เกิดเหตุลอบสังหารนักปกป้องสิทธิด้านที่ดินสมาชิก สกต. ทำองค์กรสิทธิออกหนังสือด่วนถึง กสม. หามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการสังหารและคุกคามนักปกป้องสิทธิฯ และให้เร่งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตั้งโต๊ะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนก่อนมีการสูญเสีย
20 ต.ค. 2563 – รายงานด่วนจากชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี หนึ่งในสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. วันนี้ (20 ต.ค. 2563) เกิดเหตุการณ์ลอบสังหาร นายดำ อ่อนเมือง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินชุมชนสันติพัฒนา โดยคนร้ายขับรถยนต์เข้ามาบริเวณพื้นที่เพิงพักจุดรักษาความปลอดภัยของชุมชน ซึ่งตั้งอยู่หน้าทางเข้าชุมชน ขณะที่มีชาวบ้านที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยนอนอยู่ 4-5 คน
นายดำ เล่าเหตุการณ์ว่าคนร้ายขับรถเข้ามาจอดห่างจากเพิ่งพักประมาณ 400-500 เมตร และเดินเข้ามาใกล้ ขณะที่นายดำซึ่งได้ยินเสียงจึงตะโกนถามออกไปว่าต้องการจะเข้าไปในชุมชนหรือ คนร้ายก็เดินถอยออกไปและเดินกลับมาอีกครั้งโดยใช้ปืนยิงมายังมุ้งที่นายดำอยู่ แต่นายดำหลบได้ทันทำให้ไม่ได้รับบาดเจ็บ และต่อมาได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ ส่วนคนร้ายได้ขับรถยนต์หลบหนีไป
ด้านชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่าผูก่อเหตุอาจเป็นคนงานของบริษัทเอกชนที่มีข้อพิพาทกับชุมชนมาก่อน ทั้งนี้ในเวลาต่อมามีชายชื่อว่านายสมพร ฉิมเรือง เดินทางเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางสวรรค์ และพยายามที่จะไกล่เกลี่ยให้ยอมความ
จากการโทรศัพท์สอบถาม พ.ต.ท.บัญชร วัฒนะปรีชาพงศ์ สว.สอบสวน สภ.บางสวรรค์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับแจ้งความในคดีนี้ ได้รับข้อมูลว่า ตอนนี้จับผู้ต้องหาได้แล้วและได้ดำเนินคดีในข้อหาพยายามฆ่า ส่วนการดูแลความปลอดภัยของชาวบ้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดส่งสายตรวจเข้าไปดูแลชาวบ้านเพิ่มเติมแล้ว
เมื่อสอบถามถึงกรณีที่ชาวบ้านขอสำเนาใบแจ้งความแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้ชาวบ้านไปในทันทีนั้น พ.ต.ท.บัญชรกล่าวสั้น ๆ เพียงว่าเบื้องต้นได้ประสานกับชาวบ้านและได้แอดไลน์พูดคุยกับชาวบ้านในกรณีนี้เรียบร้อย แล้วก่อนจะตัดบทสนทนาไป
ทั้งนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าเหตุการณ์ลอบสังหารที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากความขัดแย้งส่วนบุคคล แต่มาจากกรณีปัญหาที่ดินที่ตั้งชุมชนสันติพัฒนา ซึ่งชาวชุมชนพยามยามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการจัดสรรในรูปแบบโฉนดชุมชนมาอย่างยาวนานกว่า 9 ปี หลังจากบริษัทเอกชนหมดสิทธิครอบครองตามกฎหมายแล้วและปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการทางคดีความ
ต้นตอปัญหามาจากกรณีที่ดินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) ที่ถูกปล่อยให้บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในพื้นที่เช่าทำสวนปาล์ม แต่บริษัทเอกชนเหล่านั้นก็ได้บุกรุกพื้นที่เกินกว่าสัญญาเช่าโดยอ้างถึงกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินในการครอบครองพื้นที่อย่างถูกต้อง โดยพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรมเลี้ยงชีพและครอบครัวมาก่อนหน้านี้แล้ว
หลังเกิดเหตุ องค์กร Protection International (PI) ที่ทำงานด้านความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ทำหนังสือด่วนถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้เร่งหามาตรการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนในการปกป้องนักปกป้องสิทธิด้านที่ดินกรณีนี้ ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงให้มีความปลอดภัยในชีวิตจากการถูกสังหารและข่มขู่ถึงขั้นจะเอาชีวิต จากการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยใน จ.สุราษฎร์ธานี
PI จี้ กสม.เร่งคุ้มครองสิทธิ
น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจาก Protection International (PI) กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า จากแนวโน้มการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิด้านที่ดิน สมาชิกของสกต. ซึ่งเผชิญในหลายรูปแบบ ทั้งการใช้ความ รุนแรงทางกายภาพ การฟ้องร้องดำเนินคดี การลอบทำร้ายโดยใช้อาวุธสงคราม การถูกจับกุมคุมขังโดยมิชอบ ไปจนถึงการสังหารนักปกป้องสิทธิด้านที่ดินไปแล้ว 4 ราย 3 ปีที่ผ่านมามีการลอบสังหารด้วยอาวุธสงคราม
ล่าสุดการลอบสังหารวันนี้ ทำให้เห็นชัดถึงภาวะอันตรายที่นักปกป้องสิทธิฯ ด้านที่ดินอย่างสหพันธ์เกษตรภาคใต้ต้องประสบอยู่ทุกวัน ทั้ง ๆ ที่สกต.บทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับเกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดินที่รัฐไม่สามารถทำได้ แม้ชุมชนสันติพัฒนาจะต่อสู้จนชนะในแง่ของกฎหมายอาญาแล้วหากแต่ หลังกรณีข้อพิพาทกับบริษัทเอกชนได้จบลง ทางสปก. ยังไม่ได้มอบสิทธิในที่ดินทำกินอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งที่ สปก. สามารถดำเนินการได้เลย แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีการดำเนินการ จนชุมชนเกิดการความขัดแย้งกับเอกชนอีกครั้งนำมาสู่การลอบสังหารในที่สุด
ทั้งนี้เราได้ประสานงานด่วนไปยัง กสม. ซึ่งทางกสม. จำเป็นต้องหามาตรการเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่านักปกป้องสิทธิในที่ดินเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครองและไม่เผชิญภัยอันตรายจากการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในที่ดิน และไม่ให้เกิดความสูญเสียถึงชีวิต เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับสมาชิก สกต. 4คนก่อนหน้านี้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้เลย และอยากให้สังคมช่วยกันจับตาดูว่าคดีนี้ เกิดความผิดซึ่งหน้าขนาดนี้ ตำรวจจะสามารถจับตัวผู้กระทำความผิดได้ไหม จะเกิดภาวะลอยนวลพ้นผิดอีกไหม
น.ส.ปรานม กล่าวอีกว่า ทางเรายังได้เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNWG), สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งประชาชาติ (United Nations Environment Programme) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำงานในประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ให้ใช้ทรัพยากร และอำนาจที่มีอยู่เพื่อประกันว่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหลายจะยุติการคุกคามทั้งทางกายภาพและด้วยกฎหมาย หรือการใช้นโยบายหรือกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุกคามและข่มขู่ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินกรณีสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ โดยทันที
และให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพที่ดีของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่ดีและมีการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างจริงใจ โดยเราหวังว่าหน่วยงานเหล่านี้จะอำนวยความสะดวก ประสานงานให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและหน่วยงานสหประชาชาติ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกันให้มีการคุ้มครองหลักการธุรกิจและสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน
นอกจากนี้เรายังขอให้ กสม.ลงพื้นที่ไปพบปะกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กรณีสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้และร่วมปรึกษาหารือเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการปกป้องและป้องกันมิให้เกิดภัยคุกคาม อันตราย และหามาตรการที่มีประสิทธิผลในการคุ้มครองความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินอย่างเร่งด่วนที่สุด และกสม.ต้องประสานงานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้จัดรถสายตรวจไปติดตู้แดงเพื่อดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันเหตุร้าย
ประสานงานไปยังกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้อง พร้อมจัดประชุมร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการปกป้องและป้องกันมิให้เกิดภัยคุกคาม อันตราย
และหามาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยของ เช่นให้หน่วยงานสั่งการไปยังหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สถานีตำรวจและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในพื้นที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ไม่ให้เกิดการข่มขู่คุกคาม จากกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น และหามาตรการในการป้องกันในฐานะของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิที่ปกป้องผลประโยชนของสาธารณะ หามาตรการอื่น ๆ ที่จำเป็นอย่างสูงสุดในการป้องกันมิให้มีการสังหารนักปกป้องสิทธิในที่ดินสมาชิกของสกต. และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่เกี่ยวข้อง
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กล่าวว่า กสม.ได้รับหนังสือที่ทางองค์กร Protection International ยื่นมาให้แล้ว และกำลังดำเนินการด่วนเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจาก สกต.ที่ถูกลอบสังหาร โดยเบื้องต้น กสม.ได้ทำหนังสือด่วนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีในพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงไปดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับนักปกป้องสิทธิฯ จากสกต.โดยด่วน และได้ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตู้แดงไปติดตั้งในพื้นที่ และยังได้ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งสำเนาใบแจ้งความกลับมาให้กสม.ได้เก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิด้วย
ส่วนการลงพื้นที่เพื่อไปดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับชาวบ้าน ทางกสม.จะดูจังหวะเพื่อที่จะลงพื้นที่เพื่อดูแลและช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านตามข้อเรียกร้องของ PI อย่างไรก็ตามในส่วนของการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตนมองว่าเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกับทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจให้มีความเข้าใจในบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิของประชาชนในพื้นที่ และภาคธุรกิจก็จะต้องเข้าใจว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้นจะต้องไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนด้วย
ข้อมูล PI ชี้การข่มขู่คุกคามเกิดต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ข้อมูลของ PI ระบุว่า ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ชุมชนสันติพัฒนา เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างบริษัทเอกชนและกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นกับนักปกป้องสิทธิในที่ดิน เนื่องจากความขัดแย้งที่ยังคงทวีความรุนแรง และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้ง ๆ ที่ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาแล้วว่าที่ดินที่บริษัทเอกชนได้มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ปฏิบัติงานของชุมชน เผชิญการข่มขู่คุกคามจากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้มีอิทธิพลอยู่อย่างต่อเนื่อง
นายเพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ กรรมการบริหาร สกต. น.ส. ณัฐฐาพันธ์ แสงทับ กรรมการบริหารฝ่ายสตรีของ สกต. และ นายประทีป ระฆังทอง ประธานสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัดคนปัจจุบัน
ข้อมูลจาก PI ระบุด้วยว่า นอกจากกรณีของนายดำแล้วยังมีเกิดขึ้นกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในชุมชนอีก อาทิ นายธีรเนตร ไชยสุวรรณ กรรมการบริหาร สกต. เคยได้รับคำเตือนว่ามีมือปืนติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ส่วนนายเพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ กรรมการบริหาร สกต. เคยถูกคสช. เรียกไปปรับทัศนคติ และคุมขังโดยภายใต้อำนาจพิเศษเป็นเวลา 3 วัน ที่จังหวัดทหารบก สุราษฎร์ธานี (ค่ายวิภาวดีรังสิตกรมทหารราบที่ 25) โดยภายหลังจากที่เขาถูกปล่อยตัว ก็ได้ถูกติดตามความเคลื่อนไหวจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ น.ส.ณัฐาพันธ์ แสงทับ ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารผ่ายสตรีของ สกต. และเป็นกรรมการชุมชนสันติพัฒนา ฝ่ายข้อมูล โดยมีบทบาทสำคัญในการจับตาและขับเคลื่อนนโยบายด้านที่ดิน ในระดับจังหวัดและในระดับชาติก็ถูกข่มขู่คุกคามในหลากหลายรูปแบบ อาทิ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งคาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เข้ามาบุกรุกในพื้นที่ชุมชนสันติพัฒนา และเข้ามาปลูกสิ่งก่อสร้าง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสมาชิกในชุมชน โดยฝ่ายตรงข้ามยืนยันว่าจะเข้ามาใช้พื้นที่ดังกล่าวให้ได้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการเจรจา กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ออกไปแต่มิได้รื้อถอนสิ่งก่อสร้าง ดังกล่าวออกไปด้วย ซึ่งคาดว่ามีเจตนาที่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับสมาชิกในชุมชน ทั้ง ๆ ที่พื้นที่พิพาทดังกล่าว ยังอยู่ใน ระหว่างการรอคำพิพากษาจากศาลปกครอง ว่าโฉนดดังกล่าวที่ออกให้บริษัทเอกชนออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งส่งผล ให้ควรต้องมีการชะลอการดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว จากฝ่ายที่พิพาท
และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีการพยายามเข้าชุมชนของชายไม่ทราบฝ่าย โดยมีลักษณะการพยายามก่อกวนด้วยรถมอเตอร์ไซค์ นอกจากนี้ ยังมีผู้มาสอบถามความเป็นไปของ น.ส. ณัฐาพันธ์ กับสมาชิกในครอบครัว เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวอีกด้วย
ขณะที่นายประทีป ซึ่งเป็นประธานสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำกัด คนปัจจุบัน เป็นกรรมการบริหารของสกต. และชุมชนคลองไทรพัฒนา ปัจจุบันมีบทบาทเป็นหนึ่งในกรรมการระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหา ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ที่อยู่ใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และในอนุกรรมการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ภายใต้คณะกรรมการระดับชาติดังกล่าว โดยบทบาทการเคลื่อนไหวทางนโยบายและทางการเมือง ทำให้เขาถูก จับตาจากฝ่ายผู้มีอิทธิพลและทางรัฐอยู่บ่อยครั้ง
สำหรับ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและแรงงานไร้ที่ดินในพื้นที่ภาคใต้ ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อตรวจสอบพื้นที่บริษัทเอกชนที่หมดสัญญาเช่า แต่ยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยร่วมกันเรียกร้อง ผลักดันให้ชาวบ้านได้เข้าไปใช้สิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในที่ดิน สิทธิเกษตรกร สิทธิสตรี สิทธิชุมชน สิทธิในการสร้างชุมชนใหม่ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อลดความเลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน สร้างความเป็นธรรมในสังคม และส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนและ ประชาธิปไตย และสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของกระบวนการภาคประชาชน ในนามขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) อีกด้วย
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ปัจจุบันประกอบด้วย 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสันติพัฒนา ชุมชนคลองไทรพัฒนา ชุมชน ก้าวใหม่ ชุมชนน้ำแดงพัฒนา และชุมชนเพิ่มทรัพย์ โดยที่ผ่านมา สมาชิกของสกต. โดยเฉพาะชุมชนคลองไทรพัฒนา นอกจาก ต้องต่อสู้เรื่องสิทธิการเข้าถึงที่ดินและสิทธิการก่อตั้งชุมชนใหม่แล้ว ยังต้องหาแนวทางในการรับมือและต่อสู้กับกลุ่มอิทธิพลมืดมาโดยตลอด ทำให้สมาชิกถูกลอบสังหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 – พ.ศ. 2558 จำนวน 4 ราย และถูกลอบยิงบาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย