คมสันติ์ จันทร์อ่อน ตั้งคำถาม ‘คนจนเมือง’ คนที่ฉุดดึงความเจริญของการพัฒนา หรือคนที่สร้างความเจริญให้กับเมืองเรื่อยมาแต่ไม่ถูกให้ค่าความสำคัญ จากกรณีการขอคืนพื้นที่ เพื่อทำโครงการขยายผิวการจราจร ถนนสุทธาวาส จาก 2 ช่องเป็น 4 ช่องจราจร แก้ปัญหาการจราจรติดขัด
คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค
จากเหตุการณ์ที่ฝ่ายโยธา กรุงเทพมหานคร นำโดยนายจักรพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าปฏิบัติการรื้อบ้านในชุมชนบางกอกน้อย 2 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2560 นั้น สะท้อนให้เห็นวิธีคิดการทำงานของ กทม. ได้อย่างชัดเจนยิ่งนัก
ชุมชนบางกอกน้อย 2 มีสมาชิกชุมชนอยู่ 53 ครอบครัว ตั้งอยู่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และได้ทำการเช่าที่กับทาง รฟท. มาตั้งแต่ปี 2553
หลังจากที่ชุมชนได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้ของบประมาณสนับสนุนจากทางรัฐบาลตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคง นำมาดำเนินการคือ ส่วนที่ 1 ใช้ในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน ระบบระบายน้ำ ไฟฟ้า ประปา หรืออื่นๆ ที่เป็นในส่วนจะใช้ร่วมกันในชุมชน ส่วนที่ 2 ใช้สนับสนุนในการสร้างที่อยู่อาศัย
ส่วนที่ 3 ใช้ในการบริหารโครงการ และส่วนที่ 4 ใช้สำหรับการสร้างบ้านพักชั่วคราว เนื่องจากชุมชนเดิมอยู่ไม่เป็นระเบียบ จึงจำเป็นต้องรื้อบ้านเรือนบางส่วนในการปรับผังชุมชนใหม่ และพื้นที่ที่ก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวนั้น เป็นพื้นที่อีกฝั่งทางรถไฟซึ่งได้ขออนุญาตทาง รฟท. ในการใช้พื้นที่แล้ว
โครงการบ้านมั่นคงของชุมชนบางกอกน้อย 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวให้กับสมาชิกจำนวน 43 หลัง แล้วเสร็จ และการก่อสร้างทางข้ามเข้าพื้นที่โครงการอีกส่วนหนึ่ง ขณะที่จะเริ่มก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ ทางกระทรวงคมนาคมมีโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วง ตลิ่งชัน – ศิริราช ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนบางกอกน้อย 2 ทั้งหมด อีกทั้งยังมีชุมชนบางกอกน้อย 1, ชุมชนบางกอกน้อย วงเวียน, ชุมชนบางระมาด 2, กลุ่มชุมชนบ้านศิลป์ และชุมชนตลิ่งชัน กว่า 250 ครอบครัว ได้รับผลกระทบด้วย
เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงได้มีการเจรจากับทางกระทรวงคมนาคมเพื่อหาพื้นที่รองรับแห่งใหม่ให้กับชุมชน จนกระทั่งได้พื้นที่รองรับร่วมกันเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสถานีหยุดรถบางระมาด เขตตลิ่งชัน พื้นที่ 17,831.66 ตารางเมตร
ชุมชนทั้ง 5 จึงได้เตรียมการขยับที่อยู่อาศัยไปพื้นที่รองรับแห่งใหม่ โดยการทำผังชุมชนร่วมกันเพื่อเสนอเช่าที่ดินกับทาง รฟท. ให้ถูกต้อง และได้ทำสัญญาเช่าในปี 2557 จ่ายค่าเช่ามาทุกปีจนถึงปัจจุบัน แต่ติดปัญหาคือพื้นที่ที่ รฟท. และ กระทรวงคมนาคม เสนอให้เป็นที่รองรับนั้นมีผู้อยู่อาศัยเดิมอยู่ (อาศัยอยู่แบบไม่ได้เช่า) ทางชุมชนทั้ง 5 จึงได้ออกแบบผังชุมชนเพื่อผู้อยู่อาศัยทั้งหมด โดยให้ครอบครับละแปลง เพื่ออาศัยอยู่ร่วมกันในคราวเดียว แต่ทางกลุ่มผู้อาศัยเดิมไม่ยินยอม เนื่องจากครองพื้นที่เยอะจำนวนมาก บ้างทำที่จอดรถ บ้างทำร้านอาหาร บ้างทำร้านคาราโอเกะ เป็นกลุ่มทุนที่มีอำนาจในท้องถิ่น
กระบวนการแก้ปัญหานำผู้อยู่อาศัยเดิมออกจากพื้นที่ใช้ระยะเวลามากว่า 3 ปีแล้ว ทาง รฟท. เองที่ประสานทั้งตำรวจ ทหาร เพื่อขอความร่วมมือในการย้ายออกแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ชุมชนทั้ง 5 จึงยังไม่สามารถเข้าพื้นที่รองรับแห่งใหม่นั้นได้
อย่างไรก็ตาม ระหว่างกระบวนการส่งมอบพื้นที่ของ รฟท. ให้กับชุมชนทั้ง 5 นั้น อยู่ ๆ กรุงเทพมหานครมาปักป้ายเตรียมทำโครงการขยายถนนเลียบทางรถไฟของ กทม. โดยไม่มีการประชุมทำความเข้าใจ ไม่มีการให้ดูแบบการก่อสร้าง ไม่มีระยะเวลาแผนงานการก่อสร้าง ที่สำคัญ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่มีส่วนร่วมรับฟังข้อมูลใด ๆ ทั้งสิ้น
ซึ่งต่างจากโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ที่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เสนอแบบการก่อสร้าง เห็นแนวก่อสร้าง และสิ่งที่จะเกิดผลกระทบชุมชน พร้อมทั้งมีเวทีเสนอแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน มีกลไกระดับกระทรวงในการติดตามการแก้ปัญหา ต่างจากโครงการขยายถนนเลียบทางรถไฟของ กทม. โดยสิ้นเชิง ที่ไม่มีกระบวนการอะไรเลย
นี่คือสิ่งที่เกริ่นไว้ในช่วงแรก… การปฏิบัติการเข้ารื้อบ้านเรือนในชุมชนบางกอกน้อย 2 เป็นกระบวนการ “วิชามาร” ที่รัฐสมัยโบราณใช้กัน คือการลงให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน การรับปากอย่างไม่มีเอกสารผูกมัด ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันเองในหมู่ชาวชุมชนด้วยกัน ปล่อยข่าวหลังนั้นได้เท่านั้น หลังนี้ได้เท่านี้ ส่วนเกณฑ์การพิจารณาค่าชดเชย ไม่เคยได้เห็น
ในอีกด้านที่รองผู้ว่าราชการ กทม. ท่านนี้แสดงออกอย่างชัดเจนคือ ไม่ยอมรับความเป็นองค์กรชุมชน ไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ถืออำนาจตัวเองเป็นหลัก แต่เนื่องจากกรณีนี้ ไม่ได้เป็นดั่งเช่นรองผู้ว่าฯ ได้คิดไว้ เพราะกรณีนี้ ความชอบธรรมของชุมชนนั้นมีเกินร้อย
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เห็นเพียงท่าที และมุมมองของผู้บริหาร กทม. แล้ว ยังคงเห็นการทำงานของสื่อที่ไม่กระทำตามวิธีขั้นตอนการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน อย่างเช่นรายการครอบครัวข่าว 3
หลังจากที่ได้อ่าน ศึกษาโครงการถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี ตามพระราชดำริ ที่ได้ข้อมูลมาจาก สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) http://km.rdpb.go.th/Project/View/6646 ได้เล่าถึงรายละเอียด ดังนี้
พระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะจากการย้ายที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ไปบุกรุกที่ของการรถไฟ ดังพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า “…ต่อไป โครงการที่ 3 คือ สร้างทางในที่ที่ยังไม่มีทาง. อันนี้เกิดขึ้นที่ใกล้สถานีบางกอกน้อย ระหว่างสถานีบางกอกน้อย คือ ปลายถนนอิสรภาพ เชื่อมกับถนนจรัญสนิทวงศ์. ตรงนั้นเป็นที่ของการรถไฟ เป็นที่ลุ่มมีทางเดินเข้าไป ไม่ทะลุแล้วก็ขลุกขลัก. ทางกรุงเทพมหานครได้ไปจัดการ. มีบ้านคนที่บุกรุกที่ของรถไฟบ้าง. แต่ก็ได้ย้ายบ้านเหล่านั้น เข้าใจว่าเป็นที่พอใจของผู้บุกรุก ให้ที่เขาอยู่ ไม่เดือดร้อน. ทางกำลังสร้างยังไม่เสร็จ. ต้องถมทราย เดี๋ยวนี้ได้กรุยมาเรียบร้อย เป็นระยะ 600 เมตร ยังไม่ได้มีการถม ยังไม่ครบ. แต่เมื่อครบแล้วก็จะเป็นทางที่จะทะลุ จากถนนอิสรภาพซึ่งตัน. ถนนอิสรภาพนี่ ต้องเลี้ยวขวามาเข้าที่ถนนอรุณอมรินทร์. จากตรงนั้นก็จะสามารถเชื่อมกับจรัญสนิทวงศ์. เข้าใจว่าจะช่วยการสัญจรขึ้นเล็กน้อย…”
ถนนสุทธาวาส (Thanon Sutthawat) เป็นถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ (สายธนบุรี) ในเขตทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย ใกล้สถานีรถไฟธนบุรี พื้นที่แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากปลายถนนอิสรภาพ จุดบรรจบถนนรถไฟ เลียบทางรถไฟสายใต้ด้านขวาทาง ผ่านวัดสุทธาวาส มาสิ้นสุดที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณป้ายหยุดรถไฟจรัญสนิทวงศ์ ตรงข้ามกับจุดเริ่มต้นของถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ใกล้แยกบางขุนนนท์ ถนนสายนี้เป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งช่วยลดปริมาณการจราจรบนถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณสามแยกไฟฉาย และเป็นเส้นทางลัดเชื่อมต่อไปยังย่านสำคัญ ได้แก่สถานีรถไฟธนบุรี โรงพยาบาลศิริราช และตลาดพรานนก
แต่ถ้าหากมาดูการให้ข้อมูลหน้าสื่อ https://www.matichon.co.th/news/557904 การก่อสร้างที่ทางนายจักรพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการ กทม. อ้างว่าเป็นโครงการที่ทำต่อจากโครงการพระราชดำริ นั้นมีรายละเอียดดังนี้
1. โครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรของถนนสุทธาวาส และสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์
2. โครงการขยายสะพานอรุณอมรินทร์ พร้อมทางขึ้น-ลง และทางยกระดับศิริราช
3. โครงการเชื่อมต่อสะพานพระราม 8 กับถนนพรานนก และถนนกาญจนาภิเษก
จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากโครงการพระราชดำริ ที่มีแจ้งประกาศไว้กับสำนักงาน กปร. หากแต่เป็นเจตนาที่ทางกรุงเทพมหานครอยากจะทำโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี ตามพระราชดำริ นั้นเอง และที่สำคัญการทำโครงการถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี ได้ให้ความสำคัญกับผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก แต่โครงการใหม่ที่ กทม. จะต่อเติมมากจากโครงการพระราชดำริ ไม่เคยให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด หากจะดูจากใบที่ทางเจ้าหน้าที่ กทม. เอามาให้ชาวบ้านรายหลังเซ็น เพื่อเป็นหลักฐานว่าเต็มใจในการรื้อย้าย เพราะได้ฟังข้อมูลไม่ครบถ้วนบ้าง ได้รับข้อมูลที่ไม่ชัดเจน
ที่น่ารังเกียจต่อมาจากความพยายามที่ต้องการจะรื้อบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของ กทม. นั้น คือการเรียกตัวเข้าพบรายคนสำหรับลูกจ้างเขตบางกอกน้อย ซึ่งเป็นคนอาศัยอยู่ในชุมชนบางกอกน้อย 2 จำนวนมาก ใช้อำนาจหน้าที่พูดเกลี่ยกล่อมแกมบังคับให้ลูกน้องระดับล่างรื้อบ้านตัวเองเพื่อเปิดทางให้ทางโครงการ
อีกทั้งในเอกสารยินยอมรื้อบ้าน ไม่ได้ระบุถึงจำนวนเงินค่าชดเชย ไม่ได้ระบุถึงจะจัดหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้ ไม่ได้ระบุถึงความรับผิดชอบของ กทม. อย่างชัดเจนแต่อย่างใด ซึ่งหากดูตามเหตุการณ์ บ้านส่วนใหญ่ที่รื้อไปนั้น ส่วนใหญ่ทำงานเป็นลูกจ้างในสำนักงานเขตบางกอกน้อย
นี่คือบทบาทของกรุงเทพมหานครที่ปฏิบัติสืบกันมาอย่างช้านานกับคนจน ชนชั้นล่าง ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร กรณีการรื้อย้ายชุมชนบางกอกน้อย 2 ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาชุมชนที่อยู่ในที่ดินที่ กทม. ดูแล ส่วนใหญ่แล้วจะพบกับภาพท้ายสุดคือ กทม. จะไม่มีการรับผิดชอบช่วยเหลือแต่อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรือ ที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ซึ่งที่ดินสาธารณะใน กทม. มีจำนวนมาก ส่วนหนึ่งจัดทำเป็นสวนสาธารณะ และยังมีอีกหลายส่วนที่ปล่อยทิ้งร้าง หรือเป็นที่อยู่อาศัยของคนจนสร้างเมือง กทม.
ชาวชุมชนไม่ได้คิดที่จะขัดขวางโครงการพัฒนาของรัฐแต่อย่างใด เพียงแต่การกระทำของรัฐที่ปฎิบัติต่อคนจน ทำให้ต้องกลายเป็นเหยื่อทางสังคม ให้ดูเป็นกลุ่มคนที่ฉุดดึงความเจริญของเมือง แต่แท้จริงแล้วกลุ่มคนจนเมืองเหล่านี้ต่างหาก ที่สร้างความเจริญให้กับเมืองเรื่อยมา แต่ไม่ได้รับการดูแล
หากโครงการพัฒนาจริงใจ ไม่หมกเม็ด มีกระบวนการตามหลักทั่วไป เปิดเผยข้อมูล โปร่งใส แนวทางการแก้ปัญหามีการพูด เจรจาร่วมกัน การพัฒนาคงไม่มีอุปสรรคใด ๆ ตรงข้ามจะได้แรงสนับสนุนจากประชาชนอีกแรงด้วยซ้ำ
จึงใคร่ขอให้หน่วยงานกรุงเทพมหานคร ได้ทบทวนการฎิบัติตัวที่ล้าหลัง เปิดใจรับฟังประชาชนให้มาก หยุดการสร้างภาพคนจนเป็นเหยื่อทางสังคม ร่วมกันพัฒนาสังคมเมืองร่วมกัน “เมืองจะเจริญไม่ได้ หากปราศจากคนจน”