ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
การมีสุขภาวะทางด้านอนามัยและเจริญพันธุ์ การตั้งครรภ์และการคลอดบุตรอย่างปลอดภัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิง ในระดับนานาชาติต่างก็ให้ความสำคัญ และถือว่าการลดอัตราส่วนการตายของมารดาเป็นเป้าหมายสำคัญเป้าหมายหนึ่งของระบบสุขภาพของประเทศ
ปัญหาที่ประเทศต่างๆ เผชิญคือ การมีรายงานสถิติอัตราส่วนการตายของมารดา ที่ไม่ตรงกับคำนิยามขององค์การของอนามัยโลก ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น การวัดการตายของมารดาและมีสถิติที่สอดคล้องกับนานาชาติจึงเป็นประเด็นสำคัญที่นักวิจัยต้องการค้นหา เป้าหมายก็เพื่อให้ทราบการตายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และเพื่อให้ทราบสาเหตุการตาย และเพื่อให้สามารถนำไปสู่การดำเนินการทางนโยบายที่เหมาะสมต่อไป ถ้าเรายังใช้สถิติที่ไม่สะท้อนความจริง เราจะแก้ปัญหาสำคัญนี้ได้อย่างไร
งานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยที่เกี่ยวกับการตายของมารดาได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นการวิจัยที่ไม่ได้มีทุนสนับสนุนจากที่ใด เป็นการวิจัยที่มีการร่วมงานฉันท์มิตรและแบ่งปันความรู้กับผู้ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธาณสุข เช่น กรมอนามัย และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ทุกฝ่ายมีเจตนาเดียวกันคือ ให้มีสถิติการตายของมารดาที่ดีขึ้นและเป็นมาตรฐานเดียวกับนานาชาติ ทุกฝ่ายต่างทราบว่าเรื่องการตายเป็นเรื่องอ่อนไหว ถ้าเคลื่อนไปผิดทางจะเกิดการปฏิเสธจากผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และจะนำมาซึ่งความยากลำบากในการทำงานในลำดับต่อไป ผลเสียก็จะตกอยู่แก่ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ แม่ของลูก ภรรยาของสามี เพื่อนหรือญาติผู้หญิงคนที่เรารัก
ในภายหลังนักวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจาก Global Development Network ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สนับสนุนโดย Bill & Melinda Gates Foundation ให้วิเคราะห์ผลของโครงการลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย ซึ่งทำให้นักวิจัยได้มีโอกาสศึกษาอย่างต่อเนื่องในประเด็นการตายของมารดา
การแถลงข่าวเกี่ยวกับงานวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ ในวันที่ 25 สิงหาคม 2558 โดยเฉพาะเกี่ยวกับการตายของมารดา ได้กระทำอย่างระมัดระวัง และได้กล่าวย้ำกับนักข่าวว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว งานวิจัยมีเป้าหมายให้เกิดความร่วมมือกับผู้ปฏิบัติงานในเชิงบวก ดังนั้น ในการวิจัยจะไม่พยายามหาสาเหตุการตายแล้วบอกว่าใครผิด แต่จะพยายามหาสาเหตุการตายเพื่อให้เกิดการนำไปสู่การคิดนโยบายที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด การวิจัยต้องการให้อดีตเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต
งานวิจัยการตายของมารดาที่ทำขึ้นนี้ ได้ใช้คำจำกัดความตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ได้มีการกล่าวไว้ชัดเจนถึงข้อมูลที่ใช้และขั้นตอนการคำนวณที่อยู่ในรายงานผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ (บทที่ 4 ในบทที่ 8) การนำข้อมูลทะเบียนราษฎร์และข้อมูลผู้ป่วยในมาใช้เพื่อการวิเคราะห์นับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของงานวิจัยนี้ ซึ่งเป็นรายละเอียดเชิงเทคนิคจึงไม่ขอกล่าวในที่นี้
สำหรับผู้สนใจเชิงวิชาการสามารถ download งานได้จาก http://tdri.or.th/research/just_health/ การวิเคราะห์สาเหตุการตายของมารดามีทั้งสาเหตุทางตรงและสาเหตุทางอ้อม ในปัจจุบันมารดาที่ตายมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเหตุทางอ้อม เช่น การเจ็บป่วยที่เป็นมาก่อนตั้งครรภ์ หรือเหตุอื่นๆ
ทั้งนี้ การตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ต้องเป็นคำถามที่เกิดจากการอ่านงานวิจัยโดยปราศจากอคติ ใช้ข้อมูลภายใต้ขอบเขตงานวิจัย และไม่เชื่อมโยงข้อมูลอย่างผิดๆ อันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งสาธารณะซึ่งไม่ก่อประโยชน์ใดๆ นักวิจัยเชื่อว่า การถกเถียงบนพื้นที่สื่อจะเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์
สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานวิจัยในเชิงวิชาการสามารถติดต่อนักวิจัยได้ทาง email worawan@tdri.or.th
ที่มาภาพ: http://www.hfocus.org