‘ทุนจีน’ บุกเหนือ ‘ปลูกกล้วย’ นับพันไร่ ตั้งเป้ารอบนี้ 5 แสนต้น

‘ทุนจีน’ บุกเหนือ ‘ปลูกกล้วย’ นับพันไร่ ตั้งเป้ารอบนี้ 5 แสนต้น

‘ทุนจีน’ บุกเหนือ ‘ปลูกกล้วย’ นับพันไร่ ตั้งเป้ารอบนี้ 5 แสนต้น พบทุนไทยเจ้าเดียวกว้านซื้อดินเกือบ 3,000 ไร่ ใน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย ให้นักลงทุนจีนจ้างปลูกกล้วย หลังกระแสข่าวใช้สารเคมีหนักจนทางการลาวห้ามปลูก นักวิชาการชี้การปลูกกล้วยจีนในไทยส่งผลตัวเลขการผลิตกล้วยหอมเขียวส่งจีนเพิ่มขึ้น แต่อาจได้ไม่คุ้มเสีย

 

สำอาง บุตรพรม หัวหน้าคนงานประจำสวนกล้วยรายใหญ่ใน อ.พญาเม็งราย เล่าว่า เจ้านายใหญ่เป็นคนจีนได้ว่าจ้างให้เขาคุมการปลูกกล้วยหอมเขียว เพื่อให้ได้ผลผลิตตามเป้า โดยมีลูกทีมเป็นแรงงานนับร้อยคนดูแลสวนกล้วย 2,711 ไร่ ซึ่งปลูกมาแล้ว 9 เดือน

ในปีนี้ตั้งเป้าเพาะเนื้อเยื่อต้นกล้วย เตรียมลงปลูกให้ได้ 5 แสนต้น ซึ่งตอนนี้ลงปลูกไปแล้วประมาณ 2 แสนต้น ในพื้นที่ 700 ไร่ แต่ก็มีความท้าทายคือปัญหาน้ำที่แห้งเหือด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเจรจาขอสูบน้ำจากแม่น้ำอิงวันละ 2 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ระยะหลังการปลูกกล้วยตกเป็นข่าวว่าแย่งน้ำจากเกษตรกรรายอื่นในพื้นที่ พร้อมกับถูกกล่าวหาว่าใช้สารเคมีมหาศาลในการทำการเกษตร

ผลผลิตกล้วยที่ได้จากกล้วยรายใหญ่ถูกส่งออกไปขายให้กับลูกค้าจีนเพียงอย่างเดียว โดยลำเลียงผ่านถนน R3A มุงสู่ประเทศจีน

ธุรกิจสวนกล้วยหอมคล้ายๆ กับโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีร่มเงาเป็นใบกล้วย นักลงทุนจีนทำสัญญาเช่าที่ดิน ระยะสั้น 9 ปี ลงทุนเพาะเนื้อเยื่อกล้วย เพื่อเป็นต้นกล้าในการลงปลูก 

มีคนที่อาศัยในพื้นที่เป็นแรงงาน ค้าจ้างวันละ 300 บาท เข้างานตั้งแต่ 7 โมงครึ่ง ถึง 5 โมงเย็น โดยรับหน้าที่จากหัวหน้าคนงานเป็นรายวัน ช่วงไหนจะให้ลงปลูก ช่วงไหนให้ดูแลต้น ช่วงไหนให้ใส่ปุ๋ยใส่ยา จนกระทั่งตัดขาย 

ภายใต้ขนาดและคุณภาพมาตรฐานที่คนจีนชอบ กล้วยหอมเขียวจะถูกนำใส่ถุง แพคสุญญากาศ ลำเลียงใส่ลงกล่องกระดาษขนาด 11 กิโลกรัม และขนย้ายโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่รักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมตลอดการเดินทาง

การลงทุนปลูกกล้วยหอมของนักลงทุนจีน ลักษณะไม่ต่างจากกลุ่มทุนชาติทั่วๆ ไป ที่เข้ามาลงทุนในภาคการเกษตรของไทยโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างอิสระ แลกกับรายได้จากการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดูน้อยนิในสายตานักวิชาการที่ติดตามในเรื่องนี้ 

ปฐมพงศ์ มโนหาญ อาจารย์จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มองว่า สิ่งที่เราจะได้แน่ๆ จากธุรกิจนี้คือตัวเลขการผลิตภาคการเกษตรนั่นคือปริมาณกล้วยที่มากขึ้น ซึ่งจะถูกนับรวมในผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด และสัดส่วนตัวเลขยอดการส่งออก 

แต่สิ่งที่เราเสียนั้นต้องไปดูว่าลักษณะการผลิตเป็นแบบไหน ถ้าใช่สารเคมีอย่างเข้มข้น สิ่งที่เราเสียก็คือดิน สุขภาพของเกษตรกรในพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องแลกกับตัวเลขในทางเศรษฐกิจ 

“หากถามว่าทุนเขาสนใจเรื่องพวกนี้ไหม เขาคงไม่สนใจ หาก Productivity เราลดลง สิ่งที่เขาจะทำคือ ย้ายฐานการผลิต” ปฐมพงศ์ ให้ความเห็น

หลังมีการลงนามความตกลง FTA กับไทย การส่งออกผลไม้ไปยังจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันจีนกลายเป็นตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของไทย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจจังหวัดเชียงรายตั้งขอสังเกตว่ากล้วยหอมเขียวไม่ใช่พืชท้องถิ่นของเรา และจังหวัดเชียงรายมีพืชสวนที่จีนนิยมอยู่ ยกตัวอย่างเช่น สับปะรดนางแล ลิ้นจี่ สตรอเบอรี่ ลำไย เป็นต้น ถ้ามองถึงตลาดส่วนนี้น่าจะยั่งยืนมากกว่า

ในด้านการใช้ที่ดิน แม้กฎหมายไทยจะบอกไว้ว่า กลุ่มทุนต่างประเทศไม่สามารถเข้ามาเช่าที่ดินเพื่อปลูกพืชสินค้าเกษตรได้ เพราะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 บัญชี 1 ที่ไม่อนุญาตให้ต่างชาติทำอาชีพสงวนของคนไทย ได้แก่ ธุรกิจทำไร่ ทำนา 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเข้ามาทำการเพาะปลูกในรูปแบบการทำสัญญารับซื้อผลผลิต (contract farming) โดยเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของที่ดินและรับจ้างผลิตให้กับผู้ว่าจ้าง ขณะที่ผลผลิตจะถูกส่งขายออกนอกประเทศเท่านั้น ห้ามขายในประเทศไทย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ