125 ปี ดร.อัมเบดการ์

125 ปี ดร.อัมเบดการ์

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2559 ผู้เขียนได้โอกาสเข้าร่วมพิธีเปิดอนุสาวรีย์ ดร.อัมเบดการ์ ที่ นานาธรรมสถาน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ในวันคล้ายวันครบรอบวันเกิด 125 ปีของ ดร.อัมเบดการ์ วีรชนอินเดียผู้ไม่ยอมสยบต่อระบบวรรณะที่กดขี่ของอินเดีย

ถือได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนเข้ามาทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์อินเดียและศาสนาพุทธ บทความนี้ จึงสะท้อนทั้งความไม่รู้และความรู้ใหม่ๆ ของผู้เขียน

ไม่น่าเชื่อว่า ถึงแม้อินเดียจะเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาพุทธ เป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ใช่ว่าอินเดียจะเป็นที่ที่พุทธศาสนาดำรงอยู่อย่างรุ่งเรือง เพราะศาสนาที่สำคัญที่สุดของอินเดีย ยังคงเป็นศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบวรรณะของอินเดียยังไม่สูญหายไป แต่ยังคงยืนหยัดอยู่และกดขี่คนอย่างรุนแรง

ระบบวรรณะของอินเดียแบ่งออกเป็น 4 ชั้นคือ

  1. วรรณะพราหมณ์
  2. วรรณะกษัตริย์
  3. วรรณะแพศย์
  4. วรรณะศูทร

แต่ชนชั้นที่ต่ำที่สุด เป็นกลุ่มคนที่มักโดนคนกลุ่มอื่นรังเกียจเหยียดหยามและไม่ได้รับการรวมเข้าไปอยู่ในสังคมคือกลุ่มคนที่โดนตราหน้าว่าเป็น “จัณฑาล” ซึ่งเป็นลูกที่เกิดจากการพ่อแม่ต่างวรรณะ “จัณฑาล” จึงไม่ได้รับโอกาสอย่างผู้อื่น และมักลงเอยกับงานสกปรกที่คนอื่นๆ ในสังคมไม่คิดจะทำ

ดร. อัมเบดการ์ (หรือ ภีมราว รามชี อามเพฑกร) เกิดมาเป็น “จัณฑาล” แต่ท่านไม่ยอมจำนนอยู่กับการตราหน้าของสังคม ความมุ่งมานะของท่านเป็นที่ประจักษ์ต่อบุคคลหัวก้าวหน้าในสังคม จึงได้รับการสนับสนุนให้เรียนต่อจนกลายเป็นคนอินเดียที่ได้รับการศึกษาสูงสุดในเวลานั้น และถือว่าเป็น 1 ในล้านล้านคนที่สามารถก้าวข้ามระบบวรรณะเพื่อให้เข้าถึงการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้วยความเชื่อว่าสังคมจะเปลี่ยนได้ต่อเมื่อกฎหมายเปลี่ยน หลังจากได้รับการศึกษาในประเทศสหรัฐฯ และประเทศอังกฤษ ท่านทำงานเพื่อสร้างความตระหนักถึงการกดขี่จัณฑาล ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สังคมสงเคราะห์ เศรษฐกิจ แรงงานและกฎหมาย จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและประธานคณะร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการประกาศเอกราชของอินเดียจากอังกฤษ ท่านพยายามยกเลิกระบบวรรณะ โดยเฉพาะการรังเกียจจัณฑาล ด้วยแก้กฎหมายและรัฐธรรมนูญของอินเดีย ในปี พ.ศ. 2492 อินเดียประกาศยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรวมมาตรา 17 ที่ว่าด้วยการยกเลิกจัณฑาล ดร.อัมเบดการ์ยังสถาปนาคณะกรรมการการคลังเพื่อปฏิรูปที่ดินและภาษีให้มีความเป็นธรรมต่อประชาชนที่มีรายได้ต่ำและเสริมความมั่นคงของเศรษฐกิจอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ดร.อัมเบดการ์ ตระหนักว่า หากจิตใจและสำนึกของผู้คนไม่เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนกฏหมายหรือโครงสร้างของสังคมก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

ท่านจึงเลือกที่จะนำหลักธรรมะของพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการปลดคนอินเดียให้หลุดจากระบบวรรณะและการเหยียดจัณฑาล โดยเริ่มจากการปฏิญาณตนและภรรยาเป็นพุทธมามกะ และจัดพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ให้จัณฑาลกว่า 500,000 คนในวันเพ็ญเดือน 10 พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่พระเจ้าอโศกปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ

เหตุผลที่ดร.อัมเบดการ์เลือกศาสนาพุทธนั้นเป็นเพราะท่านเล็งเห็นธรรมะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้คนเข้มแข็งขึ้นและก้าวข้ามกำแพงที่เราสร้างขึ้นมาเหยียดตัวเองและผู้อื่น ดร.อัมเบดการ์เห็นว่า นอกจากการถือศืล การมีเมตตา กรุณาและปัญญาแล้วนั้น สัจจะธรรมของพุทธศาสนาคือกลไกที่สำคัญที่จะทลายกำแพงระหว่างผู้คนและเสริมสร้างความเสมอภาคในสังคม

ในพิธีวันรำลึกวันคล้ายวันเกิด 125 ปีของ ดร.อัมเบดการ์ ผู้เขียนได้โอกาสฟังคำปาฐกถาจาก อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์และธรรมจารี โลกมิตร ถึงวีรกรรมของดร.อัมเบดการ์

อาจารย์สุลักษณ์กล่าวว่า “ดร.อัมเบดการ์มีบุญคุณต่อโลกใบนี้มาก ท่านปลุกชีพให้พุทธศาสนาฟื้นกลับขึ้นมาในอินเดียและทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคมอินเดีย และเราในฐานะที่นับถือศาสนาพุทธ เราจำต้องรำลึกถึงความสำคัญของพุทธศาสนา ความสำคัญของอินเดียและความสำคัญของดร.อัมเบดการ์”

ธรรมจารี โลกมิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผู้ที่ถูกกดขี่มากๆ มักเลือกที่จะใช้ความรุนแรง จัณฑาลเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดขี่มากที่สุดในสังคมอินเดีย ถึงแม้ว่าประชากรจัณฑาลจะมีอยู่กว่า 220,000,000 คนหรือนับเป็น 1 ใน 6 ของอินเดีย แต่เขาไม่มีสิทธิ เขาไม่ได้รับการศึกษา เขาไม่ได้รับโอกาสดั่งคนอื่นๆ ในสังคม เราจึงเห็นจัณฑาลกลายเป็นคนที่เลือกใช้ความรุนแรง

“ดร.อัมเบดการ์ก็มีโอกาสเป็นเช่นนั้น ในช่วงที่ท่านกำลังรุ่งเรือง เป็นช่วงที่ระบอบคอมมิวนิสต์กำลังแผ่ขยายไปทั่วเช่นกัน หากท่านเลือกความรุนแรงและยอมสยบต่อคอมมิวนิสต์ อินเดียอาจกลายเป็นประเทศแห่งการนองเลือด แต่ท่านไม่เคยเลือกใช้ความรุนแรง ท่านเลือกที่จะเดินตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านเรียกอย่างเคารพว่าเป็น “เจ้าชายแห่งสันติภาพ” ท่านเชื่อว่า พุทธศาสนาเป็นทางเลือกที่จะนำสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางบวกอย่างยั่งยืน”

หลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับดร.อัมเบดการ์และอินเดียเพิ่มเติม ผู้เขียนมีความประทับใจกับประวัติศาสตร์อินเดียและความเชื่อของดร.อัมเบดการ์ต่อความเสมอภาคของคน ไม่ว่าสังคมจะตราหน้าเขาว่าเป็นเช่นไร แต่เราควรเคารพคนๆ หนึ่งในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่ากัน 

————————————

อ่านเพิ่มเติม

Ambedkar: A Tribute โดย Murlidhar C. Bhandare 

The Untouchables: Who Were They and Why They Became Untouchables? โดย ดร.อัมเบดการ์

Buddha or Karl Marx โดย ดร.อัมเบดการ์

แฟ้มภาพ ดร.อัมเบดการ์ โดย Indian Express 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ