กรมกิจการเด็กและเยาวชน ชู 16 โครงการเด่นระดับชาติ ปั้นชีวิตใหม่เด็กไทยยุคเออีซี

กรมกิจการเด็กและเยาวชน ชู 16 โครงการเด่นระดับชาติ ปั้นชีวิตใหม่เด็กไทยยุคเออีซี

สภาพสังคมปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้วัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมและวิถีชีวิตของคนไทย นำไปสู่ผลกระทบต่อครอบครัว เด็ก และเยาวชน ขณะเดียวกัน การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะก่อให้เกิดความหลากหลายด้านเชื้อชาติ การแข่งขันด้านเศรษฐกิจ นำไปสู่การสร้างแรงกดดันในภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวเด็กและเยาวชนมากขึ้น กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และดำเนินงานเชิงรุกมาโดยตลอด ผ่านการจัดตั้ง กองทุนคุ้มครองเด็ก ผสานความร่วมมือและพันธมิตรจากหน่วยงาน องค์กร สถาบันต่างๆ เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้มีความเข้มแข็ง มีทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตในสังคม เพื่อพัฒนาสถาบัน ครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป

นางระรินทิพย์  ศิโรรัตน์  อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ประธานการจัดงานและผู้สนับสนุนหลักการจัดโครงการช่วยเด็ก (สงเคราะห์) หยุดทำร้ายเด็ก (คุ้มครอง) ส่งเสริมเด็กและครอบครัว จัดพิธีประกาศผลและมอบโล่เกียรติยศ 16 โครงการดีเด่นระดับชาติ ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนคุ้มครองเด็กขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการดำเนินโครงการอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ให้แก่ผู้แทนจาก 16 หน่วยงาน 16 จังหวัดทั่วประเทศ ณ โรงแรม ไอธารา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดเพชรบุรี

นางระรินทิพย์  ศิโรรัตน์  อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กองทุนคุ้มครองเด็ก เป็นกองทุนหนึ่งในสังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนเพื่อการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็ก รวมทั้งครอบครัว และครอบครัวอุปถัมภ์ของเด็ก อีกทั้งเป็นแหล่งทุนสนับสนุนโครงการด้านเด็กของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และภาคีเครือข่าย โดยมีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนคุ้มครองเด็กที่ดำเนินการอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา

การดำเนินงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว กรมกิจการเด็กและเยาวชน จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมโครงการด้านเด็ก และดำเนินโครงการคัดเลือกโครงการดีเด่นระดับชาติจำนวน 16 โครงการ มาใช้เป็นแนวทางและแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างการเรียนรู้ระหว่างเจ้าของโครงการ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากนั้น จะนำผลที่ได้ไปเผยแพร่แก่สาธารณชน นำไปสู่การพัฒนาเป็นโครงการต้นแบบและต่อยอดการดำเนินงานไปยังพื้นที่ต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ประเทศชาติต่อไป

กลุ่มเป้าหมายของโครงการที่ได้รับการสนับสนุน ได้แก่ กลุ่มเด็ก ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ประสบปัญหาด้านต่างๆ อาทิ เด็กเร่ร่อนหรือเด็กกำพร้า เด็กที่ถูกถอดทิ้งหรือพลัดหลง เด็กที่ผู้ปกตรองไม่สามารถเลี้ยงดูได้ เด็กที่ผู้ปกครองมีพฤติกรรมหรือประกอบอาชีพไม่เหมาะสม เด็กที่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์หรือถูกทารุณกรรม เด็กพิการ เด็กที่อยู่ในสภาพยากลำบาก เป็นต้น กลุ่มครอบครัวและครอบครัวที่อุปถัมภ์ของเด็ก รวมทั้ง กลุ่มองค์กรที่ปฏิบัติงานด้านเด็ก ทั้งในส่วนหน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน สถาบันการศึกษา ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร และไม่เป็นนิติบุคคล อาทิ มูลนิธิและสมาคม เป็นต้น

จากการศึกษาภาพรวมของปัญหาเด็กและเยาวชนที่กำลังประสบ ณ ปัจจุบัน เกิดจากปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว นำไปสู่ความรุนแรง การทำร้ายร่างกายและจิตใจ ปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชน ความหลงผิด ตามกระแสนิยม นำไปสู่อบายมุข สิ่งเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาเรื่องภาวะเสี่ยงต่อเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในเรื่องความเสี่ยงที่ถูกคุกคามทางเพศ เสี่ยงที่จะถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์ เสี่ยงที่จะเข้าไปสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ปัญหาเรื่องของการสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียชีวิต อวัยวะ การบาดเจ็บร่างกายและจิตใจ ทั้งหมดนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้นำมาเป็นแนวทางนโยบายในการสร้างสรรค์กิจกรรมและโครงการต่างๆ อันนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชน โดยจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การสร้างครอบครัวเด็กให้อบอุ่นและเด็กอยู่ได้อย่างมีความสุข นั่นเอง

ทั้งนี้ โครงการดีเด่นที่น่าสนใจ ภาคเหนือ ได้แก่ ห้องเรียนนอกเวลา ปันฝัน ปั้นชีวิต โดยเทศบาลเมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ภาคกลาง ได้แก่ เทศกาลเด็กนนท์ รวมพลคนมีพลัง ตอน โอม จง ร็อค โดยศูนย์ประสานงานเครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดนนทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สร้างแกนนำเยาวชนต้นแบบการเฝ้าระวังเพื่อการคุ้มครองเด็กในชุมชน โดยสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม ภาคใต้ ได้แก่ ค่ายผูกใจสัมพันธ์  ผูกพันครอบครัว โดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดพังงา

สำหรับหน่วยงาน สถาบัน หรือองค์กร ที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับเด็ก สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนคุ้มครองเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน โทรศัพท์ 02-651-6634 และ 02-651-6959 ส่วนภูมิภาค สามารถสอบถามได้ ณ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทั้ง 67 จังหวัด ตามภูมิลำเนาของผู้ขอรับบริการ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ