ยถาม “ศราวุฒิ มูลพันธ์”  หลังแนะนำตัวกันเสร็จสรรพ เพื่อเริ่มต้นบทสนทนา “แต่ก่อนผมก็ไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ตั้งแต่ไม่มีครอบครัวก็ไปไปทำงานทางกรุงเทพฯ ทางต่างจังหวัด ทางภาคตะวันออกก็ไป หลังจากแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ก็ยังไปอยู่ แต่รายได้มันก็ไม่พอจะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต เราต้องทำงานทุกวันเราถึงจะมีรายได้เพื่อที่จะเลี้ยงตัวเรา อยู่กรุงเทพฯ เพื่อที่จะมีรายได้ส่งมาเลี้ยงลูกเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่อยู่ที่บ้าน ในส่วนนี้มันก็เป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง แล้วก็ไม่ได้อยู่กับครอบครัว เราไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ผมกับภรรยาก็ไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ ลูกก็ต้องอยู่บ้าน เพราะว่าจะเอาลูกไปด้วย ภาระค่าใช้จ่ายมันสูงเราก็ไม่สามารถรับภาระส่วนนั้นได้ ก็ต้องเอาลูกไว้บ้านกับคุณตา คุณยาย แล้วส่งเงินมาเพื่อเป็นค่าเลี้ยงดู แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จึงตัดสินใจจะกลับมาสู้อยู่ที่บ้าน ถึงจะไม่ได้มีรายได้อะไรมากมายเหมือนแต่ก่อน เดือนละ 2,000 – 5,000 บาท เราก็ทำอาชีพเกษตรพออยู่พอกิน ก็ทำเพื่อที่จะได้อยู่กับครอบครัว” ศราวุฒิ ร่ายยาว พร้อมย้อนความหลังเมื่อครั้งทำงานในเมืองใหญ่  

กลับบ้าน ตั้งหลักสู้

“ก่อนหน้านี้ แค่ที่นาเรายังไม่มี ผมไปเช่านาของคนอื่นทำ 1 ปี ก็ประมาณ 20-50 ไร่ แต่ว่าก็ไม่พอที่จะจุนเจือครอบครัวอยู่ดี เพราะว่านาที่เช่าบางปีมันก็น้ำท่วม ข้าวทำมาก็ไปขาย หักต้นทุนแล้วก็เหลือแค่ไม่กี่บาท เราจะนำมาใช้จ่ายในทั้งปีมันก็ไม่พอ ในส่วนนี้ก็เลยต้องปรับเปลี่ยน จะทำอย่างไรเราถึงจะมีอยู่มีกินตลอดทั้งปี เพราะว่าแต่ก่อนเราทำพืชเชิงเดี่ยว หาเงินมาได้ ขายข้าวมาได้ ก็ต้องมาซื้ออาหารกินเหมือนเดิม ต้องมาซื้อปู ซื้อปลา ซื้อไข่ เพื่อที่จะบริโภค ซื้อผัก หลาย ๆ อย่าง พวกพริก มะเขือ มะนาว ก็ต้องซื้อทั้งหมด มันก็ไม่เพียงพอทั้งหมด ถึงแม้เราจะหาเงินมาได้เยอะขนาดไหนก็หมดไปกับการกิน แค่ค่ากินก็ประมาณเดือนละ 10,000 บาท มันก็ไม่พอชีวิตมันก็ติดลบ ก็เลยมีความคิดอยากจะปรับเปลี่ยนที่จะทำ”

ตั้งหลัก เชื่อมั่น ลงมือทำบนพื้นที่ 5 ไร่

 แม้แต่ที่ดินจะทำก็ยังไม่มี ก็ต้องดิ้นรนหลาย ๆ อย่างในการที่จะหาที่ดิน เพื่อที่จะได้ทำในเรื่องของเกษตรผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็พอดีมีคนจะแบ่งขายให้ก็ไปกู้ ธ.ก.ส. มาด้วยในส่วนหนึ่ง กับเงินตัวเองที่เก็บไว้อีกส่วนหนึ่งซื้อที่ ครั้งแรก ก็ซื้อประมาณ 3 ไร่ ก็มาทำนาอย่างเดียวครั้งแรกยังไม่มีทุนก็มาซื้อเพิ่มอีก 2 ไร่ ก็เป็น 5 ไร่ ก็ยังไม่กล้าที่จะปรับเปลี่ยนอะไรในครั้งแรกแต่ก็ปีที่ 2 เราก็ขุดบ่อเลี้ยงปลาเพิ่ม 2 บ่อ มันก็ทำให้เรามีรายได้เพิ่มจากที่ขายข้าวอย่างเดียวปีละ 10,000-20,000 บาท ไม่เกินนี้ ก็มาขายปลาด้วย ปีนั้นได้เงินประมาณ 50,000 บาทก็ขายปลา 2 บ่อ ก็เลยรวมกับขายข้าวก็ได้ประมาณ 60,000 บาท ผมเลยคิดว่าจะทำอย่างไรจะทำให้ได้เยอะกว่านี้

ในปี พ.ศ.2559  ที่ผมได้มีโอกาสเดินทางไปกราบพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ไปเห็นนิทรรศการต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักการทรงงานของพระองค์ท่าน เรื่องของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผมก็ได้แรงบันดาลใจจากพระองค์ท่าน ด้วยความตั้งใจเลย กลับบ้านเราจะต้องทำให้ได้ ถึงใครจะว่าอะไรก็ตาม ก็ต้องทำให้ได้ ต้องไปปรับเปลี่ยนเพื่อที่จะให้มันเกิดรายได้ ให้ครอบครัวเราอยู่ได้ พอกลับมาอยู่บ้านผมก็มาปรับที่เลยทั้งหมดพื้นที่ทั้งหมด 5 ไร่ ผมปรับพื้นที่ขุดสระเลี้ยงปลา อยู่ 10 บ่อ ครั้งแรก แล้วก็การขุดสระใครก็บอกว่าลงทุนสูงแต่ผมก็พยายามลดต้นทุนคือจะถมที่ข้างบนอยู่แล้วเพื่อที่จะถมที่ทำด้านปศุสัตว์ ที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ข้างบน ปลูกหญ้าปลูกพืช ผมก็จ้างรถเข้ามาถมดิน แล้วก็ไปขุดเอาดินข้างล่างของเราเพื่อที่จะให้มันเป็นสระ ขนเอาดินขึ้นมา จ้างรถขนดินคันละ 120 บาท ทั้งหมดประมาณ 300 คันรถ หมดไปประมาณ 36,000 บาท เราก็ได้ถมที่เรียบร้อยเลย

สิ่งที่เราได้ตามมาก็คือสระปลาเราไม่ต้องไปจ้างขุดสระ ส่วนนี้ก็ลดต้นทุนไป เพราะว่าก็ทำเพื่อที่จะลดต้นทุนให้เยอะที่สุด เลี้ยงปลา 10 บ่อ เราก็เลี้ยงหลายชนิดด้วยกัน เพราะว่าเราไม่ได้กินแค่ปลาชนิดเดียว การบริโภคอาหารในแต่ละวันไม่ซ้ำกันอยู่แล้ว ก็เลี้ยงปลานิล ปลาหมอ ปลาตะเพียนหลายชนิดด้วยกัน ปลูกพืช ปลูกกล้วย ปีที่แล้วผมก็ปลูกประมาณ 1,000 ต้น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง ปลูกหญ้า เลี้ยงวัว เพื่อที่จะลดต้นทุนของค่าอาหารด้วย ในส่วนหนึ่งก็คือทุกวันนี้ผมใช้หญ้าในด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ แต่ก่อนเลี้ยงแต่วัว แต่ว่าทุกวันนี้ก็เอามาสับเลี้ยงอาหารเป็ด อาหารไก่ อาหารหมู ได้หมด ทุกวันนี้ ก็ทำอาหารปลาด้วย หมักส่วนผสมของอาหารปลา ก็มีเลี้ยงเป็ดไข่ ไก่ไข่ เลี้ยงหมู ไก่บ้าน ในส่วนของปศุสัตว์ ก็เลี้ยงวัว แต่ว่าไม่ได้ทำทีละเยอะ เพราะว่าเราจะเน้นผสมผสาน

หนึ่งเราทำเราได้กินลดต้นทุนค่าอาหาร  สองเหลือกินเราก็ได้แจกให้ญาติพี่น้องด้วย เหลือจากตรงนั้นเราก็ได้ขาย สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ทุกวันนี้ไม่ว่าจะด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ เราก็สามารถเกื้อกูลกัน ช่วยลดต้นทุนในเรื่องของการผลิตลงไปเยอะ

ที่ดินทำกิน 5 ไร่ ต้องจัดสรรให้เป็นสัดส่วน

ผมมีสระปลาอยู่ 10 บ่อ ตอนนี้ก็น่าจะอยู่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ คือเป็นสระน้ำแต่ก็มีนาข้าวอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่อยู่อาศัย กับคอกปศุสัตว์อีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นพวกไม้ผลกับแปลงหญ้าประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนนี้ที่เหลือก็ปลูกไปตามขอบสระ ด้านพืชต่าง ๆ ก็จะอยู่ประมาณนี้ครับ

เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ ผลลัพธ์เปลี่ยน

เปลี่ยนครับ แบบที่ว่าจากรายได้ 15,000-20,000 บาท ที่ผมบอกมันเพิ่มมาเป็น 400,000 บาท ในปีแรก เพราะว่าปีแรกผมขายกล้วย ได้เครือละ 200 บาทประมาณ 800 ต้น เพราะว่าพันธ์ต้นมันก็ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ ต้นที่เครือไม่ใหญ่ก็ประมาณ 800 ต้น ก็ได้ราว ๆ 160,000 บาท เฉพาะขายกล้วยอย่างเดียว ก่อนที่กล้วยจะได้ขาย ผมก็ปลูก พริก มะเขือ ฟักทอง แตงกวา ไว้ด้วย มีข่า ตะไคร้ ด้วย ร่วมกันกับกล้วย มันก็ให้ผลผลิตให้รายได้ ใน 1 ปี ก็หลายหมื่นบาทด้วยกัน ก็ประมาณ 3,000-40,000 บาท ตั้งแต่ขายพวกพริก มะเขือ ทีนี้รายได้ก็มาจากการขายหญ้า ปีนั้นผมปลูกหญ้าประมาณ 3 งาน ขายหญ้าได้เงิน ประมาณ 40,000 บาท แค่ขายหญ้าอย่างเดียว แล้วก็มีขายไข่เป็ด ไข่ไก่ ทุกวัน แล้วก็ขายฝุ่น มูลวัว ขายลูกวัว ก็ขายสินค้าแปรรูป มีปลาส้ม ปลาแห้ง ขายกบ 1 ปี ก็ได้เยอะพอสมควร ก่อนหน้านี้ก็ยังเลี้ยงกบมาเยอะ แต่ทุกวันนี้ก็เพิ่มขึ้นมา ก็ขึ้นเพิ่มขึ้นมาเยอะ ก็ค่อยไล่เป็นขั้นบันได จากที่ปีแรกได้ 400,000 บาท มาปีที่สองผลผลิตของเราเริ่มอยู่ตัว เราก็มีเวลาพี่จะพัฒนาต่อยอด ปริมาณการผลิตก็เพิ่มขึ้น เราก็มีรายได้ ปีที่สองก็ได้ประมาณ 600,000 บาท

เพราะว่าปลาเราก็เริ่มลดต้นทุนลง รายได้เราก็เพิ่มขึ้น เพราะว่าเราลดต้นทุน แล้วก็เรื่องของการเลี้ยงปศุสัตว์ เราเพิ่มเรื่องของการเลี้ยงไก่บ้านขึ้นมา กบเราก็เลี้ยงเยอะขึ้น เราก็มีการปลูกพืชที่มันให้ผลผลิตเร็ว ก็คือพวก พริก มะเขือ เพราะว่าตลาดเราทำได้แล้ว ก็ต้องเพิ่มปริมาณขึ้นด้วยในส่วนนี้ มันก็มีรายได้จากการแปรรูปส่วนหนึ่ง ก็มีพี่น้องมาเยี่ยมชมหลาย ๆ ท่านเข้ามา ซื้อสินค้ากับเราก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบันรายได้ก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ในปีที่ 3 ปีที่ 4 ก็มีแต่เพิ่มขึ้นไม่ได้ลดลงสักครั้งเลย เศรษฐกิจจึงจะแย่ขนาดไหนอย่างช่วงโควิด-19 และหลายภาคส่วนอยู่ไม่ได้ แต่เรื่องของการเกษตรมันจะอยู่ได้เพราะว่าอะไร นั่นเพราะหนึ่งเรามีอาหารกิน ถึงจะเกิดเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น อาหารเรายังมั่นคงอยู่ถึงจะอยู่กับที่ก็ยังมั่นคง ไม่ได้ติดต่อกับใครแล้วก็ยังมีอาหารกิน สอง รายได้มาจากการขายอาหารเอง ถึงอย่างไรก็ได้ขายถึงเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรคนก็ยังกินเหมือนเดิม ไม่ใช่ว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดีคนจะไม่กิน ก็คือการกินการอยู่ก็ต้องกินเหมือนเดิม มันเป็นสิ่งจำเป็น เป็นปัจจัย 4 ในเรื่องของการดำรงชีวิต ต้องมีอาหารอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเราผลิตอาหารอย่างไรก็อยู่ได้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เราก็สามารถที่จะดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงในเรื่องของการปรับเปลี่ยนของเราในส่วนนี้

รายได้หลักบนพื้นที่ 5 ไร่ มายังไง ไปยังไง อะไรเป็นหลัก อะไรเป็นรอง

รายได้ที่เป็นหลักเลยในเรื่องของประมง ทุกวันนี้ปลา 10 บ่อของผม 1 ปีจะเลี้ยงอยู่ 2 รุ่น เพราะว่าเราประเมินอย่างน้อยสุด ผมปล่อยบ่อละประมาณ 2,000 -3,000 ตัว 1 รุ่นต่อบ่อ จะได้ประมาณ 30,000 บาท ต่อบ่อ ถ้า 10 บ่อก็จะประมาณ 300,000 บาท  ถ้าคิดเป็นปี มีปลา 2 รุ่น ก็ประมาณ 50,000- 60,000 บาท ต่อบ่อ

อันที่สองก็คือในเรื่องของขายพืช ผมก็จะมีขายกล้วย ขายหญ้า ที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ ที่เลี้ยงขายหญ้า แล้วก็มี หน่อไม้ มีพริก มะเขือ ในเรื่องของขายพืช เราก็ขายตลอดทั้งปี เพราะว่าเราก็จะปลูกตลอดทั้งปีเลย มีมะนาวต่าง  ๆ เรื่องต่อมารายได้ก็เกิดจากเรื่องของปศุสัตว์ จะมีขายวัวในแต่ละปี เลี้ยงวัว เราจะได้ขายตัว ขายลูกวัวขาย ขายมูลสัตว์ ขายไข่เป็ด ขายไข่ไก่ ไข่ไก่บ้าน ขายลูกหมู ในส่วนของเรื่องปศุสัตว์ครับ ก็จะมีในเรื่องของการแปรรูป เรื่องของการขายปลาส้ม ปลาตากแห้ง กล้วยตาก แจ่วบอง ประมาณนี้ครับในเรื่องของการแปรรูป

แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือขายขายกบ ผมลืมพูดไปเมื่อสักครู่ ขายกบ 1 ปี ก็มีหลายรุ่นด้วยกัน รุ่นละประมาณ 10,000 ตัว ประมาณนี้ครับ 1 รุ่น ก็ได้ประมาณ 100,000 บาท ครับ เพราะว่าผมขายกบเนื้อ ขายกิโลกรัมละ 100 บาท ตัวก็ประมาณ 6,000 – 7,000 ตัว คิดตัวละ 10 บาท 1 ปี ก็ได้ 60,000-70,000 บาท เราก็เลี้ยงหลายรุ่นด้วยกันครับ

ทุกวันนี้ก็มีญาติพี่น้องมาเยี่ยมชมมาเป็นหมู่คณะ เขาให้เราทำอาหารในส่วนของเรื่องของอาหารเที่ยงต่าง ๆ เราก็ใช้วัตถุดิบต่าง ๆ ที่เรามีทำกับข้าวให้กับพี่น้องเราได้กิน ก็เหมือนกับเราได้ขายของในสวนไปด้วยมันก็เกิดรายได้อยู่ตลอด ที่เป็นรายได้ภาพรวมก็จะอยู่ประมาณนี้ครับ

นอกจากแรงคิด ต้องมีแรงงานเพื่อลงมือทำ

แรงงานของเราก็มีแค่คนในครอบครัวครับ ก็คือมีผม มีแม่บ้าน ลูกสาว ลูกชาย มีอยู่ 4 คน เราก็ไม่ได้ทำอยู่ที่นี่เป็นประจำอยู่แล้ว เราก็มีทำงานอย่างอื่นด้วยก็สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามา ก็ไม่ได้เข้ามาทำอยู่ที่สวนเป็นประจำ เพราะว่าเราก็ทำเท่าที่เรามีเวลาว่าง ถ้ามีงานอย่างอื่นเราก็ไปทำก่อน คือสามารถที่จะสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาทำได้ ผมเองก็มีหน้าที่หลายอย่าง  ก็ไม่ได้ใช้แรงงานเยอะเพราะว่าเราเน้นการบริหารจัดการ ถ้าเราบริหารจัดการให้เป็นระบบให้มันง่าย คือ สวนเราไม่จำเป็นต้องมายืนรดน้ำทั้งวัน เราวางระบบน้ำให้มันดี มันก็สามารถที่จะลดเวลาในการที่เราจะมายืนรดสวนทั้งวัน มีเวลาไปทำอย่างอื่น

การทำเกษตรของผมก็คือจะเน้นลดต้นทุน ก็ถ้าเกิดว่าลดต้นทุนได้ก็อยู่ได้ ถ้าหากว่าเราทำต้นทุนสูง หักลบกลบหนี้ออกมาแล้วก็ขาดทุน หรือมีกำไรก็มีน้อย แต่ถ้าเกิดว่าเราสามารถที่จะลดต้นทุนได้อย่างที่ผมบอกการขุดดินการวางแผนแปลง คือ จ้างเขาขุด ในแปลงนาตัวเอง เอาดินมาถมตรงนี้อย่างไรก็ตามเราก็ต้องจ้างถมดินอยู่แล้ว บ่อของเราก็ไม่ได้เสียค่าขุดเราได้ถมที่แล้ว ก็ได้บ่อด้วย

อย่างเรื่องของอาหารอาหารปลาแบบนี้เราก็ทำ อาหารปลาเสริมด้วย เราก็ไม่ได้ใช้อาหารเม็ดทั้งหมด แต่ก็ยังใช้อยู่แต่ว่าก็ลดต้นทุนของอาหาร ที่เราทำฟางหมักไว้ตามบ่อ แล้วก็เรื่องของอาหารปลาปั้นก้อน ก็ช่วยลดต้นทุนในเรื่องของอาหารปลา

ด้านปศุสัตว์ ก็คือเรื่องของอาหารคือเรื่องสำคัญเลย ก่อนหน้านี้ผมใช้ 100 เปอร์เซ็นต์เลย  อาหารมันต้นทุนสูง ก็มาลดลงใช้หญ้าหวานเข้ามาช่วยลดไป 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าใช้อาหารไก่ 20 เปอร์เซ็นต์ ใช้รำ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ใช้หญ้าหวานเข้ามาช่วยอีก 60 เปอร์เซ็นต์ มันก็เกิดกำไรขึ้น มาถ้าสมมุติใน 100 เราก็มีกำไรแล้ว 60 บาท เรื่องของการบริหารจัดการด้วยคือที่ผมบอกอย่างที่ผมเลี้ยงปลาผมเลี้ยงบ่อเล็กไม่ได้เลี้ยงบ่อใหญ่มาก การบริหารจัดการก็ง่าย เพราะว่าผมสามารถที่จะจับคนเดียวได้ก็ไม่ได้ใช้แรงงานเยอะในส่วนนี้การบริหารจัดการสำคัญ  

การเริ่มต้นทำเกษตรต้องใช้ “เงินทุน” สูง ?

หลายคนคงจะพูดแบบนั้น ต้นทุนจริง ๆ ในการเริ่มต้นทำตั้งแต่ครั้งแรก มันจะอยู่เรื่องของขุดบ่อ มันไม่ได้จ่ายอยู่แล้วเพราะว่าผมถมที่ค่าถมที่อยู่ประมาณ 36,000 บาท แล้วก็จะมีค่าเจาะบาดาล 10,000 บาท แล้วก็ในเรื่องปั๊มน้ำ ตอนนั้นผมจ่าย 11,000 บาท ประมาณนี้ รวมหอถังอีกประมาณ 10,000 บาท ระบบน้ำมันก็จะตกประมาณ 70,000 บาทครับ แล้วก็ของการถมที่ก็เป็น 100,000 บาท ที่เหลือก็เป็นพวกพันธุ์เป็ดไข่ ไก่ไข่ พันธุ์พืชแต่ว่าพันธุ์พืชมันจะไม่เปลืองเท่าไหร่ เพราะว่าผมปลูกกล้วยแค่เราปลูกครั้งแรกก็ 10-20 ต้น ก็ใช้เวลาไม่นานก็จะออกหน่อเยอะมาก ก็ค่อย ๆ ขยายปลูกออกไป ต้นทุนก็จะได้ไม่สูงในส่วนนี้ ก็รวมของผมเริ่มต้นจริง ๆ ก็อยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท เพราะว่าเป็ด ไก่ก็ไม่ได้ซื้อเยอะ ซื้ออย่างละ 10-30 ตัว ทีนี้พอเริ่มมีกำไรขายได้เราก็ค่อยเอาในส่วนนั้นมาขยายต่อเรื่อยไม่ใช่ว่าเราจะลงในครั้งเดียวเลย

ถอดบทเรียนตัวเองเพื่อแบ่งปัน “ผ่านมา 4-5 ปี เราทำอย่างไร”

หลักเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไขนำไปสู่ 4 มิติ ผมว่านำมาใช้กับชีวิตจริง เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดเลย

หนึ่งความพอประมาณ ความพอประมาณ ก็คือผมเอามาใช้ในเรื่องของทำอะไรก็ทำให้มันพอประมาณ อย่างพื้นที่ผมก็ทำให้มันพอประมาณกับแรงของตัวเอง ปลูกพืชตัวนี้ก็พอประมาณ ประมงปศุสัตว์เลี้ยงเป็ดไข่ก็เลี้ยงพอประมาณ ผมไม่ได้เลี้ยงเรื่องที่ว่าอย่างเดียวเน้น ๆ อยากเลี้ยงปลาผมก็ปล่อยหลายชนิด เอาแต่พอประมาณ 3-4 ชนิด ไม่ใช่ชนิดเดียวเพราะว่าก็พอประมาณ

เราทำเรื่องอาหารอย่างไรมันก็อยู่ได้ หนึ่งได้กิน สองได้ขาย คนก็ต้องซื้ออยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต แล้วก็มีภูมิคุ้มกัน เรื่องภูมิคุ้มกันนี้เพราะว่าเราทำหลายอย่าง ทุกอย่าง มันสามารถจะมีห้วงเวลาที่จะถูกจะแพงถึงตัวไหนจะถูกหรือตัวไหนจะแพงก็อยู่ได้ หรือว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีมันก็อยู่ได้ เพราะว่ามันมีภูมิคุ้มกันให้เราภูมิคุ้มกันที่จะทำให้เรายืนอยู่ได้อย่างโควิด-19 ที่ผ่านมาเกิดวิกฤตอย่างหนักเลย ถือว่าภูมิคุ้มกันของเราดีมาก ในส่วนนั้นนำไปสู่ 2 เงื่อนไข ก็คือนำความรู้คู่คุณธรรม ของผมหลายอย่างการทำ มันได้ความรู้ครับ เพราะว่าทำไปประสบการณ์มันจะสอนว่าเราทำแบบนี้มันไม่ถูกต้อง ประสบการณ์สอน ครั้งหน้าเราก็ต้องทำใหม่ตัวไหนที่เราลองผิดลองถูกอันไหนมันดีแล้วก็เอาตัวนั้นมาใช้มาปรับเปลี่ยนอย่างแต่ก่อนที่ผมลงปลาผมลงเยอะมาก แต่พอเลี้ยงไปสักพัก แล้วเกิดปัญหาอาหารก็เปลือง ปลาก็ไม่ใหญ่ หลายอย่าง ปล่อยอาหารเยอะเกินไป ก็ได้ความรู้จนเกิดขึ้น ยังการเลี้ยงปลาก็เลี้ยงซ้ำ ๆ บ่อเก่า มันทำให้เกิดโรคก็ได้ความรู้ ก็ได้นำมาปรับใช้ ความรู้คู่คุณธรรม ก็คือความรู้คู่คุณธรรมนำไปสู่ 4 มิติ ก็เกิดเศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม คือเศรษฐกิจมันก็ดีขึ้นสำหรับของผมในครอบครัว

จากที่ผมว่าไม่ต้องไปดิ้นรนหางาน ก็รอแต่คนมาจ้างงาน แต่ทุกวันนี้ก็มีแต่คนมาหา มีแต่คนเอาเงินมาให้เรา มาขอซื้อแบ่งปันหลายสิ่งหลายอย่าง ก็คือเศรษฐกิจมันก็ดีขึ้น สังคมพี่น้องก็มาเยี่ยมมายามทุกครั้ง สิ่งแวดล้อมที่ดี ก็คืออากาศร่มรื่นเย็นสบายเป็นปอดธรรมชาติอันใหญ่เลย ผิดกันกับสังคมเมืองวุ่นวาย ไปกรุงเทพฯ แต่ละครั้งคือปวดหัว เหมือนจะเป็นไข้ คนเคยอยู่อากาศสบาย ๆ

หลังจากทำไปแล้วก็มีเวลาความสุขหันมาสืบสานวัฒนธรรม ลูกชายก็เป่าแคน พ่อก็ตีกลอง แม่ก็ฟ้อนรำ มันก็มีความสุขมันคือวิถีเก่า ๆ อีสานของเราสมัยก่อน มันทำให้เราสุขภาพดี พัฒนาไปเป็นที่เขาว่า 4 เสาแห่งความมั่นคง “พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น” มีการทำบุญ ทำทาน มีการแบ่ง พี่น้อง ในเรื่องของการแปรรูปก็เกิดขึ้นมา การแปรรูปการจำหน่ายจนทุกวันนี้มาอยู่ในขั้นที่ว่าสร้างเครือข่าย ตอนนี้ก็ขยายไปเรื่อยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เราก็ยินดีเป็นพี่น้องเครือข่ายกันก็ถือว่าดีได้เอามาใช้

“ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน” ถ้าเกิดว่าเรายังทำไม่ได้ ไปบอกใครก็ยาก เราจะไปเล่าสู่ใครฟังในเมื่อตัวเราเองก็ยังไม่ได้ มันเป็นเรื่องยาก จนถึงทุกวันนี้ผมก็พูดให้พี่น้องฟัง พี่น้องก็เชื่อเพราะว่าพี่น้องได้มาสัมผัสได้มาเห็นได้มาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ว่าเราพูดแต่เรื่องของทฤษฎีพูดไปเฉย ๆ มันไม่เห็นภาพมันทำให้มโนไปเป็นเรื่องยาก เหมือนกับอย่างที่เราฟังนิยายถ้าจะเปรียบเทียบถ้าเราพูดปากเปล่าก็เหมือนเราฟังนิยายเหมือนเรามโนขึ้นว่ามันเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ทุกวันนี้มันก็คล้าย ๆ กับว่าเราดูภาพยนตร์ เห็นภาพ เห็นของจริง แล้วก็ได้สัมผัสได้จับได้ต้อง ก็เกิดเป็นรูปธรรม คือ ส่วนนี้มันมีผลในการที่จะไปเปลี่ยนแปลงคนอื่นด้วยในการที่เราเป็นต้นแบบที่ดีครับ”

ราว ๆ 1 ชั่วโมงในการพูดคุย เหมือนผมเองก็กำลังดูหนังสั้นที่ “ศราวุฒิ มูลพันธ์”  กำกับลำดับเรื่อง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเขา ผู้ซึ่งผมจะเรียกว่า “เกษตรกรทำมือ” ที่ลงมือสร้างฝันบนผืนดินของตัวเอง และกำลังฉายภาพและส่งต่อความอยู่ดีมีแฮงนั้นไปสู่คนรอบข้างด้วยรอยยิ้มและสองมือของเขา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ