‘ครูแดง’ ชี้ ‘ชุมชนไกลสถานศึกษา’ สาเหตุความสูญเสียเหตุไฟไหม้หอพัก นร.เชียงราย

‘ครูแดง’ ชี้ ‘ชุมชนไกลสถานศึกษา’ สาเหตุความสูญเสียเหตุไฟไหม้หอพัก นร.เชียงราย

20162605231324.jpg

เตือนใจ ดีเทศน์ หรือครูแดง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และอดีตครูอาสา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเหตุไฟไหม้หอพักโรงเรียนพิทักษ์เกียรติวิทยา จ.เชียงราย เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 22 พ.ค. 2559 จนเป็นเหตุให้มีเด็กนักเรียนหญิงเสียชีวิต 17 ราย ย้ำเรื่องการเยียวยาครอบครัว พร้อมเสนอในอนาคตหอพักควรมีกลไกการมีส่วนร่วมของหน่วยงานท้องถิ่น

เตือนใจ เล่าว่า ประมาณ 3 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่บนภูเขาหรือที่ห่างไกลต่างตื่นตัวที่จะส่งเสริมให้ลูกหลานได้รับการศึกษา เพื่อที่จะมีอนาคตที่ดี ดังนั้น จึงเกิดการสร้างองค์กร สมาคม มูลนิธิ รวมทั้งการทำโครงการที่มีหอพัก มีเด็กมากิน มานอน มาเรียนหนังสือ ซึ่งถ้าเป็นองค์กรนิติบุคคล องค์กร สมาคม มูลนิธิ ก็จะต้องมีมาตรฐาน เพราะว่ามีกรรมการและจะต้องยื่นเรื่องกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอย่างถูกต้อง แต่ประเภทหอพักที่ไม่มีการแจ้งจดทะเบียน ไม่มีมาตฐานความปลอดภัยอันนี้ก็มี

ดังนั้น สิ่งที่เป็นสาเหตุหลัก คือ ชุมชนที่อยู่ห่างไกลไม่มีสถานศึกษารองรับ ยิ่งมีนโยบายของกระทรวงศึกษาที่พยายามยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ก็ยิ่งทำให้พ่อแม่ส่งลูกออกจากอ้อมอกและชุมชน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะต้องแก้เรื่องการจัดการศึกษา ให้ชุมชนขนาดเล็กมีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญา สภาพสังคม วัฒนธรรม อันนี้ก็จะแก้ที่ต้นเหตุ

เด็กเมื่อจะต้องออกมาข้างนอก ก็ต่อเมื่อโตแล้ว สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หอพักทั้งหลายจะต้องมีมาตรฐาน มีการตรวจสอบ มีการยื่นจดทะเบียน และมีครูดูแลเด็กอย่างทั่วถึง เช่น สัดส่วนครู 1 คน ต่อเด็ก 10 คน เป็นต้น เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของหอพัก ความปลอดภัยทั้งอัคคีภัย ภัยพิบัติ มีการเตรียมพร้อมมากแค่ไหน มีการเตรียมความพร้อมเด็กหรือไม่ที่จะให้ช่วยตัวเอง

เตือนใจ กล่าวด้วยว่า ดูจากสถิติ ทางภาคเหนือตอนบน มีหอพักลักษณะนี้ไม่ต่ำกว่า 500 แห่ง เฉพาะในเชียงรายมีประมาณ 300 แห่ง ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดไว้อย่างถูกต้อง หรืออยู่ในความดูแลของสำนักงานการประถมศึกษากี่แห่ง แต่ว่าหอพักที่จัดการโดยโรงเรียนจะค่อนข้างที่จะมีความปลอดภัยอยู่ในระดับหนึ่ง แต่องค์กรที่ทำเรื่องหอพักขึ้นมาอันนี้จะต้องมีการตรวจสอบ และช่วยพัฒนามาตรฐาน คืออาจมีวัตถุประสงค์ที่ดี แต่คุณภาพของบริการให้กับเด็กอาจไม่เพียงพอ

เตือนใจ เสนอด้วยว่า แนวทางต่อจากนี้ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบล องค์กรบริหารส่วนตำบล ควรจะให้ความสำคัญว่า ที่ไหนที่มีหอพัก น่าจะมีกลไกการเข้าไปช่วยดูแล ไม่อย่างนั้นก็จะมีการปล่อยให้ผู้ที่ทำหอพักดำเนินการกันเอง โดยไม่มีการตรวจสอบดูแล หรือช่วยส่งเสริมให้มีมาตรฐาน ทั้งในเรื่องโภชนาการ สุขลักษณะ และเรื่องความปลอดภัย

ส่วนครอบครัวเด็กที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนื้ควรได้รับการเยียวยา โดยเฉพาะด้านจิตใจ เนื่องจากต้องสูญเสียลูกอันเป็นที่รักไปในวัยที่ยังไม่สมควร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ