เวทีถกอนาคตต้นโพธิ์เจ็ดยอด ใกล้แยกแลนด์มาร์คเมืองเชียงใหม่ไร้ข้อสรุป คุยวงเล็กชงพ่อเมืองตัดสิน จะขยายถนนหรือออกแบบเมืองให้ยั่งยืน
กรณี ต้นโพธิ์บริเวณแยกรินคำ – เจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างกรมทางหลวง กับประชาชนในเชียงใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2561 เนื่องจากกรมทางหลวงทำการก่อสร้างขยายถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง และมีต้นไม้ใหญ่จำนวนหนึ่ง รวมถึงต้นโพธิ์เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี อยู่ในพื้นที่งานก่อสร้าง ซึ่งประชาชนได้ทำพิธีบวชต้นไม้และยื่นข้อเสนอไม่ให้รื้อย้ายแต่ให้ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สอดคล้องกับออกแบบภูมิทัศน์เพื่อความยั่งยืน กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อกรมทางหลวง จัดเวทีรับฟังความเห็นขึ้นในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 โดยมี พ.ต.อ.ปิยะพันธ์ ภัทรพงศ์สินธุ์ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่เป็นประธาน แต่การประชุมดังกล่าว ก็ยังไม่อาจมีข้อสรุปหรือข้อยุติได้
นายรังสรรค์ สุขชัยรังสรรค์ ผอ.แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 กล่าวว่า การดำเนินโครงการที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและแก้ไขปัญหา จากข้อเสนอแนะของชุมชน เช่น แก้ปัญหาน้ำท่วม ปรับสัญญาณไฟจราจร การคงสภาพให้มีร่องเหมืองเปิดเป็นจุดๆเพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยได้นำไม้ดอกมาปลูก และหลังจากนี้จะนำไม้ยืนต้นมาปลูกเสริม อีกทั้งยังมีการเพิ่มขนาดของความกว้างของทางเท้าจากเดิม3.5 เมตร เป็น 5เมตร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานจริง โดยให้ความสำคัญของรถด้วยประมาณ70เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม แขวงทางหลวงต้องการเพิ่มช่องทางจราจร 2 ช่องและไหล่ทางในลักษณะทางคู่ขนาน เพื่อจะให้รถที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทางหลักสามารถมาใช้ทางคู่ขนานได้ แต่ยังติดไม่สามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะจุดที่มีต้นโพธิ์ จึงมีแนวคิดจัดการตั้งแต่แรกว่าจะไม่ตัด แต่ใช้การล้อมเพื่อย้ายออก ซึ่งการก่อสร้างครั้งนี้จะมีการล้อมย้ายไม้ใหญ่จำนวน 5 ต้น โดยเป็นฉำฉา 4 ต้น กำลังอนุบาลอยู่ และจะนำมาปลูกบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจะไม่มีผลต่อการจราจร ส่วนต้นโพธิ์นั้น ในอนาคตหากมีการล้อมย้ายอาจจะนำไปปลูกในวัด หรือบริเวณพุทธมณฑลดอยสะเก็ด หรือพื้นที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะทำให้ได้ผิวจราจรมาอีก 2ช่อง และสามารถให้บริหารรถวิ่งในทางคู่ขนานให้บรรจบกับแยกรินคำเพื่อรองรับชุมชนที่กำลังเติบโต
คนหนุนย้ายระบุค้าขายหาที่จอดยาก
การเปิดให้แสดงความเห็นต่อกรณีต้นโพธิ์ มีทั้งผู้เห็นด้วยกับการรื้อย้ายต้นโพธิ์ออกไป และทั้งให้คงอยู่และมองการพัฒนาเมืองมากกว่าการสร้างถนน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นจุดแลนด์มาร์คของเมืองที่กำลังเติบโตซึ่งต้องการออกแบบให้เป็นมิตรกับผู้อยู่อาศัย
โดยตัวแทนผู้ประกอบการบริเวณต้นโพธิ์ กล่าวว่าได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทาง ทำให้การค้าขายตกลงจากเดิมกว่าครึ่ง เพราะคนหาที่จอดรถยาก ถนนถูกบีบให้เหลือเลนเดียว และยังเกรงจะเกิดอุบัติเหตุ บ้านบางหลังมีรากของต้นโพธิ์ไชขึ้นไปตามตัวบ้านจนต้องตัดทิ้งอยู่เสมอ และจะชอนไชไปเรื่อยๆทำให้เกิดผลกระทบต่อผิวการจราจรได้ในอนาคต อยากให้ล้อมย้ายไปอยู่ในที่เหมาะสมมากว่า
แนะมองพัฒนาเชื่อมโซน ต้องปลูกต้นไม้เพิ่ม
ขณะที่มีการเสนอแนะถึงมุมมองของการพัฒนาเมืองที่กว้างกว่าแค่การขยายถนน โดย อ.ทานิต รัตนา ตัวแทนคนชุมชนเจ็ดยอด กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นเมืองเก่า มีลักษณะพิเศษเป็นตัวเองชัดเจน ที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจึงต้องหาจุดร่วมจึงขอเสนอแนวคิดที่น่าจะเป็นไปได้ ผ่านเส้นทางใหม่ “เส้นทางสายโพธิ์” อีกทั้งที่ผ่านมาเชียงใหม่มีแผนที่จะยกระดับเป็นเมืองอัจฉริยะและเติบโตอย่างชาญฉลาด(Smart City & Smart Growth) ผ่านยุทธศาสตร์สร้างความเจริญควบคู่กับมูลค่า ถนนสายเจ็ดยอดสามารถเชื่อมต่อกับถนนนิมมานเหมินท์ ถนนห้วยแก้ว ต่อยอด พัฒนาอย่าชัดเจน ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับผังเมืองและการอยู่ร่วมกัน
“แนวคิดเส้นทางสายโพธิ์ ต่อยอดจากถนนจากนิมมานทอดยาวไปแยกข่วงสิงห์ ระยะทางประมาณ 800เมตร น่าจะสร้างประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเชื่อมการค้าและการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวเดินเท้าถึงวัดเจ็ดยอด ด้วยการปรับภูมิทัศน์ ให้ร่มรื่น ปลอดภัย ผ่านความหลากหลายของการคมนาคม จะมีทางจักรยาน ทางเทา รถยนต์ ทำให้เกิดการกระตุ้นให้คนใช้พื้นที่ตรงนี้อย่างมีระสิทธิภาพมากขึ้น เน้นการรักษาธรรมชาติ ให้มีความร่มรื่น สวยงาม ร้านค้าอยู่ได้ คนอยู่ได้ โดยมีต้นโพธิ์เป็นแลนด์มาร์ค จะสามารถยกระดับทางเศรษฐกิจได้ เพื่อให้ย่านนี้ย่านการค้าที่ใหญ่ เป็นห้องรับแขกของเมืองเชียงใหม่ สร้างมูลค่ามากมายให้เมือง ที่เป็นทั้งการสร้าคุณค่าและมูลค่าไปพร้อมๆกัน
ผศ.ดร.วสันต์ จอมภักดี ประธานคณะกรรมการประสานงาน อนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ต้นโพธิ์อายุนับ 100 ปี เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อที่คนสักการะบูชา ควรต้องอนุรักษ์ ดูแล การก่อสร้างที่ผ่านมาคนในชุมชน ในซอยได้รับความเดือดร้อนจากความไม่สะดวกในการเข้าออก รวมถึงการทำมาค้าขายไม่ได้ ทำให้ขาดรายได้ การออกแบบพื้นที่นี้ควรทำให้ต้นไม้ใหญ่อยู่ได้ คนค้าขายได้ประโยชน์ ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการพูดคุยกันแล้ว และมีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย
นายพรชัย จิตรนวเสถียร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้น คือ ต้นไม้ใหญ่ที่ประตูช้างเผือกที่มีต้นไม้ใหญ่คู่ขนานที่เหลืออยู่ครึ่งต้น ในตอนนั้นก็ได้คัดค้านการตัด เพราะ ต้นไม้ต้นอายุหลายร้อยปี อยู่ก่อนตึกแถว พร้อมตั้งคำถามสำคัญว่า ต้นไม้สร้างความรำคาญ หรือสร้างประโยชน์ให้ใครมากกว่ากัน ที่ผ่านมาสิ่งที่เป็นชัยมังคละเมืองเชียงใหม่ถูกเพิกเฉยมานาน จนความคิดใหม่ๆครอบงำ เราอยากให้เป็นมรดกโลก เป็นเมืองที่ 700กว่าปีก็ยังมีลมหายใจ ดังนั้นอะไรที่ที่จะเข้ามาใหม่ จะต้องคำนึงถึงโครงสร้างเก่าๆทางสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของคนในเมืองด้วย ตนมองว่าอนาคตของถนนเส้นนี้จะเป็นถนนในเมือง จึงต้องทำให้เกิดทัศนียภาพ ภูมิทัศน์ที่สวยงามจะสามารถช่วยสร้างมูลค่าจะมหาศาลให้กับเมืองได้ จึงต้องหาทางออกร่วมกัน และต้องไม่มีผู้เสียประโยชน์
หมดยุคเอาต้นไม้ออกจากถนน
ผศ.ดร. มานพ แก้วโมราเจริญ นักวิชาการวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าตามหลักการวิศวกรรม หมดยุคที่จะเอาต้นไม้ออกจากถนนทั้งหมดแล้ว สามารถออกแบบให้ต้นไม้สามารถอยู่กับถนนได้ โดยต้องมองว่า ถนนเส้นนี้มีปัญหาเรื่องจราจรหรือไม่ ถ้าวิเคราะห์การจราจรมองว่าไม่ได้มีปัญหาเลย ยกเว้นขาเข้า และหากในอนาคตเส้นนี้เป็นเส้นเมือง ทางคู่ขนานแบบนี้จะมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะแม้ว่ามีเลนเดียวรถก็สามารถไหลไปได้เรื่อยๆ
“ผมมองว่าการไม่มีทางเท้าที่ต่อเนื่อง ทำให้คนต้องไปลงไปเดินบนท้องถนน ถือเป็นเรื่องอันตราย และมีคำถามว่าทำไมต้องจัดลำดับโดยให้ความสำคัญกับรถยนต์มากกว่าผู้ใช้ถนน แล้วสิทธิของผู้เดินถนนอยู่ตรงไหน เพราะถนนเส้นนี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มมาก เป็นเส้นเศรษฐกิจใหม่ ถ้าพัฒนาให้เป็นเส้นทางให้นักท่องเที่ยวเดินได้ และสามารถออกแบบให้มีต้นโพธิ์ได้ ซึ่งหลายประเทศก็มีตัวอย่าง เราจำเป็นต้องทำให้สภาพแวดล้อมอยู่กับเราได้ มีต้นไม้ ดูแลความรู้สึกของคน โดยอาศัยหลักการความจริงในการแก้ปัญหา
เวทีใช้เวลาถกเถียงกว่า 3 ชั่วโมง ไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงสรุปให้มีการประชุมกลุ่มเล็กหาข้อตกลงกันก่อน ในวันที่ 10ตุลาคม 2561 เพื่อรวบรวมข้อมูลถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้พิจารณาต่อไป