“การฆ่าไม่หยุดยาเสพติด” แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องฟิลิปปินส์ยุติวิสามัญฯ ในสงครามปราบยาเสพติด

“การฆ่าไม่หยุดยาเสพติด” แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องฟิลิปปินส์ยุติวิสามัญฯ ในสงครามปราบยาเสพติด

นักกิจกรรมแอมเนสตี้ฯ รวมตัวกันหน้าสถานทูตฟิลิปปินส์ ยื่นจดหมายแสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ซึ่งทำให้มีประชาชนมากกว่า 7,000 คนต้องสูญเสียชีวิต เรียกร้องให้หยุดการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม

วันนี้ (25 เม.ย. 2560) เวลา 10.00 น. นักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยรวมตัวกันหน้าสถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทยเพื่อยื่นจดหมายถึงทางการฟิลิปปินส์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ซึ่งทำให้มีประชาชนมากกว่า 7,000 คนต้องสูญเสียชีวิต อีกทั้งยังเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงนายวิตาเลียโน อากีร์เร (Vitaliano Aguirre) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ฟิลิปปินส์ เรียกร้องให้หยุดการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

ในส่วนการทำกิจกรรมรณรงค์ มีนักกิจกรรม 2 คนแต่งตัวเป็นนางงามฟิลิปปินส์และนางงามไทย และบางส่วนแต่งกายด้วยชุดประจำชาติฟิลิปปินส์ พร้อมถือป้ายข้อเรียกร้องให้ยุติการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่ใช่แนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

นอกจากนั้นยังมีการแจกจ่ายแจกมะม่วงซึ่งเป็นผลไม้ที่รู้จักกันดีของทั้ง 2 ประเทศ และเป็นของขึ้นชื่อของฟิลิปปินส์ที่ติดสติ๊กเกอร์ข้อความ #StopTheKillings ให้กับสื่อมวลชนเพื่อเป็นสื่อกลางในการส่งต่อข้อความพร้อมทั้งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้ข้อความมูลเพิ่มเติมว่าจากรายงาน “ถ้าคุณเป็นคนจน คุณต้องถูกสังหาร” การวิสามัญฆาตกรรมใน “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของฟิลิปปินส์ (“If you are poor, you are killed” Extrajudicial executions in the Philippines “War on Drugs”) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2560 ระบุว่ามีประชาชนจำนวนมากกว่า 7,000 คนต้องสูญเสียชีวิต

จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือเป็นการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและจงใจโดยเป็นไปตามคำสั่งการของรัฐบาล หรือด้วยความรู้เห็นเป็นใจและความยินยอมจากรัฐบาล โดยเหยื่อที่ถูกสังหารส่วนใหญ่เป็นชายที่มาจากชุมชนยากจนในเขตเมือง การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเด็ก ซึ่งบางคนถูกสังหาร ถูกลูกหลงระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ หรือได้รับประสบการณ์ที่ปวดร้าวทางจิตใจอันเป็นผลมาจากการสูญเสียพ่อแม่หรือญาติพี่น้องของตนไป หรือจากการเป็นพยานรู้เห็นการสังหารเหล่านั้น

“มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างมากและอย่างน่าตกใจ จากการทำสงครามปราบปรามยาเสพติด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์ ให้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนต่อเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายในฟิลิปปินส์ว่า การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และเป็นข้อห้ามอย่างเคร่งครัดในทุกสถานการณ์ และเร่งดำเนินการสอบสวนโดยทันทีโดยไม่ลำเอียงและมีประสิทธิภาพต่อกรณีการสังหารในคดียาเสพติด โดยเฉพาะการสังหารที่เกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย พร้อมทั้งตั้งข้อหาอาญาในกรณีที่ผลการสอบสวนมีพยานหลักฐานที่เพียงพอและศาลรับฟังได้ เพื่อจะเอาผิดกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

ทั้งนี้ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (30th ASEAN Summit and Related Meetings) ที่เมือง Pasay สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 26 – 29 เม.ย. 2560 ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในแต่ละประเทศจะร่วมกันส่งจดหมายถึงสถานทูตฟิลิปปินส์ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

จดหมายเปิดผนึกถึงทางการฟิลิปปินส์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่าง
“สงครามปราบปรามยาเสพติด”

25 เมษายน 2560

เรียน นายวิตาเลียโน อากีร์เร (Vitaliano Aguirre) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เราเขียนจดหมายนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ท่านแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมต่อผู้ต้องหาในคดียาเสพติดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง และขอเรียกร้องให้ท่านประกันเพื่อให้มีการสอบสวนทันทีโดยไม่ลำเอียง เป็นอิสระและมีประสิทธิภาพต่อกรณีการสังหารซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายนับแต่รัฐบาลได้เริ่มต้น “สงครามปราบปรามยาเสพติด” และควรเปิดเผยผลการสอบสวนเหล่านี้ต่อสาธารณะ รวมทั้งกรณีที่มีพยานหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดขึ้น ควรมีการฟ้องร้องและดำเนินคดีทางอาญาต่อไป

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลอย่างยิ่งว่า การสังหารผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องครั้งนี้อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและโดยเฉพาะประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในหลาย ๆ ครั้ง ได้แสดงท่าทีอย่างเปิดเผยในการยุยงส่งเสริมให้เจ้าพนักงานตำรวจ รวมทั้งบุคคลทั่วไปสังหารผู้ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการค้ายาแทนที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างสอดคล้องตามกฎหมายในประเทศ

ข้อกังวลของเราอ้างอิงจากรายงาน “ถ้าคุณเป็นคนจน คุณต้องถูกสังหาร” การวิสามัญฆาตกรรมในสงครามปราบปรามยาเสพติดของฟิลิปปินส์” (“If you are poor, you are killed” Extrajudicial executions in the Philippines “War on Drugs”) ซึ่งมีการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 จากปากคำของพยานและเอกสารที่รวบรวมได้ รวมทั้งสำนวนการสอบสวนของตำรวจและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อสรุปว่า กรณีการสังหารส่วนใหญ่ที่เราตรวจสอบปรากฏว่าเป็นการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมกล่าวคือเป็นการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและจงใจโดยเป็นไปตามคำสั่งการของรัฐบาล หรือด้วยความรู้เห็นเป็นใจและความยินยอมจากรัฐบาล

จากข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกได้ส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงระหว่างการสังหารกับเหตุการณ์ที่ผู้ตายมีชื่ออยู่ใน “บัญชีดำ” ซึ่งมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่เป็นผู้จัดทำบัญชีดังกล่าว และให้ข้อมูลเหล่านั้นกับตำรวจ โดยแทบไม่มีการสอบสวนใดๆ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังพบหลักฐานที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของรัฐและกลุ่มติดอาวุธซึ่งทำการสังหารในกรณีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้กระทำการดังกล่าว รวมทั้งหลักฐานว่ามีการจ่ายเงินอย่างไม่เป็นทางการให้กับตำรวจเพื่อให้ทำการสังหารบุคคลเหล่านั้น

งานวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า เหยื่อที่ถูกสังหารส่วนใหญ่เป็นชายที่มาจากชุมชนยากจนในเขตเมือง ซึ่งเป็นเหตุทำให้ “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ที่รัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการเปรียบเสมือนสงครามที่กระทำต่อคนยากจน นอกจากนั้น การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเด็ก ซึ่งบางคนถูกสังหาร ถูกลูกหลงระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ หรือได้รับประสบการณ์ที่ปวดร้าวทางจิตใจอันเป็นผลมาจากการสูญเสียพ่อแม่หรือญาติพี่น้องของตนไป หรือจากการเป็นพยานรู้เห็นการสังหารเหล่านั้น

จนถึงปัจจุบันทางการฟิลิปปินส์ยังคงเลือกใช้แนวทางที่รุนแรงและถึงขั้นทำให้ประชาชนเสียชีวิต เพื่อจัดการกับผู้ใช้ยาเสพติดแทนที่จะใช้แนวทางด้านสาธารณสุข ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดนี้ได้ละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ไม่อาจลดทอนได้ และยังละเมิดสิทธิของประชาชนที่จะมีความสุขทั้งทางกายและใจอย่างดีสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บีบให้ผู้ใช้ยาเสพติดและผู้ที่ยังไม่ตกเป็นเหยื่อการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมต้องเข้าโครงการการบำบัดโดยไม่สมัครใจและไม่ได้เพียงพอ นอกจากนั้น นี่ยังหมายความว่าผู้ใช้ยาเสพติดส่วนใหญ่จะไม่สามารถเข้าถึงบริการในการตรวจร่างกายและการบำบัดรักษาได้

ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลผู้ติดอาวุธที่ไม่ทราบฝ่ายจำนวนเท่าไรที่ถูกสอบสวน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่ามีบุคคลใดถูกตั้งข้อหาเนื่องจากการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ รวมทั้งการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอื่นๆ ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดและการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่มีพื้นฐานมาจากการใช้กำลังและแนวทางแบบทหารไม่ใช่ทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมด้านยาเสพติด ในทางตรงข้าม กลับมีหลักฐานว่าแนวทางเหล่านี้นำไปสู่ความรุนแรง การคุกคามและการทุจริตที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดยาเสพติด

จากข้อมูลข้างต้นและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างมากและอย่างน่าตกใจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงขอเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้

• แสดงท่าทีอย่างชัดเจนต่อเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายในฟิลิปปินส์ว่า การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และเป็นข้อห้ามอย่างเคร่งครัดในทุกสถานการณ์

• ให้เร่งดำเนินการสอบสวนโดยทันทีโดยไม่ลำเอียงและมีประสิทธิภาพต่อกรณีการสังหารในคดียาเสพติด โดยเฉพาะการสังหารที่เกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

• ให้ตั้งข้อหาอาญาในกรณีที่ผลการสอบสวนมีพยานหลักฐานที่เพียงพอและศาลรับฟังได้ เพื่อจะเอาผิดกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เราหวังอย่างจริงจังว่าท่านจะพิจารณาและให้การสนับสนุนต่อข้อเสนอแนะเหล่านี้

ขอแสดงความนับถือ

นางปิยนุช โคตรสาร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ