- เฝ้าระวังโควิดไม่ทันหาย ยังมีไข้เลือดระบาดกระจายทั่วประเทศ อีสาน กลาง ใต้ เหนือ เจอหมด ผู้ป่วยโควิด (23 มิ.ย.) 3,156 ราย ขณะที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม (16 มิ.ย.) 18,568 ราย สูงกว่า 5.8 เท่า
- เปิดรายงานพยากรณ์ไข้เลือดออกปี 63 คาดการณ์จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกนับ 140,000 ราย
- ข้อมูลผู้ป่วยปี 62 ชี้ช่วงวัยที่ป่วยมากที่สุด คือ เด็กวัยเรียน 5-14 ปี แต่กลุ่มผู้ป่วยแล้วเสี่ยงต่อเสียชีวิต คือผู้ใหญ่ 35 ปีขึ้นไป
- หักล้างความเชื่อ พื้นที่ในเขตเมืองใหญ่ พื้นที่มีความเจริญ เสี่ยงสูงกว่าพื้นที่รอบนอก ศาสนาสถาน โรงเรียน คือ พื้นที่เพาะพันธุ์ลูกยุงลายมากที่สุด
- รู้หรือไม่ ไข้เลือดออกระบาดครั้งใหญ่ในปี 2530 ทุบสถิติป่วยสูงสุด 174,285 ราย เสียชีวิต 1,007 ราย
- TheCitizen.plus ชวนเปิดแผนที่ดูข้อมูลเสี่ยงโรค เฝ้าระวังระดับอำเภอ ลองสำรวจดูกันว่าสถานการณ์การระบาดในอำเภอของครอบครัวท่านเป็นอย่างไร?
ขณะที่ยอดตัวเลขผู้ป่วยโควิดยังคงเพิ่มขึ้น หน่วยงานทุกภาคส่วนต่างขันแข็งทำงานเฝ้าระวัง รณรงค์มาตรการทางสังคมเพื่อป้องการกลับมาระบาดซ้ำในระลอก 2 ขณะเดียวกันช่วงฤดูฝนของทุกปี ประเทศในภูมิภาคเขตร้อน ยังต้องเผชิญกับการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคจากเชื้อไวรัสอีกหนึ่งชนิด ซึ่งแพร่ระบาดในประเทศไทยมานานนับ 60 ปี นับเป็นเวลาเกือบหนึ่งช่วงชีวิตของคนหนึ่งคน ยาวนานระดับที่อาจทำให้โรคประจำถิ่นที่ยังไม่มียารักษานี้ แลดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ทั้งที่เมื่อดูยอดตัวเลขผู้ป่วยราว ๆ แสนรายต่อปี
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่มีความสำคัญของไทย เพราะในแต่ละปีมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก บางรายมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะช็อกเฉียบพลัน จนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดและขยายพื้นที่การเกิดโรคอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว คือ ความหนาแน่นของประชากร ทั้งในเขตชุมชนเมือง เขตกึ่งเมืองกึ่งชนบทและเขตชนบท ข้อมูลในรายงานพยากรณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกตลอดทั้งปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยไข้เลือดออก 140,000 แสนราย จะมีพื้นที่ 224 อำเภอ จากใน 60 จังหวัด เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการระบาด
สำรวจสถานการณ์การระบาด มกราคม – มิถุนายน 63
จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ปี 2563 ของกลุ่มโรคติดต่อนำโดยยุงลาย กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมจำนวน 18,568 ราย เสียชีวิต 11 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 5–14 ปี จำนวน 7,094 ราย คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด และเสียชีวิต 4 ราย สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตมาจากการเข้ารับการรักษาช้า การติดเชื้อร่วมกับโรคอื่น และมีภาวะอ้วน
เมื่อพิจารณาการเกิดโรคไข้เลือดออกรายภาค พบว่า ภาคอีสานมีอัตราการป่วยสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง กาคใต้ และภาคเหนือตามลำดับ หรือหากจำแนกตามเขตสุขภาพ เขตสุขภาพที่ 7 (ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์) มีอัตราป่วย 51.66 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ เขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพที่ 6
ตรวจสอบสถานการณ์ประเมินพื้นที่เสี่ยงไข้เลือดออกรายอำเภอ
เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ ผู้อ่านสามารถขยายดูภาพแบบเต็มพื้นที่ของจอภาพโดยการคลิก บริเวณมุมล่างด้านขวา แล้วยังสามารถคลิกเลือกแสดงข้อมูลระดับอำเภอ หรือเลือกตามเขตสุขภาพ หรือจังหวัดของท่านด้วยการเลือกในช่อง
จากข้อมูลประเมินจากการเป็นพื้นที่ป่วยซ้ำซาก (โอกาสในการระบาด) และการเกิดโรคในปี 2562 (ความรุนแรง) คาดการณ์ว่าในปี 2563 มีอำเภอที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูง 224 อำเภอ เสี่ยงปานกลาง 473 อำเภอ และเสี่ยงต่ำ 231 อำเภอ โดยพบว่าอำเภอเสี่ยงสูงส่วนใหญ่เป็นอำเภอเมือง และอำเภอที่เป็นเมืองใหญ่ที่มีความเจริญด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น สถานศึกษา ศูนย์ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม
อสม.สู้โควิด พิชิตลูกน้ำยุงลาย ผลสำรวจปี 62 พบลูกน้ำในศาสนสถาน สถานศึกษา พบลูกน้ำเยอะสุด
จากรายงานผลการสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายจากโปรแกรมทันระบาดในปี 2562 ในชุมชนและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ สถานศึกษา ศาสนสถาน สาธารณสุข โรงงาน/สถานที่ทำงาน โรงแรม/รีสอร์ท และสถานที่ราชการ พบว่า เกือบครึ่งของศาสนสถานที่มีการสำรวจทั้งหมด (ร้อยละ 48) มีการสำรวจพบลูกน้ำ ยุงลาย รองลงมาเป็นสถานศึกษา สำรวจพบลูกน้ำยุงลาย ร้อยละ 35 โดยสถานพยาบาลมีการสำรวจพบลูกน้ำ ยุงลายน้อยที่สุด แต่อย่างไรก็ตามในสถานพยาบาลควรเป็นสถานที่ปลอดลูกน้ำยุงลาย เนื่องจากอาจมีผู้ป่วย ไข้เลือดออกที่มารักษาในโรงพยาบาลและมีโอกาสจะแพร่ไปยังผู้ป่วยหรือบุคลากรในโรงพยาบาลได้ สำหรับภาชนะเสี่ยงที่พบลูกน้ำยุงลายส่วนใหญ่พบเป็นยางรถยนต์เก่า (ร้อยละ 11.01) รองลงมา ได้แก่ ภาชนะที่ไม่ได้ใช้ (ร้อยละ 10.11) และภาชนะอื่น ๆ (ร้อยละ 8.62)
จากพยากรณ์-พื้นที่ระบาด-ถึงปฏิบัติการลูกน้ำยุงลายที่ถูกสื่อสาร
ในรอบสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข งานอนามัย อสม.ต้านลูกน้ำยุงลายออกปฏิบัติการลงพื้นที่สำรวจเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกกันทั่วประเทศ หรือความเคลื่อนไหวใน C-site จะเห็นการสื่อสารกิจกรรม ปฏิบัติการบนแผนที่และช่วงเวลาได้
สคร.7 ขอนแก่น เตือนหน้าฝนระวังป่วยไข้เลือดออก แนะใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
นายแพทย์ธีรวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา จึงต้องใช้วิธีรักษาตามอาการ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้เลือดออกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ประชาชนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ด้วยการใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค
- เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก
- เก็บขยะ เศษภาชนะต่าง ๆ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
- เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เช่น โอ่ง ไห ขวด ถัง เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน เพื่อป้องกัน 3 โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมีอาการไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ใบหน้าหรือผิวหนังมีจุดแดง อาเจียน ปวดท้อง ขอให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น และอาจเกิดอาการช็อกทำให้เสียชีวิตได้ และห้ามรับประทานยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้นทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะมีเกล็ดเลือดที่ต่ำอยู่แล้ว เมื่อรับประทานยาแอสไพรินเข้าไปจะทำให้เกิดอาการช็อกและอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ปฏิบัติการกำจัดยุงลาย ที่ร้องวัวแดง เชียงใหม่
เมื่อ อสม. ต.ร้องวัวแดง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้รับแจ้งว่าในชุมชนมีผู้ป่วยไข้เลือดออก อสม. จึงร่วมกับ รพ.สต. และหน่วยงานท้องถิ่น ออกสำรวจพร้อมกำจัดลูกน้ำยุงลาย บริเวณรอบบ้านผู้ป่วย โดยจะแบ่งทีมกันอีกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อกระจายกันออกไปสำรวจรอบบ้านผู้ป่วย รัศมี 100 เมตร ซึ่งโดยปกติแล้ว ทีม อสม. จะออกสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชนเป็นประจำทุกอาทิตย์ เพื่อส่งข้อมูลส่งข้อมูลให้กับ รพ.สต.อยู่แล้ว ตอนนี้ก็สามารถกรอกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน ผ่อดีดีได้เลย ข้อมูลก็จะไปปรากฏให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ทราบทันที หลังจากนั้นพวกเขาก็ต้องมีปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อดูแลคนในชุมชนอย่างเข็มแข็ง
กิจกรรมอาสาพาสอนคืนถิ่น จังหวัดกาฬสินธุ์
วันนี้อาสาสอนจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้พาน้องๆทำกิจกรรม Walk Rally ที่แทรกไปด้วยสาระข้อคิดและความสนุกสนาน เริ่มต้นกิจกรรม ด้วยการ ตั้งด่านตรวจป้องกัน covid 19 ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าโรงเรียน นำทีมตรวจคัดกรองด้วยครูพี่อ้าย และครูพี่นุ่มนิ่ม โดยการวัดอุณหภูมิร่างกาย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ จากนั้นรวมตัวกันที่หน้าอาคารเพื่อ แบ่งกลุ่มน้องๆโดยคละชั้นปี แล้วแจกหน้ากากอนามัย ให้กับน้องๆที่ไม่ได้เอาหน้ากากมา หลังจากที่ป้องกัน covid-19 แล้วยังมีการป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยการแจก ครีมทากันยุงให้น้องๆคนละ 1 ซอง เพื่อให้เขาได้ทาก่อนเริ่มกิจกรรม เพราะกิจกรรมวันนี้เป็นกิจกรรมที่ทำรอบๆบริเวณโรงเรียน ……
เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมไข้เลือดออก จากข้อมูลและการความร่วมมือระดับชุมชน
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อนำโดยยุงลายที่พบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้การดำเนินมาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค จึงดำเนินการเหมือนกันในทุกพื้นที่ อย่างไรก็จากข้อมูลที่ค้นพบข้างต้น พบว่าควรมุ่งเน้นดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นในพื้นที่เสี่ยงสูงซึ่งมีโอกาสจะเกิดการแพร่ระบาด ซึ่งหากดำเนินมาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกไปในวงกว้างและลดความรุนแรงของการระบาดได้ ตลอดช่วงฤดูกาลระบาดของไข้เลือดออก (พฤษภาคม – กันยายน) โดยมาตรการสำคัญ ประกอบด้วย การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม รักษาและสื่อสารความเสี่ยง ซึ่งผู้อ่านทุกท่านสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ร่วมกับเหล่าอสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผ่านการปักหมุดสื่อสาร รายงานสถานการณ์ แบ่งปันเรื่องราว สร้างการเรียนรู้การอยู่กับโรคไข้เลือดออก โรคประจำของถิ่นของเรา
เอกสารเพิ่มเติม
รายงานพยากรณ์โรคไข้เลือดออก ปี 2563
แนวทางการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ปี 2563