อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แนะแนวแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ บูรณาการพร้อมด้วยหน่วยงานที่รับผิดชอบทำปฏิทินจัดการน้ำ หวังแก้ไขปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่าและคุณภาพน้ำคูเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป
9 พ.ค. 2560 เวลา 13.30 น. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่าและคุณภาพน้ำคูเมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมระดมความคิดและเสนอแนะแนวทางแก้ไขในครั้งนี้
ทั้งนี้ ปัญหาน้ำเน่าเสียของคลองแม่ข่าในจังหวัดใหม่เรื้อรังมายาวนานนับสิบปี สาเหตุหลักมาจากการที่มีน้ำต้นทุนตามธรรมชาติ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีไหลลงมาจนถึงคลองแม่ข่าลดลง ทำให้การเติมน้ำเพื่อไล่น้ำเสียทำได้ยากขึ้น รวมทั้งมีการระบายน้ำเสียจาก อปท.7แห่ง กว่า 25,000 ลบ.ม./วัน โดยเฉพาะชุมชนบริเวณต้นน้ำและกลางน้ำ ได้แก่ เทศบาลตำบลช้างเผือก เทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลป่าแดด ตลอดจนมีการบุกรุกพื้นที่แนวคลองแม่ข่า ชาวบ้านมีการทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล และสารเคมี ลงในคลองจึงทำให้น้ำเน่าเสียมาเป็นเวลานาน ซึ่งหน่วยงานต่างๆและประชาชนชาวเชียงใหม่ได้พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหามาหลายวิธีแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้น้ำกลับมาใสสะอาดได้
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่าแบบเร่งด่วน โดยทางสำนักชลประทานที่ 1 จะเร่งผันน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าสู่คลองแม่ข่า และขุดลอกคลองแม่ข่าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเพิ่มความจุของอ่างเก็บกักน้ำในพื้นที่ เพื่อให้สามารถระบายน้ำต้นทุนให้แก่คลองแม่ข่า นอกจากนี้จะเร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยจะรื้อถอนอาคาร/สถานที่ที่การรุกล้ำพื้นที่คลองของชาวบ้าน การตรวจสอบคุณภาพน้ำและแหล่งกำเนิดมลพิษตลอดแนวคลอง พร้อมกับสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคเอกชนช่วยกันรักษาคุณภาพน้ำ ลดการระบายเสียลงสู่คลองแม่ข่าให้น้อยลง
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทางนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับปัญหามลพิษทุกเรื่อง โดยย้ำเรื่องการจัดการโครงสร้าง ทั้งระบบบ่อกำจัดน้ำเสีย ระบบการจัดการน้ำ ซึ่งจะต้องมีการจัดทำปฏิทินจัดการน้ำคลองแม่ข่าระยะเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะยาว มีแผนการงานการจัดการอย่างชัดเจน โดยดึงให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อให้มีการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งแก้ปัญหาในทุกๆด้านให้ครอบคลุม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตลอดจนการปลูกฝังและกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันในดูแลรักษา และฟื้นฟูน้ำแม่ข่าอย่างยั่งยืนต่อไป