รู้จักอัตตะปือ (ອັດຕະປື)

รู้จักอัตตะปือ (ອັດຕະປື)

ชวนมาทำความรู้จักแขวงอัตตะปือ  สปป.ลาว ที่กำลังเป็นข่าวเขื่อนแตกดังทั่วโลกกัน….
ภาพเมืองในแขวงอัตตะปือ  ขอบคุณภาพจาก ATTAPEU TODAY

อัตตะปือเป็นแขวงที่อยู่ใต้สุดติดชายแดนกัมพูชาและเวียดนาม  ห่างจากเมืองหลวง นครเวียงจันทน์ 970 กิโลเมตร ภายในประเทศติดต่อกับแขวงเซกอง และจำปาศักดิ์  ไม่มีพรมแดนติดไทย แต่จุดที่ใกล้ที่สุดและเดินทางไปได้คือจากด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี

อัตตะปือมีพื้นที่ 1,032 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 5 เมือง (อำเภอ) คือเมืองไชยเชษฐา สามัคคีชัย สนามชัย สานไชย ภูวง  ภูมิประเทศปกคลุมด้วยป่าทึบและเขาสูง มีแม่น้ำ 7 สาย คือ เซกอง เซกะ หมาน เซเปียน เซคำพอ เซซุ และน้ำกง

อัตตะปืออาจไม่เจริญเหมือนแขวงอื่นทั่วไป แต่กำลังเติบโตเป็นพื้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติ ป่า น้ำตก และวัด   เป็นเมืองที่อยู่ในวงล้อมของขุนเขามีแม่น้ำไหลผ่าน เงียบสงบ และมีทองคำมาก คำขวัญของแขวงคือ  “ผืนแผ่นดินคำ ลำน้ำใส ป่าไม้เขียว ท่องเที่ยวหนองฟ้า ชมผ้าเรียงชานไช ไหว้พระองค์ใหญ่แสน พักแดนสามัคคี”

 

ผู้คนในอัตตะปือมีความหลากหลายของชาติพันธุ์มากถึง 13 ชนเผ่า  คือ ลาวลุ่ม โอย ตะโอย เจ็ง สะดาง อาลัก ปะเทิน ชุ เบรา(ละแว) ละเวน (อาศัยอยู่หลังภูหลวง) คะ เหลียง แยะ กะยอง การสำรวจจำนวนประชากรเมื่อปี 2556 มีจำนวน 123,398 คน ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม  เช่น ปลูกข้าว ปศุสัตว์ ประมง 85 % รองลงมาคือ บริการ ค้าขาย ขนส่ง ท่องเที่ยว พนักงานรัฐและเอกชน 10 %  และ อุตสาหกรรม เช่น เหมืองแร่ โรงงาน 5 %ประชากรส่วนใหญ่ฐานะยากจนยังพึ่งตนเองไม่ได้ จากประชากรทั้งหมด 20,000 ครัวเรือน เป็นคนยากจน 9,000 ครัวเรือน และยากจนที่สุด 5,000 ครัวเรือน

 

ขอบคุณภาพจาก ATTAPEU TODAY

มีบันทึกคำแปลความหมายของ  “อัตตะปือ” แปลว่า “ขี้ควาย” ในภาษาของชนเผ่าละแว  ขณะที่ในหนังสือบันทึกการเดินทางในลาว ภาค 1 พ.ศ.2438 โดย “เอเจียน แอมอนิเย” เขียนไว้ว่า  อัตตะปือ อาจเพี้ยนมาจากภาษาชนเผ่าเบราที่เรียกเมืองนี้ว่า ‘อิดกระบือ’ ที่แปลว่า มูลควาย โดยอาจเป็นเพราะเห็นสันดอนมูลควายขนาดใหญ่ที่เกิดจากการต้อนควายของพ่อค้าจากเขมรมาพักไว้ตรงจุดสบก่อนส่งให้พ่อค้าเวียดนาม ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนค้าขายของผู้คนในบริเวณนี้  อัตตะปือยังเคยเป็นฐานทรัพยากรที่มีผลต่อความรุ่งเรืองของราชสำนักล้านช้างเช่นการร่อนทอง การคล้องช้าง และตลาดของป่า ขณะเดียวกันก็มีรากของการ “ข่าขัด” คือประท้วงขัดขืนจากชนพื้นเมืองในพื้นที่ต่อการปกครองในอดีต และมีพัฒนาประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับเวียงจันทน์ จำปาสัก ธนบุรี กรุงเทพ หรือ แม้กระทั่งอุบลราชธานีในหลายลักษณะ

สำหรับ “เขื่อนเซเปี่ยน-เซน้ำน้อย” ที่เกิดเหตุสันเขื่อนแตก ตั้งอยู่ในพื้นที่ 2 แขวง คือ แขวงจำปาสักกับแขวงอัตตะปือ  เมื่อเกิดเหตุ มวลน้ำไหลลงพื้นที่บริเวณกว้างโดยเฉพาะในเมืองสะนามไซ แขวงอัตตะปือ รวมทั้งหมด 13 หมู่บ้าน 2,836 ครอบครัว จำนวนประชาชน 13,067 คน  พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด 6 หมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่เลียบลำน้ำเซเปียน รายงานผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายยังไม่ชัดเจน

ขอบคุณภาพจาก ATTAPEU TODAY

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ