พื้นที่ทับซ้อน “ชุมชนเก่า ในเมืองใหญ่”

พื้นที่ทับซ้อน “ชุมชนเก่า ในเมืองใหญ่”

“การไล่รื้อชุมชนค่อยๆ เกิดขึ้น วัฒนธรรมดั้งเดิมถูกดูดกลืนหายไปอย่างช้าๆ” แม้กรุงเทพมหานครในวันนี้ไม่อาจนิยามได้ว่าเป็น “เมืองเกิดใหม่” แต่กำลังวิวัฒน์สู่เมืองรูปแบบใหม่ เน้นการเติมแต่งความทันสมัยตามรูปแบบตะวันตก

ชุมชนดั้งเดิม วัฒนธรรมเก่าถูกตั้งคำถาม ด้วยวาทกรรมจัดระเบียบสร้างระบบสังคม แล้วอะไร? หรือใคร? ที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง ทิศทางเมืองเก่าในโลก ยุคใหม่ถูกพัฒนาตามแนวคิดที่แตกต่างในวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร…

20160504112747.jpg

 “คนที่ออกแบบผังเมือง ต้องเข้าใจบริบทและต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ของเมือง  เพราะถ้าเราวางผังเมืองโดยไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์อาจ กลายเป็นตึกสูงเต็มไปหมดก็ได้ เท่ากับเป็นการทำลายสิ่งดีงามที่มีอยู่ ทำลายมรดกของชาติ”

คำพูดไม่สั้นไม่ยาวในช่วงท้ายของบทสนทนาที่สะท้อนการออกแบบเมืองกรุง ผ่านสายตา พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ หนึ่งในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

 

เมื่อเราถามต่อว่าเห็นอะไรเกิดขึ้นบ้าง ในห้วงเวลาพัฒนาเมืองใหญ่

ผมว่าพักนี้เราจะเห็นประเด็นเรื่องการไล่รื้อชุมชนเก่า ในเมืองใหญ่เกิดบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งชุมชนที่ถูกไล่รื้อมีหลายประเภท มีทั้งชุมชนเก่า และชุมชนที่บุกรุก แต่ถ้ามองในภาพของ การพัฒนาเมือง จะต้องมีการวางแผน วางผังเมืองที่ดี และเป็นระบบที่เหมาะสมมากกว่านี้

ทั้งเรื่องสาธารณูปโภค การสัญจร และการใช้งานของพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละชุมชน   เพราะยุคนี้กลายเป็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกัน บางครั้งในพื้นที่เดียวกัน มีทั้ง เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจหรือศูนย์กลางการค้า พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่กิจกรรมบันเทิง พื้นที่ทางวัฒนธรรม หรือพื้นที่เกี่ยวกับศาสนา เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญของการวางผังเมือง คือต้องมีความเข้าใจถึงบริบทของเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีชุมชนดั้งเดิมตั้งอยู่  เรายิ่งต้องมีความเข้าใจในการหาแนวทางจัดการจัดระบบ เพราะเรื่องแบบนี้ไม่สามารถตัดสินหรือคิดจัดการจากฝ่ายรัฐเพียงอย่างเดียว

อย่างเช่น

….ฝ่ายที่อยากจัดระบบพื้นที่บอกว่าต้องทำอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ทางการจราจร หรือประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ทำให้มีผลกระทบต่อชุมชนบางชุมชนเพราะมีการเวนคืนไล่รื้อ กุญแจคือ ฝ่ายที่จะเข้าพัฒนาต้องทำความเข้าใจและมองในหลายๆมิติไปพร้อมๆกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอาจมีคนที่ได้รับความเดือดร้อน

ยกตัวอย่าง ชุมชนเก่าอย่างป้อมมหากาฬ ผมเข้าใจว่าในประเด็นที่มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ 20 กว่าปีมาแล้ว ที่มีแผนต้องพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะหรืออะไรก็แล้วแต่ มีการเวนคืน  มาถึงขั้นตอนที่ว่าออกกฎหมายเวนคืนไปแล้ว และมีการจ่ายเงินไปให้ชาวบ้านย้ายออกไป จากชุมชนไปแล้วบางส่วน กระทั่งถึงปัจจุบันมีการบังคับใช้กฏหมายถึงขั้นขึ้นศาลมาแล้ว เรื่องนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬ เดินมาจนสุดทางแล้ว จึงไม่ง่ายทีเดียวที่จะไม่ปฏิบัติตาม

แต่อีกด้านแนวคิดอันนี้เกิดขึ้นหลายสิบปีแล้ว หลายอย่างในปัจจุบันเปลี่ยนแปลง เรื่องบริบทของเมือง การใช้ชีวิตกับชุมชน น่าจะถูกทำความเข้าใจแนวคิดใหม่เช่นกัน แต่ต้องเป็นการสร้างความเข้าใจและทำงานแบบมีส่วนร่วม เพราะประชาชนปัจจุบัน ก็มีความมรู้ความเข้าใจข้อมูลวัฒนธรรมที่สำคัญกับทางประวัติศาสตร์มากขึ้น

ฉะนั้นถ้าเป็นการร่วมกันคิดร่วมกันทำ น่าจะดีกว่าเพราะว่าในเมื่อเขามีส่วนร่วมเขาก็น่าจะ มีความภูมิใจว่า นี่คือสื่งที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยกันแล้วก็เขาเองเป็นเจ้าข้าวเจ้าของต่างคนต่างก็ มองการพัฒนาไปทางเดียวกัน ผลที่ได้คือมีคนใช้งานพื้นที่จริงๆ แล้วก็มีคนดูแลพื้นที่นั้นด้วย นั่นคือสิ่งที่มันควรจะเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน

 

จากมุมสถาปนิก ? 

พื้นที่สาธารณะ กับ พื้นที่ใช้ชีวิตพื้นที่อยู่อาศัย อยู่ร่วมกันได้ไหมในเมืองใหญ่

สมมุติว่าเรามีบ้าน เรามีพื้นที่เล็กอยู่ใจกลางเมือง เราเองคงต้องการพื้นที่ที่เป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้เราสามารถไปพักผ่อน ไปเดินเล่น ไปทำกิจกรรมต่างๆนอกบ้านได้ ไปเดินสูดอากาศได้ นั้นคือสิ่งที่สามารถรวมสองพื้นที่เข้าไว้ด้วยกันได้ มันมีมิติเกี่ยวกับเรื่องความเป็นอยู่ด้วย ความเป็นอยู่ดีคุณภาพชีวิตก็ดี ฉะนั้นทำไมมันถึงจะอยู่ร่วมกันไม่ได้เพราะเป็นสิ่งที่มีความสืบเนื่องกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าบอกว่าในพื้นที่ที่เป็นสวนเนี่ยมันเป็นสวนไม่ได้เพราะมันเป็นบ้านฉัน มันก็เป็นประเด็นที่ต้องคุยกันให้ดีว่า ในเชิงความเป็นไปได้  สำหรับการพัฒนา จุดไหน ตรงไหนที่จะสามารถขยับขยายได้ และตรงไหนที่มันไม่ได้เลย เพราะอาจจะมีอาคารสำคัญ อาคารเก่าแก่อายุ 100 ปี หรือ อาคารอายุ 50 ปี ที่มีคุณค่า สิ่งที่มีอยู่เหล่านี้เราต้องศึกษาอย่างเป็นระบบ แล้วก็คุยและหาทางออกร่วมกันวิธีนั้นน่าจะทำให้เราได้พื้นที่สาธารณะมาเพื่อความสุขของชาวบ้านที่พวกเขาจะได้ใช้มันและมีความสุขที่จะอยู่กับมัน นั้นผมว่าดีกว่า

ยกตัวอย่าง…

คือ โครงการก่อสร้างถนน 14 กิโลเมตร เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางจักรยานเลียบแม่น้ำ จะเห็นว่าทำไมถึงมีการต่อต้านกัน เพราะว่า สิ่งที่กำหนดมาโดยรัฐบาล เหมือนมีความหวังดี  แต่ขีดเส้นว่าตรงนี้จะดี แต่ขณะเดียวกันมันมีผลกระทบกับคนที่อยู่ริมน้ำ จริงๆชุมชนที่อยู่ขยายจากริมน้ำเข้าไปก็มีผลกระทบ ฉะนั้นทำไมไม่คุยกับเขาเสียก่อน ที่จะขีดเส้นหรือทำแบบมาให้ดูว่ามันเป็นเหมือนทางด่วนริมน้ำชาวบ้านถึงให้ก่อสร้าง

ควรมีกระบวนการหารือพูดคุยกันหรือว่าทำความเข้าใจกันว่าสิ่งไหนที่ดีๆ และ ผลกระทบคืออะไร คุณจะเสียประโยชน์อะไร คุณจะได้อะไร เพราะนั้นมันต้องมีกระบวนการ ทำงานที่เหมาะสม ยุคนี้ไม่ใช่ยุคสมัยโบราณที่รัฐบาลบอกว่าดีก็ต้องทำเลย “การพัฒนาเมือง ไม่ใช่การทำแบบขีดเส้นใต้”  ที่แล้วบอกว่า “ทำ” แล้วให้มันจบ

 

การพัฒนาเมืองในวันนี้ ก็คือการสร้างการมีส่วนร่วม

เพราะปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าทำโดยไม่ได้สนใจคนที่ใช้พื้นที่นั้นๆอยู่ มันจะทำให้เกิดการต่อต้าน ถึงแม้ว่าบางครั้ง วิธีคิด แนวคิดจะเป็นสิ่งที่ดีเพื่อสร้างพื้นที่ สาธารณะ ขณะเดียวกันกระบวนการทำถ้าไปบังคับเขาโดยไม่ทำความเข้าใจ หรือไม่ทำการคุยกันก่อนเพื่อทำให้เห็นภาพชัดเจน มันก็จะกลายเป็นปัญหา  

การวางผังเมืองต้องเกิดจากความเข้าใจ ว่าเมืองพัฒนาไปยังไง ประเทศไทยมีเมืองเก่า ตั้งต้นของกรุงเทพคือเกาะรัตนโกสินทร์ ความเจริญเติบโตของเมืองก่อนเป็นกรุงเทพ พัฒนาลงมาจากทางอยุธยา ล่องแม่น้ำลงมา วิถีชีวิตในการสร้างเมืองเกิดจากแม่น้ำ เป็นวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ เมืองเกิดจากแม่น้ำ เราอยู่กับน้ำ เป็นเมืองเกษตรกรรม ใช้ทั้งสัญจร น้ำกิน ดื่ม ใช้ นั่นคือบ่อเกิดวัฒนธรรมของเรา เมืองเกิดลักษณะนั้น

กรุงเทพสมัยก่อน คลองเยอะมาก เรียกว่า เวนิสตะวันออก มีแผนมาจากแม่น้ำที่แตกออกมา ถ้าเราเข้าใจตรงนี้การเกิดของเมืองมาจากไหน อีกด้านบ้านเรามีศูนย์รวมทางวัฒนธรรมของชุมชน ก็ชัดเจน คือวัด วัดมีกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพ วัดเหมือนเป็นศูนย์กลางชุมชนในหลายๆจุด มันก็เป็นลักษณะการเกิดเมืองของเรา การพัฒนาเมืองในสมัยใหม่ ทำให้กรุงเทพขยายและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  ซึ่งมรดกเชิงวัฒนธรรม เชิงประวัติศาสตร์  คือ สิ่งสำคัญของประเทศชาติ เป็นประโยชน์ของชาติ เราต้องรักษาไว้ แต่เราจะต้องอยู่ร่วมกันยังไงในโลกที่พัฒนาความทันสมัยมากขึ้น

ชุมชนที่มันกระจายออกมา เราก็ต้องศึกษาว่ามีอยู่ตรงไหน มีคุณค่า มีชีวิตอย่างไร และจะพัฒนาให้สอดคล้องกับการพัฒนาของเมืองได้ยังไง หลายๆครั้งถ้าชุมชนเก่า อยู่ในพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก็ยากที่จะค้านกระแสของการลงทุน ดังนั้น ในเมื่อบ้านของคุณอยู่ตรงนั้น ตรงทำเลทองของเศรษฐกิจการลงทุน มันก็ต้องยอมรับว่ายากที่จะรักษาบ้านให้คงอยู่ แต่จะรักษาวิถีชีวิตที่ดีงามคงให้อยู่ได้อย่างไร นั่นเป็นเรื่องที่น่าคิด

ถึงได้เรียนเบื้องต้นว่าความเข้าใจของผู้วางผังเมือง หรือความเข้าใจในการวางแผนต่างๆ ต้องเข้าใจบริบทตรงนี้  ยกตัวอย่าง ถ้าเราวางผังโดยไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้เลย พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์อาจจะกลายเป็นตึกสูงเต็มไปหมดก็ได้ เท่ากับเป็นการทำลายสิ่งดีงามที่มีอยู่ ทำลายมรดกของชาติ ฉะนั้นต้องทำด้วยความเข้าใจ และมีการศึกษาอย่างถ่องแท้ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ