‘เผือก’ เป็นพืชหัวชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่อีกแง่หนึ่ง ‘เผือก’ ก็เป็นหนึ่งในศัพท์วัยรุ่นที่ฮิตในโลกออนไลน์ที่มีความหมายในแง่ลบ หมายถึง การเอาธุระของคนอื่นมาเป็นของตัว หรือจะหมายถึงความหวังดีที่ผู้รับไม่อยากได้ ซึ่งโดยมากอาการเผือกนั้น มักจะเป็นการ ‘เผือก’ เรื่องของคนอื่นที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่
แต่จะทำอย่างไรให้การ ‘เผือก’ เป็นการเผือกเรื่องดีดีในสังคมล่ะ
องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ได้ชวนทุกคนมา ‘เผือก’ เพื่อสร้างสังคมดีดีในงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ ‘ถึงเวลาเผือก’ เพื่อยับยั้งปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ จากงานแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง Safe Cities for Women เนื่องในวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากลปีพุทธศักราช 2560 วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ทำไม ‘ถึงเวลาเผือก’ เรื่องนี้??
ปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะนั้น ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาความปลอดภัยในเมือง โดยสถานการณ์ในเขตกรุงเทพฯ ที่ผ่านมานั้น จากงานวิจัยของนักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการสำรวจผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหมด 1,654 คน ทั้งหญิง ชาย และเพศอื่น ๆ โดยถามเกี่ยวกับประสบการณ์ทั้งที่ตนเองเคยถูกคุกคาม และการเห็นผู้โดยสารอื่นถูกคุกคามทางเพศ พบว่า 35% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่าตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยผู้หญิงตกเป็นเป้าของการคุกคามทางเพศมากที่สุด ถึง 45%
การลวนลามด้วยสายตา คือลักษณะพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะพบเจอมากที่สุดถึง 18.8% ของจำนวนเหตุการณ์คุกคามที่พบเจอทั้งหมด รองลงมาคือ การตั้งใจเบียดชิด แต๊ะอั๋ง ลูบคลำ 15.4% อันดับ 3 ผิวปากแซว 13.9% อันดับ 4 พูดจาแทะโลม เกี้ยวพาราสี 13.1% อันดับ 5 พูดลามก ชวนคุยเรื่องเพศ 11.7% นอกจากนี้ยังพบการคุกคามรูปแบบอื่นที่ถือว่าร้ายแรง เช่น ใช้อวัยวะเพศถูไถ โชว์อวัยวะเพศ หรือสำเร็จความใคร่ให้เห็น 4.6% เปิดภาพลามกหรือคลิปโป๊ให้เห็น 3% ตามตื้อ หรือสะกดรอยตาม 2.9%
ส่วนมากผู้ถูกคุกคามจะมีวิธีการรับมือคือใช้วิธีการนิ่งเฉย หลีกเลี่ยง หรือเดินหนี มีส่วนน้อยมากที่จะแจ้งพนักงานประจำรถ
โดยในงานภาคีเครือข่ายทุกองค์กรได้ร่วมกันอ่านข้อเรียกร้องที่เสนอต่อรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ข้อ คือ
- การสอดส่องดูแลความปลอดภัย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในตัวยานพาหนะโดยสาร ป้ายรถหรือท่าเรือโดยสารประจำทาง และสถานีรถโดยสาร ซึ่งจะสามารถช่วยตรวจสอบความเคลื่อนไหวภายในตัวยานพาหนะและบริเวณป้ายรถ ท่าเรือและสถานี และยังสามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด หากมีผู้กระทำการคุกคามทางเพศหรือมิจฉาชีพอื่น ๆ ก่อเหตุใด ๆ บนยานพาหนะโดยสารและบริเวณต่าง ๆ ที่กล่าวถึง พนักงานขับรถและเรือหรือพนักงานเก็บค่าโดยสารหรือผู้ควบคุมศูนย์จะเห็นได้ชัดเจนและสามารถช่วยยับยั้งสถานการณ์ได้ทันท่วงที
- การแจ้งเหตุการคุกคามทางเพศ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการบริการขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้มีการจัดการเพื่อรองรับการแจ้งเหตุที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่ายและสามารถติดตามผลได้ หากเกิดเหตุคุกคามทางเพศหรือเหตุอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และเมื่อมีการแจ้งเหตุการคุกคามทางเพศ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพนักงานสอบสวนควรปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทำอย่างเหมาะสม โดยให้มีการรับฟังอย่างปราศจากอคติ และควรให้มีการดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิดอย่างสมควร เพื่อเป็นการป้องกันการกระทำดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก
- การอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการบริการขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นให้มีการอบรมพนักงานของหน่วยงานให้สามารถสังเกตพฤติกรรมคุกคามทางเพศต่าง ๆ และมีกระบวนการ ขั้นตอน และแบบแผนปฏิบัติเพื่อยับยั้งและแจ้งเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่การรอความช่วยเหลือจากรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจไม่ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ปัจเจกชนอย่างเราๆ หากพบเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศก็สามารถเข้าไป ‘เผือก’ เรื่องนี้ เพื่อช่วยหยุดยั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้
แล้วปัจเจกชนเข้าไป ‘เผือก’ อย่างไรถึงจะดี
การเผือกโดยการเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศนั้น อาจเข้าไปการทำทีเข้าไปชวนผู้ที่ถูกคุกคามพูดคุย หรือชวนให้ขยับหาที่นั่งหรือที่ยืนในจุดอื่น และการพูดเสียงดังบอกให้ผู้คุกคามหยุดการกระทำ เป็นต้น
‘เผือก‘ แค่ไหนถึงจะดีกับคนที่ถูกเผือก และตัวคนที่เผือกเอง??
แม้การ ‘เผือก’ หรือการเข้าไปช่วยหยุดยั้งการคุกคามทางเพศนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีต่อสังคม แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้ที่เข้าไปเผือกนั้น อาจได้รับความเสี่ยง ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าไป ‘เผือก’ ก็ต้องประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของตนเองด้วย หากประเมินว่าเข้าไปคนเดียวอาจไม่ปลอดภัย ก็อาจกระซิบบอกผู้โดยสารอื่นให้รับรู้เหตุการณ์และชวนกันเข้าไปแทรกแซง หรือช่วยกันส่งเสียงดัง หรือแจ้งพนักงานประจำรถ
การไม่นิ่งเฉย จะช่วยสร้างความปลอดภัยในการเดินทางในเมืองใหญ่แห่งนี้ได้