เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: ปัญหาของอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชที่อำเภอวานรนิวาส

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: ปัญหาของอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชที่อำเภอวานรนิวาส

 เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑

มาตรา ๑๘๙ วรรคแรก ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐  หรือ ‘กฎหมายแร่ฉบับใหม่’ ที่ใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐  หรือ ‘กฎหมายแร่ฉบับเก่า’ ที่ถูกยกเลิกไปแล้วนั้น  บัญญัติไว้ว่า “บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ยังคงใช้ได้จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นการจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมืองและการจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนตามมาตรา ๓๒ การฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทําเหมือง การวางหลักประกัน และการจัดทําประกันภัยตามมาตรา ๖๘ (๘) และ (๙) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในการออกประทานบัตร”

ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ  มี ‘หลักเกณฑ์’ อะไรบ้างที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ให้อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชที่อำเภอวานรนิวาสที่ออกตามความกฎหมายแร่ฉบับเก่า[[1]]ต้องปฎิบัติตาม ?

ประเด็นที่ ๑

มาตรา ๑๖ วรรคสอง  ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้ต้องมีฐานข้อมูล ๕ ด้าน  เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำยุทธศาสตร์  นโยบาย  และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ตามมาตรา ๑๒ (๑)  ดังนี้

(๑) พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมืองของประเทศ

(๒) การประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่

(๓) การประเมินสถานการณ์และพิจารณาขีดจำกัด

(๔) ความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว (จากข้อ (๒) และ (๓)) เพื่อการทำเหมืองในภาพรวมให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

(๕) ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

มาตรา ๑๗ วรรคแรก  ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่  ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูล  ดังนี้

(๑) การสำรวจทรัพยากรแร่

(๒) แหล่งแร่สำรอง

(๓) การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่

(๔) พื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้

(๕) พื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่จะกำหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ (คำที่อยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศเดี่ยวน่าจะมีความหมายตรงกับ ‘เขตสัมปทานแร่’ หรือ Mining zone)

มาตรา ๑๗ วรรคสี่  ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ระบุไว้ชัดเจนว่า ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน  โบราณวัตถุ  ศิลปวัตถุ  และพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ  เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด  พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ  หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม

มาตรา ๑๙ วรรคแรก  ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้การอนุญาตทำเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามมาตรา ๑๗ วรรคแรกและวรรคสี่เสียก่อน  ดังนี้  “เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการแร่  การอนุญาตให้ทําเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมือง  มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ  และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กําหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่  และในกรณีที่แหล่งแร่ใดมีศักยภาพในการพัฒนา  แต่เทคโนโลยีที่จะใช้ในการทําเหมืองและมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนยังไม่เหมาะสม  ให้สงวนแหล่งแร่นั้นไว้จนกว่าจะมีเทคโนโลยี  และมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เหมาะสม  ในกรณีการทําเหมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสูง  ในการอนุญาตต้องกําหนดให้มีการจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมือง  และจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนด้วย”

แต่อาจจะมีข้อโต้แย้งตามมาว่า  (๑) อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง ๑๒ แปลง  ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ ของบริษัทฯได้รับอนุญาตเมื่อปี ๒๕๕๘ ก่อนที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ถูกใช้บังคับ  จึงถือว่าเป็นอาชญาบัตรพิเศษตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า  ซึ่งมาตรา ๑๘๙ ก็รับรองไว้แล้วว่าบรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ใช้บังคับ ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่  (๒) ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ดังที่กล่าวถึงนั้นเป็นนิยามความหมายของการบริหารจัดการแร่ที่อยู่ในอีกขั้นตอนหนึ่งที่ยังมาไม่ถึง  นั่นคือ  ขั้นตอนการขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ซึ่งต้องทำหลังจากการสำรวจแร่โปแตชตามอาชญาบัตรพิเศษเสร็จสิ้นกระบวนการไปแล้ว  เมื่อสำรวจพบว่ามีแร่โปแตชในเชิงพาณิชย์ที่คุ้มค่าน่าลงทุนก็จึงไปขอประทานบัตรเพื่อขอทำเหมืองแร่เป็นขั้นตอนต่อไป

ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดตามข้อโต้แย้งที่ยกมาก็คือ  กฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดนิยามคำว่า ‘การบริหารจัดการแร่’ ไว้ในมาตรา ๔  ดังนี้ “การบริหารจัดการแร่” หมายความว่า การจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  การสำรวจแร่  การทำเหมือง  การทำเหมืองใต้ดิน  การขุดหาแร่รายย่อย  การร่อนแร่  การประกอบธุรกิจแร่  การแต่งแร่  และการประกอบโลหกรรม  รวมทั้งการควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการเรื่องดังกล่าว  นั่นก็แสดงว่า  วัตถุประสงค์ของการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ไม่ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการแร่เฉพาะในขั้นตอนการขอประทานบัตรเพื่อขอทำเหมืองแร่แต่อย่างเดียว  แต่กฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดให้จัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายการบริหารจัดการแร่เพื่อแจกแจงพื้นที่และข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่อีกด้วย

ดังนั้น  ตามมาตรา ๑๖ วรรคสอง  มาตรา ๑๗ วรรคแรกและวรรคสี่  และมาตรา ๑๙ วรรคแรกย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแจกแจงว่าพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจแร่โปแตชทั้ง ๑๒ แปลง  ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ ของบริษัทฯมีพื้นที่และข้อมูลประเภทใดอยู่ในนั้นบ้าง

ด้วยเหตุที่กล่าวมา  บรรดาอาชญาบัตร  ประทานบัตร  หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า  จึงไม่สามารถถือได้ว่าเป็นอาชญาบัตร  ประทานบัตร  หรือใบอนุญาตตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ได้โดยปริยาย  ก็เพราะว่ามาตรา ๑๘๙ ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่บังคับให้บรรดาอาชญาบัตร  ประทานบัตร  หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่เสียก่อน  ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็คือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๙ วรรคแรกซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับมาตรา ๑๖ วรรคสอง  มาตรา ๑๗ วรรคแรก  และมาตรา ๑๗ วรรคสี่  ตามที่กล่าวมานั่นเอง

ประเด็นที่สอง

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตร พ.ศ. ๒๕๖๐  หนึ่งในอนุบัญญัติอีกหลายฉบับภายใต้กฎหมายแร่ฉบับใหม่  ในข้อ ๖ (๖) ระบุว่าแผนงานและวิธีการสำรวจแร่ต้องมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับแผนควบคุมและฟื้นฟูผลกระทบจากการสำรวจด้วย

ประเด็นที่สาม

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดแบบอาชญาบัตร  แบบประทานบัตร  แบบใบอนุญาต  และแบบอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ พ.ศ. ๒๕๖๐  อีกหนึ่งในอนุบัญญัติหลายฉบับภายใต้กฎหมายแร่ฉบับใหม่  ระบุไว้ในแบบแร่ ๑ (๓) ลำดับที่ ๔ ข้อ ๓ ซึ่งเป็นเงื่อนไขการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษว่า  ผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษจะสำรวจแร่ในที่ซึ่งมีบุคคลใดมีสิทธิครอบครอง  หรือที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน  หรือที่มีการคุ้มครองหรือสงวนไว้ตามกฎหมายมิได้  เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิ  หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

คำถามร่วมกันสำหรับประเด็นที่สามและสี่ก็คือ  อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชของบริษัทฯทั้ง ๑๒ แปลง  ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ มีการลงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับแผนควบคุมและฟื้นฟูผลกระทบจากการสำรวจและได้แสดงให้เห็นว่ามีที่ดินที่ซึ่งมีบุคคลมีสิทธิครอบครอง  หรือที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน  หรือที่มีการคุ้มครองหรือสงวนไว้ตามกฎหมายอื่นไว้หรือไม่  อย่างไร

เพราะถ้าไม่มีรายละเอียดแสดงไว้  ก็ต้องเอาอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง ๑๒ แปลงดังกล่าวกลับมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ได้วางหลักเกณฑ์ไว้

ประเด็นที่สี่

จึงไม่แปลกที่ประชาชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสได้รวมตัวกันเพื่อขัดขวางการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชหลุมที่ ๔ ของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เป็นต้นมา  โดยหยิบยกมาตรา ๑๘๘ ขึ้นมาเรียกร้องเพราะเห็นว่าบรรดาคําขอทุกประเภทที่ได้ยื่นไว้ตั้งแต่กฎหมายแร่ฉบับเก่ายังมีผลใช้บังคับ แม้ว่าบรรดาคำขอเหล่านั้นถูกอนุโลมให้เป็นคําขอตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ แต่จะเป็นคำขอตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ไม่ได้หากไม่พิจารณาดําเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ด้วย  ด้วยเหตุนี้เอง  เมื่อประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่อง หลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไขการรังวัดกำหนดเขตคำขอตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกาศใช้บังคับ  จึงต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประกาศฉบับดังกล่าวโดยเคร่งครัดด้วยการตรวจสอบพื้นที่ที่ยื่นคำขอว่าเป็นพื้นที่ที่ห้ามยื่นขอตามกฎหมายว่าด้วยแร่หรือกฎหมายอื่นหรือไม่  โดยลงรายละเอียดข้างเคียงให้ครบถ้วน  ทั้งแสดงแนวเขตการทับคาบเกี่ยวพื้นที่ต้องห้ามตามกฎหมาย  พื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ ตามมติคณะรัฐมนตรี  และพื้นที่ตามมาตรา ๒๐ แห่งกฎหมายแร่ฉบับใหม่ด้วย

ถึงแม้ประกาศฉบับดังกล่าวออกมาเพื่อใช้บังคับสำหรับ ‘คำขออาชญาบัตรพิเศษ’ และคำขอประเภทอื่น  ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนได้รับ ‘อาชญาบัตรพิเศษ’ หรือใบอนุญาตประเภทอื่น  จึงไม่น่าที่จะเอาประกาศฉบับดังกล่าวมาใช้กับกรณีของอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทั้ง ๑๒ แปลงของบริษัทฯได้  เพราะคนละขั้นตอนกัน  แต่เพราะพวกเขาเห็นว่าอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง ๑๒ แปลงของบริษัทฯกำลังเกิดสภาพติดหล่มตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่  จึงควรย้อนกลับไปแก้ไขอาชญาบัตรพิเศษเสมือนว่ายังอยู่ในขั้นตอนของคำขออาชญาบัตรพิเศษ  ก็ด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้แล้วในประเด็นที่หนึ่งถึงสามว่าถึงแม้ส่วนราชการและบริษัทฯจะอ้างว่าอาชญาบัตรพิเศษเพื่อทำเหมืองแร่โปแตชทั้ง ๑๒ แปลงของบริษัทฯออกก่อนกฎหมายแร่ฉบับใหม่ใช้บังคับ  และกฎหมายแร่ฉบับใหม่ก็รับรองไว้แล้วว่าให้ถือเป็นอาชญาบัตรพิเศษตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ได้  อย่างไรก็ตาม  ภาวะติดหล่มที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ดังที่กล่าวไว้แล้วในประเด็นที่หนึ่งถึงสามว่ามันได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงแบบแก้ปัญหาไม่ตกในเรื่องสำคัญที่ว่าในพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง ๑๒ แปลงของบริษัทฯมีการลงรายละเอียดว่ามีพื้นที่และข้อมูลประเภทใดตาม (๑) ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่  (๒) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสำรวจแร่ตามอาชญาบัตร พ.ศ. ๒๕๖๐  และ (๓) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดแบบอาชญาบัตร  แบบประทานบัตร  แบบใบอนุญาต  และแบบอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ พ.ศ. ๒๕๖๐  หรือไม่และอย่างไรบ้าง

ถ้าตอบไม่ได้  นั่นก็แสดงว่าอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง ๑๒ แปลง ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ ของบริษัทฯมีความไม่สมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่

                                                               

[[1]] อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชทั้ง ๑๒ แปลง ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ ของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด  ได้รับอนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ (จะหมดอายุลงในวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๓  โดยอาชญาบัตรพิเศษแต่ละแปลงมีอายุ ๕ ปี)  ซึ่งออกตามความกฎหมายแร่ฉบับเก่า  หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐  ต่อมากฎหมายแร่ฉบับเก่าถูกยกเลิกจากผลของการประกาศใช้กฎหมายแร่ฉบับใหม่  หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ เป็นต้นมา

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ