ปัจจุบัน สังคมไทยก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ทั้งภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันสูง การเข้าถึงแหล่งปริมาณข้อมูลมหาศาลบนโลกออนไลน์มากขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรม ความคิด และทัศนคติของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เปลี่ยนไป รวมทั้งการประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตั้งเป้าหมายให้ไทยก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง โดยใช้นวัตกรรมเสริมคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศ
การศึกษา จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่เวทีเศรษฐกิจระดับนานาชาติ ในงานเสวนา MUTalk “ผ่าทางตันการศึกษา Active Learning พาไทยสู่ยุค 4.0” จัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางการจัดการศึกษาตอบสนองต่อพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย นักเรียน นักศึกษา ที่เปลี่ยนแปลง และความต้องการของตลาดแรงงาน ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล
ผศ. ดร. ภานวีย์ โภไคยอุดม รองอธิการบดี ฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร หรือ MUT เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน นักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาและเติบโตของประเทศไทยในยุค 4.0 นี้ มีแนวคิด พฤติกรรม และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนมาก การพัฒนาด้านการศึกษา จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทั้งในส่วนของรูปแบบการเรียนการสอน และเนื้อหาหลักสูตรให้มีความน่าสนใจ กระตุ้นให้เกิดความอยาก ใคร่รู้ มากกว่าการสอนแบบเดิม รวมทั้งต้องสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเอื้อต่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้วย โดยแนวทางสำคัญคือ การพัฒนาการเรียนรู้แบบ Active Learning นี้ อันดับแรกสุดเลย ผู้สอน จะต้องกระตือรือร้นก่อน เพราะเป็นผู้ถ่ายทอด ปรับและเปลี่ยนเนื้อหารายวิชาให้เหมาะสมกับรูปแบบกิจกรรม เพื่อกระตุ้นความสนใจและความคิดสร้างสรรค์จากผู้เรียน ยกตัวอย่าง การสอนในวิชาเคมีของ MUT ใช้ชื่อว่า Kitchen Chemistry เป็นการประยุกต์เนื้อหาวิชาเคมีที่น่าเบื่อและต้องท่องจำ มาสู่กิจกรรมการสอนด้วยการปรุงอาหาร และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจได้ง่ายและสนุก สำหรับการนำหลักการสอนแบบ Active Learning มาปรับใช้ใน MUT จำนวน 62 วิชา พบว่า กลุ่มนักศึกษามีผลการเรียนที่ดีขึ้นมากเดิมกว่าร้อยละ 70 ทำให้ MUT จึงวางแผนนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในทุกรายวิชาพื้นฐานสำหรับปีการศึกษานี้เป็นต้นไป
นางซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน (Mrs. Satu Suikkari Kleven) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ฟินแลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการขนามนามว่า มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก กว่าร้อยละ 40 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า และได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีผู้อ่านหนังสือมากที่สุดในโลกประจำปี พ.ศ. 2559 หัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบการศึกษาของฟินแลนด์ให้ประสบความสำเร็จ นั่นคือ ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องให้ความสำคัญของการศึกษา ทุกคนต้องได้สิทธิเข้ารับการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกัน เน้นสร้างการเรียนรู้มากกว่าการท่องจำ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญต่อสถาบันการศึกษาและบุคลากร ครู เพราะฟินแลนด์เชื่อว่า หากครูมีความรู้สูง จะช่วยในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี สามารถกระตุ้นให้นักเรียนหรือนักศึกษาเกิดความใคร่รู้ สอบถาม สนใจการเรียนรู้ มากกว่าการให้ข้อมูลความรู้จากครูแต่เพียงฝ่ายเดียว
ขณะเดียวกัน นางซาตู ก็ได้กล่าวถึงเทรนด์การเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก นั่นคือ รูปแบบห้องเรียนไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม อาจปรับรูปแบบเป็นลักษณะต่างๆ หรือนอกห้องเรียนก็ได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งควรมีพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกตอบสนองความต้องการใช้งานที่หลากหลาย อาทิ ศูนย์สุขภาพ ศูนย์พยาบาล ศูนย์เยาวชน สิ่งสำคัญที่สุด ควรเน้นพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยการจัดแสง ดนตรี นำเทคโนโลยี นวัตกรรมประหยัดพลังงานหรืออื่นๆ เข้ามาปรับใช้ภายในอาคารสถาบันศึกษา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา
ดร. ชัยธร สิมาภรณ์วนิชย์ ผู้จัดการฝ่ายสารสนเทศวิเคราะห์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก เพราะหลายสถานการณ์หรือปัญหา สามารถแก้ไขได้ด้วยนวัตกรรม ยกตัวอย่างง่ายที่สุด การทำงานในอดีตจำเป็นต้องนั่งทำงานร่วมกันที่ออฟฟิศ แต่ปัจจุบัน สามารถทำงานในสถานที่ไหนก็ได้ทั่วโลก หรือ การพูดคุยในการทำงาน นวัตกรรมก็เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่ ที่สามารถพูดคุยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ บนคอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์อื่นๆ ดังนั้น การพัฒนาระบบการศึกษา จะต้องเอื้อต่อการสร้างนวัตกร โดยมีระบบเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งอุปกรณ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนา บุคลากรครูที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ ก็จะทำให้สามารถผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดนวัตกรรมอย่างแท้จริง นั่นคือ มีทั้งความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ รายได้ หรือเป็นประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติได้ต่อไป
นายถวัลย์ วงษ์สวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีไซน์ ออน เทเลวิชั่น จำกัด แนะนำหลักการเรียนการสอนแบบ มันส์ศาสตร์ ว่า ครู คือ หัวใจสำคัญที่สุดที่จะต้องทุ่มเทและให้ใจต่อการสอน ปรับวิธีการให้ความรู้ใหม่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างครูและนักเรียน นักศึกษา โดยกระตุ้นให้เกิดการทดลองทำจริง และการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในห้องเรียน บางครั้งการพานักเรียน นักศึกษา ออกไปเรียนรู้โลกแห่งความเป็นจริง นอกห้องเรียน จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้ได้เพิ่มมากขึ้น
การพัฒนาระบบการศึกษาไทยเพื่อก้าวสู่ยุค 4.0 ได้อย่างยั่งยืนนั้น จะต้องมีการเชื่อมโยงและผสมผสานกันในหลายมิติ ทั้งด้านนโยบายการศึกษาจากภาครัฐ ด้านความร่วมมือและสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ด้านการพัฒนาบุคลากร ครู ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกลจักรหลักแห่งการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้ทันต่อยุคสมัยและสอดคล้องตลาดแรงงาน อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ผลิตบุคลากรได้อย่างมีคุณภาพ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โทรศัพท์ 02-988-4021-4 เว็บไซต์ www.mut.ac.th