กรุงเทพฯ, 21 ตุลาคม 2557- กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์หยุดผลักดันให้มีการทดลองปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในไร่นาหรือในพื้นที่เปิด ข้อเรียกร้องของกรีนพีซมีขึ้นในวันเดียวกับที่ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษากรณีกรีนพีซยื่นฟ้องกรมวิชาการเกษตรในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดการปนเปื้อนของมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ไปสู่แปลงเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่ปี 2547
กรีนพีซระบุว่าการห้ามการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในไร่นาจะทำให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศที่มีความเฉพาะแบบของตน และปกป้องอธิปไตยทางอาหารของประเทศจากการครอบงำและผูกขาดของบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ไม่ว่ากรมวิชาการเกษตรจะถูกตัดสินในคดีปกครองฐานละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ก็ตามในการจัดการการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอที่ขอนแก่น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ความจริงก็คือมีการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอขยายเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ (1) นี่คือบทเรียนสำคัญของประเทศไทยและเป็นข้อพิสูจน์ว่าการทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดนั้นควบคุมไม่ได้
หลังจากการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังพิจารณาว่าจีเอ็มโอนั้นช่วยพัฒนาพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิดได้ ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม และอ้อย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นว่าจีเอ็มโอเป็นทางเลือกในการเพิ่มผลผลิต ควบคุมต้นทุน และลดปริมาณในการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก แม้จะมีผลการศึกษาว่าการปลูกพืชจีเอ็มโอไม่ได้ทำให้เพิ่มผลผลิต แต่จะทำให้ต้นทุนสูงและใช้สารเคมีในการผลิตมากขึ้น จากการรายงานข่าวระบุว่า นายอลงกรณ์ กรณ์ทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางแผนเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ยกเลิกมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2550 ที่เป็นอุปสรรคต่อการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด
“การผลักดันให้มีการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิดจะส่งผลให้มีการปนเปื้อนของจีเอ็มโอในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารที่คนไทยหลายล้านคนต้องพึ่งพาอาศัย นอกจากการปนเปื้อนของมะละกอที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วในประเทศอื่นๆ ก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน เช่นในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการปนเปื้อนของจีเอ็มโอที่แทบไม่อาจฟื้นคืนกลับมาได้อีกแล้ว ผลที่ตามมาย่อมหมายถึงหายนะของการเกษตรไทยหากการปนเปื้อนของจีเอ็มโอเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
“เราคนไทยทุกคน ทั้งในฐานะปัจเจกและในฐานะผู้บริโภค มีสิทธิที่จะรับทราบข้อมูล ระแวดระวัง และไม่สนับสนุนจีเอ็มโอซึ่งประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้บรรษัทข้ามชาติผูกขาดระบบเกษตรกรรมและตลาดอาหาร เราต้องช่วยกันปกป้องอาหาร โดยมิใช่เพียงเพื่อสุขภาพเท่านั้นแต่ยังเพื่อสนับสนุนวิถีชีวิตของชุมชนซึ่งคือความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารของชาติที่จะมีสำหรับเยาวชนรุ่นหลังต่อไป” นายธารา กล่าวสรุป
หมุดหมายเหตุการณ์น่าสนใจกรณีพืชจีเอ็มโอ
เมื่อปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลได้ยกเลิกการห้ามทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอ และออกแนวปฏิบัติในการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอโดยต้องดำเนินการในที่ดินของรัฐและทำร่วมกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการทดลองปลูกได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งในปีเดียวกันนี้ มูลนิธิชีววิถีร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาวิจัยและทดลองในห้องปฏิบัติการพบการปนเปื้อนของจีเอ็มโอในตัวอย่างข้าวโพดซึ่งเก็บใกล้กับไร่ข้าวโพดของมอนซานโต้ในพิษณุโลก การปนเปื้อนดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นต่อไป
งานศึกษาต่อมาโดยมูลนิธิชีววิถีในปี พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2552 ได้พบการปนเปื้อนของจีเอ็มโออีก 17 กรณี พืชที่มีการปนเปื้อนได้แก่ ตัวอย่างข้าวโพดและพริกที่พบในจังหวัดเชียงใหม่ ตัวอย่างข้าวโพดที่จังหวัดพิษณุโลก อยุธยา สระบุรี และแพร่ ตัวอย่างมะละกอที่กาญจนบุรีและนครสวรรค์ และตัวอย่างฝ้ายที่จังหวัดลพบุรี
ในปี พ.ศ. 2555 ผลการศึกษาของภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบมะละกอฮาวายซึ่งมีการปนเปื้นจีเอ็มโอถึง 29 ตัวอย่าง รวมถึงฝ้ายซึ่งมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอจำนวน 9 ตัวอย่างที่จังหวัดกาญจนบุรีและสุโขทัย และเมื่อเดือนกรกฎาคมในปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่นได้เรียกเก็บคืนมะละกอที่พบว่าปนเปื้อนจีเอ็มโอที่นำเข้าโดยบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายอาหารที่อยู่ในฟูกูยามา เขตฮิโรชิมา
ในปี พ.ศ. 2556 กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และห้องปฎิบัติการเทคโนโลยีวิจัยพันธุ์พืชของจุฬาลงกรณ์ได้ศึกษาตัวอย่างมะละกอ 96 ตัวอย่าง ข้าวโพด 167 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ พบการปนเปื้อนจีเอ็มโอในมะละกอ 16 ตัวอย่างและข้าวโพด 14 ตัวอย่าง
27 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 กรีนพีซเปิดโปงกรมวิชาการเกษตรว่าเป็นเหตุให้มีการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอในสิ่งแวดล้อมและในแปลงของเกษตรกร การปนเปื้อนดังกล่าวมาจากแปลงทดลองแบบเปิดของกรมวิชาการเกษตรที่สถานีวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ส่วนย่อยพืชสวน อำเภอท่าพระ จังหวัดขอนแก่น แต่ครั้งนั้น กระทรวงเกษตรฯ ไม่ยอมรับว่าเกิดการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอจริง พร้อมกล่าวว่ากรีนพีซเป็นผู้ทำให้เกิดการปนเปื้อนเสียเอง จนนำไปสู่การดำเนินคดีอาญานักกิจกรรมและเจ้าหน้าที่กรีนพีซในข้อหาอาญาที่ร้ายแรงคือ บุกรุก ลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์
กรีนพีซต้องเผชิญกับคดีความอาญาและมีการต่อสู้นำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล ท้ายสุด ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องนักกิจกรรมของกรีนพีซรวมทั้งเจ้าหน้าที่กรีนพีซที่ถูกกล่าวหา กรมวิชาการเกษตรยังเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ จนเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องเจ้าหน้าที่กรีนพีซและระบุว่าการกระทำของกรีนพีซในครั้งนั้นเป็นการแสดงออกที่มีความชอบธรรมเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ
ในปี พ.ศ. 2549 กรีนพีซยืนฟ้องคดีปกครองต่อกรมวิชาการเกษตรในฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนมะละกอ จีเอ็มโอในสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ. 2552 ศาลปกครองกลางได้ยกฟ้องคำร้องและมีคำสั่งศาลว่ากรมวิชาการเกษตรไม่ได้ละเลยในการจัดการการปนเปื้อนจีเอ็มโอจากการทดลอง กรีนพีซจึงยื่นอุทธรณ์ในทันทีหลังมีคำสั่งศาล