เลือกตั้ง 62 : ฟังเสียงนักศึกษาไทอีสาน ม.ราชภัฏอุดรธานีกับการเลือกตั้งครั้งแรก

เลือกตั้ง 62 : ฟังเสียงนักศึกษาไทอีสาน ม.ราชภัฏอุดรธานีกับการเลือกตั้งครั้งแรก

ภาพ/ข่าว : จักรพันธ์ จันทร์ปัญญา
เรียบเรียง : วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง

รู้สึกอย่างไรกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ?

นี่คือคำถามเปิดประเด็นจากคุณจักรพันธ์ จันทร์ปัญญา นักข่าวพลเมืองจังหวัดอุดรธานี ที่ใช้เริ่มต้นบทสนทนากับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีในฐานะศิษย์เก่า ก่อนจะชวนสนทนาด้วยคำถามต่อไป

“เลือกตั้ง ไม่เคยค่ะ” “เป็นการเลือกตั้งนายกครั้งแรก” “ที่กำลังจะเลือกนี่ก็เป็นครั้งแรก ไม่เคยเลือกมาก่อน”

และไม่เกินความคาดหมายนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ตอบคำถามอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 19-21 ปี พวกเขาบอกว่านี่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่จะมีโอกาสเลือกนายกด้วยปากกาในมือของตัวเอง นั่นจึงทำให้คุณจักรพันธ์ ได้ชวนคุยถึงคำถามต่อมาเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงมุมมองทางการเมืองกับคนรุ่นใหม่ที่จะมีโอกาสใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

พร้อมหรือไม่กับการเลือกตั้ง ?

“พร้อมค่ะ คิดว่าอยากเลืกตั้งมานานแล้วเพิ่งจะได้เลือกครั้งนี้ ก็เห็นว่าเลื่อนมาเยอะแล้วค่ะ” บุษกร ธรรมธาตุ เริ่มต้นการแลกเปลี่ยนได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะต่อประเด็นเรื่องช่วงเวลากำหนดวันเลือกตั้ง “พร้อมมาก อยากให้ประเทศมีการพัฒนากว่านี้ อยากให้เปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน” วนารี ศรแผลง เห็นตรงกันกับ ชลดา หินคำ “พร้อมค่ะ เพราะว่าตอนเด็ก ๆ ไม่เคยได้เลือกสักที ก็เลยอยากรู้ว่าถ้าเลือกแล้วจะเป็นอย่างไร แล้วคนที่เราเลือกเขาจะมาบริหารประเทศดีไหม เหมาะสมกับที่เราเลือกไหม”

นอกจากความพร้อมแล้ว นักศึกษาที่ร่วมพูดคุยยังกล่าวถึงเหตุผลที่จะมีส่วนในการตัดสินใจเลือกผู้แทนในครั้งนี้ คือนโยบายของพรรคการเมืองที่มีส่วนในการตัดสินใจใช้สิทธิ์ของเธอ “ยังไม่พร้อมเท่าไหร่ ยังไม่ทราบเกี่ยวกับนโยบายที่ว่าเคยดำเนินการมาตอนนี้เป็นอย่างไรเมื่อก่อน ก็ไม่รู้ ยังไม่พร้อม” เช่นกันกับโสรยา พาณะรมย์ “ถ้าให้ไปเลือกก็เลือกตั้งก็เลือกได้ แต่ว่าก็ยังไม่ได้ศึกษาอะไรมากมาย”

แล้วเรื่องอะไรที่ที่นักศึกษาไทอีสานชาวอุดรธานีสนใจ?

“ยกระดับการศึกษาให้ดีขึ้น”บุษกร ธรรมธาตุ
“ตอนนี้หนูรู้สึกว่าระบบการศึกษาคิดจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน ถ้าจะเปลี่ยนตรงนี้น่าจะค่อย ๆ ปรับไปมากกว่า ไม่ใช่ทำอะไรก็มาปรับเลยหนูรู้สึกว่ามันไม่มีเวลาตั้งตัว”โสรยา พาณะรมย์

“ตอนนี้เศรษฐกิจแย่ ราคายางพาราก็ตกต่ำ ก็เลยอยากได้พรรคที่มีให้พัฒนาทางด้านนี้ เพราะว่าที่บ้านก็เป็นเกษตรกรทั้งหมด”วนารี ศรแผลง

“อยากให้ช่วยเหลือคนจนบ้าง เกี่ยวกับคนทำไร่ทำนา เกี่ยวกับการเรียนการศึกษา ทำไร่ทำนาเป็นหลัก คนจน ผู้สูงอายุ” สุนันทา สีวัน

“เรื่องเศรษฐกิจอยากให้นายก(ที่ได้รับคัดเลือก) มองเรื่องเศรษฐกิจเป็นที่หนึ่ง เพราะว่าถ้าเศรษฐกิจดี ประเทศก็จะดี ทุกอย่างก็จะดีไปด้วย” ชลดา หินคำ

นอกจากความคาดหวังต่อการเมืองภาคตัวแทนที่พวกเขาและเธอจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว คำถามชวนแลกเปลี่ยน ก่อนปิดท้ายการสนทนาในวันนี้คือ “หากได้ลงการเมือง อยากทำหน้าที่ในส่วนไหนเพราะอะไร

“หนูไม่รู้ว่ามีฝ่ายไหนบ้าง”

“กระทรวงยุติธรรม ไม่อยากให้มีทุจริตอะไรอย่างนี้ คืออยากให้โปร่งใสทั้งหมด”

“กระทรวงศึกษาธิการ การศึกษาไทยเดียวนี้มันเป็นอย่างไรไม่รู้”

“ด้านการปกครอง อยากปกครอง บางคนก็ไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีระเบียบ”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากเสียงนักศึกษาไทอีสาน กับความคาดหวังต่อการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งยืนยันว่าพวกเขาและเธอพร้อมแล้ว และมีนโยบายที่ตัวเองสนใจอยู่บ้าง แม้จะเป็นเสียงเล็ก ๆ จากพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครองประเทศ แต่นี่ก็เป็น 1 สิทธิ์ 1 เสียง ที่เท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ