ยังไม่สิ้นหวัง ตามหาอโนชา
ดันไทยนำเรื่องการลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือเข้าที่ประชุมอาเซียน
การลักพาตัวชาวต่างชาติโดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ เป็นปัญหาต่อเนื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นเวลายาวนาน เป็นรูปแบบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไร้มนุษยธรรม ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อตัวผู้ถูกลักพาตัวและครอบครัวของพวกเขา ซึ่งได้เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
เรื่องราวของน.ส.อโนชา ปันจ้อย ชาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ถูกระบุว่าถูกลักพาตัวโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือไปจากมาเก๊า เมื่อปี พ.ศ. 2521 เมื่ออายุได้เพียง 24 ปี จนปัจจุบัน 41 ปีแล้วที่ต้องถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวอยู่ในประเทศเกาหลีเหนือ 41 ปีแล้วกับการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน กับการถูกพลัดพรากจากครอบครัวอันเป็นที่รัก ครอบครัวปันจ้อยยังคงรอคอยด้วยความหวังกับการกลับมาของเธออยู่ตลอดเวลา
นายโทโมฮารุ เอบีฮาระ ประธานกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ(เชียงใหม่) กล่าวว่า ในปี้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้รัฐบาลที่มีความมั่งคง มีเสถียรภาพ อีกทั้งในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน รวมถึงการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2562 การยังคงหยิบยกประเด็นปัญหาการลักพาตัวชาวไทยโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือ และบรรจุเป็นวาระในการเจรจาของการประชุมภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและเกาหลีเหนือ ถือเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งที่รัฐบาลไทยจะได้แสดงเจตนาอันแน่วแน่ต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อีกครั้งต่อรัฐบาลเกาหลีเหนือ เพื่อที่จะเกิดการหารือในระดับ G to G ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการและเป็นรูปธรรมอีกครั้งหนึ่ง
ครอบครัวปันจ้อยรู้สึกมีความหวังเป็นอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย และโอกาสอันดียิ่งในปีนี้ จึงได้เดินทางไปยังศาลากลาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 เพื่อยื่นหนังสือถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ณ ณ ศูนย์ดำรงธรรม และยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว เพื่อขอพิจารณาการให้ความช่วยเหลือในแก้ปัญหาการลักพาตัวจากรัฐบาลเกาหลีเหนืออย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ครอบครัวปันจ้อยและกลุ่มฯมีความคาดหวังและมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลชุดนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการลักพาตัวให้สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยหวังว่าจะมีความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือต่อไป นำมาซึ่งความมั่นใจอีกครั้งว่า น.ส.อโนชา จะได้กลับบ้านในเร็ววัน
คุณบรรจง ปันจ้อย หลานชายอโนชา ถ่ายเมื่อยื่นหนังสือต่อนายกฯ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ณ ศูนย์ดำรงธรรมเชียงใหม่
วันที่ 12 กรกฎาคม 2562 น.ส.อโนชา จะมีอายุครบ 65 ปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงญาติผู้ใหญ่อันเป็นที่รัก ครอบครัวปันจ้อยจึงจะได้จัดพิธีทำบุญวันเกิดให้แก่เธอ ณ บ้านเกิดของเธอ ในหมู่บ้านเล็กๆของอำเภอสันกำแพง จ.เชียงใหม่ และนอกเหนือจากญาติพี่น้องของเธอ ในปีนี้ Mr.Masumoto Teruaki น้องชายของ Ms.Masumoto Rumiko ชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ จะมาร่วมพิธีทำบุญด้วยเช่นกัน Mr.Masumoto เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ เมื่อปี 2540 ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสมาคมฯ(2540-2557) และเลขาธิการสมาคมฯ(2547-2557) เคยพบครอบครัวป้นจ้อยครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 เมื่อรัฐบาลไทยระบุลตัวบุคคลว่าเป็น น.ส.อโนชา ปันจ้อย จากคำยืนยันจาก Mr.Charles Robert Jenkins อดีตทหารอเมริกาหนีทัพและใช้ชีวิตกว่า 40 ปีในเกาหลีเหนือด้วย
ก่อนหน้านี้ ช่วงปี 2549 การติดตามหา “อโนชา ปันจ้อย” หญิงไทยจากบ้านหนองแสะ ต.ห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัด เชียงใหม่ ที่ถูกระบุโดยอดีตทหารอเมริกัน ว่าได้พบและมีข้อมูลว่าถูกลักพาตัวไปอยู่ในเกาหลีเหนือนั้น มีความคืบหน้าเป็นลำดับ เมื่อระดับรัฐบาลที่เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญต่อการติดตามได้เตรียมจะประสาน ข้อมูลกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ในการนำผู้ถูกลักพาตัวกลับประเทศ
หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ รายงานว่า นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ประกาศจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น พบ ชาร์ลส์ โรเบิรต์ เจนกินส์ อดีตทหารอเมริกันซึ่งหนีทัพอเมริกาไปอยู่เกาหลีเหนือ ผู้เขียนหนังสือ TO TELL THE TRUTH ตีแผ่เรื่องราวพร้อมภาพของอโนชา เพื่อสอบถามรายละเอียดด้วยตนเอง
ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยได้ติดต่อกับรัฐบาลเกาหลีเหนือ โดยการส่งหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเลขาธิการพรรค แรงงานของเกาหลีเหนือ แต่ได้รับการตอบมาเบื้องต้นว่า ไม่มีบุคคลที่เชื่อว่าเป็นอโนชาอยู่ที่เกาหลีเหนือ
อโนชา เกิดเมื่อ 12 กรกฎาคม 2497 เป็นชาวอำเภอสันกำแพง เมื่อจบ ป.4 ออกบ้านไปทำงานกรุงเทพ และมาเก๊า ก่อนจะหายตัวไปเมื่อปี 2521 ข้อมูล จากเมืองไทย และจากหนังสือของเจนกินส์ ตรงกันว่า เธอหายตัวไปพร้อมกับชาวฮ่องกง 2 คน และเจนกินส์ ซึ่งมีภรรยาคือ โซกะ หญิงญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวไปเช่นกัน ได้พบเธอ เป็นเพื่อนบ้าน และบันทึกเรื่องราวทั้งหมดกลับมาตีพิมพ์ที่ญี่ปุ่น พร้อมปรากฏเป็นข่าวดังระดับโลกเมื่อพฤศจิกายน 2548
อโนชา คือคดีแรกของการลักพาตัวคนไทยโดยเกาหลีเหนือ แต่สำหรับญี่ปุ่นข้อมูลยืนยันจากระดับรัฐบาลว่ามีทั้งสิ้น 17 คน (ภาคเอกชนระบุมีมากกว่า 100 ราย) มีการก่อตั้งเป็นสมาคมฯ อย่างชัดเจน และ รัฐบาลญี่ปุ่นก็เอาจริงเอาจังในการติดตามคนของเขาจนสำเร็จเมื่อปี 2545 นายกรัฐมนตรี โกอิซูมิ ของญี่ปุ่นไปเกาหลีเหนือและนำพาคนของเขา 5 คนกลับสู่ประเทศสำเร็จ และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเกาหลีเหนือยอมรับว่ามีการลักพาตัวจริง
ญี่ปุ่นจึงให้ความสนใจเรื่องของอโนชา และระบุด้วยว่ามีถึง 12 ประเทศที่เกิดปัญหาถูกลักพาตัวญาติพี่น้องไปเช่นเดียวกัน
20-24 ธันวาคม 2548 สมาคมช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นผู้ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ เชิญครอบครัวปันจ้อย อันประกอบด้วย สุคำ, บรรจง ปันจ้อย พี่ชายและหลายชายของอโนชา นายสุรชัย จงรักษ์ นายอำเภอสันกำแพง และ อ.โทโมฮารุ เอบีฮาระ ประธานกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่) ไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่กรุงโตเกียวเมื่อ ซึ่งได้รับข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ 3 ประเด็น
สมาคมช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นผู้ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ เชิญครอบครัวปันจ้อยและทางการท้องถิ่นของไทยไปติดตามข้อมูลที่ประเทศญี่ปุ่น
คือ 1. อโนชายังมีชีวิตอยู่
“เจนกินส์ยืนยันว่า ปี 2546 ก่อนที่เจนกินส์จะย้ายมาอยู่กับภรรยาที่ญี่ปุ่น รัฐบาลเกาหลีเหนือหลอกเขาว่าถ้ากลับญี่ปุ่นจะโดนจับตัว แต่หากอยู่ต่อจะให้อยู่กับอโนชา”
2. สามีคนที่ 2 ของ อโนชา เพราะ อับชา ซึ่งเป็นสามีคนแรกของอโนชา เสียชีวิตไปเมื่อปี 2526 อีก 2 ปีถัดมา ผู้ควบคุมของรัฐบาลเกาหลีเหนือหาสามีคนใหม่ให้เธอเป็นชาวเยอรมัน เจน กินส์บอกว่า ปี 2522 เขาพบอโนชาที่ร้านตัดผม เธอบอกว่าจะแต่งงานกับชาวเยอรมันที่สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศเกาหลีเหนือ เพื่อไปประเทศแถบยุโรปได้ตามสะดวก เจนกินส์คาดว่า สามีใหม่ของอโนชาคนนี้ ไม่น่าจะเป็นผู้ถูกลักพาตัวมา แต่น่าจะเป็นพวกคอมมิวนิสต์ที่อาศัยในเยอรมันตะวันตก และเป็นสมาชิกของกลุ่มศึกษา “ชุเชะอิเดีย” ซึ่งคือทฤษฎีการปกครองของประเทศเกาหลีเหนือ โดยชายคนนี้อาจย้ายมาเอง และทำหน้าที่เป็นสปายให้เกาหลีเหนือ
แต่ประเด็นนี้ “หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ” ตรวจสอบจากข้อมูลที่มีอยู่ พบว่ายังคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง โดยจากเอกสารแปลความบางตอนของหนังสือ TO TELL THE TRUTH ของเจนกินส์ ระบุว่า อับชาสามีคนแรกของเธอเสียชีวิตปี 2526 และอโนชาแต่งงานใหม่กับชาวเยอรมันซึ่งเป็นนักธุรกิจในปี 2528 แต่ข้อมูลใหม่ที่เจนกินส์บอกว่าพบอโนชาครั้งสุดท้ายกลับเป็นพฤษภาคม 2522 ซึ่งจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาและตรวจสอบให้ชัดอีกครั้ง
3. อ.เอบีฮาระ บอกว่า เจนกินส์อธิบายถึงขั้นตอนการลักพาตัว โดยระบุว่าอโนชาเป็นผู้เล่าว่า เมื่อเธอทำงานที่โรงนวดมาเก๊า เจ้านายชาวโปรตุเกสบอกว่าออกไปถ่ายรูปกับลูกค้าชาย 2 คน ที่ชายทะเล เมื่อไปถึงเธอถูกมัด ฉีดยา และพาตัวขึ้นรถข้ามเขาไปท่าเรือ ถูกนำลงเรือเล็กลงไปใต้ท้องเรือลำใหญ่ พบหญิงชาวมาเก๊าอีก 2 คน เมื่อถึงเกาหลีเหนือก็ถูกนำไปยังเกสท์เฮ้าส์ที่เปียงยาง ก่อนมาพบและพักอยู่ในอพาร์ทเมนท์เดียวกันกับเจนกินส์และโซกะ ซึ่งโซกะ สามารถชี้รูปของอโนชาที่ครอบครัวนำไปจากสันกำแพงได้ถูกต้องทุกรูป
ภาพถ่ายเมื่อคุณบรรจง ปันจ้อย กล่าว ณ International Symposium เรื่องการลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ จัดที่สำนักงานใหญ่ UN นครนิวยอร์ก
ประธานกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่) สันนิษฐานว่า คนไทยที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ ไม่น่าจะมีเพียงอโนชาเพียงคนเดียว อย่างน้อยด้วย 4 เหตุผล
1.ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน (คิม จอง อิล) เมื่อสมัยเป็นผู้นำหมายเลข 2 ของประเทศ ได้ ออกคำสั่งในปี 2514 ว่า ให้มีการสร้างสปายให้มีความเหมือนกับคนของประเทศที่ต้องการส่งไปให้มากที่สุด โดยลักพาตัวคนของประเทศนั้นๆ ให้มาเป็นครูเพื่อสอนการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ ภาษา เป็นต้น หลังจากนั้นเกิดการลักพาตัวชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ถูกลักพาตัวไปมากที่สุด รวมทั้งอโนชาด้วย
2.ตามคำอธิบายของสมาคมช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นผู้ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ ระบุว่า การลักพาตัวของเกาหลีเหนือ น่าจะเป็นการลักพาตัวไปก่อน แล้วจึงคัดเลือกเพื่อการใช้งาน เช่นหากมีความสามารถด้านภาษา ก็จะถูกใช้ให้แปลเอกสาร สำหรับอโนชาถูกนำไปเป็นภรรยาของสปาย
3.การลักพาตัวชาวต่างชาติ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการทำงานให้กับเกาหลีเหนือ แต่การลักพาตัวอโนชา กลับไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ไปเป็นเพียงภรรยาของสปายเท่านั้น และเมื่อเกาหลีเหนือลักพาตัวคนไทยเพื่อประโยชน์ในการผลิตสปาย จึงคาดว่าอาจมีคนไทยอื่นที่ถูกลักพาตัวไปอีก
4.จากการสังเกต ผู้นำเกาหลีเหนือยากที่จะยอมรับว่า อโนชาถูกลักพาตัวและอยู่ที่เกาหลีเหนือ เพราะจากข้อมูลที่ทราบจากเจนกินส์ว่า สามีคนที่ 2 ของอโนชาน่าจะเป็นสปาย ดังนั้นหากเกาหลีเหนือรับว่าอโนชาถูกลักพาตัวจริงก็จะต้องปล่อยกลับประเทศ นั่นหมายถึงข้อมูลที่เป็นความลับของเกาหลีเหนือจะถูกเปิดเผยด้วย
“ตอนแรกๆ เกาหลีเหนือก็ปฏิเสธการลักพาตัวชาวญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่ข้อมูลหลักฐานและความพยายามร่วมมือกัน ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้ความใส่ใจช่วยเหลือจริงจัง เจรจากับผู้นำเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ จนนำมาซึ่งการยอมรับผิดของเกาหลีเหนือส่งตัวชาวญี่ปุ่น 5 คนกลับประเทศ เราจึงต้องเชื่อมั่นข้อมูลที่มี สร้างความเข้าใจต่อการลักพาตัวของเกาหลีเหนือให้เกิดแก่สังคมไทยและพยายาม ร่วมกันหลายหน่วยงาน หาข้อมูลเพิ่มเติมที่จะทำให้เกาหลีเหนือยอมรับว่า ได้ลักพาตัวคุณอโนชาไป“อ.เอบีฮาร่าได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้
หากย้อนถึงประสบการณ์การติดตามผู้ถูกลักพาตัวของรัฐบาลญี่ปุ่น พบว่ารัฐบาลญี่ปุ่น ใส่ใจ และจริงจังต่อกรณีนี้ นายกรัฐมนตรี โคอิซิมิ ถือข้อมูลประชาชนของเขาถูกลักพาตัว ไปยื่นต่อรัฐบาลเกาหลีเหนือด้วยตนเองและสำเร็จ แต่นั่นอาจเป็นเพราะ ญี่ปุ่นไม่มีสัมพันธทางการทูตกับเกาหลีเหนือ ท่าทีของ ส.ส.ญี่ปุ่นต่อการเรียกร้องส่งคืนผู้ถูกลักพาตัวก็แสดงชัดเจนและรุนแรง เช่นการเรียกร้องต่อรัฐบาลของตน ห้ามให้เรือเกาหลีเหนือเข้าญี่ปุ่น ห้ามค้าขายกับญี่ปุ่น ห้ามส่งเงินไปช่วยเป็นต้น แต่สำหรับไทย เราได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ปี 2518 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มองในมุมดีอาจทำให้ง่ายเข้าต่อการติดตามตัวอโนชา!
แต่เมื่อ วันที่ 16 ธันวาคม 2548 สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ได้ลงมติเพื่อตำหนิเกาหลีเหนือในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการลักพาตัวของชาว ต่างชาติ มี 88 ประเทศแสดงความเห็นชอบ 21 ประเทศไม่เห็นชอบ และสละสิทธิ 60 ประเทศ แต่ 1 ในประเทศที่สละสิทธินั้นคือ ประเทศไทย.