เลือกตั้ง 62: ถามหานโยบายรับมืออนาคต จากประชาชน 4 ภาค

เลือกตั้ง 62: ถามหานโยบายรับมืออนาคต จากประชาชน 4 ภาค

10 วัน 1000 นาที เวทีแรกที่ไทยพีบีเอส เปิดฉากขึ้น  ว่าด้วยเรื่อง  “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง”

นอกจากการวิเคราะห์การเมืองอย่างเข้มข้นของเหล่าตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมเปิดเวทีแล้ว ยังมีคำถามจากประชาชน ที่ตั้งขึ้นมา ด้วยโจทย์ร่วมที่ต้องการหาทางรับมือกับ “อนาคต”ของประเทศที่เราจะเจอร่วมกัน

คำถามเหล่านี้จากประชาชน  ไม่ได้ผุดขึ้นมาจากความรู้สึกส่วนตัว   แต่ภาพอนาคตสังคมไทยที่ภาคประชาชนร่วมกันมองมาจากสิ่งที่คนในภูมิภาคเจอในปัจจุบัน และไทยพีบีเอสได้จัดเวทีในภาคเหนือ อิสาน กลาง และใต้ และชวนกันมาร่วมวิเคราะห์สถานการณ์มาตั้งแต่ปลายปี 2561  และนี่คือสิ่งที่สะกัดมาเป็นคำถาม และมีคำตอบจากพื้นที่ร่วมคิด

เหนือ : ธุรกิจท้องถิ่นที่หัวเมือง กับแรงเสียดทานของทุนใหญ่ทุนข้ามชาติ ที่เป็นทั้งโอกาสและปัญหา

คุณไพรัช โตวิวัฒน์ กรรมการบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม บริษัทที่รวมเอาภาคเอกชน บุคคลทั่วไป นักวิชาการ นักอนุรักษ์ ร่วมกันแก้ปัญหาเรื้อรังของเมืองเชียงใหม่ในด้านต่างๆ เป็นตัวแทนจากภาคเหนือที่มาร่วมระดมสมองมองภาพอนาคตสังคมไทย และมีคำถามต่อการเติบโตของหัวเมืองสำคัญของไทยในภูมิภาค

คุณไพรัชยกตัวอย่างกับสิ่งที่หัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่กำลังเจอ -เชียงใหม่เป็นเมืองที่ 2 ของประเทศ ขนาดเศรษฐกิจ 2 แสนล้าน เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญมูลค่ากว่า 9 หมื่นล้าน เพราะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เช่นปีนี้ นักท่องเที่ยวสูงกว่า 11 ล้าน. ที่เราไปคุยกันภาพอนาคตของสังคมไทย เราพบว่าอนาคตของเชียงใหม่และอีดหลายเมืองที่จะเจอคือเรื่องแรกสังคมสูงวัย สองปัญหารถติด การขยายของเมือง อีกเรื่องการรุกเข้ามาของทุนทั้งระดับประเทศและทุนนอกประเทศ นักลงทุนจากจีน มาทำธุรกิจ ภาคเอกชนเชียใหม่ ทราบว่าตัวเองต้องรับมือเรื่องเหล่านี้. คนเชียงใหม่พยายามรวมตัวมาคุย แต่ปัญหาเหล่านั้น พอถึงที่สุดแล้วต้องมีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐสนับสนุน ให้เศรษฐกิจและธุรกิจในพื้นที่อยู่ได้ เนื่องจากมีทุนที่มาจากระดับประเทศ ทุนต่างประเทศ

สิ่งที่ผมอยากถามมากสำหรับผู้ที่จะมาบริหารประเทศ เมื่อเชียงใหม่หรือคนท้องถิ่นรวมกลุ่มกันแล้ว จะมีนโยบายสนับสนุนคนพื้นที่รับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไร จะแก้ปัญหาผู้ประกอบการในท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้สร้างเศรษฐกิจแต่เริ่มต้น อยู่ได้อย่างไรด้วย

ตอนนี้เชียงใหม่เจอ สังคมสูงวัย เชียงใหม่ถึงแล้ว อีก 20 ปีข้างหน้า คนเชียงใหม่เดินมา 3 คนเป็นคนแก่ 1 คน ผมก็อยากถามคนรับผิดชอบจะรีบมือสิ่งเหล่านี้อย่างไร. สำหรับผมสิ่งเหล่านั้นเป็นทั้งโอกาสและปัญหา โอกาสคือ หากรัฐบาลกำลังมองหาธุรกิจ S Curve และมองมาที่ผู้สูงอายุ. เราก็จะคุยกันเรื่องยา หุ่นยนต์ดูแลคนแก่ คิดค้นอาหารกินก่อนป่วย. ป่วยแล้วกินอะไร ที่จริงภูมิปัญญาพื้นที่ที่เรามี เช่น เชียงใหม่มียาสมุนไพร ทำยาที่คนใช้แต่ผมเป็นเด็ก คนรุ่นผมรู้เรื่องแต่หลังจากนี้จะไม่รู้จักยาพวกนี้ ยาหอม ยาลม ถ้าไม่ทำอะไรเลย เราจะจ่ายเงินสำหรับการรักษาพยาบาลอย่างมโหฬาร. อุปกรณ์ต่างๆ นำเข้าต่างประเทศทั้งหมด ถ้ารุกก่อน จะแก้ปัญหาในประเทศได้ ส่งออกสิ่งที่เรารู้ไปขายในต่างประเทศได้ เป็นโอกาสและปัญหา

ส่วนความกังวลใจจากแต่ละภาคไม่หนีกันเท่าไหร่ ภาคใต้ห่วงเรื่องพลังงาน ภาคอิสานอยากมีเรื่องความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาเมือง เชียงใหม่ก็ต้องการสร้างเมือง และทำอย่างไรออกจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่นควันทางภาคเหนือจาก 1-2 เดือนขยายเวลาเป็น 4-5 เดือน ปัญหานี้กลับมาอีกแล้วทำลายสุขภาพ เศรษฐกิจ การลงทุนพัฒนาที่ดิน คนลงทุนเขาไม่ลงทุนในพื้นที่ที่มีหมอกควัน เป็นเรื่องที่จะต้องคุยกันเยอะมากถึงภาพอนาคต ที่คนภาคเหนือและภูมิภาคต่างๆจะต้องนำมาจับเรียงความสำคัญ และจี้ไปทีละเรื่องสิ่งเหล่านี้จะมาแชร์ทั่วประเทศได้

เราต้องรู้ ข้อดีข้อเสียง การเข้ามาของทุนไม่ใช่เรื่องร้าย แต่ถ้าไม่ทำให้ดีคนเชียงใหม่อาจต้องย้ายออกเมือง ย้ายออกจากเมืองเก่าของตัวเองไปหาที่ไกลนอกเมืองแทน นักท่องเที่ยว นักลงทุนกลายมาเป็นเจ้าของ เอกลักษณ์จะไม่มี สิ่งที่น่าชวนคุยคือ อะไรคือมาตรการที่เหมาะสม? และจัดการอย่างไร เชียงใหม่คือเมืองน่าอยู่ คนอยู่ด้วยความสบายก่อน เมื่อน่าอยู่ก็จะน่าเที่ยวคนที่เห็นคนเชียงใหม่อยู่ดีมีสุขก็อยากมาร่วม และถ้าดีกว่านั้น เป็นเรื่องของอาชีพ การลงทุน มีโรงแรมดี พัฒนาเป็นศูนย์กลางคอมพิวเตอร์ไหม ตอนนี้เชียงใหม่เป็นที่ 1 ของกลุ่มดิจิตอลนอแมด คนเหล่านี้ทำงานมูลค่าสูง ในเชิงนโยบายเราจะเอาเขามาเป็นแบบอย่างให้คนเชียงใหม่รุ่นใหม่มาใช้ประโยชน์ที่เขามาอยู่ได้อย่างไร เช่น สร้างสินค้าที่มีมูลค่าสูง สร้างเครือข่ายที่มีมูลค่ามาเชื่อมให้กับเชียงใหม่และประเทศไทย

อิสาน-ทำไมคนรุ่นใหม่กลับบ้าน มีอะไรที่นั่น รับมือหรือต่อยอดสถานการณ์นี้อย่างไร

อวิรุทธ์ อรรคบุตร ถามถึงนโยบายส่งเสริมธุรกิจ Start Up ที่รองรับกับเทคโนโลยีและสังคมปัจจุบัน อยากให้ภาครัฐลองมาส่งเสริมในจุดนี้ ผมว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจอยู่สามารถเล่นได้ สามารถเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้เลยทีเดียว จริง ๆ อยู่ในวงการ หรือเข้ามาในวงการก็ยังเป็นเด็กใหม่อยู่ เราก็มีความรู้สึกว่าอีสานจริง ๆ มีคนสนใจเยอะมาก ยกตัวอย่างเช่นคลิปวิดีโอ หรือ คลิปที่ยูทูป หรือหนังที่เราทำอยู่ทุกวันนี้เราได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลค่อนข้างจะน้อยมาก ๆ แม้แต่กระทั่งเรื่องของระบบเงินทุน เราดิ้นรนขนาพเพื่อหาเงินทุนมาทำธุรกิจนี้ แต่ทางรัฐเรามีความรู้สึกว่าเขายังขาดความเข้าใจอยู่ว่าธุรกิจนี้มันเป็นไปได้เหรอ หรือสื่อแบบนี้จะทำให้คนชอบได้หรือเปล่า ยังถูกมองข้ามอยู่ว่ามันทำเป็นเงินเป็นทองไม่ได้ หนังเราได้ 100 ล้าน แต่ไม่ได้มีความรู้สึกว่ามันเป็นหนังอีสานที่คนเล็ก ๆ ทำ คนเล็ก ๆ ทำ ไม่ได้มีค่ายใหญ่ไปหนุน

ผมก็อยากถามเรื่องนโยบายนั่นแหละครับ ว่าจะมีนโยบายไหนที่มาดูแลในจุดนี้ ดูแลในเรื่องของวัฒนธรรมที่ผ่านออกไปในเรื่องของสื่อ โอมคิดว่ามันมีวิธีการบูรณาการบางอย่างคือ Key บางอย่างที่ทำให้สามารถไปต่างประเทศได้แต่ยังขาดการส่งเสริมในจุดนี้อย่างจริงจัง เราไปเชียร์ในเรื่องของความ Mass ที่เขาอาจจะเข้าใจได้มากกว่า เราอยากให้มาส่งเสริมในหนังเล็ก สมมุติลงทุน 1 ล้านบาท ไปอยู่ต่างประเทศได้กำไรมา 1 ล้าน 2 แสนบาท สองแสนบาทนี้ก็คุ้มสำหรับ 1 ล้านบาทแล้ว
ตอนนี้เทคโนโลยีไปไกลมาก ไม่อยากให้ยึดอยู่แค่เดิม ๆ วิธีการทำงาน หรือเรื่องของนโยบายที่จะมาส่งเสริมอยากให้เข้าใจวิถีปัจจุบันด้วยว่ามันไปถึงลักษณะไหนแล้ว ธุรกิจบางธุรกิจมันเป็นธุรกิจใหม่ อาจจะมีเรื่องขององค์ความรู้บางอย่าง ที่จริง ๆ มันต้องพัฒนาด้วยหลาย ๆ คน ทั้งบุคลากรในภาครัฐต้องเกดความเข้าใจก่อนว่า Start Up มันคือธุรกิจที่มีเปอร์เซ็นต์การเป็นไปได้อยู่บ้าง

“อยากรู้ว่ารัฐบาลหรือพรรคการเมืองจะมีนโยบายใด สนับสนุนพวกเขาเหล่านี้ที่กลับบ้าน”

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ฝากถามคำถามต่อตัวแทนพรรคการเมือง กับกระแสคนรุ่นใหม่กลับบ้านในภาคอีสาน

ซึ่งคุณอุบล อธิบายว่ากระแสคนที่กลับบ้านมาถิ่นฐานของตนเองมีด้วยกัน 3 แบบ
1 กลับมาเพื่อดูแลครอบครัว พ่อแม่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
2 กลับมาเพื่อสานต่อกิจการหรือกลับมาใช้มรดกที่ดินให้เกิดประโยชน์
3 กลับมาเพราะทนสภาพการอยู่เมืองใหญ่ไม่ไหว ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน

ทั้งนี้คุณอุบลยังมองว่าการที่พวกเขากลับคืนสู่บ้านเกิด นอกจากจะสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้ชุมชนแล้ว พรรคการเมืองที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีนโยบายอะไรที่ช่วยสนับสนุนพวกเขา ให้สร้างความมั่นคงต่อท้องถิ่นได้นอกจากนั้นจะดูแลชนบทที่ค้ำจุนภาคอุตสาหกรรม ภาคเมือง และลดความเหลื่อมล้ำที่เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตาอย่างไร

1.พรรคการเมืองมีนโยบายที่จะเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดกับอนาคตของชุมชนในฐานะต้นทุนมรดกของสังคมไทยอย่างไร ประเด็นสำคัญก็คือว่า ชุมชนหรือว่าหมู่บ้านในประเทศไทยเป็นหน่วยทางธรรมชาติที่คนอยู่รวมกัน อยู่รวมกันกับญาติกับพี่น้อง เป็นหน่วยที่สร้างเศรษฐกิจ ฟูมฟักคนรุ่นใหม่ให้เติบโตมาเป็นคนที่สมบูรณ์ จะว่าไปชุมชนคือมรดกของสังคม เป็นหน่วยทางธรรมชาติที่มนุษย์ได้อยู่รวมกัน แต่ประเทศไทยไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ทางสังคมเรื่องนี้ที่ชัดเจน ไม่ค่อยมีนโยบายทางสังคมชุมชนที่ชัดเจนในขระที่เป็นหน่วยที่ฟูมฟักมนุษย์ Generation ใหม่ของสังคมให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ คราวนี้ผมก็อยากจะถามว่าพรรคการเมืองมีนโยบายที่จะเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดกับอนาคตของชุมชนในฐานะต้นทุนมรดกของสังคมไทยอย่างไร

2.สังคมชนบทกำลังทำหน้าที่ค้ำจุนภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและภาคเมืองด้วยการเลี้ยงลูกให้บุคลากรภาคเมือง พรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะวางนโยบายกับการจัดการความเหลื่อมล้ำที่เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตาแบบนี้อย่างไร ครอบครัวในชนบทไทยกำลังทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตรหลาน มนุษย์ Generation ใหม่ ของสังคมขณะที่พ่อแม่อยู่ในภาคโรงงาน ภาคอุตสาหกรรม อยู่ในเมือง แต่ไม่สามารถเลี้ยงดูฟูมฟักลูกตัวเองได้ ลูกกับย่ายายในหมู่บ้าน ตอนเย็นอาจจะพาหลานโทรคุยกับพ่อแม่ที่อยู่กรุงเทพฯ นี่คือรูปธรรมที่ชุมชนชนบทกำลังค้ำจุนอุตสาหกรรม บริการและภาคเมือง ครัวเรือนในชนบทกำลังค้ำจุนความอยู่รอดของอุตสาหกรรมและบริการในเมืองด้วยการสีข้าวไปกิน เลี้ยงลูกให้บุคลากรภาคเมือง ภาคอุตสาหกรรม อันนี้คือรูปธรรมของการค้ำจุนภาคเมืองของชนบท เป็นรูปธรรมของความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตา ก็อยากรู้ว่าพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะวางนโยบายกับการจัดการความเหลื่อมล้ำที่เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตาแบบนี้อย่างไร

ใต้ คนใต้อยากกำหนดอนาคตตนเอง มีไหม กลไกวิธีการให้ไปถึงจุดนั้น


คำถามถึงว่าที่นายก กิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น: ภาคใต้เขาอยากมีส่วนร่วมในการคิดร่วมทำตัดสินใจร่วมกำหนดอนาคตภาคภาคใต้ ท่านจะมีกลไกเเละมีกระบวนการอย่างไรที่จะทำให้ชาวบ้านมีส่วนที่จะกำหนดอนาคตของชุมชนของภาค ซึ่งเป็นทิศทางของภาคใต้? . ภาคใต้มีทั้งอ่าวไทยและอันดามัน มีภูเขาเป็นแกนกลางพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ดี มีทรัพยากรน้ำ ประมง ท่องเที่ยว อาหารที่ดี มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ลักษาณะอย่างที่เราเจอเราอยากให้การพัฒนาที่เราเจอ เราอยากให้พัฒนาให้สอดคล้องกับฐานชีวิตทรัพยากรศาสนา ประเพณีของชุมชน

ซึ่งที่ผ่านมานโยบายแต่ละพรรคตั้งแต่2540-ปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความสับสนต่อสังคมยิ่งพัฒนา สังคมยิ่งเหลือคุณค่าน้อยลง สังคมความเป็นปัจเจกสูง ต่างคนต่างใช้ชีวิต ไม่ดูแลกัน ผลเป็นลูกโซ่ เกิดหนี้สิ้น พึ่งตัวเองไม่ได้ ทรัพยากรดินน้ำถูกทำลายฯลฯ . นายกที่จะเลือกต้องมองประชาชนมองคนไทยเป็นหุ่นส่วนเป็นเจ้าของประเทศเพราะว่าองค์ความรู้ที่สะสมมาในชุมชนและมีนักวิชาการที่มีประสบการณ์ นายกต้องเปิดวิสัยทัศน์ ให้ประชาชนเป็นหุ่นส่วนประเทศและ พร้อมที่จะให้ทุกคนมาออกแบบกำหนดอนาคต คิดร่วมกัน ทำร่วมกัน ร่วมรับผิดชอบร่วมกัน คิดว่าจะพาประเทศนี้ไปสู่ความยั่งยืนได้ . เเละคิดว่านอกจากการออกแบบนโยบายกำหนดการพัฒนา การบริหารประเทศการแก้กฎหมายและคิดว่าควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถกำหนดนโยบายร่วมกับคุณไปเลย เพราะข้อจำกัดของทุกพรรคไม่ครอบคลุมทุกประเด็น ภาคใต้ ที่แน่นการบริหารจัดการตนเอง กำหนดอนาคตตัวเองบนฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมควรที่จะคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทุกกลุ่มสามารถนำนโยบายเข้าไปร่วมกับคุณเพื่อกำหนดทิศทางไปด้วยกันตั้งแต่เริ่ม .

กลาง-แรงงานเข้าเมืองเต็มไปด้วยเรื่องท้าทาย ยิ่งเทคโนโลยีเข้ามา การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมอยู่ตรงไหน ?


“ให้คนมีรายได้ ให้คนสามารถอยู่ในภาพของอนาคตได้ อย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ใช่ประชานิยม หรือไม่ใช่สงเคราะห์” วาสนา ลำดี อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คำถามของแรงงานต่อภาพอนาคตประเทศไทย #เลือกตั้ง2562 #เราคือแรงงาน ….. “แรงงาน” ภายใต้ภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน …..

“เรื่องของกิจการยานยนต์ถ้าเราดูข่าว เมื่อไม่นานมานี้เราก็จะเห็นเรื่องของการที่พยายามให้คนงานวัย 45 ปีขึ้นไป หรือที่ทำงานมา 45 ปีขึ้นไปเกษียณอายุก่อนกำหนดของประเภทกิจการยานยนต์ คือเป็นโครงการที่เปิดให้เกษียณอายุก่อนกำหนดได้ คุณสามารถที่จะใช้สิทธิ์ตรงนี้ได้ โดยที่คุณได้สวัสดิการคือเรื่องของเงินเกษียณอายุค่อนข้างเยอะมาก 40 เดือนขึ้นไป คนอายุ 45 ที่คิดว่าตัวเองสามารถออกจากงานได้ เพื่อที่จะรับเงินเกษียณที่ค่อนข้างสูงกว่ากฎหมาย ซึ่งถ้าเกิดอยู่ไป 50 ปี เกษียณอายุเงินก็จะน้อยลง จะถูกตัดไปตามที่สหภาพแรงงานต่อรองเอาไว้ ซึ่งตรงนี้เองคนก็เลือกที่จะเกษียณตอนอายุ 45 เพราะคิดว่าตัวเองยังมีอนาคตที่สามารถจะกลับไปทำนา ทำไร่ ทำสวน มีเงินไปซื้อที่ได้ น่าจะมีกำลังพอที่จะไปทำมาหากินในเรือกสวนไร่นาได้ แต่ว่าปัญหาคือ เรายังไม่แน่ใจว่ามันจะทำได้จริงไหม เพราะว่าทักษะของคนมันหายไปในโรงงานแล้ว ทักษะด้านเกษตรมันหายไปแล้ว ถ้าเรามองจากอดีตมานะ จากอดีตที่พ่อแม่ทำนาเราไม่เคยไปจับคันไถของพ่อแม่เลยสักครั้งหนึ่ง เพราะว่าเราโตเรียนจบก็เข้าโรงงานเลย เราจะไปไถนาเป็นไหม แต่เราก็สามารถใช้โทรศัพท์ในการโทรใช่ไหม เรียกรถไถมาไถ แต่ตรงนี้มันเป็นการลงทุนทั้งหมดเลย มันไม่ใช่เกษตร มันเป็นอุตสาหกรรมแล้ว มันไม่ใช่เรื่องของการทำเพื่อพอเพียงแล้ว อันนี้ก็เป็นประเด็นปัญหาที่เราเห็นอยู่ ถามว่ามันเป็นการเริ่มต้นไหมของวิกฤตจากการนำเครื่องจักรใหม่ ๆ เข้ามา ซึ่งตอนนี้เขาบอกว่ามันอาจจะบอกว่าเป็นแค่แขนกล เป็นแค่เครื่องจักรแบบใหม่ที่เข้ามา แต่ว่าเดิมมันอาจจะใช้ 10 ตัวแต่ตอนนี้มันอาจจะใช้แค่ไม่กี่ตัวในการที่จะผลิตและมันก็สามารถที่จะผลิตได้เร็วกว่าคน แล้วอนาคตคนจะอยู่ตรงไหน อันนี้ก็จะเริ่มเห็นมาเรื่อย ๆ เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงของมันอยู่

หากเรามองย้อนไปปี 40 เราจะเห็นว่าอุตสาหกรรมบางอันมันหายไปจากประเทศไทย อุตสาหกรรมเก่ามันหายไป อุตสาหกรรมใหม่ก็คืออุตสาหกรรมที่เขาบอกว่า “ตะวันขึ้น” ตอนนี้มันคือรถยนต์ใช่ไหม แต่ในอนาคตเราก็ไม่แน่ใจว่าอุตสาหกรรมที่มันก็ยังขึ้นอยู่แต่มันใช้ใครในการผลิต อันนี้มันคือคำถามว่าจะแก้ปัญหาของคนที่มันล้นงานยังไงในอนาคตคต ซึ่ง “คนล้นงาน” ในความหมายก็คือว่ามันตกงานเก่าเพราะว่างานเก่ามันใช้เครื่องจักรไปแล้ว ไม่ต้องการคนแล้ว มันต้องการเครื่องจักรที่จะมาทดแทนในการทำงาน คนถูกจ้างน้อยลงอย่างนี้มันจะทำอย่างไร ปี 2550 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นวิกฤติการเงิน แต่เราจะเห็นว่าทุกครั้งที่มีวิกฤติมันก็จะมีเรื่องของการเงินเหมือนกัน และตอนนี้เองวิกฤติที่มันเปลี่ยนเริ่มแรกก็เป็นเรื่องการเงินเหมือนกัน เราจะเห็นว่าเราไม่ต้องไปธนาคารแล้ว เราสามารถที่จะใช้ app ใช้มือถือในการที่จะโอน หรือว่าใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดการธุระทุกอย่างได้ แม้กระทั่งการจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าไฟ ค่าน้ำ เราไม่ต้องไปในเขตพื้นที่พวกนั้นแล้ว แล้วถามว่า เราสร้างงานไว้ทำอะไร คนก็ต้องเปลี่ยนถูกไหม เมื่อคนต้องเปลี่ยน การจ้างงานมันเปลี่ยน แล้วคนที่เอาไปกองรวมกันมันจะอยู่อย่างไร อยู่ไม่ได้ ไม่มีงานให้ทำ ใครเขาจะจ้าง เขาก็ต้องหาวิธีในการที่จะทำให้คนงานต้องออกจากงานตรงนั้นอยู่แล้ว ถามว่าจำนวนเยอะไหม มันเยอะ ธนาคารยุบสาขาไปเท่าไหร่แล้วตอนนี้ แล้วเขาไปอยู่ตรงไหนหละ บางคนเขาไปขายกาแฟอะไรอย่างนี้ คือมันเป็นการคิดหาทางออกของตัวบุคคล ไม่ใช่ภาครัฐในการที่จะเสนอทางออกให้กับคนงานเหล่านี้” …..

สำหรับอนาคต นโยบายที่จะดูแลคนในฐานะกำลังแรงงานตั้งแต่เกิดไปจนแก่คืออะไร? ….. “ถ้าอยากเห็นการเมืองใหม่ มองอนาคตไปข้างหน้าด้วยกัน อนาคตข้างหน้าที่คุณคิดว่าจะสร้างคน มันจะสร้างคนแบบไหน เพราะว่าตอนนี้แน่นอนคนไทยเกิดน้อย แรงงานที่เราพึงพาคือแรงงานข้ามชาติ และในอดีตเราก็พึงพาแรงงานข้ามชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจมาโดยตลอด ไอ้เศรษฐกิจฐานรากนะ แต่ว่าในการที่คนไทยเองจะต้องพัฒนาทักษะ พัฒนาคนมากขึ้น เพื่อที่จะรองรับงานใหม่ที่มันจะเกิดขึ้นคุณจะพัฒนาอย่างไร เพราะว่าถ้าพ่อแม่ไม่มีงานทำก็ไม่มีปัญญาที่จะส่งลูกเขาเรียนหรอก หรือเรื่องเรียนฟรีที่ฟรีจริงมันควรจะเป็นแบบไหน หรือตั้งแต่เกิด จากครรภ์มารดา คนคุณภาพที่จะต้องสร้างให้มันเกิดขึ้นคือการพัฒนาคนตั้งแต่ในท้อง จนออกมาเป็นคน จนเรียนหนังสือ จนถึงจบปริญญาตรี ปริญญาโท มันจะพัฒนาแบบมีคุณภาพอย่างไร โดยไม่แพง ขณะที่รัฐเอกก็กำลังแปรรูปมหาวิทยาลัย… อันนี้คือคำถามแรก

คำถามที่สอง ช่วงวันกลาง เราเห็นการทำงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะมากเลยกับคนรุ่นใหม่ ที่คนรุ่นใหม่ไม่เข้าสู่โรงงาน ไม่เข้าสู่การทำงานบริษัทหรือว่ารั้วโรงงาน ต้องการไปเป็นคนทำงานในอาชีพอิสระ คุณจะมีมาตรการอย่างไรในการดูแลเขาในอนาคต เพราะว่าเขาจะไม่ได้อยู่ในระบบการคุ้มครองแรงงานหรือการคุ้มครองของประกันสังคมเลย กฏหมายใหม่ ๆ ที่พยายามแก้กันออกมาในรุ่นนี้มันไม่สามารถไปคุ้มครองคนเหล้่านั้นได้เลย ในอนาคตจะเห็นได้เลยว่ามันไม่มีสวัสดิการในการรองรับ และการที่มีสื่อใหม่ ๆ เข้ามา ส่วนคนเองก็ใช้เงินในอนาคตกันเยอะมาก โดยที่ไม่รู้เลยว่าเมื่อสูงอายุจะมีอะไรมารองรับเขาในอนาคต นี่คือคนวัยกลางที่ทำงานอยู่ สามแล้วแรงงานที่ต้องออกจากงานในอนาคตซึ่งสถานการณ์มันแตกต่างจากปี 2540 ที่ตอนนั้นคนจะเป็นวัยรุ่น วัยยี่สิบกว่าๆ ที่วิกฤติต้มยำกุ้งทำเศรษฐกิจล้มคลืนลงไป เขายังสามารถใหม่ได้ แต่ว่าวัน 45 ขึ้นไป ถึง 50-60 ปี จะหางานก็ยาก เกษตรกรรมไม่สามารถรองรับเขาได้อย่างแน่นอน อาชีพใหม่ที่คุณคิดว่าจะพัฒนาทักษะของเขามันคืออะไร แล้วก็สวัสดิการที่ควรจะรองรับอนาคตผู้สูงอายุ อย่าบอกนะคะว่าเงิน 1,000 บาท มันสามารถที่จะเลี้ยงขีวิตคน 1 คนได้ใน 1 เดือน เป็นไปไม่ได้ และอย่างพูดว่าประกันสังคมมีกรณีชราภาพที่จะทำให้เขามีชีวิตที่ดี มีคุณภาพ เพราะว่าคุณจ่ายเดือนหนึ่งไม่เกิน 3,000 บาท หรือ 3,000 นิด ๆ แล้วแต่เขาส่งมากี่สิบปี… มันไม่สามารถที่จะดูแลให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

อย่างที่บอกว่าคนที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างน้อยต้องมีเงิน 10 ล้าน เมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยจะใช้เงินเดือนละประมาณ 20,000 บาท มันมีมูลค่าเพิ่ม มันขึ้นตลอด ภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นมันไม่สามารถทำให้เขาดำรงค์ชีวิตอยู่ได้ เราจะแจกบัตรประชารัฐ หรือบัตรคนจน มันก็ไม่พอเพียงตรงนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลในอนาคต คือมันไม่ใช่ในอนาคตของคนอยู่ในวัยที่พัฒนาประเทศ คนที่เข้าสู่วัยสุงอายุ คนสูงวัยจะทำอย่างไรให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ”

คลิกชม รายการ https://www.youtube.com/watch?v=iwNTJLCrBOQ

 

author

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง related posts

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ